Skip to main content

20080214 ป้ายป่าชุมชนบ้างแม่เหียะใน

เมื่อไม่นานมานี้ ฉันไปร่วมงาน เปิดตัวหนังสืออาหารบ้านฉัน ที่บ้านแม่เหียะใน

หัวหน้าอุทยานดอยสุเทพ มาเปิดงาน ฉันฟังเสียงของท่านไม่ค่อยได้ยิน เพราะว่ายืนไกลและที่บ้านแม่เหียะใน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ เสียงเครื่องปั่นไฟดังมาก จึงไปถามชาวบ้านที่ตั้งใจไปฟังใกล้ ๆ ว่าท่านพูดอะไร

แน่นอนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานเขาต้องตั้งใจฟังทุกอย่างที่เจ้าหน้าที่อุทยานพูด เพราะว่าชีวิตขึ้นอยู่กับอุทยานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  หรือเรียกว่าอยู่ภายใต้กฎหมายอุทยาน
“ท่านพูดว่า ท่านเข้าใจว่าที่ทำหนังสือเล่มนี้ทำขึ้นมาเพราะต้องการที่อยู่ที่กิน” หญิงสาวคนหนึ่งบอกว่าท่านพูดเช่นนั้น และเธอรู้สึกดีใจมาก
“อือ...แสดงว่าท่านเข้าใจ” ฉันแสดงความคิดเห็น
ฉันคิดว่าเพียงแค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้าน

เมืองไทยเราเรื่องพื้นที่อุทยานกับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อุทยานมีปัญหาจริง ๆ เคยคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พวกเขาบอกว่า พวกเขารับหน้าที่ในการดูแลป่า ดูแลพื้นที่ป่าภายใต้กฎหมาย เขาต้องรักษาป่าไว้ให้มากที่สุด

แต่ในเมืองไทยเรานั้น มีผู้คนอาศัยอยู่ในป่ามากมาย หรือเรียกว่าทุกแห่งนั่นแหละ ข้อหนึ่งที่ถกเถียงกันอยู่เสมอคือ ชาวบ้านบอกว่ามาอยู่ก่อนที่อุทยานจะประกาศพื้นที่  การพิสูจน์การเข้ามาอยู่ก่อนหลังจึงเป็นข้อเสนอหนึ่ง แต่ดูเหมือนกับว่าการพิสูจน์แบบนี้ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก เพราะว่าคนที่อยู่ในพื้นที่นั้นไม่ว่าจะมาก่อนหรือหลัง ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากย้ายออกจากบ้านที่เคยอยู่  หรือถ้าย้ายก็ต้องเป็นที่ซึ่งทำมาหากินได้  ปลูกผักปลูกข้าวได้ หรือหาของป่า เท่าที่ฉันไปเที่ยวดูจากที่ต่าง ๆ ทั้งที่อยู่ของชนเผ่า ในพื้นที่อุทยานและไม่ใช่คนชนเผ่า พวกเขาจะแบ่งพื้นที่ออกเป็นป่าใช้สอยพื้นที่ทำกิน ป่าอนุรักษ์  ถ้าเป็นชนเผ่าก็มีป่าที่ใช้สำหรับพิธีกรรมด้วย เท่าที่รู้ป่าพิธีกรรมเขาจะไม่ตัดไม้อยู่แล้ว และได้ไปดูพื้นที่ที่ถูกย้ายออกมา และกำลังจะถูกย้าย ที่ถูกย้ายออกมานั้น ส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องที่ทำกิน คือที่ซึ่งย้ายออกมาทำกินไม่ได้ แห้งแล้ง มีที่เพียงนิดเดียว ที่ซึ่งฉันไปดูมาชื่อบ้านลีซูหัวน้ำ แม่อาย อันนี้ย้ายลงมารวมกันข้างล้างและมีปัญหาไม่มีที่ทำกิน อดอยาก  กับอีกแห่งหนึ่งที่ไปดูมา คือบ้านนาอ่อน ช่วงที่ไปนั้นพวกเขากำลังจะถูกย้าย แต่ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหนดี ทั้งสองแห่งเป็นที่อยู่ของชนเผ่า

ส่วนที่บ้านแม่เหียะในนั้น ก็เหมือนกัน อยู่ในพื้นที่อุทยานเหมือนกัน แต่ต่างที่ไม่ใช่ชนเผ่าไม่ใช่ชาวเขา และพื้นที่ป่าบ้านแม่เหียะเป็นพื้นที่ใกล้เมืองมาก ๆ หรือเรียกว่าผืนป่าที่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มากที่สุด  

ที่บ้านแม่เหียะในมันเป็นหลายเรื่องหลายกรณีมาก ๆ  มีจำนวนมากที่เป็นคนเก่าแก่ดั้งเดิมคืออยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่มีอยู่จำนวนหนึ่งมาอยู่ใหม่ และบางคนถูกหลอกมา เขาหลอกว่าไม่นานก็จะได้เอกสารสิทธิ์หรือว่าไม่มีใครเขามาไล่หรอก อยู่ไปเถอะ อย่างนี้เป็นต้น

ยังมีปัญหาเรื่องขายที่ดินซ้ำซ้อน ทั้งที่ไม่มีสิทธิ์ขาย คือขายคนหนึ่งแล้วไปขายอีกคนหนึ่ง เพราะการซื้อขายไม่มีหลักฐานใด ๆ ซื้อขายแบบไปชี้ ๆ เอามา  ดังนั้นเมื่อมีเรื่องราวก็ไปฟ้องร้องเอาผิดกันไม่ได้  นอกจากฟ้องร้องฉ้อโกงกันเท่านั้น

20080214 ภาพถนน มีต้อไม้เต็มสองข้างทาง

เห็นไหมเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดมันมีเรื่องมากมาย และคนแบบนี้แหละที่ทำให้ส่วนรวมเสีย การที่จะต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐในที่อยู่อาศัยก็ยากขึ้น หรือไม่สามารถทำได้

การจัดการป่าในเมืองไทยเป็นเรื่องยากมากจริง ๆ จัดการตามหลักกฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ได้ ครั้งจะเรียกร้องให้คนดูแลป่า ก็ต้องมาดูรายละเอียดกันว่า คนของเราหรือประชาชนเราพร้อมหรือยัง

เพื่อนคนหนึ่งบอกว่า เธอมีเพื่อนเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายดี ทำงานอย่างตั้งใจ เรียกว่ามือสะอาด เขาบอกว่า ชาวบ้านยังไม่พร้อม

แต่ก็มีบางแห่งที่พร้อม ดังนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี  ๆ อย่างเช่นบางชุมชนชาวบ้านเข้มแข็ง จัดการป่าได้จริง เขามีกฎระเบียบของหมู่บ้าน และพิสูจน์แล้วว่า ทำได้อยู่ได้อย่างยาวนาน อย่างน้อยก็ห้าปีสิบปี ของจริงของปลอมมันพิสูจน์กันได้ และหากว่า ต่อไปไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ได้ก็เพิกถอนสิทธิ์ได้ อย่างนี้เป็นต้น แต่สิทธิในการซื้อขายคงจะไม่ได้ แต่มีสิทธิในการครอบครองชั่วลูกหลาน เป็นมรดกตกทอดได้ เพราะเมื่อสิทธิในการซื้อขายเกิดขึ้น ทันทีที่กลุ่มทุนเข้าไป วอดวายแน่ โครงการยักษ์ใหญ่นี่แหละน่ากลัวมาก  เพื่อนบอกอย่างนี้

ส่วนที่บ้านแม่เหียะนั้น จากการพูดคุยกับชาวบ้าน เขาบอกว่า “พื้นที่อุทยานดอยสุเทพนั้น ไนท์ซาฟารีเอาพื้นที่ไปใช้เท่าไหร่ พืชสวนโลกเอาไปเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอาไปใช้เท่าไหร่ รวมแล้วส่วนอื่นขอใช้พื้นที่ได้นับพันนับหมื่นไร่ ชาวบ้านทั้งที่อยู่ก่อนและอยู่ใหม่ขอใช้พื้นที่อยู่อาศัยไม่ได้หรือ  ทำไมมารังเกียจชาวบ้าน ถ้าจะจัดการก็ต้องจัดการให้เหมือนกัน ดูเถอะในพื้นที่เดียวกัน ส่วนอื่นมีไฟฟ้าใช้ แต่ส่วนของชาวบ้านไม่มี พื้นที่ใกล้ ๆ อย่างไนท์ซาฟารีก็มีไฟฟ้าใช้ ส่วนที่มหาวิทยาลัยก็มีไฟฟ้าใช้”  เออ...ก็จริงของเขาเหมือนกัน
 
บ้านแม่เหียะในเป็นหมู่บ้านลับตาจริง ๆ หากว่าไม่มีโครงการพืชสวนโลกกับไนท์ซาฟารี บ้านแม่เหียะในก็ไม่ได้ถูกเปิดตัวขึ้นมาแน่นอน

ฉันรู้จักบ้านแม่เหียะในครั้งแรก จากโครงการอุทยานช้าง ที่เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการไนซาฟารี ฉันเข้าไปเพราะถูกชวนไปปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ต่อมามีการคัดค้านอุทยานช้าง ชาวบ้านในพื้นที่แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทั้งที่เห็นด้วยอยากได้อุทยานช้าง เพราะเชื่อว่าหากมีอุทยานช้างเข้ามาพวกเขาจะได้ทำมาค้าขายกับนักท่องเที่ยว และความเจริญต่าง ๆที่เข้ามา แต่บางคนบางกลุ่มก็กลัวว่า จะไม่ได้ใช้ประโยชน์กับการท่องเที่ยวจริง อาจจะมีการประมูลมาจากข้างนอก และไม่แน่ใจว่า พวกเขาจะถูกย้ายออกจาพื้นที่หรือไม่เมื่อมีโครงการใหญ่ใช้พื้นที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งกลัวเรื่องขี้ช้างจำนวนมากที่อาจจะทำให้อากาศเสีย หรือน้ำเสีย  

ตอนนี้โครงการนี้หยุดลง แต่ไม่แน่ว่าจะกลับมาในรัฐบาลชุดใหม่ ยุคนายสมัคร สุนทรเวชหรือไม่ และชาวบ้านต้องการโครงการเหล่านั้นจริงหรือไม่ 

บล็อกของ แพร จารุ

แพร จารุ
  แล้วฉันก็คิดว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิน ฉันเดินทางไปหาเพื่อนที่กรุงเทพฯ  และบอกเธอว่า ฉันอยากจะไปเยี่ยมนักเขียนผู้ใหญ่รุ่นพี่คนหนึ่ง  เพื่อนบอกว่า ไม่ได้ไปนานแล้ว ช่วงหลังๆ ไม่ค่อยมีใครไปหาใครกัน  เมื่อถามว่าทำไม
แพร จารุ
ป่าสนวัดจันทร์   หลังจากที่เขียนเรื่องป่าสนวัดจันทร์ถูกโฆษณาว่าเป็นผืนป่าสนแห่งเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีชนเผ่าใช้วิถีชีวิตแบบเดิม ๆ
แพร จารุ
เมื่อเขียนเรื่อง “ป่าสนวัดจันทร์ถูกโฆษณาว่าเป็นที่สุด”  ฉันก็ได้รับจดหมายฉบับหนึ่ง เขียนถึงเรื่องอำเภอใหม่ส่งเข้ามา วันนี้จึงนำจดหมายฉบับนี้มาให้อ่านกันค่ะ  เธอเขียนมาว่า ลองเขียนเรื่องอำเภอใหม่มาให้อ่าน
แพร จารุ
ป่าสนผืนเดียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ มองขึ้นบนต้นสนเหมือนหนึ่งว่ามีนกเกาะอยู่บนนั้นเต็มไปหมด จนใครบางคนเผลอถามว่า นั่นนกอะไรเกาะอยู่เต็มไปหมด หลายคนหัวเราะ ไม่ใช่นกหรอกมันคือลูกสน ที่นี่มีชื่อว่า ป่าสนวัดจันทร์ เป็นครั้งที่สองที่ฉันเดินทางมาที่นี้ห่างจากครั้งแรกเกือบยี่สิบปี ฉันไม่กล้าเดินทางไปที่นั่นเพราะรู้สึกว่ามันลำบากยากเย็นเหลือเกิน เป็นการเดินทางที่โหด ๆ ในช่วงวัยเยาว์ เพราะต้องนั่งรถไฟชั้นสามมาจากกรุงเทพฯ นานกว่าสิบสองชั่วโมง ก็รู้กันอยู่ว่ารถไฟไทยเสียเวลาเสมอ ๆ ลงจากรถไฟมีนักเขียนจากเมืองเหนือรอรับอยู่
แพร จารุ
มุสโต๊ะ (มุส-สะ-โต๊ะ) อาหารมื้อไหน ๆ ก็ต้องมีมุสโต๊ะ มุสโต๊ะก็คือน้ำพริกนั่นเอง ฉันรู้จักมุสโต๊ะครั้งแรกเมื่อเที่ยวบ้านปกาเกอญอ และนับจากวันนั้นก็ชอบมุสโต๊ะแบบปกาเกอญอทันที่
แพร จารุ
คุณทำอะไรเมื่อเช้านี้  ส่วนฉันตื่นขึ้นมาพร้อมกับหยิบหนังสือเล่มเล็ก ๆ จากโต๊ะกินข้าวติดมือไปนอนอ่านในเปลใต้ต้นมะขามเล็ก  หนังสือชื่อ ไม่รักไม่บอก 5 เป็นของกลุ่มภาคีคนฮักเจียงใหม่  ฉันเป็นอาสาสมัครในกลุ่มนี้กับเขาด้วย แต่ฉันไม่ได้ทำหนังสือเล่มนี้ ดังนั้นฉันจึงเพิ่งได้อ่านจริง ๆ ครูโรงเรียนอนุบาลเพิ่งให้มาสิบเอ็ดเล่ม วันนั้นมีน้อง ๆ หนุ่ม ๆ จากไหนก็ไม่รู้มาช่วยกันขนหนังสือหลายกล่องที่นำมาขายในงานอำลา ‘รงค์ วงษ์สวรรค์  ฉันไม่มีของอะไรตอบแทนน้องจึงแจกพวกเขาไปคนละเล่มเหลือเก็บไว้เล่มหนึ่ง ภาพปกเป็นแม่มดหน้าตาน่ารักถือไม้เท้าวิเศษ มีข้อเขียนว่า จงสุภาพกับโลกใบนี้ (คำจากสาร…
แพร จารุ
  เล่าเรื่องงาน อำลา ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เปิดงานไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม ยามแดดร่มลมตก หน้าที่ของฉันในงานนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลงานขายหนังสือ ฉันรับปากไปว่า “ได้ค่ะ” ทั้งที่ไม่มีความชำนาญเรื่องการขาย หรือเรียกว่าไม่มีทักษะสักนิดเดียว และมักจะคิดตัวเลขผิด วิชาคณิตศาสตร์ตั้งแต่บวกลบคูณหารไม่เก่งเลย ยิ่งวิชาเลขคณิตคิดในใจนี้ไม่ได้เลย แต่ เพราะว่าในช่วงที่เขาประชุมเรื่องการดำเนินการจัดงานฉันไมได้เข้าร่วมประชุม…
แพร จารุ
ฤดูร้อนในเมืองเชียงใหม่ค่อนข้างน่าสยองค่ะ เพราะนอกจากความแห้งแล้งที่เริ่มขึ้นในปลายฤดูหนาวนี้แล้ว เมื่อฤดูร้อนมาถึงเราก็จะพบกับกลุ่มหมอกควันที่มีทั่วเมือง สำหรับประชาชนในชนชั้นเรา ๆ นั้น เตรียมอะไรได้บ้างคะ
แพร จารุ
สวัสดีนักท่องเที่ยว ระหว่างทางนักท่องเที่ยวเจออะไรมาบ้าง ฉันมาอยู่เชียงใหม่สิบกว่าปี แต่บ่อยครั้งที่รู้สึกว่า ตัวเองเหมือนนักท่องเที่ยว
แพร จารุ
  หญิงสาวมักจะกลัวอ้วนเพราะอยากสวย เราถูกทำให้เชื่อกันว่าคนอ้วนจะไม่สวย เป็นสาวเป็นนางต้องผอมเข้าไว้ ใครไม่ผอมเหมือนนางแบบ หรือนักแสดงหน้าจอโทรทัศน์ก็จะไมได้มาตรฐาน ซึ่งความจริงแล้วบางคนผอมจนเกินไป เรียกว่าแห้งแรงน้อยไม่แข็งแรง ขาแขนมีแต่กระดูก คอโปน ไหปลาร้าลึกขนาดน้ำขังยามเมื่ออาบน้ำ
แพร จารุ
ชวนมากินกันต่อค่ะ เพื่อนนักเขียนรุ่นน้องที่เชียงดาว เล่าว่าเธอปลูกข้าวไร่ที่บ้านของเธอ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ฉันคิดว่าแค่เธอเริ่มต้นปลูกข้าวความมั่นคงทางอาหารก็เริ่มมีแล้ว ต่อมาน้องนักเขียนที่เพิ่งรู้จักยังไม่ได้เห็นหน้ากันเลย เขียนมาบอกว่า เธอปลูกข้าวได้เจ็ดกระสอบ ฉันชื่นชมยินดีกับเธออย่างจริงจังและจริงใจยิ่ง เพราะฉันมีความฝันที่จะปลูกข้าวปลูกผักไว้กินเอง แต่ไม่ได้ทำ และคิดว่าคงไม่ได้ทำ เพราะอายุปูนนี้แล้ว กล้ามเนื้อเป็นไขมัน เรี่ยวแรงหมดไปแล้ว ที่ทำได้ก็คือปลูกกล้วย ซึ่งก็เหมาะสมอยู่เพราะกล้วยเป็นอาหารนิ่ม ๆ กินง่าย…
แพร จารุ
ชวนมากินกันต่อดีกว่า   คราวนี้กินถั่วงอกผัดเห็ดสามอย่างค่ะ ดูเป็นอาหารธรรมดา ๆ นะคะ แต่พิเศษก็ตรงที่ เป็นอาหารที่ประกอบด้วยเห็ดสามอย่างนะคะ ความจริงแล้วอาหารเห็ดสามอย่างที่กินเป็นยานี้ เขาว่าหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันเป็นดีค่ะ แต่ไม่เป็นไรใช้น้อย ๆ เราเน้นความอร่อยด้วยค่ะ