Skip to main content

ฉันขี่รถเครื่องฝ่าแดดร้อนเปรี้ยงออกจากหมู่บ้านไปตลาดในอำเภอ ด้วยภารกิจสำคัญสองประการที่ไม่สามารถทำได้แถวๆ บ้านสี่ขาที่อยู่ริมทุ่งนาและคอกควาย หนึ่งคือการหาซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์ กับสอง ตามหาสาวยาคูลท์

ภารกิจสองอย่างนี้เกี่ยวกันยังไง แล้วสำคัญขนาดไหนถึงทำให้ฉันต้องเอาผิวเหี่ยวๆ ของตัวเองออกมาทำเนื้อแดดเดียวตอนบ่ายโมงกว่าๆ ที่จัดว่าเป็นช่วงเวลาร้อนที่สุดของวัน

ฉันสงสัย ว่าจะมีใครสงสัยหรือเปล่า ว่าฉันกำลังจะเล่าเรื่องอะไร และเล่าทำไม

ไอ้ที่ว่าจะเล่าเรื่องอะไรนั้น ฉันพอจะรู้ละ ก็ฉันกำลังจะเล่าอยู่เดี๋ยวนี้ แต่เหตุผลที่ว่า จะเล่าทำไม อันนี้ฉันก็สงสัยตัวเองเหมือนกัน คิดว่าเล่าๆ ไปอาจจะได้คำตอบ

ในโลกนี้มีหลายเรื่องราวที่เรายังไม่รู้ และบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องรู้ อย่างเช่นเรื่องนี้ แต่ถ้าคุณยังไม่รีบไปไหน อุตส่าห์เข้ามาแล้วก็โปรดอ่านไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราวเถิดนะคะ

ไม่แน่นะ บางเรื่องไร้สาระอาจแฝงปรัชญาแห่งชีวิตอย่างคาดไม่ถึงก็เป็นได้ (ว่าเข้าไปนั่น)

......................

แตงกวาเป็นชื่อของลูกหมาหน้าตาหมกมุ่นตัวหนึ่ง ที่ถูกคนเอามาทิ้งไว้ข้างถนนใกล้ๆ ท่ารถโดยสารระหว่างอำเภอ สภาพของแตงกวาเมื่อแรกนั้นห่างไกลจากคำว่าน่ารักอยู่มาก ทั้งเหม็นสาบ ผอมโซ ขนร่วงเป็นหย่อมๆ เพราะโรคผิวหนัง และมีแผลเล็กบ้างใหญ่บ้างทั่วตัว

มันค่อยๆ คลานอย่างกล้าๆ กลัวๆ เข้ามาหมอบเงียบอยู่ตรงเท้าของฉัน อายุของมันไม่น่าจะเกินสองเดือน

“ใครเอามาทิ้งไม่รู้ สามสี่วันแล้วละ” คนขายก๋วยเตี๋ยวรถเข็นแถวๆ นั้นบอก “ไม่เห็นมันไปหากินที่ไหน คงกลัวหมาใหญ่ๆ กัดมั้ง นึกว่าถูกรถเหยียบไปแล้ว เพิ่งเห็นนะเนี่ยว่ายังอยู่”

ฉันใจอ่อนเกินกว่าจะปล่อยให้มันเผชิญกับความหิว ความกลัว และความเสี่ยงที่จะถูกรถทับตาย จึงหยิบมันใส่กระเป๋าสะพายกลับบ้านด้วย แตงกวาซุกเงียบอยู่ในกระเป๋าตลอดทาง

การรับเลี้ยงหมากว่าสี่สิบตัวที่ผ่านมากับปัญหาสารพัดแบบ ทำให้ฉันคิดว่า นับประสาอะไรกับลูกหมาอีกตัวหนึ่ง  

........................

เนื่องจากเป็นสมาชิกใหม่ ฉันจำเป็นต้องแยกแตงกวาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ถูก “รุ่นพี่” เกือบสี่สิบตัวทำพิธีรับน้อง สถานที่ที่พอมีเหลือก็คือในบ้าน ซึ่งนอกจากจะมีกรงแมวแล้ว ตอนนี้ยังใช้เป็นสถานพักฟื้นสำหรับหมาอีกสองตัว คือน้อยหน่ากับตะโก้

น้อยหน่าไม่ชอบสุงสิงกับใคร จึงหลบไปนอนใต้ตู้กับข้าว เหลือแต่ตะโก้ที่ยืนจ้องหน้าฉันสลับกับหน้าหมาใหม่ เหมือนจะข้องใจว่า “พาใครมาอีกละเนี่ย”

“ตะโก้ นี่น้องชื่อแตงกวานะ อย่าแกล้งน้องล่ะ” ฉันสั่ง ตะโก้กระดิกหางรับ ก่อนจะหันไปแยกเขี้ยว ส่งเสียงขู่ดังฮื่อๆ ใส่น้องใหม่ แตงกวายืนตัวสั่นอยู่ครู่หนึ่งก็ล้มต้วลงนอนหงายกางขาอันเป็นท่ายอมจำนน

ฉันเห็นแล้วก็วางใจ คิดว่าเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

.........................

ความวุ่นวายเริ่มทะยอยมาอย่างต่อเนื่องเหมือนมีใครจัดให้ นอกจากรักษาแผลและโรคผิวหนัง แตงกวายังเวียนไปหาหมอด้วยโรคหวัด โรคเลือดจาง โรคพยาธิเม็ดเลือด และโรคลำไส้อักเสบ เรียกว่าไม่มีช่วงไหนที่แตงกวาว่างเว้นจากโรค ในขณะที่กระเป๋าของฉันก็เริ่มว่างเว้นจากสตางค์

โรคหลังนี้อันตรายที่สุดเพราะอัตราตายมากกว่ารอด แตงกวาทั้งอึทั้งอ้วกจนหมดแรง ต้องฉีดยาและให้น้ำเกลือต่อเนื่องหลายวัน มันนอนหายใจแผ่วๆ จนฉันเกือบขุดหลุมรอ แต่โชคดีที่ไม่ได้ขุด

เมื่อฟื้นจากโรคลำไส้อักเสบ ฉันพยายามบำรุงแตงกวาอย่างหนักเพื่อให้มันแข็งแรงพอที่จะฉีดวัคซีนได้ วันที่หมอยื่นสมุดวัคซีนประจำตัวมันให้นั้น ฉันยิ้มแฉ่งและพูดกับหมอว่า “คงหมดเรื่องเสียทีนะคะ”

หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้น แตงกวาเริ่มมีอาการหิวผิดปกติ มันปลุกฉัน(หรือไม่ก็แม่) ตั้งแต่เช้ามืดเพื่อขอกิน กินเข้าไปไม่ถึงห้านาที มันก็อึออกมา อึเหลวเป็นน้ำเหมือนคนท้องร่วงอย่างหนัก มากมายไหลนองออกพ้นกระดาษที่ปูให้จนต้องเช็ดเป็นการใหญ่ ชั่วโมงถัดมามันหิวอีก กินแล้วก็อึพรั่งพรูออกมาอีก สรุปว่ามันหิวและอึแทบทุกชั่วโมง วิ่งไปอึบนกระดาษไม่ทันก็หลายหน ฉันกับแม่เช็ดบ้านกันจนหมดแรง

........................

แตงกวากินมากขึ้นจนน่าตกใจ แต่ผอมกะหร่องเหมือนหมาขาดอาหาร แม่ฉันบ่นว่ามันอึวันละสิบรอบจะเอาอะไรไปอ้วน แม่คงจะผอมตามหมาในไม่ช้านี้เพราะไม่มีเวลากินข้าว(มัวแต่เช็ดอึ)

แรกๆ นั้น แตงกวาจะวิ่งไปอึบนกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปูไว้หลังบ้าน แต่ปริมาณและความถี่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้พิกัดการอึของมันกระจายไปทุกหนทุกแห่ง ที่ร้ายคือไปอึบนที่นอนของน้อยหน่ากับตะโก้ วงแตกสิคะงานนี้

หมาทั้งสองเริ่มไม่เป็นสุขเพราะถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว ฉันต้องหาโต๊ะมาทำที่นอนให้มันใหม่ แม่ปูกระดาษหนังสือพิมพ์หนาๆ ทั่วบ้านเพื่อให้เก็บอึที่เหลวเป็นน้ำได้ง่ายขึ้น ฉันต้องควานหาซื้อกระดาษหนังสือพิมพ์จากร้านค้าทั่วตลาด เพราะใช้วันละเกือบครึ่งกิโล  

หมอบอกว่า กระเพาะของแตงกวาขาดจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยอาหาร เนื่องจากการรักษาโรคลำไส้อักเสบ ยาฆ่าเชื้อได้พลอยฆ่าจุลินทรีย์ดีๆ ในกระเพาะมันไปหมด พูดง่ายๆ คือมันย่อยไม่ได้ วิธีที่ง่ายที่สุดที่จะช่วยมันคือการให้กินยาคูลท์ (ที่มีจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสนั่นละค่ะ)

แตงกวาเกลียดยาคูลท์ แค่ได้กลิ่นมันก็ดิ้นพราดๆ ฉันต้องบังคับจับปากมันแล้วป้อนด้วยไซริงค์ มันอดทนกลืนได้แค่วันละครึ่งขวด(มากกว่านั้นจะอ้วก) คนจัดการที่เหลือคือแม่ฉันเอง

“นึกถึงเมื่อก่อนที่ต้องกินของเหลือจากลูกๆ เพราะเสียดาย” แม่พูด “ดีนะเนี่ยที่แม่ชอบกินยาคูลท์”

หนึ่งเดือนผ่านไป หมดยาคูลท์ไปสามสิบกว่าขวด ค่ากระดาษหนังสือพิมพ์อีกหลายสิบกิโล แตงกวายังคงหิวบ่อย อึบ่อย แต่ก็ร่าเริงดี แม่ผู้สังเกตการณ์ทุกวันรายงานฉันอย่างดีใจว่า “เริ่มมีเนื้อมากกว่าน้ำแล้วละ” ฉันโทรศัพท์รายงานหมออีกต่อหนึ่ง หมอบอกว่าให้มันกินยาคูลท์ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าอึจะเป็นก้อน

......................

เล่ามาถึงบรรทัดนี้ ยังไม่รู้เลยว่ามันมีปรัชญาชีวิตซ่อนอยู่ตรงไหน ฉันเพียงแต่ยินดีที่พบว่า ตัวเองสามารถเก็บอึเละๆ ของหมาได้โดยไม่ลำบาก บางคนอาจถามว่า น่าภูมิใจตรงไหน น่าคลื่นไส้มากกว่า

ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่มีหลายรูปแบบ แต่ฉันคิดว่า การก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ว่าเรื่องเล็กหรือใหญ่ ก็สามารถภูมิใจได้พอๆ กัน 

บล็อกของ มูน

มูน
รอยแผลลึกจากเขี้ยวและเล็บของเสือจิ๋วเริ่มตื้นขึ้นแล้ว หมอบอกว่าจะไม่ยัดผ้าก๊อซลงไปในแผลอีก ฉันถึงกับถอนใจเฮือกใหญ่ โล่งใจที่ไม่ต้องดูกรรมวิธีอันแสนจะหวาดเสียว ที่ถึงแม้จะคิดว่าเป็นประสบการณ์ดีๆ แต่ไม่ต้องเจอบ่อยๆ ก็น่าจะดี(กว่า)มีเพื่อนๆ ที่กลั้นใจขอดูแผลของฉันแล้วถามด้วยความตกใจปนสงสัยว่า แผลยาวและลึกขนาดนี้ ทำไมหมอถึงไม่เย็บ จึงขอนำคำหมอมาอธิบายเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครๆ ที่ยังไม่รู้ ว่าเหตุที่ไม่เย็บนั้นก็เนื่องจากเข็มกับด้ายหมด ไม่ใช่สักหน่อย อันนั้นล้อเล่น ความจริงคือ แผลที่ถูกสัตว์กัดมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคบาดทะยัก (ซึ่งน่ากลัวมาก) และเชื้อตัวนี้จะเติบโตดีในที่ที่อากาศเข้าไม่ได้ …
มูน
แผงขายกล้วยปิ้งบนถนนสายใหญ่กลางกรุง ดึงดูดให้ฉันลงจากรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ตั้งใจจะลง ตรงเข้าไปบอกแม่ค้าสาวว่า “กล้วยปิ้งสิบบาทค่ะ” เธอเหลือบตาขึ้นเหนือศีรษะแวบหนึ่งแล้วบอกด้วยใบหน้าบึ้งตึงว่า “ขายยี่สิบบาท”ฉันสะดุ้ง รีบมองตามสายตาที่เธอตวัดไปเมื่อครู่นี้ เห็นป้ายแขวนไว้เขียนว่า กล้วยปิ้งทรงเครื่อง น้ำจิ้มรสเด็ด ชุดละ 20 บาท“อุ๊ย ขอโทษทีค่ะ ไม่ทันเห็น เอ้อๆ งั้นกล้วยปิ้งยี่สิบบาท” ฉันรู้สึกตัวเองพูดจาเงอะงะเหมือนบ้านนอกเข้ากรุงจริงๆ ด้วย ไม่รู้แม้กระทั่งราคากล้วยในท้องตลาด ก็แหม กล้วยน้ำว้าบ้านฉันยังหวีละสิบบาทอยู่เลย (ยิ่งซื้อตอนตลาดวายอาจได้สามหวีสิบ)คนขายหยิบกล้วยสี่ลูกใส่ถุง…
มูน
อยู่ดีๆ ฉันก็เหลือมือที่ใช้การได้ข้างเดียว แถมเป็นข้างซ้ายที่ไม่ถนัดเสียด้วยมือขวาหายไปไหนล่ะ ไม่หายหรอกค่ะ ยังอยู่ แต่มันยื่นใบลาพักชั่วคราว ฉันจำต้องอนุมัติ เพราะมันอ้างว่าเป็นคำสั่งแพทย์สาเหตุการป่วยของมือขวามาจากตัวฉันเอง มีแมวน้อยน่ารักสองตัวเป็นส่วนประกอบเสือจิ๋วกับสตางค์เป็นลูกแมวกำพร้าที่ถูกทิ้ง ความจริงมันมีพี่น้องสี่ตัว แต่อดตายไปสอง มันโชคดีที่ได้เจอฉัน หรือว่าฉันโชคดีที่มีโอกาสได้ช่วยมันก็ไม่รู้ สองแมวเลยมาอยู่บ้านสี่ขา ได้ป้อนน้ำป้อนนมกันจนโตความที่ไม่รู้ว่าแมวทั้งสองตัวเกิดเมื่อไร การคาดเดาอายุของมันจึงคลาดเคลื่อนไม่มากก็น้อย ฉันตั้งใจจะจับมันไปทำหมันก่อนวัยกลัดมันจะมาถึง…
มูน
ฝรั่งมักเลี้ยงหมา ไม่ใช่ในฐานะสัตว์เฝ้าบ้าน แต่เป็นสมาชิกในครอบครัว ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่า ชีวิตสมบูรณ์ของผู้ชาย ต้องประกอบด้วย การงาน บ้าน ภรรยา ลูกๆ และหมาอย่างน้อยหนึ่งตัวการเลี้ยงหมา(อย่างถูกวิธี) ช่วยกล่อมเกลาจิตใจเด็กๆ ให้ละเอียดอ่อนและรู้จักความรับผิดชอบ เพราะหมาพูดไม่ได้ ต้องอาศัยการใส่ใจสังเกตว่าเมื่อไหร่ที่มันหิว หนาว ร้อน หรือป่วยไข้ไม่สบาย การใส่ใจในทุกข์สุขของอีกชีวิตหนึ่ง สอนให้เด็กๆ อ่อนโยนและลดความเห็นแก่ตัว นักจิตวิทยาบอกว่า เด็กมักสบายใจที่ได้บอกเล่าความลับหรือปรับทุกข์กับเพื่อนสี่ขา ในหลายๆ เรื่องที่เขาไม่อาจสื่อสารกับผู้ใหญ ทั้งเด็กๆ ยังได้หัดเผชิญกับความสูญเสีย…
มูน
ในความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน บางครั้งมีสายใยที่มองไม่เห็นผูกโยงเราไว้ด้วยกัน และสายใยเส้นนั้นก็อาจถักทอมาจากหนวดหรือขนแมวสักตัวหนึ่ง หลายคราวที่คนไม่รู้จักกัน มาพบเจอ พูดคุย และถูกชะตากันด้วยเรื่องของเจ้าสี่ขา เป็นไปได้ว่า ในโลกของมิตรภาพอันไร้เงื่อนไข ไม่อาจมีกำแพงใดๆ ตั้งอยู่ได้เย็นวันเสาร์ที่ 22 กันยายน 2550 แรงดึงดูดทางโทรศัพท์จากน้องสาวน่ารักชื่อน้องยู “ไปคุยเรื่องแมวๆ กันนะคะพี่” ทำให้ฉันเต็มใจนั่งรถบขส.จากบ้านนอกเข้ากรุง มุ่งไปโรงละครมะขามป้อม สี่แยกสะพานควาย ที่พลพรรครักแมวรวมตัวกันจัดนิทรรศการศิลปะเพื่อชุมชนเป็นงานเล็กๆ ที่แสนอบอุ่น มีคนรักแมว คนเลี้ยงแมว คนไม่เลี้ยง(แต่รัก)แมว…