Skip to main content

<--break->
ที่มาภาพ: http://gossipstar.mthai.com/media/ico/tree-43607.jpg

 

หลังจากดูละครดาวเกี้ยวเดือนที่เพิ่งออกอากาศตอนอวสานไป ผู้เขียนรู้สึกผิดหวังกับละครเรื่องนี้ แม้จะทำใจเอาไว้แล้วว่า ละครไทย ยังไงๆ ก็ไม่พ้นแนว “น้ำเน่า” อย่างที่เขาว่า แต่ด้วยเหตุบางอย่างที่ทำให้ละครเรื่องนี้น่าติดตาม อย่างน้อยก็ในช่วงแรกๆ ของเรื่อง ทำให้ผู้เขียนอดไม่ได้ที่จะสนใจติดตามดูละครจนจบ เพราะอยากรู้ว่าสังคมไทยจะตีความแลกยอมรับความแตกต่างทางความคิดในเรื่องเพศได้เพียงใด

ละครสร้างดาวประกาย นางเอกของเรื่อง ให้เป็นผู้หญิงประเภทมีความรู้ รวย สวย เก่ง เลือกได้ แต่เธอกลับมีความคิดที่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไป เพราะเธอ “ต้องการมีลูก แต่ไม่ต้องการมีผัว” เธอไม่ต้องการใช้ชีวิตครอบครัวแบบที่ต้องมีพ่อแม่ลูกครบตามสูตร ดาวประกายฝันจะเป็นแม่ โดยพึ่งเทคโนโลยีการผสมเทียมเด็กหลอดแก้ว แทนที่จะเลือกมีเซ็กส์กับผู้ชาย แล้วตั้งครรภ์ตามปกติ นอกจากนี้ เธอยังประกาศตนจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ถือสิทธิครอบครองลูกเพียงคนเดียว เธอเป็นผู้เลือกผู้ชายที่จะมาให้สเปิร์ม โดยวางแผนล่าสเปิร์ม และไม่ต้องการมีข้อผูกมัดใดๆ กับผู้ชายที่เป็นเจ้าของสเปิร์ม นั่นหมายความว่าเธอมีจุดยืนที่ไม่เอา “ความรัก” “การมีเซ็กส์” กับ “การเป็นแม่” มาผูกโยงเข้าด้วยกัน  

ละครดาวเกี้ยวเดือนจึงเท่ากับประกาศสงครามกับสังคมที่ให้อำนาจชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) หรือสังคมที่ให้อำนาจเพศชาย เป็นผู้กำหนดชะตากรรมและคุณค่าของเพศหญิง ละครเรื่องนี้ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ในเรื่องความแตกต่างทางเพศของชายหญิง และการครองชีวิตทางเพศ ที่ผู้หญิงต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการเป็นสาวโสด กับการแต่งงาน ที่ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน ก็มาพร้อมกับเงื่อนไขที่กำกับเสรีภาพและความเป็นอิสระที่จะใช้ชีวิตของผู้หญิงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือบังเอิญก็ตาม ละครเรื่องนี้ได้ตั้งประเด็นคำถาม ที่สอดคล้องกับคำถามของนักสตรีนิยมแนวขุดรากถอนโคน (Radical Feminism) ซึ่งท้าทายความเชื่อในเรื่องความเป็นชาย ความเป็นหญิง ความรักโรแมนติค การแต่งงาน  ความเป็นแม่ ความเป็นครอบครัว การมีเพศสัมพันธ์ การเลี้ยงดูเด็ก ฯลฯ อย่างไม่ประนีประนอม 

ผู้เขียนดูละครดาวเกี้ยวเดือน ในฐานะที่เป็นแนวปะทะของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ ระหว่างอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ กับอุดมการณ์สตรีนิยมแนวขุดรากถอนโคน ที่ผู้หญิงประกาศว่า “Personal is political” หรือเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องสาธารณะ และเป็นเรื่องการเมือง เพราะเชื่อมโยงกับอุดมการณ์ครอบงำหลากหลายรูปแบบที่แฝงฝังอยู่ในสังคม

ประการแรก ผู้หญิงอย่างประกายดาว ตั้งคำถามกับกรอบความเชื่อในเรื่องเพศภาวะ (Gender) หรือความเป็นชาย ความเป็นหญิง ว่าแท้จริงแล้ว มันคือสิ่งที่สังคมสร้างขึ้นมา หรือว่าเป็นธรรมชาติ? ในฐานะที่เป็นมนุษย์ ผู้หญิงและผู้ชายล้วนมีความต้องการทางเพศไม่แตกต่างกัน แต่การแสดงออกของความต้องการทางเพศ เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ที่เข้ามากำหนดความเป็นไปได้ที่จะแสดงความต้องการ ในขณะที่วัฒนธรรมไทยยอมรับได้ หากตัวละครชาย ไม่ว่าจะแต่งงานแล้ว อย่างเช่นศิวะ หรือหนุ่มโสด อย่างเช่นพงษ์จันทร แสดงความเจ้าชู้อย่างเปิดเผยในสังคม แต่ผู้หญิงสาวโสด อย่างเช่นตัวละครประกายดาว กลับต้องพยายามอย่างเต็มที่ในเก็บกดความต้องการทางเพศ เพราะในทางวัฒนธรรม ผู้หญิงถูกสอนให้ต้องรักนวลสงวนตัว ผู้หญิงสาวโสด ห้ามหื่นให้ใครเห็น ถ้าจะหื่น ก็ต้องเก็บอาการ และให้แสดงออกได้แค่ในความฝัน หรือไม่ก็ต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง เช่นตัวละครคุณหญิงนิ่มที่แชทเรื่องรักกับชายแปลกหน้าผ่านนามแฝงที่ทั้งคู่ต่างไม่รู้ว่าเป็นใคร ทั้งนี้ก็เพื่อให้สอดคล้องกับภาพลักษณ์ความเป็น “ผู้หญิงดี” ของสังคมไทย

กระนั้นก็ตาม การใช้วาทกรรม “ผู้หญิงดี” และเครื่องมือทางวัฒนธรรมมากำกับควบคุมการแสดงออกของอารมณ์ทางเพศ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้สำเร็จเสมอไป บ่อยครั้งที่ “ผู้หญิงดี” อย่างประกายดาวก็ยังปิดบังอารมณ์หื่นของเธอไม่มิด ดังที่ปรากฏว่า เธอมักจะ “เลือดกำเดาไหล” ทุกครั้ง เมื่ออยู่ใกล้ผู้ชายที่เธอชอบ และ “หล่อล่ำ” จนทำให้เธอหัวใจเต้นแรง การเก็บอาการหื่นไม่อยู่ เป็นที่รับรู้ของคนใกล้ชิด จนกลายเป็นมุขล้อเลียนเธอ

หากความเป็นชาย และความเป็นหญิงเป็นเรื่องธรรมชาติดังที่เชื่อกัน อารมณ์หื่นของผู้ชายและผู้หญิงก็ควรจะมีความหมายเหมือนกัน และควรได้รับการยอมรับแบบเดียวกัน แต่ทำไมสังคมไทย จึงสร้างวาทกรรม “ผู้หญิงดี” และ “ผู้หญิงชั่ว” และใช้กลไกทางวัฒนธรรมมากมาย เพื่อควบคุมเนื้อตัวร่างกายและชี้นำกำกับความคิดและพฤติกรรมของผู้หญิงโดยเฉพาะ หากความเป็นหญิง เป็นเรื่องธรรมชาติดังที่เชื่อกัน ทำไมผู้หญิงทุกคนต้องถูกอบรมบ่มสอนด้วยวาจาทางตรงและเครื่องมือทางอุดมการณ์ต่างๆ เพื่อบอกว่า ผู้หญิงดีควรปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะความเป็นเพศไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่แต่ละสังคมสร้างขึ้นมา ความเป็นเพศจึงแตกต่างกันในแต่ละสังคม มีความหลากหลาย ไม่ใช่แค่ 2 เพศ คือหญิงและชาย และเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอีกด้วย ดังนั้นผู้หญิงจึงไม่จำเป็นที่จะต้องคิดและปฏิบัติตัวเหมือนกัน เพื่อให้เข้าเกณฑ์ “ผู้หญิงดี” ตามที่สังคมกำหนด

ประการที่สอง ประกายดาวตั้งคำถามกับความเชื่อเรื่อง “ความรักโรแมนติค” ที่สังคมบอกว่าสำคัญนักหนา เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ หากต้องการจะมีเซ็กส์ที่สะอาด รักโรแมนติคยังถูกใช้เป็นใบเบิกทางไปสู่การแต่งงาน และเป็นหลักประกันที่ปลอดภัยของการมีลูกไว้สืบสกุล  แต่ผู้หญิงอย่างประกายดาว (อย่างน้อยก็ในช่วงต้นถึงกลางเรื่อง) เชื่อว่า ความรัก การมีเซ็กส์ และการมีลูก เป็นเรื่องที่แยกส่วนกัน เธอได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ผู้หญิงสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วยตัวเอง และเลี้ยงดูลูกได้เพียงลำพัง ไม่จำเป็นต้องโหยหาใครสักคนมาเติมความรักแบบโรแมนติค แม้ความเชื่อของเธอจะได้มาจากประสบการณ์ของความผิดหวังจากการเป็นแฟนกับผู้ชายหลายคนก็ตาม 

การที่ประกายดาวเลือกที่จะเป็นสาวโสด ปฏิเสธที่จะแสวงหารักโรแมนติค ตลอดจนเลือกที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน เท่ากับการปฏิเสธอำนาจครอบงำของสังคมชายเป็นใหญ่ และการปฏิเสธความสัมพันธ์ทางเพศภาคบังคับ  หรือการมีเพศสัมพันธ์แบบชายหญิง (Heterosexual) ที่มักจะเอาความต้องการและความปรารถนาของผู้ชายเป็นสำคัญ ควบคู่กับการที่ผู้หญิงต้องยอมรับเงื่อนไขต่างๆ มากมาย เช่น ข้อกำหนดในเรื่องผู้หญิงดี การเป็นเมีย และการเป็นแม่  

การตั้งคำถามของประกายดาว สอดคล้องกับคำถามที่นักสตรีนิยมสายขุดรากถอนโคน โต้แย้งว่า รักโรแมนติค แท้จริงแล้ว เป็นเพียงกับดักทางอุดมการณ์ของสังคมที่ให้อำนาจชายเป็นใหญ่ ซึ่งทั้งหลอกล่อให้ผู้หญิงมองไม่เห็นสภาวะการดำรงอยู่ที่เป็นจริงของตัวเอง และทั้งบีบบังคับให้ผู้หญิงทุกคนต้องเข้าสู่เพศสัมพันธ์ภาคบังคับ ทำให้ผู้หญิงหลงผิดคิดไปว่า ผู้หญิงไม่อาจอยู่ได้ด้วยตัวเอง ผู้หญิงไม่สามารถมีความสุขทางเพศด้วยตนเอง แต่ผู้หญิงต้องพึ่งพิงผู้ชายเสมอ ในขณะที่ผู้ชายไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การครอบงำของวาทกรรม “รักโรแมนติค” ผู้หญิงกลับถูกครอบงำโดยวาทกรรม “รักโรแมนติค” ได้ง่าย ดังตัวละครอย่างรติรส ที่ถูกครอบงำด้วยความรักโรแมนติค จนชีวิตเธอแทบพัง เพราะกลายเป็นเหยื่อของผู้ชายเจ้าชู้อย่างศิวะ

ประการที่สาม ประกายดาวท้าทายความเชื่อของสังคมไทย ที่ผูกโยงผูกโยงผู้หญิงกับ “ครอบครัวอุดมคติ” และ ในทำนองเดียวกับ นักสตรีนิยมสายขุดรากถอนโคนที่โต้แย้งว่า สังคมชายเป็นใหญ่ใช้เพศสัมพันธ์ภาคบังคับ เพื่อควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง สังคมชายเป็นใหญ่ยังใช้แนวคิด“ครอบครัวอุดมคติ” ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบพ่อ แม่ ลูก อยู่ร่วมกันอย่างรักใคร่และมีความสุข เพื่อบีบบังคับให้ผู้หญิงเข้าสู่การเป็นเมียและแม่ และเพื่อชักจูงใจให้ผู้หญิงยอมรับบทบาทตามความคาดหวังที่รัฐและสังคมกำหนดขึ้น เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้หญิงดีที่สมบูรณ์แบบ”

แม้ว่าการเป็นแม่ คือการที่ผู้หญิงแสดงบทบาทเป็นผู้ให้กำเนิดสมาชิกใหม่ให้กับรัฐ และเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กตามแนวทางที่รัฐต้องการ แต่กลับมีการสร้างความเชื่อว่า ผู้หญิงทุกคนควรแต่งงาน และมีลูก หากผู้หญิงคนไหนไม่แต่งงาน ก็จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่มีข้อบกพร่อง ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว แต่ไม่มีลูก เช่นตัวละครหญิงอย่างอรอุมา หรือผู้หญิงที่ไม่แต่งงาน แต่กลับตั้งท้อง เช่นตัวละครหญิงอย่างรติรส ก็ถูกมองว่าไม่ใช่ “ผู้หญิงดีที่สมบูรณ์แบบ” เพราะไม่สามารถทำให้เป็นไปตามองค์ประกอบของแนวคิด “ครอบครัวอุดมคติ” ของสังคม 

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้หญิงอย่างดาวประกาย ที่มองว่าการเป็นแม่เป็นทางเลือก (Choice) หนึ่งของผู้หญิง นั่นหมายความว่าผู้หญิงแต่ละคนมีสิทธิตัดสินใจว่าจะเป็น หรือไม่เป็นแม่ก็ได้ และจะเป็นแม่ด้วยวิธีการใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านการแต่งงาน จึงคิด “แผนล่าสเปิร์ม” เพื่อหวังได้ลูกมาเติมเต็มชีวิตของเธอ โดยเธอใช้กูเกิลเป็นสื่อกลาง เพื่อหาคนที่มีคุณสมบัติ "หล่อ การศึกษาดี ใจบุญ" และได้พบกับคำตอบคือคุณชายจันทร์ ทำให้เธอใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้ใกล้ชิดคุณชายจันทร์ และได้โอกาสที่จะขอสเปิร์มจากเขา

ความปรารถนาที่จะเป็นแม่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย และไม่ต้องการเข้าสู่เพศสัมพันธ์ภาคบังคับ ภายใต้สถาบันครอบครัว ถือเป็นแก่นแกนหลักของละครเรื่องนี้ มันแสดงให้เห็นบทบาทใหม่ของผู้หญิง ที่เป็นฝ่ายเลือก คิดต่าง ทำต่าง และเป็นฝ่ายล่า มากกว่าจะเป็นผู้ถูกเลือก และถูกล่า ผู้หญิงอย่างประกายดาว นับว่าสวนทางกับ “ผู้หญิงดี” ตามคติความเชื่อในสังคมจารีตประเพณี ในขณะที่เธอมีความสมบูรณ์พร้อมในทุกด้าน มันจึงทำให้ละครเรื่องนี้โดดเด่น แตกต่างจากละครทั่วไป

ละครพูดถึงความเป็นไปได้ ที่ผู้หญิงไทยในศตวรรษที่ 21 จะปลดตัวเองออกจากพันธนาการเดิม และรื้อฟื้นอำนาจในการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของตัวเองคืนมา พร้อมกับอิสรภาพในการเลือกใช้ชีวิต แสวงหาความสุขตามรสนิยมของตนเอง รวมถึงสร้างครอบครัวแบบทางเลือก ที่พ้นไปจากขนบจารีตประเพณีเดิม

การที่ละครตั้งคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ผู้หญิงจะแตกต่าง เป็นไปได้หรือไม่ที่ “การเป็นแม่” จะเป็นแค่ ทางเลือกของผู้หญิง มากกว่าภาวะจำยอม นับเป็นการตั้งคำถามที่สำคัญ เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่การยอมรับความแตกต่างหลากหลาย หลุดพ้นไปจากกับดักความคิดแบบอุดมคติ หรือการมองอะไรแบบขั้วตรงข้าม เช่น ชายต้องคู่กับหญิง จู๋ต้องคู่กับจิ๋ม ผู้หญิงต้องคู่กับการเป็นเมียและแม่ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี การที่ผู้สร้างละครได้บิดเบือนตัวละครดาวประกายอย่างพลิกผัน ตั้งแต่ช่วงกลางเรื่อง จนถึงตอนจบ เธอกลายเป็นผู้หญิงที่สับสน เต็มไปด้วยความขัดแย้งในตัวเอง 

ในด้านหนึ่งเธออยากเป็นตัวของตัวเอง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็หวั่นไหวและแคร์คำคน

ในขณะที่ด้านหนึ่ง เธอต้องการเป็นอิสระจากการครอบงำของเพศชาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง เธอกลับโหยหาความรักโรแมนติค และรอคอยผู้ชายมาเติมเต็มความสุข

ในขณะที่ด้านหนึ่งเธอต้องการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ในอีกด้านหนึ่ง เธอกลับลังเล เมื่อถูกทักท้วงว่าผู้หญิงเลี้ยงลูกคนเดียว อาจไม่สามารถเลี้ยงลูกให้เป็นคนดีของสังคม

ความพลิกผันด้านบุคลิกภาพ และวิกฤตอัตลักษณ์ของตัวละครหญิงอย่างดาวประกาย ทำให้ในตอนท้ายของละคร เธอเลือกที่จะสยบยอมต่ออำนาจสังคมชายเป็นใหญ่ และหันกลับมายอมรับบทบาทและค่านิยมที่เธอเคยปฏิเสธ  การยอมแพ้ของเธอ เท่ากับปิดประตูสำหรับความเป็นไปได้ ที่ผู้หญิงจะแตกต่าง ไม่เพียงเท่านั้น ยังเท่ากับการเอาข้อเสนอของนักสตรีนิยม จับใส่หม้อถ่วงน้ำ ให้ตายแบบไม่ต้องผุดไม่ต้องเกิดด้วย

ละครดาวเกี้ยวเดือน จึงไม่ใช่ปฏิบัติการตามล่าสเปิร์ม ของผู้หญิงที่คิดต่างทำต่าง แต่กลับกลายเป็นเรื่องราวของผู้หญิงธรรรมดาๆ ที่แสวงหารักโรแมนติค และยอมแลกความเป็นตัวของตัวเองแทบทุกด้าน เพื่อสร้างครอบครัวอุดมคติตามขนบจารีตของสังคม ด้วยบทสรุปของเรื่อง ดาวเกี้ยวเดือน จึงเป็นแค่การสืบทอดลัทธิบูชาลึงค์ และการทำให้ผู้หญิงที่คิดต่าง ทำต่าง กลายเป็นตัวตลก เป็นแม่มดที่น่าหัวเราะเยาะของสังคมชายเป็นใหญ่

 

---------------------------------------------------------------

 

 

 

 

 

บล็อกของ เนตรดาว เถาถวิล

เนตรดาว เถาถวิล
ทันทีที่มีข่าวออกมาว่า กระทรวงวัฒนธรรม ทำคลอด พ.ร.บ. “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ออกมา นักวิชาการและสังคมออนไลน์ก็ได้ตั้งคำถามถึงที่มาและเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งให้อำนาจรัฐควบคุมกำกับการแสดงออกทางวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
เนตรดาว เถาถวิล
ละครดาวเกี้ยวเดือน จึงไม่ใช่ปฏิบัติการตามล่าสเปิร์ม ของผู้หญิงที่คิดต่างทำต่าง แต่กลับกลายเป็นเรื่องราวของผู้หญิงธรรรมดาๆ ที่แสวงหารักโรแมนติค และยอมแลกความเป็นตัวของตัวเองแทบทุกด้าน เพื่อสร้างครอบครัวอุดมคติตามขนบจารีตของสังคม