Skip to main content

    วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า  หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น  ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น

\\/--break--\>

ภาพปกสาละวินโพสต์ ฉบับที่ 46

    ปรากฏการณ์แรก คือ สงครามสื่อระหว่างรัฐบาลและภาคประชาชนพม่า  อานิสงส์จากเทคโนโลยีการสื่อสารยุคโลกาภิวัตน์ทำให้มือถือสัญญาณดาวเทียมและ อินเทอร์เน็ตส่งภาพข่าวสด ๆ ร้อน ๆ ออกมาให้โลกภายนอกได้เห็นในรูปแบบคลิปวีดีโอและภาพถ่าย   เราจึงได้เห็นภาพซากศพไหม้เกรียมเกลื่อนทุ่งนา บ้านเรือนพังราบเป็นหน้ากลอง และแววตาหิวโหยรอคอยความช่วยเหลือปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวทั่วโลก รวมถึงเว็บไซต์ดังอย่าง youtube  ทำให้ธารน้ำใจไหลหลั่งสู่ประเทศพม่าจากทุกสารทิศ (แต่จะไปถึงผู้ประสบภัยหรือไม่นั้นเดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที)  งานนี้ต้องยกความดีความชอบให้กลุ่มข่าวภาคประชาชนของพม่า อาทิ  สำนักข่าว Democratic Voice of Burma (DVB)  สำนักข่าว Mizzima และสำนักข่าว Irrawaddy  กลุ่มข่าวเหล่านี้มีนักข่าวท้องถิ่นลงพื้นที่เก็บภาพและข้อมูลส่งผ่านสัญญาณ ดาวเทียมออกมายังสำนักงานนอกประเทศพม่าเพื่อส่งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ไปยังทั่วโลกอย่างที่เราได้เห็น  

    ทางด้านสื่อของรัฐบาลพม่า ทั้งทีวีและหนังสือพิมพ์กระบอกเสียงรัฐบาลต่างนำเสนอภาพทหารนั่งเฝ้าคูหาลง คะแนนประชามติร่างรับธรรมนูญพร้อมกับผู้นำยิ้มแย้มเดินเข้าคูหาเลือกตั้ง ไม่มีภาพความสูญเสียของประชาชนในภาคอิรวดีให้เห็น มีเพียงภาพทหารในกรุงย่างกุ้งตัดต้นไม้ที่ขวางถนนกีดขวางการจราจรหรือทำความ สะอาดพื้นที่รอบบ้านพักนายพลตานฉ่วยหรือนายทหารระดับสูง  รวมไปถึงภาพการแจกจ่ายสิ่งของให้กับประชาชนที่รัฐบาลพม่า “อ้างว่า” เป็นผู้ประสบภัยอาศัยอยู่ในเต็นท์สีฟ้าใหม่เอี่ยมด้วยความช่วยเหลือจากจีน  ผลจากการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนพากันหาซื้อซีดีประมวลภาพความสูญเสียที่คนทั่วโลกได้ดูกันจาก ตลาดมือจนขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเลยทีเดียว

    ปรากฏการณ์ต่อมา คือ ทั่วโลกได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานถึงความ “เลือดเย็น” ของรัฐบาลทหารพม่า  จากการสกัดกั้นธารน้ำใจที่หลั่งไหลสู่ผู้ประสบภัยชาวพม่าทุกรูปแบบ ตั้งแต่การเข้มงวดในการให้วีซ่ากับชาวต่างชาติ  (ต่างจากช่วงเกิดสึนามิ ประเทศที่ประสบภัยต่างประกาศต้อนรับทุกชาติที่ต้องการช่วยเหลือโดยไม่ต้องขอ วีซ่า)   การ “เลือก” รูปแบบในการให้ความช่วยเหลือ โดยเน้น “เงินดอลลาร์” มากกว่าสิ่งของ  หากได้รับเป็นสิ่งของ  ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปขายในท้องตลาดหรือไม่ได้แจกจ่ายให้ประชาชนฟรี ๆ ทั้งหมด   เมื่อความช่วยเหลือจากภายนอกถูกปิดกั้น  ประชาชนท้องถิ่นจึงช่วยเหลือกันเอง ทั้งผู้นำชุมชน พระสงฆ์ นักแสดง และนักกิจกรรมเพื่อสังคมในพม่าต่างพากันรวบรวมสิ่งของบริจาคเดินทางไปช่วย เหลือผู้ประสบภัยถึงลุ่มอิรวดี  แต่ทว่า ระหว่างทางต้องเจอทหารตั้งด่านเก็บค่าผ่านทางซะยังงั้น !  เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลทหารยังตามจับกุมประชาชนที่ออกมานำทีมช่วยเหลือให้เข้าไปนอนอยู่ในคุก มาจนถึงวันนี้  อาทิ  ซาร์กานาร์ ตลกชื่อดัง และนักกิจกรรมเพื่อสังคมชาวพม่าอีกหลายคน

    เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ใครบางคนถึงกับเปรยว่า “ผู้นำพม่าเลือดเย็นเสียจริง ๆ” และสามารถทำสิ่งไร้มนุษยธรรมที่กลับตาลปัตรกับโลกภายนอกได้อย่างไม่สะทก สะท้านกับเสียงประณามจากทั่วโลก   ความทุกข์ยากทั้งหลายจึงตกอยู่ที่ประชาชนตาดำ ๆ ให้ก้มหน้ารับชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยวกันต่อไป  

    อย่างไรก็ตาม  แม้ความช่วยเหลือจะถูกสกัดกั้นหลายทิศทาง  แต่ความพยายามของหลายหน่วยงานก็สามารถเข้าไปช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ ประสบภัยลงได้บ้าง  อาทิเช่น การทำงานของกลุ่ม Emergency Assistance Team (EAT-Burma) นำทีมโดยคุณหมอซินเทีย หม่อง แพทย์หญิงชาวกะเหรี่ยงจากพม่า ผู้ก่อตั้งคลินิกแม่ตาวที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ทีมช่วยเหลือนี้ได้รับเงินบริจาคจากคนทั่วโลกที่ “ไม่เชื่อใจ” รัฐบาลพม่า  แต่ “เชื่อใจ” ผลงานของคุณหมอซินเทียที่ช่วยเหลือประชาชนชาวพม่ามานานกว่าสิบห้าปี  ทีมช่วยเหลือนี้ทำงานเหมือนกองทัพมด คือ นำเงินและสิ่งของบริจาคขนส่งจากพื้นที่ชายแดนส่งต่อไปยังพื้นที่ประสบภัย ทั้งทางรถ เรือ และเท้า    

หลังจากการทำงานผ่านไป  ทีมช่วยเหลือได้ร่วมกับมหาวิทยาลัย จอนส์ฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา ออกรายงานเรื่อง  “AFTER THE STORM: VOICES FROM THE DELTA.”  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ทีผ่านมาเพื่อเผยแพร่ผลการทำงานและสถานการณ์ที่เกิด ขึ้นในพื้นที่ประสบภัยนาร์กีส
รายงานชิ้นนี้ระบุว่า ทีมช่วยเหลือสามารถเข้าถึงหมู่บ้านได้ถึง 87 หมู่บ้านใน 17 เมืองที่ประสบภัยนาร์กีส รวมทั้งได้ออกมาประณามรัฐบาลทหารพม่าว่าได้กระทำการก่อ “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” (Crime against humanity) ในหลายรูปแบบ ทั้งสกัดกั้นความช่วยเหลือต่าง ๆ ที่จะส่งไปถึงมือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที ส่งผลให้ผู้ประสบภัยจำนวนมากต้องได้รับความทุกข์ทรมานจากการขาดน้ำ อาหาร และความช่วยเหลือพื้นฐานที่จำเป็น  โดยเรียกร้องให้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นเรื่องสืบสวนผู้นำทหารพม่า ที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้ประสบภัยนาร์กีสเพราะสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นความไร้มนุษยธรรมของผู้นำทหารพม่าเกินกว่าที่คนทั่วไปจะรับได้

     สำหับสังคมไทย  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังพายุนาร์กีสมีแง่มุมงดงามที่จดจำ เพราะหลายคนที่เคยชิงชังประเทศพม่าได้แปรเปลี่ยนทัศนคติเป็นความเห็นอก เห็นใจและเข้าใจชะตากรรมของชาวพม่าที่อาศัยอยู่ใต้อำนาจเผด็จการแบบเข้มข้น มากขึ้น  ผลจากความเข้าใจทำให้องค์กรภาคประชาชนไทยหลายหน่วยงานส่งผ่านความช่วยเหลือ ให้ผู้ประสบภัยในหลากหลายรูปแบบทั้งในแง่การฟื้นฟูเกษตรกรรม  การบำบัดเยียวยาจิตใจ การบริจาคสิ่งของเงินทอง  รวมไปถึงการตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวพม่า อย่างเช่น การจัดงานระดมทุนโดยกลุ่มเพื่อนเชียงใหม่ฟื้นฟูผู้ประสบภัยนาร์กีสซึ่งเกิด ขึ้นจากความเห็นใจเพื่อนชาวพม่าผู้ทุกข์ยาก โดยจนถึงปัจจุบันกลุ่มคนทำงานเหล่านี้ได้สานต่อเจตนารมณ์สร้างความเข้าใจต่อ เพื่อนชาวพม่าและตั้งเป็นกลุ่มทำงานกันต่อไปในชื่อว่า “เพื่อนพม่า” สะท้อนให้เห็นว่า เมล็ดพันธุ์แห่งความเข้าใจข้ามพรมแดนกำลังเติบโตงอกงามในสังคมไทยเพิ่มมาก ขึ้น  

    อาจกล่าวได้ว่า  ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นาร์กีสครั้งนี้ทำให้ทั่วโลกประจักษ์ ร่วมกันว่า ผู้นำพม่าดำรงอยู่ในอำนาจเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม  ความทุกข์ยากของประชาชนจึงไม่ใช่วาระสำคัญของประเทศมากเท่ากับการโปรยกลีบ กุหลาบบนถนนการเมืองให้ทหารได้ก้าวเดินอย่างนุ่มนวลเพื่อสืบทอดอำนาจต่อไป ด้วยเหตุนี้  เราจึงไม่อาจตั้งความหวังถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ที่จะมาถึงในปีหน้าได้  สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคงมีเพียงภาพผู้นำทหารคนเก่าภายใต้  “เสื้อคลุมประชาธิปไตย” ตัวใหม่เอี่ยมโบกมือยิ้มรับชัยชนะจากการเลือกตั้งที่พวกเขาปูทางเอาไว้หมด แล้วเท่านั้นเอง

หมายเหตุ
    ท่านติดตามสถานการณ์ผู้ประสบภัยนาร์กีสได้จาก www.maetaoclinic.org,  www.dvb.no, www.mizzima.com, www.irrawaddy.org

บล็อกของ บก.สาละวินโพสต์

บก.สาละวินโพสต์
ความเดิมตอนที่แล้ว ผู้เขียนเล่าถึงภัยที่อาจเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในพม่าแบบไม่ระมัดระวังเพราะที่ร้านอินเทอร์เน็ตอาจมีสายลับเฝ้าสังเกตบุคคลที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยแล้วส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองติดตามบุคคลนั้น ในตอนนี้ ผู้เขียนอยากถ่ายทอดบทเรียนความผิดพลาดจากการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลในพม่าให้ผู้อ่านรับรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์และเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการเข้าไปเก็บข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือสร้างภาพพจน์เชิงลบให้รัฐบาลทหาร (ถ้าเก็บข้อมูลเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวจะไม่มีปัญหา เพราะรัฐบาลทหารได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว)
บก.สาละวินโพสต์
 อ่านเรื่องสายลับพม่ากันมาสองตอนแล้ว คนที่เคยเดินทางไปเที่ยวพม่าตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่าง ๆ อย่างเจดีย์ชเวดากอง หรือพระธาตุอินทร์แขวนอาจบอกว่า ไม่เห็นเคยเจอสายลับติดตามเลย  ผู้เขียนอาจเป็นพวก "คิดไปเอง" หรือเปล่า  อันที่จริง ถ้าผู้เขียนไม่ได้เดินทางไปพม่าในฐานะ "นักข่าว" ที่ต้องการเก็บข้อมูลปัญหาในพม่าออกเผยแพร่  ผู้เขียนก็คงจะเดินทางอย่างไร้กังวล ไม่ต้องเป็นโรคหวาดระแวงอย่างที่เห็น เพราะตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังจะไม่มีสายลับมาติดตามหรือถ้ามีสายลับอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวเพราะตราบใดที่ยังไม่มี "พฤติกรรมนอกกรอบ" นักท่องเที่ยว …
บก.สาละวินโพสต์
หลังจากผู้เขียนถูกสายลับพม่าติดตามครั้งแรกทำให้ผู้เขียนเริ่มระวังตัวมากขึ้นในการเดินทางไปพม่าครั้งต่อมา  ประสบการณ์ทำงานประเด็นพม่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เขียนเริ่มเข้าใจวิธีการทำงานของสายลับพม่ามากขึ้น  ถ้าจะลองแบ่งประเภทสายลับพม่าจากประสบการณ์ที่เคยพบก็พอจะแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ  (เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน กรุณาอย่านำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ) คือ สายลับแบบทำงานเต็มเวลา (full- time) กับสายลับแบบชั่วครั้งชั่วคราว (Part-time)สายลับประเภทแรกอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษาบ้านเราว่า "สันติบาล"   …
บก.สาละวินโพสต์
ในแวดวงคนทำงานประเด็นพม่าต่างคุ้นหูกับเรื่องราวของ "สายลับพม่า" กันเป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลทหารพม่าให้ความสำคัญกับหน่วยข่าวกรองมากและหน่วยข่าวกรองพม่าก็มีอำนาจมากจนเทียบเท่ากับอีกสามเหล่าทัพ (ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ) เลยทีเดียว สายลับพม่าไม่ได้ทำงานในเขตประเทศพม่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่ง "สาย" ข้ามฝั่งมาทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศพม่า หน้าที่ของสายลับพม่า คือ การเก็บข้อมูลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาลทหาร
บก.สาละวินโพสต์
    วันที่ 3 พฤษภาคมนี้เป็นวันครบรอบหนึ่งปีหลังไซโคลนนาร์กีสถล่มภาคอิรวดีของพม่า  หนึ่งปีที่ล่วงผ่านมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกิดขึ้น  ซึ่งทำให้เราได้รู้จักและเข้าใจเพื่อนบ้านติดพรมแดนตะวันตกของเรามากขึ้น