Skip to main content

ยามใกล้เที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม หรือวันสิ้นปี ในหลาย ๆ พื้นที่ของโลกจะมีการร้องเพลงที่ชื่อ "โอลด์ แลงค์ ซายน์" (Auld Lang Syne) ซึ่งนับเป็น New year's Anthem ฉบับสากล เช่นเดียวกับที่ในไทยมีเพลงตามประเพณีอย่าง "สวัสดีปีใหม่" นั่นแล

เพลง "สวัสดีปีใหม่" ของไทยที่ผมได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้ว ผ่านเลยมาไม่ว่ากี่ปี ๆ ก็ยังได้ยิน โดยตามประวัติศาสตร์เพลงนี้มีมาตั้งแต่ สมัยช่วงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของ จอมพล ป. (ไม่มีกุ้งเผา) เป็นช่วงที่เปลี่ยนวันปีใหม่ไทยจาก 1 เมษายน มาเป็น 1 มกราคม เพื่อความเป็นสากล (ข้ออ้างยอดฮิตของชนชั้นนำในยุคนั้น) และ "สวัสดีปีใหม่" ก็เป็นหนึ่งในเพลงเทศกาล ที่มาจากวงสุนทราภรณ์ วงดนตรีจากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกรมที่ร่วมกับกรมศิลปากร ผลิตเพลง Propaganda ให้กับรัฐบาล

ยุคสมัยผ่านเลยมาก็นานแล้ว เพลง ๆ นี้ก็ยังคงเปิดต่อมาพ้นผ่านยุคสมัยต่าง ๆ แม้จะเริ่มคลายความนิยมลงไป แต่มันก็ยังคงดำรงอยู่ในบ้านเรา เช่นเดียวกับระบอบศักดินาทหาร :P

หมายเหตุไว้เสียเล็กน้อยว่า ถึงแม้ "เนื้อหา" ของเพลงสุนทราภรณ์บางเพลงจะไปในเชิงเชิดชูผู้นำ จารีตนิยม และ โฆษณาชวนเชื่อ แต่ด้าน "รูปแบบ" ก้นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้ดนตรีไทยมีความเป็นสมัยใหม่ (Modernize) และ ผสานกับความเป็นตะวันตก (Westernize) ได้ เพราะดนตรีแนวสุนทราภรณ์ได้หยิบยืมรูปแบบของแจ๊สซ์สายบิ๊กแบนด์ (ซึ่งตะวันตกในยุคนั้น แจ๊สซ์กำลังบูมมาก) เข้ามาผสานกับเนื้อร้องแบบบทกวีและการร้องเฉพาะแบบ (ส่วนตัวผมไม่ชอบเสียงร้องแบบนี้เอาซะเลย ถึงจะมีคนบอกว่าเป็นการร้องที่ต้องใช้ความสามารถมากแค่ไหนก็ตาม)

แต่นั่นแหละ เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเป็นสิ่งที่เกิดจากชนชั้นนำ เปลี่ยนแปลงภายใต้โครงสร้างแบบ "บนลงล่าง" ทำให้อยู่ภายใต้การควบคุม เนื้อหามันจึงไม่เติบโตเท่าไหร่ หากเทียบกับยุคต่อ ๆ มาที่ดนตรีกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชน (Popular Culture) อย่างแท้จริง และสำหรับคนที่เป็นโรค Western Allergy เกลียดกลัววัฒนธรรมตะวันตกขึ้นสมอง ผมก็มีข่าวดีมาบอกว่าดนตรีในทุก ๆ วันนี้ถ้าไม่นับดนตรีท้องถิ่น และ ดนตรีไทยเดิม แล้วละก็เพลงไทยทั้งหลายก็เป็นดนตรีที่รับอิทธิพลจากตะวันตกมาปรับใช้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นดนตรีป็อบในกระแส นอกกระแส ใต้ดิน เพื่อชีวิต แม้กระทั่งลูกทุ่ง

เอาล่ะ ขอกลับมาพูดถึงประวัติ โอลด์ แลงค์ ซายน์ ที่มีความซับซ้อนและน่าสนุกกว่า

Robert Burns

โรเบิร์ต เบิร์นส์

โดยต้นกำเนิด เพลงนี้แต่งขึ้นโดย โรเบิร์ต เบิร์นส์ ตั้งแต่สมัยปลายศตวรรษที่ 17 ซึ่งโรเบิร์ต เบิร์นส์ คนนี้เป็นกวี นักคิด นักประพันธ์เพลงคนสำคัญของสก็อตแลนด์ เพลงนี้เองเข้าก็หยิบยืมทำนองจากเพลงพื้นบ้านของสก็อตแลนด์มาดัดแปลง และในทีแรกนั้นเพลงนี้ยังไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเทศกาลปีใหม่เลย

โอลด์ แลงค์ ซายน์ (Auld Lang Syne) เป็นภาษาสก็อตแลนด์ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า "Old long Ago" หรือเป็นไทยคือ "เมื่อเนิ่นนานมา" เนื้อเพลง ๆ นี้ สามารถตีความได้ต่าง ๆ นานา บ้างก็ว่ามันพูดถึงการให้ลืมสิ่งเก่าไปรับสิ่งใหม่ ๆ มา อีกฝ่ายที่ติดชาตินิยมหน่อยก็ว่าโรเบิร์ต เบิร์นส์ ผู้เป็นนักคิดคนสำคัญย่อมต้องแต่งเพลงนี้เพื่อพูดถึงอดีตอันเกรียงไกรของชาวสก็อตฯ ขณะที่ในปัจจุบัน คนที่ช่างสงสัยแบบ Skeptic ก็เริ่มเสนอว่า จริง ๆ แล้วมันอาจจะเป็นเนื้อหาส่วนตัวของอีตาเบิร์นส์เอง คือเพลงนี้เขาแต่งเพื่อระบายความรู้สึกหวนหาอดีต คิดถึงเพื่อนเก่า คนรักเก่า วันเวลาเก่า ๆ ของเขาก็เท่านั้น

อย่างไรก็ดีเพลงนี้กลายเป็นเป็นเพลงเฉลิมฉลองวันปีใหม่ของชาวสก็อตฯ (Hogmanay) และกลายเป็นเพลงปีใหม่ของอีกหลาย ๆ พื้นที่ในโลกเมื่อ Guy Lombardo นักดนตรีชาวแคนาดา เล่นเพลงนี้ในรายการวิทยุของอเมริกาช่วงรอยต่อระหว่างปี 1938-1939 แม้จนบัดนี้เพลงฉบับของ Guy ยังคงใช้เปิดเป็นเพลงแรกของปี เพื่อเฉลิมฉลองงานปีใหม่ที่ไทม์สแควร์

จริง ๆ แล้วอาจจะไม่ใช่เนื้อเพลง โอลด์ แลงค์ ซายน์ ที่แพร่หลาย แต่เป็นเมโลดี้สุดติดหู (และถึงขั้นหลอนหู) ของมันต่างหาก

ในหลาย ๆ ประเทศเอาทำนองเพลงนี้ไปใช้ต่างโอกาสกัน ในไต้หวันใช้ทำนองเพลงนี้เปิดในวันจบการศึกษาและในงานศพ ที่ญี่ปุ่นก็เอาเพลงนี้มาแปลงเป็นเพลง Hotaru no Hikari (แสงหิ่งห้อย) ใช้ในงานพิธีจบการศึกษาเช่นกัน ส่วน รพินทรนารถ ฐากูร ปราชญ์วรรณกรรมชาวอินเดียเอาทำนองเพลงนี้มาแต่งเป็น "About the Old Days" ในไทยเองเพลงนี้ก็กลายมาเป็นเพลงแบบขวา ๆ อย่าง "สามัคคีชุมนุม" ที่ไม่แค่เอาทำนองเขามา แม้แต่พิธีการไขว้มือจับกันก็เอามาจากพิธีกรรมของชาวสก็อตฯ ด้วย

Hogmanay

เทศกาล Hogmanay

และล่าสุด ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้เอง ทำนองเพลง Auld Lang Syne ก็ถูกเปิดในพิธีสละตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของผู้นำเผด็จการปากีสถาน เปอร์เวช มูชาร์ราฟ เพื่อที่เขาจะได้สืบทอดอำนาจทางการเมืองได้อย่างเต็มที่ต่อไป ไม่รู้วิญญาณของตาโรเบิร์ต เบิร์นส์ รู้เข้าจะ "เซ็งสาดดด" ขนาดไหน เมื่อเพลงที่แต่งโดยนักคิดเสรีนิยม (Liberalism) เช่นเขาถูกเอาไปใช้ในพิธีกรรมของทหารเผด็จการซะแล้ว

จริง ๆ แล้ว ผมเห็นว่าเนื้อเพลงนี้แต่งได้ไพเราะมาก พอเห็นถูกเอาไปแปลงเป็นเพลงขวา ๆ มั่งล่ะ เอาไปใช่ในพิธีของเผด็จการบ้างล่ะ มันช่างฟังดูน่าหดหู่เหลือหลาย แม้จะแค่ชอบเนื้อเพลงต้นฉบับมันก็ยังชวนให้รู้สึกผิด

แต่ผมก็ได้ค้นพบว่าเพลง ๆ นี้มันไม่ได้มีแต่เอาไปใช้ในพิธีการ หรือเอาไปใช้อย่างขรึมขลังอย่างเดียว ในหมู่ศิลปินเพลงสมัยนิยมทั่ว ๆ ไปก็เอาเพลงนี้มาเล่นกันอย่างสนุกสนานบันเทิงใจ ซึ่งต้องขอบคุณพวกเขาที่ทำให้ผมฟังเพลงนี้ได้สนิทหูขึ้นมาหน่อย

นอกจาก Guy Lombardo ผู้ทำให้เพลง Auld Lang Syne กระฉ่อนไปทั่วโลกแล้ว ในช่วงรอยต่อของปี 1969-1970 มือกีต้าร์โลกันต์ Jimi Hendrix ได้เล่นเพลง Auld Lang Syne ในแบบฉบับ Blues-Rock ที่ The Fillmore East ซึ่งในช่วงนั้นดนตรี Rock กำลังเฟื่องฟู และรอยต่อของทศวรรษทั้งสองนี้ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของวงการดนตรี Rock เลยก็ว่าได้

นอกจากนี้ยังมีฉบับเสียงประสานของวงป็อบอย่าง Beach Boys มีฉบับ Rock กลิ่นพื้นบ้านอเมริกันของ Bruce Springsteen and the E Street Band รวมถึงฉบับกีต้าร์โซโล่แปลกหู ที่ Guns ‘n' Roses เล่นไว้ใน Live at Leeds เมื่อปี 2002 ซึ่งหลังจากนั้น Buckethead มือกีต้าร์จอมเพี้ยนก็ได้โซโล่ต่อเป็นทำนองเพลงธีมหลักของ Star Wars :)

ไม่เพียงแค่การเล่นแบบ (พยายามจะ) Cover เพลงนี้เท่านั้น บางทีเนื้อหาของเพลงนี้ก็ถูกนำไปใช้ในบริบทอื่น เช่นนักร้องโฟล์ค/ป็อบ Dan Fogelberg ที่เพิ่งเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปเมื่อวันที่ 17 ธันวา ปีนี้เอง ก็เคยแต่งเพลงที่ชื่อ Same Old Lang Syne ขึ้น เนื้อเพลงพูดถึงการได้พบเจอคนรักเก่าโดยบังเอิญในคืนคริสต์มาส แล้วเรื่องราวเก่า ๆ ก็หวนย้อนกลับมา

Dan Fogelberg

Dan Fogelberg

สำหรับผมแล้ว สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเสน่ห์ที่มาจากยุคเฟื่องฟูของศิลปะและวัฒนธรรมมวลชน ทำให้มีการนำสิ่งที่อยู่บนหิ้งมาตีความใหม่ มีทั้งการเล่นล้อและการแสดงความเคารพต้นฉบับอย่างเสรี

หลังจากวันที่ 31 ไป ปฏิทินเก่าจะหมดหน้าที่ปฏิทินใหม่มาแทน แต่ก็ยังเป็นเครื่องช่วยสมมุติเวลาเหมือนเดิม เพลง "สวัสดีปีใหม่" เพลงเดิมจะยังคงแว่วเสียงออกมาทางโทรทัศน์ให้ได้ยิน หลายที่ในโลกก็ร่วมบรรเลงท่วงทำนองเดิมของ Auld Lang Syne แต่ภายใต้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เราเห็นว่ามัน "เหมือนเดิม" ผมเชื่อว่ามันมี "การเติบโต" ของอะไรบางอย่างแฝงอยู่ และสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้และเติบโตนั้น มันคือศิลปะและวัฒนธรรมที่ไม่ได้ถูกแช่แข็ง ควบคุม หรือถูกกุมความหมายโดยคนเพียงบางกลุ่ม

มิเช่นนั้นแล้ว วันปีใหม่ที่ผู้คนเฝ้าฝันถึงการเปลี่ยนแปลงสิ่งเก่า ๆ ไปสู่สิ่งใหม่ ๆ ที่ดีกว่า
ก็จะเหลือเพียงแค่การเปลี่ยนแปลง...ตัวเลขศักราชบนปฏิทินใหม่เท่านั้น

"Should auld acquaintance be forgot,
and never brought to mind ?
Should auld acquaintance be forgot,
and auld lang syne ?"

"ขอสิ่งเก่า ๆ จงถูกลืมเลือนไป
และไม่เก็บมาใส่ใจ
ขอสิ่งเก่า ๆ จงถูกลืมเลือนไป
และไหลไปสู่อดีตเนิ่นนาน"

- Auld Lang Syne

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…