Skip to main content

การเดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่นในฐานะคนต่างชาติผู้ได้รับสิทธิในการทำงานในญี่ปุ่นนั้นมีความยุ่งยากไม่น้อย ตั้งแต่การไปแจ้งย้ายออกจากเมืองที่พำนักอาศัย ผมต้องไปสำนักงานของเมืองเพื่อไปแจ้งย้ายออก และคืนบัตรต่างด้าวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในเวลาออกจากสนามบินที่ท่าเรือหรือสนามบิน นอกจากนี้ผมยังต้องปิดบัญชีธนาคารออมทรัพย์ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากไม่น้อย เนื่องจากต้องรอการตัดบัญชีที่ผมใช้จ่ายบางรายการ รวมทั้งการทำเรื่องลางานจากมหาวิทยาลัยฯ เนื่องจากมหาวิทยาลัยจะปิดระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2559 แต่กำหนดการเดินทางเดิมของผมคือวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งทำให้ผมตัดสินใจเดินทางออกจากญี่ปุ่นก่อนกำหนด ดังนั้นต้องลางานและเตรียมเอกสารต่างๆ เช่น เรื่องคืนบัตรผ่านเข้าออกมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นบัตรผ่านเข้าหอพักด้วย บัตรถ่ายเอกสารและกุญแจหอพัก กุญแจห้องทำงาน ตลอดจนบัตรประกันสุขภาพ ที่ต้องคืนให้มหาวิทยาลัย ตลอดจนการทำความสะอาดห้องพักและห้องทำงานให้อยู่ในสภาพเดิมเหมือนวันแรกที่ผมเข้ามา โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานวิเทศสัมพันธ์และสถาบันวิจัยมาร่วมตรวจสอบด้วย

เอาเข้าจริงๆ แล้ว การทำความสะอาดห้องทำงานไม่ยุ่งยากเท่าไหร่ แต่การจัดการสมบัติพัส สถานนั้นเป็นเรื่องยุ่งยาก เช่น ผมต้องทำความสะอาดห้องพักและภาชนะจาน ชาม ช้อนและหม้อหุงข้าว แล้วนำไปคืนสำนักงานธุรการของสถาบันวิจัย แต่เครื่องปรุงอาหาร ภาชนะบางส่วน สบู่ ยาสระผมที่เหลืออยู่นั้นก็สร้างภาระไม่น้อย ผมใช้วิธีรบกวนเพื่อนนักวิชาการที่หอพักว่าจะขออนุญาตส่งผ่านสิ่งของเหล่านั้นให้รวมไปถึงผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ซึ่งทำให้ผมคลายความกังวลไปไม่น้อยเพราะเพื่อนๆ รับดูแลต่อ

ผมจัดไฟล์เอกสารและหนังสือจำนวนหนึ่งเพื่อจะส่งกลับบ้าน ใช้เงินไปหลายพันบาท แต่ก็ย่อมดีกว่าแบกไปสนามบิน ที่เหลือก็คือส่วนที่ต้องทิ้งตามประเภทของขยะ

ในวันเดินทางออกเนื่องจากเป็นเวลาเช้ามืด หากผมจะออกจากหอพักในเช้าวันนั้นน่าจะยุ่งยากมาก เพราะต้องรบกวนผู้ดูแลหอเพื่อคืนกุญแจและบัตรประจำตัว ผมตัดสินใจจองโรงแรมเพื่อพักในคืนก่อนเดินทางเพื่อจะได้ย้ายออกในยามบ่ายของวันก่อนเดินทาง ก็นับว่าตัดปัญหานี้ไปในที่สุด

ทั้งหมดนี้คือความยุ่งยากของการจัดการ

แต่เมื่อถึงคืนสุดท้ายในญี่ปุ่นที่ตัดสินใจมาพักโรงแรมก่อน ค่ำคืนนี้อาจารย์ติ๊ดที่มาศึกษาปริญญาเอกที่สถาบัน GRIPS ยอมเดินทางออกจากโตเกียวมาย่านคิชิโจจิเพื่อร่วมทานอาหารมื้อค่ำคืนสุดท้ายในโตเกียวกับผม เราเลือกร้านง่ายๆ หลังสถานี ก่อนจะไปดื่มเบียร์ในบาร์แบบพื้นๆ ใกล้ๆ สถานี เราสนทนากันหลายเรื่อง ผมนึกถึงตัวเองในคืนวันที่เรียนอยู่ในโฮโนลูลู แล้วพยายามถ่ายทอดประสบการณ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์ เป็นความห่วงใยในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ผ่าน ช่วงเวลาอันยากเย็นและสนุกสนานมาแล้ว และตื่นเต้นแทนอาจารย์ติ๊ดมากๆ ที่จะใช้ชีวิตที่นี่อีกพักใหญ่ๆ ขณะที่ผมต้องเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว

เสียดายที่ผมต้องตื่นเช้า จึงต้องจำกัดการดื่มกินและเวลาสนทนาลง  

......

เมื่อเช็คเอาท์ออกจากโรงแรมผมเดินลากกระเป๋าสองใบกับเป้หนึ่งใบเดินไปตามถนน ลมหนาวของโตเกียวพัดเบาๆ เหมือนจะบอกลา ผมรู้สึกโล่งใจมากๆ เมื่อเดินทางมารอรถบัสที่สถานีรถแอร์พอร์ตบัสไปสนามบินฮาเนดะในราวตีห้าครึ่ง ตั๋วรถบัสราคา 1230 เยน รถเคลื่อนออกจากย่านคิชิโจจิที่ผมพักในคืนสุดท้าย ขณะที่แสงอาทิตย์เริ่มสว่างขึ้น เมืองโตเกียวในช่วงเกือบสี่เดือนในความทรงจำของผมเป็นเมืองที่มีอะไรให้ค้นหามากมาย และเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพได้ทำงานวิชาการและพบปะผู้คนมากมาย ผมคิดถึงเพื่อนชาวญี่ปุ่นและออสเตรเลียที่เคยร่วมวงสนทนาและดื่มกิน คิดถึงการเดินทางในอคิตะและเกียวโต สักวันคงได้กลับมา

จนกว่าเราจะพบกันอีก

บล็อกของ บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ตรุษจีนปีนี้ผมไม่ได้กลับบ้าน คงอยู่เงียบๆ เหมือนเคย แต่บรรยากาศของตรุษจีนของชาวจีนโพ้นทะเลไม่ว่าที่ไหนๆ ก็จะต้องมีเสียงของเติ้งน้อยเป็นเพลงประกอบราวกับเพลงบังคับของเทศกาล อดไม่ได้ที่จะหวนคิดถึงความเก่าความหลังที่ชีวิตวกวนพาไปเดินเล่นไกลถึงนิวยอร์ค
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมเคยเขียนงานชุด จริยธรรมของการพบพาน (The Ethics of Encounter) เอาไว้เมื่อหลายปีก่อน เพื่อนำเสนอสิ่งที่เป็นไปได้ในสถานการณ์ของการเชิญหน้า ว่าในการปะทะสังสรรค์กันของมนุษย์กับคนแปลกหน้าย่อมเกิดภาวะพิเศษ ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามหรือสันติภาพก็ได้ หลายปีมานี้ผมพบว่าปัญหาหนึ่งของสังคมไทยก็คือการปะทะกั
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
v\:* {behavior:url(#default#VML);} o\:* {behavior:url(#default#VML);} w\:* {behavior:url(#default#VML);} .shape {behavior:url(#default#VML);}
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
ผมได้รับชวนจากมิตรสหายท่านหนึ่งให้เข้ามาเขียนบล็อกที่นี่ หลังจากไปโพสต์ต่อท้ายข่าวซุปเปอร์แมนลาออกจากเดลี่เทเลกราฟไปเขียนบล็อก ผมบ่นไปทำนองว่า อยากออกไปทำงานอย่างอื่นบ้าง มิตรสหายท่านนั้นเลยยื่นข้อเสนอที่ยากปฏิเสธ เพราะผมอ่านข่าวในประชาไทอยู่นานแล้ว ก็อยากมีส่วนร่วมด้วย ประการหนึ่ง