Skip to main content

ช่วงเดือนหกตามจันทรคติที่ผ่าน ดอกผักบุ้งกลางทุ่งทางปักษ์ใต้ได้บานรับฝนโปรยกันทั่ว เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูฝนปรัง  เติมความชุ่มชื่นให้ผืนดินหลังฤดูเก็บเกี่ยว รอการไถปลูกนอกฤดูกาล แม้ในบางพื้นที่ ทุ่งนาได้กลายเป็นกล้าข้าวพื้นเมืองสีเขียวจำพวก ‘ข้าวเล็บนก’ ‘ข้าวสังข์หยด’ ‘ข้าวเฉี้ยง’ ‘ข้าวไข่มดริ้น’ ฯลฯ ไปแล้ว ที่ลุ่มริมทะเลสาบเจิ่งนองด้วยน้ำที่เอ่อมาจากพรุ  วาระอย่างนี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาทุกปีไม่เหนื่อยหน่าย

20080523 (1)

ลมฝนระลอกแรกพัดผ่าน ‘วันดี’ (วันฤกษ์งามยามดี) ไปแล้ว บอกถึงการหมดยกแรกของฤดูงานแต่งงาน (ดูกินเหนียว) ในงานแต่งงานของชาวใต้มักมีข้าวเหนียวหัวสังขยา หรือ ข้าวเหนียวหัวพร้าว(มะพร้าว) ไว้กินในงาน ช่วงนี้จึงมีข้าวเหนียวให้กินกันไม่ขาด  

ฤดูนี้รอยยิ้มของหนุ่มสาวบานสะพรั่งบอก ‘การ’(งานแต่ง) ไปทั่ว ทั้งหมูและวัวถูกปรุงเป็นอาหารเลี้ยงรับรองแขกทั้งฝ่ายบ่าว-สาว ผู้หวังสร้างรักสืบเชื้อสายแตกก่อพงศ์พันธุ์เครือย่านต่อตระกูล  เสร็จงานน้ำเคอยพุงปลาส่งกลิ่นฟุ้งเป็นแกงอุ่นทั่วหมู่บ้านอันเป็นสัญลักษณ์ของความมีน้ำใจไมตรี เอื้อเฟื้อแจกจ่ายกับข้าวกับปลาหลังวาระการรับแขกผ่านพ้นของคนลุ่มทะเลสาบ

20080523 (2)

ผ่านพ้นประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ทั้งแห่ผ้าขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช  แห่ผ้าขึ้นเจดีย์เขากุฏิ (เกาะยอ-สงขลา) และ แห่ผ้าขึ้นพระบรมธาตุวัดเขียนบางแก้ว (พัทลุง)  ถึงเดือนเจ็ดวิถีคนรอบลุ่มก็หวนกลับมาอีกครั้งพร้อมกับราคาข้าวที่สูงขึ้นจนชาวนาเองต้องซื้อข้าวกินในราคาแพงลิบ ยังไม่รวมถึงปุ๋ยราคาแพง โรคพืช น้ำมันแพง ‘น้ำพะ’ (น้ำนอง)  ค่าครองชีพ ผลผลิตไม่ดีตามที่คาด ความชื้นสูง จิปาถะ  

20080523 (3)
วัดเขียนบางแก้ว

อย่างไรก็ตาม นาปรังต้องปลูกเลี้ยงปากท้องครอบครัว เพราะฝนโปรยกรีดยางไม่ได้ เงินทองต้องป้อนต่อสู่ฤดูกาลเปิดภาคเรียนใหม่อีกครา  ผมลองคิดเล่น ๆ ต่อถึงเรื่องฝนแรกพัดเติมความชุ่มชื่นให้ผืนแผ่นดินในฤดูกินเหนียวของชาวลุ่มทะเลสาบได้ซับน้ำไว้อย่างอิ่มหมีพีมัน ส้มสูกลูกไม้ก็ไม่น้อยหน้าแข่งเติบโตรอสุกก่อนเดือนสิบล่วงผ่านเช่นกัน เงาะข้างบ้านหลายคนเริ่มเขียวแก่ สะตอหลายบ้านห้อยระย้าไกวลมเล่นเพลิดเพลิน (คงทันเดือนเก้า ‘วันดี’ยกสอง) ลิ้มลองข้าวใหม่ปลามันกันอีกครั้ง

20080523 (4)

ช่วงที่ผ่านมาผมวุ่นวายอยู่กับการจัดการทางเดินของตัวเองจนเกเรขาดส่งงาน “แบบว่าเรื่องใต้ใต้” มาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี ผมก็หวนกลับมาพร้อมกับความสุขกับมันอีกครั้ง แม้ลมฝนครางครืน ฤดูกินเหนียวยกแรกผ่านพ้นผมก็ยังคงต้องเป็นผู้รับไมตรีเอื้อเฟื้อการแจกจ่ายกับข้าวกับปลาหลังวาระการรับแขก บ่าว-สาวของคนลุ่มทะเลสาบที่ผ่านพ้นไปอยู่ดังเดิม

นึกแล้วหิว  คงต้องลุกไปอุ่นแกงน้ำเคอยพุงปลาให้ส่งกลิ่นฟุ้งไปทั่วบ้านจะดีกว่า....ฮา ๆ...

ต้นเดือนเจ็ด/ทุ่งลานโย-พัทลุง
๑๙ พฤษภาคม ๕๑

บล็อกของ ปรเมศวร์ กาแก้ว

ปรเมศวร์ กาแก้ว
พ่อกับแม่กลับบ้านไปหลายวันแล้ว  ผมกับบ่าวปรับตัวเข้ากับเพื่อนๆ และสภาพแวดล้อมที่นี่ได้ดีมากขึ้น ไอ้หมีกับไอ้ตาลก็คุ้นเคยกับเราดี ไม่เห่าคิดว่าเราเป็นคนแปลกหน้าเหมือนเก่าแดดเช้าสาดสีขาวจากขอบฟ้า ไก่ขันแจ้วๆ ตอบกันเหนือยุ้งข้าวมาแต่ไกล ย่าปลุกเราตั้งแต่เช้าขณะที่ลมอุ่นแห่งท้องทุ่งกำลังพัดโบยหมอกเช้า  เรางัวเงียพลิกตัวไปมาก่อนลุกขึ้นไปล้างหน้าแปรงฟัน “บ่าวๆ ๆ ๆ น้องๆๆ”  จ้อยมาตามเราตั้งแต่เช้า“วันนี้ที่ศาลาจะมีการประชันตอกลูกยาง ไปกันนะ ต้องสนุกแน่ๆ”  จ้อยชวน“ไปๆๆ ไอ้เสือสมิงของผมต้องชนะแน่ๆ”…
ปรเมศวร์ กาแก้ว
แม่ของบอยออกไปนาตั้งแต่เช้า พร้อมกับที่พ่อกับแม่ของผมกลับบ้านไปพอดี  เมื่อคืนเรานอนกันที่บ้านของบอยจึงมีเรื่องเล่าสู่กันฟังมากมาย  บ่าวกับผมเล่าเรื่องของเล่นสนุกๆ ให้บอยฟัง โดยเฉพาะเรื่องวีดีโอเกม คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต บอยนั่งฟังตาโตเป็นไข่ห่าน  ผมกับบ่าวก็สนุกกับเรื่องราวกลาง
ปรเมศวร์ กาแก้ว
“สาวไปไหน”พ่อหมายถึงอาของผม  ก็น้องสาวของพ่อนั่นเอง  คนปักษ์ใต้นิยมเรียกพี่หรือน้องสาวของตัวเองว่าสาว  อาของผมจึงมีชื่อว่าสาวตั้งแต่นั้นย่าบอกว่าอาสาวออกไปนาตั้งแต่เช้ายังไม่กลับมาหรอก  ส่วนเจ้าบอยก็ตามไปด้วย“เดี๋ยวก็ขึ้นเที่ยง”ย่าหมายความว่าสักครู่ตะวันตรงหัว  อาสาวก็กลับมาพักเที่ยง  กินข้าวกินปลาที่บ้าน  แล้วก็ลงนาต่อในตอนบ่าย   บางวันที่อาสาวนำข้าวห่อไปด้วย  ขนำกลางทุ่งข้างต้นม่วงก็เป็นที่พักหลบแดดเที่ยงได้อย่างดีไอ้หมีกับไอ้ตาลเห่าลั่นดังไปรอบบ้าน  มันกระดิกหางเล่นอยู่วุ่นวาย  ผมเห็นหญิงวัยกลางคนเดินนำเด็กชายตัวเล็กมาแต่ไกล…