Skip to main content

กระบวนการปรุงนิยายให้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์: เรื่องพินัยกรรม ร.๕ คือ ให้ ร.๖ พระราชทานรัฐธรรมนูญ?

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

                การปรุงแต่งงานวรรณกรรมทางการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ปรากฏอย่างแพร่หลายหลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ การเผยแพร่ในรูปแบบหนึ่งที่นิยมกันก็คือ การแต่งเรื่องราวเสมือนว่าผู้เขียนอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น ๆ งานเขียนประเภทนี้เช่น ไทยน้อย (เสลา เลขะรุจิ), วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด), ว.ช.ประสังสิต (วิชัย ประสังสิต) เป็นต้น ทั้งโดยมีแหล่งอ้างอิงและไม่มีแหล่งอ้างอิง ส่วนใหญ่จะไม่มีแหล่งอ้างอิง และงานวรรณกรรมเหล่านี้ถูกทำให้เป็น ‘แหล่งอ้างอิงทางวิชาการ’ ผ่านหนังสือ ‘ เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗’ และหนังสือ ‘สัตว์การเมือง’ ของนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ตลอดจน ‘การนำไปอ้างอิง’ โดยบทความทางวิชาการและตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมศาสตร์ ซึ่งนักวิชาการต่างประเทศก็อาศัยการแหล่งข้อมูลที่คัดกรองมาแล้วโดยนักวิชาการไทย นำไปอ้างอิงอีกชั้นหนึ่ง กลายเป็นกระบวนการปรุงให้เป็นเอกสารเทียมทางประวัติศาสตร์ และนำมาใช้อ้างอิงสืบ ๆ กันมา จาก ‘นิยายการเมือง’ สู่ ‘การปรุงนิยายการเมืองให้กลายเป็นข้อเท็จจริงเทียมทางประวัติศาสตร์’

                และหนึ่งใน ‘ข้อเท็จจริงเทียม’ ที่ผ่านกระบวนการปรุงและอ้างอิงในงานวิชาการปัจจุบันนี้ก็คือเรื่องราวที่ว่า

รัชกาลที่ ๕ ทำพินัยกรรมมอบหมายให้รัชกาลที่ ๖ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ

ในเรื่องนี้ อ.เกษียร เตชะพีระ ก็เคยนำเรื่องนี้โพสต์ลงเฟซบุคเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงว่า แนวคิดที่จะให้มีรัฐธรรมนูญนั้นปรากฏเป็นพระราชประสงค์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ แล้ว ทั้งนี้ อ.เกษียร บอกกล่าวผม(ทางกล่องข้อความในเฟซบุค)ว่า ได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาจากหนังสือของ Chris Baker เขียนร่วมกับ อ.ผาสุก ใน A History of Thailand หน้า ๑๐๖.

เมื่อผมทราบก็คิดจะเขียนบทความนี้ (แต่ไม่มีเวลาและปล่อยล่วงมาจนบัดนี้) ถึงลักษณะลูกโซ่ของการอ้างอิงด้วยฐานข้อมูลดั้งเดิมที่ไม่มีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ (สืบกันมา ๔ ทอดด้วยกัน) หากสืบสาวจากหนังสือที่ อ.เกษียร อ้างถึงในเรื่องนี้ก็คือ

1. Chris Baker, Pasuk Phongpaichit, A History of Thailand (Cambridge University Press, 2005), p. 106. หนังสือเล่มนี้บรรยายว่า

     Despite his own opposition to any qualification of royal power Chulalongkorn told ministers shortly before his death in 1910, ‘I entrust onto my son Vajiravudh… that upon his accession to the throne he will give to them a parliament and constitution’.1

1 Scot Barmé, Luang Wichit Wathakan and the Creation of a Thai Identity (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1993), p. 21.

                หนังสือของ Chris Baker และ อ.ผาสุก อ้างอิง Scot Barmé อีกถ่ายหนึ่ง

2. Scot Barmé, Luang Wichit Wathakan and the Creation of a Thai Identity (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1993), p. 21. บรรยายว่า

     Nevertheless, the calls for the implementation of a more civilized, progressive political form continued, and just prior to his death in 1910 Chulalongkorn moved to reverse his hardline position when he told his assembled ministers:

                I entrust onto my son Vajiravudh a gift for the people and that upon his accession to the throne he will give to them a parliament and constitution.35

     It seemed that Siam was moving towards a political change from above that would mark an orderly transition from absolutist rule to a more popularly based type of regime.

35 Mattana Ketkamon, Kan mu’ang lae kan pokkhrong nai ratchakan Phrabat Somdet Phra Mongkut Klao Phracao-yuhua, [Politics and Administration in the Reign of King Rama the Sixth], Sangkhomsat Parithat 14, no. 3 – 4 (1975), p. 71.

                หนังสือของ Scot Barmé อ้างอิงบทความของ มัทนา เกษกมล อีกถ่ายหนึ่ง

3. มัทนา เกษกมล, การเมืองและการปกครองในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, สังคมศาสตร์ปริทัศน์, ปีที่ 14, 3 – 4 (2518), หน้า 71.

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการเมืองและการปกครองของไทยให้เป็นแบบสมัยใหม่…พระองค์ทรงตั้งพระทัยที่จะให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ องค์รัชทายาท พระราชทานรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนชาวไทยเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ถึงกับทรงมีพระราชดำรัสว่า “ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญให้แก่พลเมืองในทันทีที่ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในขณะสืบตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์ และคอนสติติวชั่น…..”

                พระราชดำรัสนี้ทรงกล่าวในที่ประชุมเสนาบดี ณ พระที่นั่งราชกรัณยสภา พ.ศ.๒๔๕๓ อ้างถึงใน ว.ช.ประสังสิต, แผ่นดินพระปกเกล้าฯ (พระนคร : ผดุงชาติ, ๒๕๐๕), หน้า ๔๖.

บทความของ  มัทนา เกษกมล อ้างอิงหนังสือของ ว.ช.ประสังสิต (วิชัย ประสังสิต) อีกถ่ายหนึ่ง

4. วิชัย ประสังสิต, แผ่นดินพระปกเกล้า, พิมพ์ครั้งที่ ๑, พระนคร : อักษรสาสน์, ๒๕๐๕, หน้า ๔๗.

     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า “ไม่บังควรจะยึดการปกครองแบบนี้ให้ถาวรต่อไปเลย ฉันรู้สึกเป็นห่วงว่าหากสิ้นบุญฉันลงเมื่อใด อันตรายจะมีแก่ราชบัลลังก์ของลูกวชิราวุธ เหตุนั้นฉันจะสละราชสมบัติยกราชบัลลังก์ให้แก่ลูกวชิราวุธ ในคราวทำแซยิดครบรอบ ๖๐ ปี ซึ่งเป็นเวลาที่จะถึงอีก ๓ ปีข้างหน้านี้ ฉันจะให้ลูกวชิราวุธมอบของขวัญแก่พลเมืองในทันทีที่ได้ขึ้นสู่ราชบัลลังก์ในฐานะสืบตำแหน่งกษัตริย์ กล่าวคือ ฉันจะให้เขาให้ปาลิเมนต์และคอนสติติวชั่น อีก ๓ ปีเท่านั้นคงไม่ช้านักมิใช่หรือ ท่านเสนาบดี

     ฉันจะอยู่หลังราชบัลลังก์ของลูกเอง อยู่อย่างพ่อในหลวงอย่างไรล่ะ แนะนำและอบรมลูกวชิรวุธให้เป็นกษัตริย์ที่ดี กษัตริย์ภายใต้คอนสติติวชั่นอย่างไรล่ะ ถ้าฉันจะตายภายหลังนั้นฉันก็จะหลับตาตายอย่างมีความสุข หมดห่วงลูกวชิราวุธ คงไม่มีใครทำร้ายเขา”

หนังสือของ วิชัย ประสังสิต มิได้อ้างอิง ‘แหล่งที่มา’ ของบทสนทนาดังกล่าว ประกอบกับ ลักษณะการบรรยายเรื่องราวเหมือนการแต่งนิยายการเมืองทั่วไปของนายวิชัย โดยไม่มี ‘หลักฐานทางประวัติศาสตร์’ อ้างอิง จึงถือได้ว่า หนังสือของนายวิชัย ประสังสิต เป็น ‘เรื่องราวต้นฉบับ’ ที่เผยแพร่เรื่องเล่าเชิงนิยายเกี่ยวกับพินัยกรรมของรัชกาลที่ ๕ นี้ และนายชัยอนันต์ สมุทวณิช ก็นำเรื่องเล่านี้ไปอ้างอิงในหนังสือ ‘สัตว์การเมือง’ (๒๕๑๔) ในการร้อยเรียงประวัติศาสตร์การเมืองแบบอนุรักษ์นิยม โดยนำเอา ‘นิยายการเมือง’ มาเปลี่ยนโฉมผ่านกระบวนการทำให้เป็นข้อเท็จจริงเทียมทางวิชาการด้วย ซึ่งจัดให้มีเชิงอรรถ และรูปแบบการเล่าเรื่องให้เป็นกิจจะลักษณะ การใช้งานค้นเอกสารของชัยอนันต์ จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ (ซึ่งแม้ในที่นี้จะไม่ถูกอ้างอิงถึงก็ตาม) แต่สำหรับบทความของ มัทนา เกษกมล (๒๕๑๘) ไปอ้างอิงงานต้นฉบับของวิชัย ประสังสิต (๒๕๐๕) โดยตรงและตีพิมพ์ลงวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์จนกระทั่งมีนักวิชาการไทยและต่างชาติอย่างน้อย ๔ คนในที่นี้ นำไปใช้ (อ.ผาสุก, Chris Baker, Scot Barmé, อ.เกษียร) และการเล่าเรื่องพินัยกรรม ร.๕ คือ รัฐธรรมนูญนั้นก็ถูกตอกย้ำให้กลายเป็นความจริงขึ้นมา โดยไม่มีเค้ามูลที่น่าเชื่อถือยืนยันได้ในทางประวัติศาสตร์เลยที่เกินไปกว่าร่มเงาของนิยายการเมืองของนายวิชัย ประสังสิต.

บล็อกของ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
กระบวนการสร้างมโนทัศน์ต่อความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ ว่าด้วยเหตุยกเว้นความผิดพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล๑. ข้อพิจารณาเบื้องต้น
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ปัญหาบางประการเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของ(ร่าง)หลักเกณฑ์การประมูลดิจิตอลทีวี : กรณีให้เปิดเผยผู้ถือหุ้นตั้งแต่ลำดับที่ ๓ ขึ้นไปและทุกทอดตลอดสายนายพุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
วิพากษ์สุรพล นิติไกรพจน์ (ภาค ๒)๑ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำอภิปรายในงานรำลึกครูกฎหมาย (อาจารย์ไพโรจน์ ชัยนาม) โดย สุรพล นิติไกรพจน์ วันนี้๒  ถ้าอย่างในคัมภีร์ก็คงได้เพียงอุทาน "โมฆะบุรุษหนอ" หรือแปลเป็นภาษาลูกทุ่ง ก็คือ "อ้ายชิบหาย" ครับ
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ข้อน่าพิจารณาบางประการ : กรณีศาลฎีกายกฟ้อง"คดีถาวร เสนเนียม ฟ้องอดีต กกต."(๒๕๔๙) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล มูลเหตุของคดีนี้เริ่มต้นเพื่อ "สนับสนุนให้รัฐประหาร ๑๙ ก.ย.๒๕๔๙" (เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง โจมตีการเลือกตั้ง) และเป็นชนวนในการสร้างสุญญากาศทางการเมือง  คดีนี้เริ่มต้น จะเห็นภาพพจน์ "ชัดแจ้งยิ่งขึ้น" เมื่อพิจารณาลำดับเหตุการณ์ก่อนพิเคราะห์รายละเอียดที่สำคัญของคดี เราจะเห็นได้ว่า "เหตุการณ์ ๒๕๔๙" นั้นเกิดขึ้นเป็นลูกระนาดเลย คร่าว ๆ ดังนี้[๑]
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ถึงสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล : เรื่องบันทึกการขออภัยโทษคดีสวรรคต พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
จอมพล ป. ในตำแหน่ง"ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และนายกรัฐมนตรี"โดยการทำรัฐประหาร พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
โต้บวรศักดิ์ อุวรรณโณ : การนิรโทษกรรมของคณะราษฎร (๒๖ มิ.ย.๒๔๗๕) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
อุปสรรคในการร่าง"ประมวลกฎหมายแบบตะวันตก"ฉบับแรกของสยาม พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
การใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญครั้งแรกของไทยเมื่อ ๒๔๗๖ พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ชวนอ่าน "เรื่องเล่า" โดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ (๒๕๑๑) หมายเหตุ : บังเอิญผมได้อ่าน ข้อเขียนของ "ราชินี" (ดังที่จะคัดให้อ่านด้านล่าง) ในคราวเสด็จเยือนประเทศออสเตรเลียกับในหลวง พบว่าน่าสนใจ จึงคัดมาให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน - ข้อความด้านล่างนี้เป็นข้อเขียนของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ -------------------------------------------------------
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
บริบทของพระราชดำรัสสดวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘(อนุญาตให้วิจารณ์กษัตริย์?) พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล หลายท่านที่คัดค้านการบังคับใช้ "ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๑๑๒" มักอ้างอิง (โดยขาดบริบท) พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘ ซึ่งในโอกาสนั้น "ในหลวง" ตรัสเกี่ยวกับ (ทรง)อนุญาตให้ประชาชนวิจารณ์พระองค์ได้ ขอให้สังเกตพระราชดำรัสดังกล่าวในความว่า :
พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
ดีเบตกรณีสวรรคต ร.๘ ระหว่าง จิตติ ติงศภัทิย์ vs หยุด แสงอุทัย พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๔๔/๒๔๙๗ (คดีสวรรคต ร.๘) กรณีนายเฉลียว จำเลย นั้น ศาลฟังข้อเท็จจริงว่า "ได้ช่วยปกปิดไม่เอาความนั้นไปร้องเรียนขึ้นจนมีเหตุบังเกิดการประทุษร้ายแด่พระองค์"