Skip to main content

เมื่อเครื่องแตะรันเวย์ของสนามบินเมืองอัลบานี มลรัฐนิวยอร์ค ผมรับกระเป๋าและออกมารออาจารย์สุดารัตน์ มุสิกวงษ์ ที่เชื้อเชิญให้ผมมาบรรยายเรื่องประวัติย่อของคณะกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริงในประเทศไทย ให้กับวิทยาลัยเซียนาที่เธอเป็นผู้อำนวยการโครงการศึกษานานาชาติอยู่ อาจารย์สุดารัตน์เป็นนักวิชาการเชื้อสายไทยที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับความรุนแรงและความทรงจำเกี่ยวกับตุลาคม 2519  ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เธอทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการผลิตทางวัฒนธรรมของความทรงจำในทศวรรษ 1970 เธอยังสนใจเรื่องแรงงานชาวไทยพลัดถิ่นในภาคการเกษตรที่อเมริกาอีกด้วย กล่าวได้ว่าเป็นนักวิชาการที่ทำงานหนักและมีงานอย่างต่อเนื่องคนหนึ่งทีเดียว 

อาจารย์สุดารัตน์มีภารกิจมากมายทั้งงานวิชาการและงานบริหาร ในวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีการจัดการศึกษาเข้มข้นอย่างนี้ ถือว่าภาระงานหนักมากๆ 

 

ผมได้รับการเชื้อเชิญจากอาจารย์สุดารัตน์ให้มาบรรยายเรื่องประวัติย่อของคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงในประเทศไทยและวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการค้นคว้าระหว่างมารับทุนวิจัย ผมมองเห็นความสัมพันธ์บางประการในแนวทางการทำงานค้นหาความจริงในประเทศไทย และปัญหาสำคัญก็คือการเว้นโทษไม่เอาความผิดด้วยเหตุเรื่องการปรองดองและให้อภัยซึ่งมักอ้างอิงอยู่เสมอ

 

เมื่อมาถึงวันแรก ผมมีเวลาเดินเล่นในตัวเมืองอัลบานี ก่อนจะทานอาหารค่ำง่ายๆ และเตรียมตัวบรรยายในวันพรุ่งนี้ สารภาพตามตรงว่างานที่ทำออกมายังไม่เสร็จ จึงค่อนข้างเกร็ง แต่คิดในใจว่า่จะพยายามให้ถึงที่สุด เพื่อจะเล่าสภาพปัญหา 

 

ครั้นถึงเวลาบรรยายจริงๆ ก็มีอาจารย์หลายท่านและนักศึกษาส่วนหนึ่งมานั่งฟัง ผมเองทำได้ไม่ดีนัก ด้วยความคิดยังไม่ลงตัวหลายประการ ประกอบกับรายละเอียดของการค้นหาความจริงในระยะแรกเป็นเรื่องการเมืองภายในของเราเสียมาก ถึงผมเองจะไม่พอใจ แต่อย่างน้อยนับได้ว่าได้ทดลองเสนอแนวคิดของตัวเอง

 

ตอนค่ำอาจารย์สุดารัตน์จองตั๋วการแสดงที่โรงละครของเมืองอัลบานี ที่คนเรียกว่าอาคารรูปไข่ หรือ The Egg เพราะเหมือนไข่ครึ่งซีกวางอยู่บนฐาน ซึ่งมีรูปทรงแปลกตา โดยเฉพาะในยามค่ำคืนเรียกว่าสามารถใช้ถ่ายหนังแบบอนาคตได้เลย เพราะอาคารนี้รายล้อมไปด้วยหมู่อาคารทรงกล่องสูงชะลูดเป็นแท่งแบบอนาคต เพราะเป็นศูนย์ราชการของรัฐนิวยอร์คด้วย เสียดายที่ไม่มีเวลามากพอจะไปเที่ยวชมส่วนอื่นๆ ของเมือง เพราะเราต่างก็ยุ่งด้วยกันทั้งคู่ แถมพรุ่งนี้เราต้องไปทำ workshop ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิทากะอีกด้วย

 

การเดินทางจากอัลบานีไปอิทากะใช้เวลาขับรถประมาณสามชั่วโมงเศษ ๆ เราออกจากที่อัลบานีประมาณเจ็ดโมงเช้า โดยผมอาสาขับรถให้ ความที่ไม่ชินทางและกลัวโดนจับ ผมจึงขับรถค่อนข้างช้าและรักษาความเร็วในระดับที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด จนอาจารย์สุดารัตน์บอกว่าไม่จำเป็นต้องรักษาความเร็วเป๊ะๆ เอาแค่บวกลบไม่เกิน 10 ไมล์ แต่ผมเองห่วงว่าจะโดนจับเอามากๆ เพราะตำรวจที่นี่ตรงไปตรงมา และหลายครั้งที่รถผ่านย่านชุมชน ในจุดที่การจราจรโล่ง มักมีรถตำรวจดักรอคนต่างถิ่นที่ขับรถเร็วเสมอ มีช่วงหนึ่งที่ผมเกือบเหยียบคันเร่งเพลิน แต่นึกได้ว่าต้องถอนคันเร่ง พอมองด้านซ้ายก็พบรถตำรวจดักรออยู่ หรือบางทีก็เห็นคนโดนใบสั่งก็มี

 

รถแล่นผ่านภูเขา แม่น้ำ ฟาร์ม และชุมชน จนเข้าเขตอิทากะ มหาวิทยาลัยคอร์แนลอยู่บนเนินสูง มองลงมาเห็นเมืองซ่อนตัวอยู่ เสียดายที่ไม่มีโอกาสไปไหนนอกจากในห้องประชุม

 

ผมกับอาจารย์สุดารัตน์เรามาร่วม workshop เรื่องมองการพัฒนาและเติบโตของเมืองผ่านภาพยนต์ในเอเชีย ที่จัดโดย อ. ลอเรนซ์ ฉั่ว แห่งมหาวิทยาลัยเซราคิวส์ และอาจารย์อานีคา ฟูร์มัน แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนลร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยมีนักวิชาการจากทั้งคอร์แนล เซราคิวส์ และพวกเรา

 

แต่ละคนจะเลือกเอาหนังที่ตนสนใจและสะท้อนพัฒนาการของเมืองมาบอกเล่า วิเคราะห์

 

ในระหว่างพักเที่ยง เราได้แลกเปลี่ยนกันมากมาย ขณะที่เวลาของผมและอาจารย์สุดารัตน์เป็นช่วงท้ายๆ บ่ายๆ ของการประชุม ระหว่างนั้นได้ดูหนังบางตอนของโหวเสี่ยวเสียนและคนอื่นๆ ตามแต่ใครจะเลือกเพื่อมานำบทสนทนาและสร้างภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าเอเชีย

 

ผมเลือกเรื่อง “ตั้งวง” ที่ผมชอบมาก เพราะเป็นหนังที่ดำเนินเรื่องวิกฤติของวัยรุ่นสี่คนที่กำลังสู่ระยะเปลี่ยนผ่านกับวิกฤติของ “เมือง” หรือประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน

 

เรื่องตั้งวงเป็นหนังที่ผมชอบมาก เพราะพูดถึงเรื่องสำคัญหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่อง “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คุณธรรมน้ำมิตรและสัจจะระหว่างเพื่อน ตลอดจนการแสวงหาตัวตนของคนจนรุ่นใหม่ในเมือง แต่ถึงที่สุดหนังเรื่องนี้ตีแสกหน้าสังคมไทยในช่วงวิกฤติต่อเนื่องได้ตรงไปตรงมา

 

คำเตือน: ต่อไปนี้จะเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนต์ ใจไม่ถึง หรือยังไม่ได้ดูหนัง ควรไปดูหนังเสียก่อนนะครับ ของเขาดีจริงๆ หรือไปซื้อหนังแผ่นลิขสิทธิ์มาดูกันนะครับ

 

ในตัวละครวัยรุ่นทั้งหมด มีคู่หนึ่งที่เป็นเด็กเรียน หรือเด็กเนิร์ดประจำโรงเรียนที่เป็นตัวแทนไปแข่งขันความสามารถทางด้านตอบปัญหาวิชาการวิทยาศาสตร์กับโรงเรียนอื่นๆ ต้องพบกับวิกฤติที่อาจจะแพ้โรงเรียนอื่น และมีคนหนึ่งที่มุ่งมั่นจะชิงทุนไปเรียนต่อ ทั้งคู่เลือก “บน” กับศาลพ่อปู่ ขณะที่วัยรุ่นนักเต้นบีบอยคนหนึ่งเลือก “บน” ขอให้ “เมีย/แฟน” กลับมาหา อีกรายเป็นนักปิงปองตัวโรงเรียนแต่กำลังลุ้นว่าจะได้เป็นตัวโรงเรียนหรือเปล่า ขณะที่เด็กสาวเพื่อนสนิทคะยั้นคะยอให้เขาบนบานศาลกล่าวกับพ่อปู่ ทั้งสี่คนมีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลประจำแฟลตของชนชั้นกลางระดับล่างในเมือง

 

หนุ่มนักกีฬาปิงปองดูจะมีอาการหนักสุด เพราะมีพ่อเป็น “เสื้อแดง” ที่ไปทำหน้าที่ “พลเมือง” บนท้องถนน เรื่องเล่าไปถึงการสลายการชุมนุมที่เขาต้องออกไปหาพ่อท่ามกลางห่ากระสุน

 

พ่อของเขาเลือกไปชุมนุม ขณะที่เขาต้องทำหน้าที่ “แม่” ดูแลตัวเองและน้อง

 

ในขณะที่หนึ่งในคู่ตอบปัญหาเป็นเด็กร่างท้วมที่สนใจคนฝึกสอนรำ ถึงขั้นกอดจูบและสารภาพรัก แต่เมื่อพบความจริง เขาถอนตัวกลับมาเป็นผู้ชายอีกแบบหนึ่ง ผมชอบฉากเด็กอ้วนสารภาพรักหญิงสาวข้ามเพศบนดาดฟ้าของแฟลตชนชั้นกลางว่าเป็นฉากที่บ่งบอกถึงความไม่สมบูรณ์ และเป็นไปไม่ได้ของความรักระหว่างชาย/ไม่ชายไม่หญิงแท้ และมีขอบฟ้ากรุงเทพเป็นฉากหลัง สื่อถึงอาการกึ่งดิบกึ่งดีของเมืองแห่งทวยเทพ

 

เรื่องเล่าหักมุมแบบวิกฤติที่นำไปสู่วิกฤติครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อบางคนรักษาสัญญากับเรื่องที่บนบานศาลกล่าวไว้ บางคนที่เลือกทรยศเพื่อนเพราะความอาย แต่ก็ยังแอบไปรำแก้บนคนเดียวกลางดึก ทั้งๆ ที่เป็นตัวแทนโรงเรียนไปตอบปัญหาวิทยาศาสตร์ ตอนนี้ช่างเสียดสีสังคม “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ได้เจ็บแสบที่สุด และทำให้เราคิดต่อไปถึงการสร้างอะไรใหญ่ๆ โตๆ เพื่อแก้บนของเหล่าขุนทหารนักการเมืองและคนบางกลุ่มที่เชื่อว่า ถ้าสร้างอะไรใหญ่ๆ โตๆ ก็แก้กรรมของประเทศได้ 

 

คิดอีกนัยหนึ่ง มันเกิดจากการที่คุณไปทำกรรมอะไรไว้กับประชาชนตาดำๆ มากมายใช่ไหม และเป็นกรรมที่หนักหนาสาหัสใช่ไหม ถึงต้องสร้างอะไรมากมายถึงขั้นสูงเท่านกเขาเหินแบบพระปฐมเจดีย์?

 

ในตอนท้าย ไอ้เด็กแว่นที่ทรยศเพื่อนกลับแสดงอาการก้าวร้าวอย่างถึงที่สุด และประกาศว่าเขาคืออนาคตของสังคมไทย ถ้าเขาคือคนประเภททิ้งเพื่อนเพื่อความอยู่รอด ทำอะไรก็ได้เพื่อความก้าวหน้าทั้งๆ ที่ขัดกับหลักการวิทยาศาสตร์ที่ตัวเองสังกัด ไม่เห็นหัวใครในสายตา เอาตัวรอดเก่งและไม่สนใจหลักการอะไร นอกจากให้ตัวเองได้ (ฟังแล้วคุ้นๆ) 

 

ไอ้เด็กแว่นยังพูดทำนอง พวกเขาคงไม่มีวันได้พบกันอีก สังคมของพวกเราจะถ่างห่างออกไป สังกัดก็จะเปลี่ยนไป การพัฒนาเมืองก็จะอยู่ในมือของเขา

 

ฉากในตอนนี้ ยังทำให้ผมคิดถึงเรื่อง “บึงหญ้าป่าใหญ่” ของเทพศิริ สุขโสภา ที่เพื่อนในวัยเด็กเมื่อออกไปอยู่ในเมืองก็ไม่สามารถคุยกันได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

หรือเจ้าอ้วนท่าทางใจดีและหลงรักสาวข้ามเพศ ก็ตะคอกหญิงสาว (ที่ตัวเองเคยชอบ) ให้รำแก้บนต่อไป

 

ส่วนสาวข้ามเพศก็ถูกฝรั่งหลอกเอาเงินสะสมไปหมด เรียกว่า ถูกกระทำทั้งจากภายนอก และภายใน

 

ถ้าผู้อ่านมีเวลาว่างลองไปหามาชมนะครับ หนังเรื่องนี้ผมแนะนำให้โครงการไทยศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเก็บเอาไว้เพื่อฉายในอนาคตร่วมกับหนังอื่นๆ ในอนาคตครับ

 

เมื่อ workshop สิ้นสุด ผมเดินดูรอบๆ ห้องประชุม พบว่ามีรูปหล่อโลหะรูปจิตร ภูมิศักดิ์ เลยถ่ายไว้เป็นที่ระลึกก่อนจะรีบไปขึ้นรถเพื่อเข้านิวยอร์ค

 

ผมบอกลาเพื่อนร่วมกิจกรรมเพื่อไปขึ้นรถ ณ จุดนัดหมาย รถบัสคันนี้เป็นรถบริการของมหาวิทยาลัยสีแดงสดมี 24 ที่นั่ง บนรถสัญญาณไวไฟ พร้อมขนมของว่าง กาแฟร้อนและน้ำดื่ม ใช้เวลาราวสามสี่ชั่วโมง 

 

มองนั่งมองทิวทัศน์ความงามของอิทากะ ก่อนแสงสุดท้ายของวันจะจากลาเข้าสู่แสงสีของนิวยอร์ค นึกถึงใครบางคนที่เคยมาสอนหนังสือที่นี่ เธอคนนั้นบอกผมหลายเรื่องที่น่าสนใจแต่คงไม่สามารถบอกเล่าในที่นี้ได้ ผมได้แต่คิดว่าไม่นานเราคงได้พบกันเป็นครั้งสุดท้ายก่อนผมจะกลับบ้านเกิดเมืองนอน

 

รถบัสเลี้ยวลัดไปตามหุบเขา แสงแห่งวันลับหายไปเหลือเพียงแสงไฟจากรถราและบ้านช่อง แต่เมื่อรถเข้าสู่นิวยอร์คเมืองที่ไม่เคยหลับใหล แสงของเมืองเจิดจ้า ผมลงจากรถลากกระเป๋าเดินทางมุ่งสู่โรงแรมที่ย่านไทม์สแควร์ ย่านนี้พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยว ตัวการ์ตูนมิเนียม ไอ้แมงมุม และตัวละครอื่นๆ ที่ออกมาบนท้องถนนเพื่อแลกกับเงินเล็กน้อยที่นักท่องเที่ยวหยิบยื่นให้ บ้างก็ยื่นใบปลิวเชิญชวนไปชมละคร

 

เมื่อได้ห้องพัก ผมอาบน้ำและพักผ่อน เป็นคืนแรกในรอบหลายวันที่อยู่เพียงลำพังจริงๆ แม้ในห้องจะนิ่งเงียบ แต่ยังมีเสียงของเมืองดังแทรกมาเป็นระยะ ผมรู้สึกผ่อนคลายอย่างบอกไม่ถูก นึกถึงวันพรุ่งนี้ว่าอยากทำอะไรในนิวยอร์คบ้าง แม้จะมาที่นี่เป็นครั้งที่สามแล้ว แต่มีความหลังเล็กๆ น้อยๆ พอให้คิดถึง ผมครวญเพลงเถียนมีมี่ พลางคิดถึงหนังเรื่อง Comrade, Almost a Love Story ที่ชอบมากๆ นึกถึงรอยยิ้มในเวลาสั้นๆ ที่เมืองนี้ ก่อนจะผล็อยหลับไป

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 ผมไม่คิดว่าจะได้ดูละคร "คือผู้อภิวัฒน์" เพราะผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี 2531 ขณะที่ "คือผู้อภิวัฒน์" แสดงเป็นครั้งแรกในปี 2530 แต่ผมเข้าเรียนธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2531
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ประการที่สอง เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องกระบวนการทางการเมืองควรได้พิจารณาจากบทเรียนความรุนแรงทางการเมืองและความพยายามแสวงหาทางออก ซึ่งมีบทเรียนสำคัญจากสองกรณี ได้แก่
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ในสถานการณ์ที่เยาวชนลุกขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภาและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในหลายแห่งและขยายตัวไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศนั้น หลายคนมองว่าเป็นเพียงปรากฏการณ์ของเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ บ้างก็หมิ่นแคลนว่าไม่เคยช่วยพ่อแม่ล้างจานจะมาแก้ปัญหาประเทศได้อย่างไร หรือหางานและจ่ายภาษีได้แล้วค
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คนสามรุ่น
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
หากมองคลื่นความขัดแย้งทางการเมืองไทยใน
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
เรื่องเล่าวันนี้
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ถึงแม้ว่าจะมีเหล้า ยาเสพติดมาเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่มีคนเจ็บตายกันทุกๆ ปี ช่วงปีใหม่ สงกรานต์และเทศกาลสำคัญ
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
 คำเตือน: เปิดเผยเนื้อหาบางตอน และอยากชวนไปดูหนังเรื่องนี้กันเยอะๆ ครับ บอกตรงๆ ว่าสะเทือนใจมากที่ได้ดูหนังเรื่องนี้ เพราะมันมีเรื่องราวหลายอย่างที่ทับซ้อนอยู่ในเรื่อง เป็นธรรมดาที่เราอาจจะคิดไปเองว่าบทสนทนาในเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องของเราเอง