Skip to main content

คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าวัดชนะสงครามเป็นวัดมอญ ใช่ว่าคนสนใจประวัติศาสตร์จึงได้รู้ความเป็นมาของวัด แต่เป็นเพราะหน้าวัดมีป้ายโลหะสีน้ำตาลที่ทางการชอบปักไว้หน้าสถานที่ท่องเที่ยว ความระบุประวัติไว้ว่าวัดนี้เป็นวัดของพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ (มอญ) แต่ก็ไม่แน่ใจนัก คนสมัยนี้อาจเข้าใจว่ามอญเป็นชื่อต้นไม้จำพวกเห็ดราปรสิตชนิดหนึ่งก็ได้


เดี๋ยวนี้วัดชนะสงครามมีชื่อเสียงเป็นสองแรงบวก จากกิตติศัพท์ความเคร่งของพระมอญ และคำว่า “ชนะ” การประกอบกิจกรรมกิจการงานใด หากทำบุญถวายสังฆทานสะเดาะเคราะห์ที่วัดนี้จะมีโชคมีชัย แคล้วคลาด ขนาดหมอดูชื่อดังยังสร้างแนวคิดให้มาไหว้พระ ๙ วัด เมื่อปี ๒๕๔๘ มีวัดชนะสงครามเป็นหนึ่งในนั้น (เพื่อจะได้มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง – แต่หากไปไหว้พระที่วัดชัยชนะสงคราม คลองถม ขากลับจะสามารถเลือกซื้อหนังก๊อปได้ด้วย) เรียกว่าความนิยมของวัดชนะสงครามได้มาเพราะชื่อขายได้แท้ๆ กระทั่งททท.รับลูกเอาไปเล่นต่อ สร้างจุดขายการท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพฯชั้นในแต่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นบางวัด ทุกวันนี้เสาร์อาทิตย์จะผู้คนมาไหว้พระกันแน่นวัด มาอยู่กันคนละประมาณ ๕ นาที รีบไปต่อเพราะกลัวจะไม่ครบ ๙ วัด แรกเริ่มทางททท.ก็พิมพ์ประวัติวัดเล่มบางๆ มาแจก ทางวัดก็มีหนังสือธรรมะเล่มเล็กให้ญาติโยมติดไม้ติดมือกลับบ้าน ระยะหลังหนังสือหมด ทางททท.คงไม่มีงบทำต่อเพราะต้องเจียดงบไปเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร ขยายพื้นที่จัดแสดงของบึงฉวาก ปรับภูมิทัศน์หอคอยบรรหาร ปรับปรุงและพัฒนาถนนสายต่างๆ และเกาะกลางถนน รวมทั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างให้ชาวนาที่พิพิธภัณฑ์ชาวนาไทยได้ดำนาในตอนกลางคืนอวดนักท่องเที่ยว เมื่องบประมาณการท่องเที่ยวจังหวัดอื่นๆ จึงถูกตัด ทุกวันนี้คนที่มาไหว้พระที่วัดชนะสงครามจึงกลับบ้านมือเปล่า ธรรมะก็คงไม่มีเวลาฟังเพราะต้องรีบไปวัดอื่นต่อ หากนั่งอยู่ใกล้ธรรมาสน์อาจได้หยาดน้ำมนต์จางๆ กระเซ็นไปต้องผิวหนังบ้าง แต่ที่แน่ๆ มีตู้บริจาควางไว้ให้รอบทิศเกือบ ๒๐ ใบ บริจาคทรัพย์ได้ตามอัธยาศัย
 


แผนที่การเดินทางไหว้พระ ๙ วัด


ไม่นานมานี้ที่วัดชนะสงครามเกิดประเพณีใหม่ เนื่องมาจากการบนบานกับพระบรมรูปวังหน้า (สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) ได้ผลมากน้อยเพียงใดไม่มีใครรู้ แต่เห็นมีของแก้บนล้นหลามก็แสดงว่ามีผู้สมใจนึกจำนวนมาก พระเณรพากันแปลกใจ ถามไถ่ได้ความว่า มีคนเล่าลือถึงความศักดิ์สิทธิ์ของวังหน้าใครขออะไรก็ได้ดังใจ และต้องมาแก้บนด้วยมะนาว เจ้าอาวาสได้ยินเข้าถึงกับออกปาก
อาตมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนี้มา ๔๐ กว่าปีแล้ว เพิ่งเคยได้ยิน”


ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน พระวัดชนะสงครามก็ได้งานเพิ่มมาอีกอย่างคือ การปราบผี เมื่อเจ้าอาวาสและพระมอญหลายรูปได้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในงานทำบุญสถาปนากองปราบปรามครบรอบ ๖๑ ปี หลังฉันภัตตาหารเสร็จ เจ้าหน้าที่ได้นิมนต์เจ้าคุณ
(พระเมธีวราลงกรณ์) ไปพรมน้ำมนต์ที่ห้องขังเพื่อไล่ผีอดีตผู้ต้องขังที่หลอกหลอนผู้ต้องขังด้วยกัน เจ้าคุณรู้แต่ว่าวันนั้นเขานิมนต์ไปสวดมนต์ฉันเพลจึงตั้งตัวไม่ทัน พรมน้ำมนต์เสร็จกลับถึงวัดจึงบ่นขึ้น

ถ้าเรื่องสงบ ผีก็คงจะโกรธที่เราไปทำร้ายเขา แต่ถ้าผียังไม่ยอมหยุด คนก็จะหาว่าน้ำมนต์เราไม่ศักสิทธิ์ โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง”

 


พระเมธีวราลงกรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส คณะ ๗ วัดชนะสงคราม พรมน้ำมนต์ห้องขังกองปราบไล่ผี


แล้วก็เป็นจริงตามคาด รุ่งขึ้นเป็นข่าวอีกว่า น้ำมนต์ไม่ขลัง เพราะช่างภาพโทรทัศน์รายหนึ่ง (แหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อและช่อง) เจอจะๆ กับตาแต่ไม่กล้าบอกใคร กลัวคนจะแตกตื่น (แต่ก็มาเปิดเผยภายหลัง) ...สื่อมวลชนยังเป็นอย่างนี้ แล้วสังคมที่เสพข่าวสารจะเป็นอย่างไร


ที่จริงแล้ววัดชนะสงครามเกี่ยวข้องกับคนมอญมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เดิมเป็นวัดขนาดเล็กสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่ท่ามกลางท้องนาจึงได้ชื่อว่า “วัดกลางนา” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อตั้งบ้านแปงเมืองในระยะแรกนั้นพม่าพยายามยกทัพมาปราบปรามเพื่อไม่ให้ตั้งตัวได้ บ้านเมืองต้องรับศึกสงครามหลายครั้ง มีทหารมอญจำนวนมากที่อพยพเข้ามาสมัยธนบุรี ได้เข้าร่วมในกองทัพของวังหน้า สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
(พระอนุชาในรัชกาลที่ ๑) ภายหลังมีชัยจากสงครามแล้ว ระหว่างทรงพักกองทัพหลังกลับจากสงครามก่อนเข้าเฝ้ารัชกาลที่ ๑ ในวังหลวงย่านวัดกลางนา สมเด็จกรมพระราชวังบวรฯทรงนึกถึงคุณงามความดีของทหารมอญที่ร่วมรบในสงครามจนได้รับชัยชนะ จึงรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดกลางนา ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ และให้ครอบครัวของนายทหารมอญเหล่านั้นปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่รายรอบวัด วัดและชุมชนรอบๆ วัดชนะสงครามจึงเป็นชุมชนมอญตั้งแต่นั้นมา


ปัจจุบันชุมชนและวัดมอญชนะสงครามเหลือเพียงประวัติศาสตร์เท่านั้น ลูกหลานของมอญสมัยนั้นกลืนกลายเป็นไทยไปหมดแล้ว ไม่หลงเหลือเอกลักษณ์วัดมอญเช่นในอดีตอีกต่อไป มีเพียงหน้าที่ตามกฏมณเฑียรบาลเท่านั้นคือ ให้พระมอญที่จำพรรษาอยู่ที่วัดชนะสงครามเข้าไปสวดพระปริตรมอญที่หอศาสตราคม พระบรมมหาราชวังทุกวันพระ เพื่อจัดทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมพระบรมมหาราชวังและสำหรับพระมหากษัตริย์โสรจสรง ซึ่งพระมอญนั้นเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ปัจจุบันเหลือเพียง ๗ รูป เท่านั้น

 


นายธีระ ทรงลักษณ์ (พาดผ้า) ผู้อาราธนาศีลมอญงานเทศน์มหาชาติภาษามอญ ปี ๒๕๕๑


เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ๒ รูปก่อนหน้ารูปปัจจุบันไม่ได้มีเชื้อสายมอญ และปกครองวัดได้ไม่นานนักก็มรณภาพ ทำให้เกิดข่าวลือว่า หากเจ้าอาวาสไม่มีเชื้อสายมอญจะอยู่ไม่ได้ เมื่อเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (สมเด็จพระมหาธีราจารย์) มาเป็นเจ้าอาวาส และคงได้ยินข่าวลือนี้ ท่านจึงกล่าวว่าท่านก็มีเชื้อมอญ ทั้งยังบวชมาจากวัดตองปุ วัดมอญที่อยุธยาเสียด้วย (เดิมวัดชนะสงครามก็มีชื่อเรียกในหมู่ชาวมอญว่าวัดตองปุ) ซึ่งท่านได้เป็นเจ้าอาวาสมาจนถึงทุกวันนี้ และท่านก็มักคุยให้คนมอญที่ไปหาท่านฟังเสมอว่าท่านมีเชื้อมอญ และมีอ่างกะปิของยายที่หอบหิ้วมาจากเมืองมอญ แม้ไม่เคยมีใครได้เห็นก็ตาม แต่เมื่อมีคนจีนเข้าไปพูดคุยท่านก็จะพูดเรื่องจีนและกล่าวว่าท่านก็มีเชื้อสายจีนด้วย แม้เรื่องนี้จะฟังดูคล้ายวิธีการของนักการเมือง แต่สำหรับเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามคงอยู่นอกเหนือจากนั้นเพราะท่านไม่ได้ต้องการขยายฐานเสียง เพียงแต่ท่านรู้ว่าควรจะคุยกับใครด้วยเรื่องอะไรจึงจะเหมาะควร


สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าอาวาสท่านยังคงคิดถึงและให้เกียรติบรรพชนมอญผู้สร้างวัดคือ ว่ากันว่าแม้ทุกวันนี้วัดชนะสงครามจะเหลือพระมอญน้อยมากแล้วก็ตาม ท่านยังคงแบ่งวัดออกเป็น ๒ ฟาก กำหนดให้ฟากซ้ายมือเป็นที่จำพรรษาของพระมอญ (ปัจจุบันจะเหลือแต่เจ้าคณะเท่านั้นที่เป็นมอญ) ส่วนฟากขวามือเป็นพระอาคันตุกะ คือพระที่มาจากทุกสารทิศโดยไม่แบ่งแยก และอีกประการหนึ่งคือ ท่านได้กำหนดให้รื้อฟื้นการเทศน์มหาชาติภาษามอญขึ้นทุกปี โดยก่อนหน้าที่ท่านจะมาปกครองวัดนั้นเทศน์เฉพาะภาษาไทย เลิกเทศน์ภาษามอญไปนานแล้ว ครั้งแรกที่ท่านมีดำริให้เทศน์มหาชาติภาษามอญ มีผู้ท้วงว่าไม่มีพระมอญในวัดที่เทศน์มอญได้ไพเราะแล้ว รูปที่เคยเทศน์ก็เพิ่งมรณภาพไป ซ้ำคนที่ฟังออกก็มีน้อย แต่ท่านก็ยืนยันให้มีการเทศน์มหาชาติภาษามอญ ๑ กัณฑ์ ทุกปี ด้วยเหตุผลที่ว่า


เอาพระในวัดเรานี่แหละ เทศน์ธรรมดา แหล่หรือเอื้อนแบบเก่าไม่ได้ก็ช่างมัน ใครฟังไม่ออกก็ช่างเขา เทศน์ให้ผีบรรพบุรุษมอญฟัง เพราะวัดนี้เป็นวัดมอญ”

 


พระครูสุนทรวิลาศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส คณะ ๕ วัดชนะสงคราม
เทศน์มหาชาติกัณฑ์วนประเวศน์ภาษามอญเป็นประจำทุกปี


 

บล็อกของ องค์ บรรจุน

องค์ บรรจุน
ภาสกร  อินทุมาร เหตุการณ์ที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงบทความเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติที่มหาชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มาจากประเทศพม่า กล่าวว่าแรงงานเหล่านี้จะเข้ามายึดครองพื้นที่ รวมทั้งคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่ห้ามมิให้แรงงานเหล่านี้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม เพราะเกรงว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติสิ่งที่สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ซึ่งอ้างว่า “รักชาติ” แต่เป็นการรักชาติแบบ “มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์” และได้ส่งผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อความรู้สึกนึกคิดของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อคนไทยเชื้อสายมอญในมหาชัย…
องค์ บรรจุน
สุกัญญา เบาเนิด (นัด)ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีวันสำคัญวันหนึ่งของคนมอญไม่ว่าจะอยู่ไหนทั้งในประเทศไทย พม่า และต่างประเทศก็จะรวมตัวร่วมใจในการจัดงานสำคัญนี้ นั่นก็คือ “วันชาติมอญ” และในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้  วันชาติมอญก็จะเวียนมาบรรจบครบรอบเป็นครั้งที่ ๖๑ ถึงแม้ว่าวันชาติมอญถือกำเนิดเกิดขึ้นในกลุ่มคนมอญเมืองมอญ (ประเทศพม่า) ก็ตาม จะด้วยเป้าหมายทางการเมือง หรือ อุดมการณ์ชาตินิยมมอญ มันก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า “วันชาติมอญ” ได้สะท้อนความรู้สึกและสำนึกถึงรากเหง้าและจุดกำเนิด  ซึ่งก็ไม่ต่างจากผู้คนเชื้อชาติอื่น ภาษาอื่นที่พึงจะพูดถึงที่ไปที่มาของตนเอง  ยิ่งไปกว่านั้น “วันชาติมอญ”…