Skip to main content

20080304 ภาพพระอาทิตย์ที่ขอบฟ้า

การใช้ชีวิตในบ้านไร่ชายป่า บางครั้งทำให้ฉันถามตัวเองว่า การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เป็นความฟุ่มเฟือยของชีวิตด้วยหรือเปล่า แต่แล้วก็มีบางเรื่องราวมาคลี่คลายเป็นคำตอบให้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับคำถามใดๆ ทั้งสิ้น

.......

สวัสดีค่ะ
พี่ชื่ออะไรเหรอคะ
หนูชื่อทรายนะคะ
บังเอิญเข้ามาอ่านเจอพอดี
พี่ทำงานกับป๊าหนูด้วยเหรอค่ะ (ยงยุทธ ตรีนุชกร)
แต่พ.ศ.31 หนูเพิ่งจะเกิดเอง
คงไม่รูจักพี่แน่เลย!!
แล้วจะเข้ามาอ่านใหม่นะค่ะ
อ่านแล้วชอบมากๆ เลย
เพราะหนูเรียนแพทย์แผนไทยอยู่ ก็เลยรู้สึกดีที่มีคนชอบการรักษาแบบแผนไทยเหมือนกัน
ขอให้พี่หายเร็วๆ นะคะ
แล้วก็ช่วยเป็นกำลังใจให้ป๊าด้วยนะคะ

……………………….

ข้างบนนั้นคือคำทักทายจากน้องทรายในเอ็นทรีเก่า ที่ฉันเขียนเกี่ยวกับความพิการของตัวเอง และน้องทรายคนนี้ ฉันยังจำเธอได้ ในวัยที่เธอเป็นเด็กหญิงตัวน้อยๆ ร่างบอบบาง เดินตามหลังพี่ชายร่างอวบอ้วนที่ชื่อไผ่

พี่ชายของเธอ ตั้งแต่เล็กแต่น้อย ที่คนเป็นพ่อมักจะหอบหิ้วเข้าไปในหมู่บ้านยามทำงาน และมีฉันเป็นพี่เลี้ยงจำเป็น ซึ่งไม่ยากเย็นอะไรเลยเพราะเขาเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายที่สุด แต่เมื่อถึงคราวมีน้องทราย ฉันก็ลาออกจากงานนั้นแล้ว

เส้นทางแห่งมิตรภาพ บางครั้งทอดยาวออกไปไกลลิบสุดสายตาคาดเดา แต่บางครั้งมันวกเวียนวกวนหวนกลับมาราวกับเส้นทางแห่งเขาวงกต

เพียงคำทักทายของคนที่เคยรู้จัก ที่บอกว่ายังจำฉันได้ หรืออาจไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ได้รู้จักฉันแล้วในประชาไท เพียงเท่านี้ ก็นับว่าเป็นพลังชีวิตที่มีค่า คล้ายๆสายฝนในวันร้อนแล้ง หรือคล้ายแสงอาทิตย์แรกในวันฟ้าหม่นเพราะฝนพรำ  ซึ่งฉันได้สัมผัสความสุขเช่นนั้นในการใช้ชีวิตกับธรรมชาติ

การพบเจอคนรู้จักในการสื่อสารยุคไอทีก็ไม่แตกต่างกัน ฉันรู้สึกยินดีที่มิตรภาพหวนคืนมาอย่างง่ายดาย ท่ามกลางความรู้สึกยุ่งยากในการใช้เครื่องมือสื่อสารเมื่ออยู่กลางป่าดง ที่ฉันมักจะรู้สึกว่าการทำงานผ่านเครื่องมือสมัยใหม่เป็นความรุงรังของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามขุดดินฟันหญ้ากลางป่าเปลี่ยว จึงเคยคิดอยากจะเลิกใช้งานมันมาหลายหนแล้ว หรือบางครั้งมีการสื่อสารจากคนแปลกหน้า ที่ทำให้เกิดอาการคลื่นเหียนรังเกียจในความหยาบโลน ไร้ยางอาย จนไม่อยากจะพบเจอ

แต่ด้วยคำทักทายของน้องทราย ที่ดึงใจฉันให้กลับมามองดูมันใหม่อย่างยุติธรรม

“ขอให้พี่หายเร็วๆนะคะ แล้วก็ช่วยเป็นกำลังใจให้ป๊าด้วยนะคะ”

ขอบคุณน้องทราย ที่ทำให้น้าได้พบกับคุณค่าของจิตใจที่ยังคงอยู่อย่างครบถ้วน ในการสื่อสารผ่านเครื่องมือที่ยุ่งยากและชวนกังขาในบางที

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล