Skip to main content

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อฆ่าเวลาก่อนเดินทางไปยังสนามบินเพื่อกลับประเทศไทย เดินไปเดินมาอย่างไม่มีทิศทางก็บังเอิญให้เจอเข้ากับนิทรรศการถาวรเรื่องรถไฟความเร็วสูงของเกาหลีใต้ ข้างหน้ามีคัตเอาท์ดาราดังจากรายการ Running Man อย่างอีกวางซู กับคิมจงกุกตั้งอยู่

ความน่าสนใจคือนิทรรศการนี้ให้เข้าชมฟรี ด้านในพูดถึงสรรพคุณรถไฟฟ้าความเร็วสูงของเกาหลีใต้ เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง Korea Train eXpress (KTX) ระหว่างโซลไปปูซานและกวางจู และยังมีแผงควบคุมรถไฟฟ้าและแบบจำลองห้องโดยสารให้เข้าไปสัมผัสประสบการณ์แบบสี่มิติได้อีกด้วย

เมื่อเห็นความเอาจริงเอาจังในการ PR ความก้าวหน้าของรถไฟความเร็วสูงขนาดนี้ ยิ่งตอกย้ำสมมติฐานที่ว่าการแข่งขันของบรรดาประเทศเจ้าเทคโนโลยีในตลาดรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศร้อนแรงเพียงใด

โดยปกติเมื่อเราพูดถึงเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ก็คงหนีไม่พ้นเทคโนโลยีชินคันเซนของญี่ปุ่น บอมบาร์เดียของแคนาดา อัลสตอมของฝรั่งเศส ซีเมนส์ของเยอรมนี และผู้เล่นที่มาแรงและทรงพลังอย่างจีน ซึ่งได้เปรียบประเทศอื่นๆ ในเรื่องเงินกู้ เกาหลีใต้เป็นผู้เล่นรายล่าสุด ที่แม้จะมาทีหลังแต่มีเทคโนโลยีเทียบเท่าจีนและญี่ปุ่น

เกาหลีใต้เริ่มต้นจากการใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศสในเส้นทาง KTX โซล-ปูซานในปี 2004 จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของตัวเองโดยสถาบันวิจัยรถไฟแห่งเกาหลี (Korea Railroad Research Institute: KRRI) จนสามารถใช้เทคโนโลยีของตัวเอง โดยตัวรถไฟผลิตโดยบริษัทฮุนได โรเต็ม (Hyundai Rotem) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฮุนไดมอเตอร์ หนึ่งในแชโบลขนาดใหญ่ของเกาหลีใต้ได้สำเร็จในปี 2010 ความเร็วสูงสุดของรถไฟเกาหลีใต้ในปัจจุบันอยู่ที่ 430 กม./ชั่วโมง และกำลังพัฒนาให้วิ่งได้สูงสุดที่ 600 กม./ชั่วโมง และมีจุดเด่นอยู่ที่สามารถควบคุมโดยระบบไร้สายและระบบโทรคมนาคมภายในตัวรถ

 

ตั้งแต่ปี 1964 บริษัทฮุนได โรเต็ม ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตรถไฟรายเดียวของเกาหลีใต้ ส่งออกรถไฟไปยังประเทศต่างๆ ถึง 35 ประเทศ แต่ไม่มีเลยสักครั้งที่บริษัทฮุนได โรเต็มหรือประเทศเกาหลีใต้ทำสัญญาสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในต่างประเทศ

แม้ว่ายังไม่สามารถเทียบเคียงกับจีนและญี่ปุ่นได้ในเรื่องเงินให้กู้ แต่เกาหลีใต้เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันเกาหลีใต้สามารถเป็นผู้เล่นในตลาดรถไฟความเร็วสูงที่ครองโดยไม่กี่บริษัทและไม่กี่ประเทศได้โดยไม่ยาก โดยโครงการแรกที่เกาหลีใต้เล็งว่าจะเข้าไปประมูลเป็นโครงการแรกเพื่อส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของตัวเองไปยังต่างประเทศ คือโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย ความยาว 350 กม. ที่จะย่นระยะการเดินทางจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังสิงคโปร์ให้เหลือเพียง 90 นาทีเท่านั้น

ความตั้งใจในการประมูลแข่งขันในโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซียของเกาหลีใต้นั้น ถือว่าเป็นความร่วมมือในระดับชาติ เพราะเป็นการจับมือกันของ 25 องค์กรสำคัญ ทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐถึง 25 องค์กร ซึ่งแน่นอนต้องมี Korea Rail Network Authority (KRNA), Korail, ฮุนได โรเต็ม, ฮุนได, แดวูล,​ และล็อตเต้รวมอยู่ด้วย

โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นโครงการขนาดใหญ่ นอกจากประเทศต่างๆ จะได้แสดงสมรรถภาพทางเทคโนโลยีของตัวเองแล้ว การลงทุนยังเป็นการนำเม็ดเงินกลับเข้าสู่บริษัทที่เข้าร่วมในโครงการและประเทศเจ้าของเทคโนโลยีอีกด้วย แม้ว่าในกรณีเกาหลีใต้ บริษัทที่เข้าร่วมในการประมูลล้วนเป็นแชโบลสำคัญๆ ของประเทศทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสิงคโปร์-มาเลเซียนี้ มีเจ้าเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงอย่างจีนและญี่ปุ่นหมายตาเอาไว้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เกาหลีใต้จะต้องทำโฆษณา PR ศักยภาพของตัวเองให้อยู่ในสายตาประชาชนมาเลเซีย โดยเกาหลีใต้บอกว่าจุดเด่นสำคัญของเกาหลีใต้ของความตั้งใจในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศเจ้าของโครงการอย่างไม่กั๊กเอาไว้

ส่วนรถไฟความเร็วสูงของจีนที่กำลังมาแรงจนเรียกว่าเป็น “การทูตรถไฟความเร็วสูง” นี้ ติดต่อได้ในตอนต่อๆ ไปของรายการหมายเหตุประเพทไทย ทางช่องประชาไททีวีค่ะ

(ขออภัยในคุณภาพรูป มีความรีบถ่าย)

 

ข้อมูลจาก

Financial Times. (2016, December 19). South Korea has big target in sight for its bullet trains. Retrieved from Financial Times: https://www.ft.com/content/7563339a-bd27-11e6-8b45-b8b81dd5d080

Lim, J. (2016, December 13). Singapore, Malaysia sign bilateral agreement for High-Speed Rail project Read more at http://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-malaysia-sign-bilateral-agreement-for-high-speed-rail--7633738. Retrieved from Channel NewsAsia: http://www.channelnewsasia.com/news/singapore/singapore-malaysia-sign-bilateral-agreement-for-high-speed-rail--7633738?view=DEFAULT

Strait Times. (2016, February 1). South Korea eyes global high-speed rail market. Retrieved from Strait Times: http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/south-korea-eyes-global-high-speed-rail-market

Tuason, C. (2015, October 19). South Korea Is Ready To Export Its High-Speed Rail Trains And Related Services Overseas, Starts With Exports To Malaysia. Retrieved from Korea Portal: http://en.koreaportal.com/articles/1737/20151019/south-korea-high-speed-rail-train.htm

 

บล็อกของ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปยังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อฆ่าเวลาก่อนเดินทางไปยังสนามบินเพื่อกลับประเทศไทย เดินไปเดินมาอย่างไม่มีทิศทางก็บังเอิญให้เจอเข้ากับนิทรรศการถาวรเรื่องรถไฟความเร็วสูงของเกาหลีใต้ ข้างหน้ามีคัตเอาท์ดาราดังจากรายการ Running Man อย่างอีกวางซู
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
ต้องยอมรับว่าการที่ซีรีย์เกาหลีเรื่อง Descendants of the Sun กลายเป็นกระแสโด่งดังในสังคมไทย ไม่ได้เป็นเพราะมีการถ่ายทำที่ประณีต มีฉากที่สวยงาม และมีนักแสดงชื่อดังอย่างซงจุงกิและซงเฮเกียวมารับบทนำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงกับออ
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นที่สื่อให้ความสำคัญมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องการเสนอให้ทำประชามติต่