Skip to main content
หลายๆ คนคิดว่า คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องต่อต้านรัฐประหารในทุกกรณี. ผมว่าความคิดนี้ผิด.
 
แม้ว่าการรัฐประหาร ในตัวมันเองจะเป็นขัดกับประชาธิปไตย แต่มันก็อาจให้ผลที่เป็นประชาธิปไตยได้ เช่น การรัฐประหารล้มระบอบเผด็จการแล้วเปลี่ยนให้เป็นระบอบประชาธิปไตย. ลองนึกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การรัฐประหารล้มระบอบนาซีแล้วสถาปนาประชาธิปไตย.
 
(บางคนอาจบอกว่าการล้มเผด็จการเพื่อเปลี่ยนระบอบเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นการ "ปฏิวัติ" ไม่ใช่การ "รัฐประหาร". แต่จริงๆ แล้วจะเรียกมันว่าอะไรก็ไม่สำคัญหรอก ประเด็นสำคัญคือ มันเป็นการโค่นล้มอำนาจเดิมลงด้วยกำลัง ไม่ใช่ด้วยบัตรเลือกตั้ง.)
 
แต่ปัญหาก็คือ กรณีส่วนใหญ่ในโลกมันไม่ได้ชัดเจนเท่ากรณีของนาซี. ระบอบนาซีเป็นเผด็จการที่สุดโต่ง ชัดเจนมาก (มีการยกเลิกการเลือกตั้ง, สั่งฆ่าผู้วิจารณ์รัฐบาลจำนวนมาก ฯลฯ). ในขณะที่รัฐบาลส่วนใหญ่ที่คนกล่าวหากันว่าเป็นเผด็จการ --อย่างเช่น รัฐบาลอียิปต์ที่เพิ่งโดนรัฐประหารไป, รัฐบาลของตุรกีปัจจุบัน, หรือรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร-- มันห่างชั้นกับรัฐบาลนาซีกันแบบคนละลีก.
 
ที่สำคัญกว่าคือ ในกรณีของนาซีนั้น เรา *สมมติ* เอาว่าเมื่อรัฐประหารแล้วจะได้ระบอบประชาธิปไตย. แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีแนวโน้มต่ำมากที่การรัฐประหารจะนำไปสู่ประชาธิปไตย. ที่ผ่านๆ มาการรัฐประหารส่วนใหญ่ในโลกนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง ไม่ใช่มากขึ้น. การรัฐประหารจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยนั้น มีน้อยกว่าการรัฐประหารจากเผด็จการไปสู่เผด็จการ และน้อยกว่าการรัฐประหารจากประชาธิปไตยไปสู่เผด็จการ แบบเทียบกันไม่ติด.
 
นอกจากนี้ ต่อให้เรามั่นใจว่าการรัฐประหารจะนำไปสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจริง เราก็ยังต้องคิดด้วยว่าการรัฐประหารนั้นจะสร้างบรรทัดฐานแย่ๆ ที่ทำให้คนคิดว่าการโค่นล้มอำนาจโดยวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งยอมรับได้. ประเทศที่เคยยอมรับการรัฐประหารสักครั้งแล้ว ก็มักเกิดรัฐประหารขึ้นอีกซ้ำๆ.
 
ฉะนั้น แม้ว่าผู้สนับสนุนประชาธิปไตยไม่จำเป็นจะต้องต่อต้านเผด็จการในทุกกรณี แต่ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยก็ต้องระมัดระวังให้มากในการสนับสนุนรัฐประหาร เพราะในโลกนี้ มีน้อยครั้งเหลือเกินที่การรัฐประหารนำไปสู่ประชาธิปไตย น้อยจนเรียกได้ว่าเป็นข้อยกเว้น.
 
ในกรณีของอียิปต์ ถ้าถามผมว่า ในฐานะผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ผมเห็นด้วยกับการรัฐประหารในอียิปต์หรือไม่? คำตอบของผมคือ "ไม่". แน่นอนว่านายมอร์ซี และพรรค Muslim Brotherhood ของเขานั้นมีอุดมการณ์ขัดกับประชาธิปไตยอย่างชัดเจนในหลายแง่. แต่รัฐบาลของนายมอร์ซี ในระยะหนึ่งปีที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงกลไกการเมืองอียิปต์ให้เป็นระบอบเผด็จการอย่างเห็นได้ชัดเลย. นอกจากนี้ การรัฐประหารโดยกองทัพอียิปต์ก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะนำไปสู่ระบอบที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยกว่าที่เป็นอยู่. กองทัพอียิปต์สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการของมูบารัคมา 30 ปี ถ้าใครเชื่อว่าอยู่ดีๆ กองทัพจะตื่นขึ้นมากลายเป็นนักประชาธิปไตย ก็ควรไปเช็คสมอง.
 
เหตุผลที่ผมพูดมาเกี่ยวกับการรัฐประหารในอียิปต์ ก็ใช้ได้กับการรัฐประหารในไทยด้วย

บล็อกของ ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
โดย ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
โดย ปราชญ์ ปัญจคุณาธร 
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
เหตุผลยอดแย่ 1: เรื่องอื่นที่สำคัญมีตั้งเยอะแยะ ทำไมม
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
หลายๆ คนคิดว่า คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องต่อต้านรัฐประหารในทุกกรณี. ผมว่าความคิดนี้ผิด. แม้ว่าการรัฐประหาร ในตัวมันเองจะเป็นขัดกับประชาธิปไตย แต่มันก็อาจให้ผลที่เป็นประชาธิปไตยได้ เช่น การรัฐประหารล้มระบอบเผด็จการแล้วเปลี่ยนให้เป็นระบอบประชาธิปไตย.
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
พระอานนท์ สนทนากับ โกกิลา