Skip to main content

รอยแผลลึกจากเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋วเริ่มตื้นขึ้นแล้ว หมอบอกว่าจะไม่ยัดผ้าก๊อซลงไปในแผลอีก ฉันถึงกับถอนใจเฮือกใหญ่ โล่งใจที่ไม่ต้องดูกรรมวิธีอันแสนจะหวาดเสียว ที่ถึงแม้จะคิดว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ แต่ไม่ต้องเจอบ่อยๆ ก็น่าจะดี(กว่า)

มีเพื่อนๆ ที่กลั้นใจขอดูแผลของฉันแล้วถามด้วยความตกใจปนสงสัยว่า แผลยาวและลึกขนาดนี้ ทำไมหมอถึงไม่เย็บ จึงขอนำคำหมอมาอธิบายเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครๆ ที่ยังไม่รู้ ว่าเหตุที่ไม่เย็บนั้นก็เนื่องจากเข็มกับด้ายหมด

ไม่ใช่สักหน่อย อันนั้นล้อเล่น ความจริงคือ แผลที่ถูกสัตว์กัดมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคบาดทะยัก (ซึ่งน่ากลัวมาก) และเชื้อตัวนี้จะเติบโตดีในที่ที่อากาศเข้าไม่ได้  ถ้าเย็บแผลละก็ เท่ากับอำนวยความสะดวกให้มันเชียวละค่ะ จึงจำเป็นต้องเปิดปากแผลไว้ เพื่อให้ออกซิเจนได้เข้าไปฆ่าเชื้อโรคด้วยประการฉะนี้ 

หมอบอกว่า บางคนแผลกว้างไม่พอ หมอต้องกรีดปากแผลเพิ่มให้อีกก็มีนะ โชคดี(หรือเปล่าเนี่ย) ที่แผลฉันกว้างพอแล้ว เฮ้อ...

แหม แต่ยี่สิบกว่าวันที่แขนขวาไม่โดนน้ำเลย ขี้ไคลจับจนปั้นวัวปั้นควายให้ลูกใครๆ เล่นได้หลายตัวเชียวละ มีใครอยากได้สักตัวไหมคะ

ฉันยื่นแผลให้เสือจิ๋วดู มันไม่ยักสนใจ ตาใสแจ๋วของมันไม่มีวี่แววจดจำรำลึก ราวกับจะบอกว่า อย่ายึดติด อะไรผ่านไปแล้วก็ให้ผ่านไป ทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป น้าน...ฉันช่างบรรลุธรรมได้ถึงขนาดนั้น

แผลที่โดนบริเวณเส้นเอ็น ทำให้ฉันยังขยับข้อมือไม่ไหว และยังขี่รถมอเตอร์ไซค์ไม่ได้ ดังนั้น เมื่อทองม้วน แมวน้อยอีกตัวหนึ่งเกิดป่วยกระทันหัน ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ดูอาการแล้วไม่สมควรนิ่งนอนใจเป็นอย่างยิ่ง ฉันจึงจำต้องหิ้วตะกร้าใส่แมว ขึ้นรถสองแถวไปหาหมอ

โชคดีอีก(ทั้งที่ปกติไม่สมควรคิดว่าโชคดี)ที่ทองม้วนผอมมาก น้ำหนักเบาหวิวของมันทำให้ฉันหิ้วตะกร้ามือซ้ายได้ตลอดระยะทางกว่าสามสิบกิโลเมตร ด้วยเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงจากตลาดหน้าอำเภอไปถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรี
ทองม้วนนอนซมในตะกร้าไปจนถึงมือหมอ หลังจากให้น้ำเกลือ กับฉีดยาอีกสองเข็ม มันจึงค่อยมีแรง และเริ่มส่งเสียงร้องเมี้ยวม้าวแสดงอาการตื่นเต้น เพราะตั้งแต่เกิดมา ทองม้วนยังไม่เคยขึ้นรถไปไหนเลย

บนรถสองแถวขากลับที่ค่อนข้างเต็มไปด้วยผู้โดยสาร เสียงร้องของทองม้วนจึงเป็นต้นเรื่องของบทสนทนาเหล่านี้

“เอ๊ะ เสียงเหมือนเด็กอ่อน ลูกใครหว่า” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นดังๆ แล้วมองไปทั่วรถ
“ไม่ใช่ เสียงลูกแมวตะหาก” อีกคนแย้งแบบผู้สันทัดกรณี เธอหันมาสบตากับฉันพอดี แล้วจึงเห็นตะกร้าใส่แมว
“นั่นไง แมวจริงๆ ด้วย ต๊าย ผอมจัง เป็นไรจ๊ะ”

ฉันเลยได้บรรยายอาการเจ็บป่วยของทองม้วนเป็นวิทยาทาน
“แหม ตัวแค่เนี้ย ป่วยทีเสียเงินเป็นร้อยเป็นชั่ง เลี้ยงเยอะๆ คงจนแย่ ดีนะนี่แค่ตัวเดียว ไม่เท่าไหร่เนาะ” พี่ผู้หญิงแต่งตัวเหมือนสาวโรงงานคนหนึ่งพูดปลอบใจฉัน

ฉันหัวเราะแหะๆ ไม่กล้าเล่าถึงแมวหมาอีกกว่าเจ็ดสิบตัวที่บ้าน กลัวพี่เขาเป็นห่วง
“แมวฉันตัวใหญ่กว่านี้สามสี่เท่า อ้วนยังกะหมู” คุณป้าคนหนึ่งที่ขึ้นรถมาพร้อมกระบุงใบใหญ่เล่าเสียงดังแข่งกับเสียงเครื่องรถ “อุตส่าห์เลี้ยงไว้จับหนู มันก็อ้วนซะจนไล่หนูไม่ไหวแล้ว”

“นังสามสีของชั้นก็เหมือนกัน มันหลงมา ชั้นก็เลี้ยงไว้ แหม้..มันมุดมุ้งชั้นทู้กคืน มุดเข้ามานอนแล้วก็ออกไม่ได้ ร้องจะออกอีก ดึกดื่นต้องลุกมาเปิดมุ้งให้มันเข้าๆ ออกๆ เบื๊อ เบื่อ” ปากบ่น แต่หน้าตาคนพูดเอ็นดูเจ้าตัวที่เล่าถึงเป็นอย่างยิ่ง

“แมวที่ไหนไม่รู้ชอบมาออกลูกหลังบ้านฉัน” คราวนี้เป็นทีของคุณน้าเสื้อเหลืองเล่าบ้าง “ออกแล้วออกอีก ท้องมันอยู่นั่น ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ไอ้เราก็เลี้ยงไปสิ จะไล่ไปรึก็สงสาร อุตส่าห์มาหาที่พึ่ง”

“แล้วเป็นไง ต๊าย แมวมิเต็มบ้านไปหมดรึ” มีเสียงถาม
“ไม่ร้อก พอมันโตก็ไปกันหมด แต่อย่าวางใจเชียว เดี๋ยวก็มาออกอีกละ แหม้ มันเห็นบ้านฉันเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็ก” คุณน้าบ่นด้วยเสียงหัวเราะ

“ต้องจับทำหมันค่ะ” ฉันเสนอแนะ
“ก็เนี่ย คอยจ้องจะจับอยู่ แต่มันโผล่มาตอนจะคลอดทู้กที” คุณน้าบอก

“หลานฉันก็เลี้ยงแมว” แม่ค้าปลาที่นั่งอยู่เกือบท้ายรถเล่าบ้าง “แต่วันก่อนมันถูกรถชน หลานมันอุ้มแมวมา อู๊ย ร้องไห้ซะจนเรานึกว่าใครตาย อพิโถ แมวตาย”
“ก็เขารักของเขานี่นา เป็นฉัน ฉันก็ร้อง” อีกคนพูดอย่างเข้าอกเข้าใจ  
“แน่ะ แล้วแขนเป็นไร ปิดแผลเต็มเชียว” คุณป้ากระบุงใหญ่เริ่มเบนความสนใจมาที่ฉัน พอได้คำตอบว่าถูกแมวกัด แถมด้วยการบรรยายเหตุการณ์พอสังเขป ประเด็นการสนทนาก็เปลี่ยนไป

“ว้าย น่ากลัวจัง” สาวน้อยนักเรียนที่หิ้วถุงเทสโก้โลตัสอุทานพลางทำท่าขนลุก
“ฉันก็เคยโดนแมวกัด” คุณป้าคนเดิมว่า แล้วใครอีกคนก็บอกว่า “หลานฉันก็เคยถูกหมากัด” จากนั้น ใครๆ ที่เคยถูกตัวอะไรต่อมิอะไรกัดก็ผลัดกันเล่าเป็นการใหญ่ คุณลุงคนหนึ่งบอกว่าญาติถูกตุ๊กแกกัด

“เขาว่าตุ๊กแกกัด ต้องกินขี้สามชาม กินน้ำสามโอ่ง” แม้ค้าปลาบอก
“จะตายก็ตอนนี้แหละ ไม่ใช่เพราะตุ๊กแกกัด” เสียงใครไม่ทราบพูด เลยได้หัวเราะกันลั่นรถ
“ใครไม่เคยถูกกัดไม่รู้ร้อก” คุณป้าสรุป

หนึ่งชั่วโมงถัดมา ฉันก้าวลงจากรถสองแถวอย่างอาลัยอาวรณ์บทสนทนาน่ารักที่ยังไม่จบ

“หายเร็วๆ นะ ทั้งคนทั้งแมว” คุณน้า (เจ้าของโรงพยาบาลแม่และเด็ก) ตะโกนจากรถ

ฉันยังยืนยิ้มอยู่อีกพักใหญ่ ถึงจะยังกังวลใจในอาการของทองม้วนที่หมอบอกว่า ถ้าผ่านสามวันไปได้ก็จะรอด แต่ถ้อยสนทนาบนรถสองแถวทำให้ใจทั้งอิ่มและอุ่น

ฉันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ หรือนักดาราศาสตร์ เป็นแค่คนธรรมดาๆ ที่เชื่อว่า ความใส่ใจใยดีที่คนมีให้คน และเผื่อแผ่ไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นี้เอง ที่ทำให้โลกของเรายังหมุนได้

บล็อกของ มูน

มูน
รอยแผลลึกจากเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋วเริ่มตื้นขึ้นแล้ว หมอบอกว่าจะไม่ยัดผ้าก๊อซลงไปในแผลอีก ฉันถึงกับถอนใจเฮือกใหญ่ โล่งใจที่ไม่ต้องดูกรรมวิธีอันแสนจะหวาดเสียว ที่ถึงแม้จะคิดว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ แต่ไม่ต้องเจอบ่อยๆ ก็น่าจะดี(กว่า)มีเพื่อนๆ ที่กลั้นใจขอดูแผลของฉันแล้วถามด้วยความตกใจปนสงสัยว่า แผลยาวและลึกขนาดนี้ ทำไมหมอถึงไม่เย็บ จึงขอนำคำหมอมาอธิบายเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครๆ ที่ยังไม่รู้ ว่าเหตุที่ไม่เย็บนั้นก็เนื่องจากเข็มกับด้ายหมด ไม่ใช่สักหน่อย อันนั้นล้อเล่น ความจริงคือ แผลที่ถูกสัตว์กัดมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคบาดทะยัก (ซึ่งน่ากลัวมาก) และเชื้อตัวนี้จะเติบโตดีในที่ที่อากาศเข้าไม่ได้ …
มูน
แผงขายกล้วยปิ้งบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ดึงดูดให้ฉันลงจากรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ตั้งใจจะลง ตรงเข้าไปบอกแม่ค้าสาวว่า “กล้วยปิ้งสิบบาทค่ะ” เธอเหลือบตาขึ้นเหนือศีรษะแวบหนึ่งแล้วบอกด้วยใบหน้าบึ้งตึงว่า “ขายยี่สิบบาท”ฉันสะดุ้ง รีบมองตามสายตาที่เธอตวัดไปเมื่อครู่นี้ เห็นป้ายแขวนไว้เขียนว่า กล้วยปิ้งทรงเครื่อง น้ำจิ้มรสเด็ด ชุดละ 20 บาท“อุ๊ย ขอโทษทีค่ะ ไม่ทันเห็น เอ้อๆ งั้นกล้วยปิ้งยี่สิบบาท” ฉันรู้สึกตัวเองพูดจาเงอะงะเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ ด้วย ไม่รู้แม้กระทั่งราคากล้วยในท้องตลาด ก็แหม กล้วยน้ำว้าบ้านฉันยังหวีละสิบบาทอยู่เลย (ยิ่งซื้อตอนตลาดวายอาจได้สามหวีสิบ)คนขายหยิบกล้วยสี่ลูกใส่ถุง…
มูน
อยู่ดีๆ ฉันก็เหลือมือที่ใช้การได้ข้างเดียว แถมเป็นข้างซ้ายที่ไม่ถนัดเสียด้วยมือขวาหายไปไหนล่ะ ไม่หายหรอกค่ะ ยังอยู่ แต่มันยื่นใบลาพักชั่วคราว ฉันจำต้องอนุมัติ เพราะมันอ้างว่าเป็นคำสั่งแพทย์สาเหตุการป่วยของมือขวามาจากตัวฉันเอง มีแมวน้อยน่ารักสองตัวเป็นส่วนประกอบเสือจิ๋วกับสตางค์เป็นลูกแมวกำพร้าที่ถูกทิ้ง ความจริงมันมีพี่น้องสี่ตัว แต่อดตายไปสอง มันโชคดีที่ได้เจอฉัน หรือว่าฉันโชคดีที่มีโอกาสได้ช่วยมันก็ไม่รู้ สองแมวเลยมาอยู่บ้านสี่ขา ได้ป้อนน้ำป้อนนมกันจนโตความที่ไม่รู้ว่าแมวทั้งสองตัวเกิดเมื่อไร การคาดเดาอายุของมันจึงคลาดเคลื่อนไม่มากก็น้อย ฉันตั้งใจจะจับมันไปทำหมันก่อนวัยกลัดมันจะมาถึง…
มูน
ฝรั่งมักเลี้ยงหมา ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เฝ้าบ้าน แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า ชีวิตสมบูรณ์ของผู้ชาย ต้องประกอบด้วย การงาน บ้าน ภรรยา ลูกๆ และหมาอย่างน้อยหนึ่งตัวการเลี้ยงหมา(อย่างถูกวิธี) ช่วยกล่อมเกลาจิตใจเด็กๆ ให้ละเอียดอ่อนและรู้จักความรับผิดชอบ เพราะหมาพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการใส่ใจสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่มันหิว หนาว ร้อน หรือป่วยไข้ไม่สบาย การใส่ใจในทุกข์สุขของอีกชีวิตหนึ่ง สอนให้เด็กๆ อ่อนโยนและลดความเห็นแก่ตัว นักจิตวิทยาบอกว่า เด็กมักสบายใจที่ได้บอกเล่าความลับหรือปรับทุกข์กับเพื่อนสี่ขา ในหลายๆ เรื่องที่เขาไม่อาจสื่อสารกับผู้ใหญ ทั้งเด็กๆ ยังได้หัดเผชิญกับความสูญเสีย…
มูน
ในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน บางครั้งมีสายใยที่มองไม่เห็นผูกโยงเราไว้ด้วยกัน และสายใยเส้นนั้นก็อาจถักทอมาจากหนวดหรือขนแมวสักตัวหนึ่ง หลายคราวที่คนไม่รู้จักกัน มาพบเจอ พูดคุย และถูกชะตากันด้วยเรื่องของเจ้าสี่ขา เป็นไปได้ว่า ในโลกของมิตรภาพอันไร้เงื่อนไข ไม่อาจมีกำแพงใดๆ ตั้งอยู่ได้เย็นวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2550 แรงดึงดูดทางโทรศัพท์จากน้องสาวน่ารักชื่อน้องยู “ไปคุยเรื่องแมวๆ กันนะคะพี่” ทำให้ฉันเต็มใจนั่งรถบขส.จากบ้านนอกเข้ากรุง มุ่งไปโรงละครมะขามป้อม สี่แยกสะพานควาย ที่พลพรรครักแมวรวมตัวกันจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อชุมชนเป็นงานเล็กๆ ที่แสนอบอุ่น มีคนรักแมว คนเลี้ยงแมว คนไม่เลี้ยง(แต่รัก)แมว…