Skip to main content

ในสังคมไทยปัจจุบันการทำงานของคนเน้นไปที่การแข่งขันกันทำงานเพื่อสะสมเงินไว้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเอง ตั้งแต่การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากท้องไปวันๆ การอดออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงเก็บหอมรอมริบไว้ทำทุนในอนาคต  หรือพูดง่ายๆก็คือ ทุกคนต้องสะสมทุกอย่างเพื่อตัวเอง   เพราะสังคมไทยไม่เหลือที่พึ่งให้มากนัก จะไปหยิบยืมจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงก็ยาก ชวนอับอาย   การกู้ยืมนอกระบบมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก็มีดอกเบี้ยสูง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต   เนื่องจากรัฐมิได้มีมาตรการประกันสังคมและโครงการรองรับคนตกอับมากพอ

คนไทยส่วนใหญ่ทำมาหากินแบบหาเช้ากินค่ำ ไม่มีที่ทำมาหากินเป็นหลักแหล่ง ไม่มีรายได้แน่นอน เช่น คนขับรถรับจ้าง ขายของข้างทาง เกษตรกร คนรับจ้างเหมา แรงงานอพยพไร้หลักแหล่ง หรือที่นักกฎหมาย/นักเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า “แรงงานนอกระบบ” คนเหล่านี้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม ชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยง ถ้าเมื่อไหร่ตกงาน ขาดรายได้ ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ สถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ  จะไม่มีอะไรมารองรับปัญหา ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง เพราะไม่ได้ทำงานในระบบ   บางคนแย้งว่าเขาก็ยังมีบัตรทอง แต่คิวก็ยาวมาก  และต้องไม่ลืมว่าสวัสดิการในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ให้กับคนไทยทุกคนไม่ว่าจะทำงานหรือไม่ทำงา เสมือนว่าคนทำงานไม่ได้รับการดูแลเหนือคนอื่นๆที่ไม่ได้ทำงานแต่อย่างใด

ส่วนแรงงานไทยกว่า 18 ล้านคนทำงานหนักในระบบ เขามีสวัสดิการจากระบบประกันสังคมโดยแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจ่ายเงินสมทบเข้าไปทุกเดือน พูดง่ายๆเข้าแบ่งเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเองสร้างสวัสดิการนี้ขึ้นมา แต่กลับต้องมาเจอบริการที่ไม่มีคุณภาพดีพอ ชวนให้สูญเสียกำลังใจในการทำงาน   บางคนทำงานมายี่สิบกว่าปี วันหนึ่งพบว่าเกิดโรคมะเร็งกับร่างกายก็อาจไม่ได้รับการรักษาที่ดี เพราะโรคนั้นอยู่รายชื่อที่ระบบให้ประกัน หนำซ้ำการเข้าคิวยังยาวนานจนอาจทนอาการต่อไปไม่ไหว  

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และระบบประกันสังคม ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ได้จัดการความเสี่ยงในชีวิตคนทำงานมากนัก ถึงมีก็อยู่ในลักษณะที่ไม่ทั่วถึง แออัด และตกหล่นอยู่มาก   ดังนั้นคนที่มีรายได้ดีจึงมองหาระบบประกันความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น การซื้อประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันรายได้ จนธุรกิจประกันภัยของเอกชนใหญ่โต เจ้าของธุรกิจร่ำรวย และมีทุนข้ามชาติเข้ามาถือหุ้นหากำไรกันสนุกสนาน

ถามว่าคนมีเงินจะสร้างความมั่นคงในชีวิตจัดการความเสี่ยงกันอย่างไร?

ตอบง่ายๆ คือ คนเก็งกำไร ก็ได้เงินจำนวนมาก เปลี่ยนมาเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน หรือซื้อประกันแทน รวมถึงการลงทุนในตราสารต่างๆ ที่มีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยหรือการปันผล เสมือนว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว

ส่วน คนที่ร่ำรวยมีอำนาจก็อาศัยการผูกขาด นั่งกินนอนกิน มีฐานะมั่งคั่งโดยอาศัยความมั่นคงทางกฎหมายที่พวกตนเข้าไปใช้กำลังภายในให้ได้ผูกขาด ทั้ง ธุรกิจตักตวงทรัพยากร หรือบริการขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องกินต้องใช้ แต่ตัวเองกลับได้หาประโยชน์สบายๆ มีคู่แข่งน้อยรายเท่านั้น   สามารถสะสมทรัพย์สินเงินทองได้มากมายจะซื้อหาสินค้าหรือบริการใดก็ง่ายๆ ไม่ต้องเป็นห่วงอะไร นอกจากพยายามรักษาอำนาจผูกขาดของตนไว้ให้ได้

สรุปได้ว่า ชนชั้นแรงงานต้องอยู่กับบริการคุณภาพต่ำ ความเสี่ยงในชีวิตมีสูง  แต่คนเก็งกำไรและผูกขาด กลับมีรายได้จากกฎหมายภาษีและการส่งเสริมตลาดทุนของรัฐ ทำให้นายทุน ผู้ผูกขาดธุรกิจและนักเก็งกำไร มีความสามารถในการสะสมทุนมาก และเอาผลกำไรที่ได้มาเป็นฐานสร้างความมั่นคงมากขึ้นเรื่อยๆ

จริงอยู่ที่ความร่ำรวยหรือมั่งคั่งเหล่านั้นเกิดจากความขยันและมันสมองกับสองมือของคนเหล่านั้น แต่เมื่อจบชีวิตไป ความมั่งคั่งก็กลายเป็น “ทุน” ที่ส่งต่อให้ลูกหลานรุ่นถัดไปมีมรดกเป็นทุนเหนือคนอื่นๆ มากเหลือเฟือจนบางคนไม่ต้องทำงาน หากทำงานก็สะดวกสบายเพราะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นเพราะก็ใช้ทรัพย์สิน การผูกขาด ไปเก็งกำไรต่อ และแน่นอนก็มีการเจียดเงินไปซื้อประกันรูปแบบต่างๆ ซึ่งสร้างความมั่นคงให้กับระบบประกันเอกชน

ระบบของรัฐไทย จึงสอนให้คน “เห็นแก่ตัว” เพราะไม่สร้างระบบสะสมร่วมกัน และมีข้อกังวลเรื่องการเอางบประมาณรวมมาใช้เพื่อประโยชน์คนเพียงบางกลุ่ม รวมถึงการคอรัปชั่น   นี่คือ อุปสรรคต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ

กลุ่มที่ถูกมองข้าม หรือคนไทยไม่เห็นหัว ก็คือ คนต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทย แม้แรงงานถูกกฎหมายจะอยู่ในระบบประกันสังคม แต่แรงงานส่วนใหญ่ที่อยู่ในสถานะผิดกฎหมาย เข้ามาทำงานแบบลักลอบ กลับไม่มีความมั่นคงในชีวิต ในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เขาเสี่ยงที่จะโดนไถหรือรังแกจากคนทั่วไปและเจ้าหน้าที่รัฐเพราะไม่กล้าแจ้งความเนื่องจะถูกคดีเข้าเมืองผิดกฎหมายแทน

ส่วนความเสี่ยงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจก็ไม่มีประกันสังคมรองรับ ซ้ำร้ายเงินที่แรงงานต่างด้าวพยายามเก็บสะสมไว้ก็อาจจะโดนแย่งชิงไปจากการรีดไถไปโดยนายจ้าง เจ้าหน้าที่รัฐ นายหน้า และไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่หมายถึงเจ้าหน้าที่ในบ้านเกิดตนด้วย   นี่คือ การทำนาบนหลังคนยุคโลกาภิวัฒน์

 

ทางเลือกแบบรัฐสวัสดิการแบบครอบคลุมทุกคนมี ข้อด้อย เรื่องการทำให้คนส่วนหนึ่งไม่หางาน ไม่แข่งขัน ไม่พัฒนาตนเอง รอรับสวัสดิการ

เช่นใน อังกฤษ พบปัญหาใหญ่คือ วัยรุ่นไม่เข้าเรียนหรือฝึกอบรม และไม่หางานทำ แต่กลับพยายามมีความสัมพันธ์ให้ตั้งท้องเพื่อเอาแฟลตและสวัสดิการ   กลายเป็นการสร้างหลักประกันที่ง่ายเกินไปทำให้ชีวิตและสังคมไร้การพัฒนา

ทางออกของอังกฤษจึงเป็นการพึ่งพาการดูดแรงงานต่างด้าวที่กระเสือกกระสนจ่ายเงินแพงๆเข้ามาเรียนและทำงานพิเศษสัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง   หรือคัดเลือกคนจากรัฐอาณานิคมเก่าซึ่งขยันขันแข็งและมีความรู้ความสามารถ เข้ามาผลิตรายได้แทน แล้วดูดภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อม ย้อนกลับมาสร้างรัฐสวัสดิการตอบสนองต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของคะแนนเสียง   จะเห็นว่ารัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เป็นเจ้าของคะแนนโหวตรู้ว่าจะโหวตเพื่อใคร โหวตเพื่อสร้างอะไร   ดังปรากฏนโยบายดูดผลผลิตจากคนอพยพมาป้อนประชาชนเจ้าของสัญชาติอย่างแยบคาย

นอกจากนี้การเมืองแบบชนชั้นที่สะท้อนการต่อสู้ผ่านการเลือกตั้งในยุโรปซึ่งเป็นต้นทางรัฐสวัสดิการสำเร็จ ก็เพราะได้ใช้อำนาจการเมืองปรับโครงสร้างภาษีบีบให้คนรวยจ่ายมากเพื่อเจือจานคนอื่นๆ   เนื่องจากมองว่าเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและทำกำไรจากการบริโภคของคนทั้งชาติ   คนทำงานก็ต้องเสียภาษีเยอะเช่นกันแต่ก็เสียภาษีเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตตนและสังคมเพื่อป้องกันปัญหาสังคม

ผู้ที่ผูกขาดปัจจัยการผลิต และสะสมทุนมาก ก็ถูกสกัดการสะสมทุนเพิ่มด้วยการ บังคับเก็บภาษีทรัพย์สิน และมรดก เยอะมาก  จนมีคนจำวนไม่น้อยยอมปล่อยสินทรัพย์เหล่านี้ให้กับรัฐ แทนที่จะต้องหาเงินสดมาจ่ายภาษีเพื่อให้ได้ครอบครองทรัพย์สินเหล่านั้น ทรัพย์สินเหล่านี้ก็กลายเป็นทุนให้รัฐเอาไปหารายได้กลับกลายมาเป็นฐานงบประมาณ  ส่วนปัญหาที่กลัวว่าจะมีการเอาภาษีไปใช้ตามอำเภอใจ และคอรัปชั่น ถูกแก้ไขด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตรวจสอบข้อมูลแบบทะลุทะลวง การทำให้พรรคการเมืองเป็นของมวลชน และการบีบให้พรรครับผิดชอบต่อประชาชน

ส่วนความกังวลที่ว่า คนรวยจะย้ายเงินออกนอกประเทศก็ถูกแก้ด้วยการดึงดูดคนไว้ จากการให้หลักประกันความปลอดภัยชีวิต ทรัพย์สิน แก่นายทุนทั่วโลก รวมถึงเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม

คำถามคือ ไทยสามารถทำได้หรือ?    ถ้าทำไม่ได้ มีทางเลือกใดอีกบ้าง?

 

สวัสดิการสำหรับคนทำงาน (Workfare) ที่ไม่คำนึงถึงสัญชาติ อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของแรงงานพลัดถิ่นจากทั่วดินแดนสุวรรณภูมิ และต้องการแก้ปัญหาคนที่ร่ำรวยโดยไม่ทำงาน และความเกียจคร้านได้อีกด้วย   เนื่องจากมุ่งสร้างสวัสดิการให้กับคนทำงานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนในสังคมพัฒนาตนเอง และขยันขันแข็งในการงาน   โดยรัฐอาจต้องปรับกฎหมายเกี่ยวกับสวัสดิการให้รองรับคนทำงานนอกระบบ/แรงงานต่างด้าว มากขึ้นด้วย

สวัสดิการแรงงานที่เป็นคนต่างด้าว จะเป็นเครื่องดึงดูดและรักษาแรงงานที่มีความสามารถในการผลิตเอาไว้ในประเทศไทย ไม่ให้ย้ายไปทำงานในประเทศอื่นในอนาคตอันใกล้ที่ฐานการผลิตย้ายไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์    โดยช่างฝีมือ หรือแรงงานฝีมือมักไหลออก จนทำให้ประเทศเหลือแต่วัยพึ่งพิง

ภาษีทรัพย์สิน และภาษีเก็งกำไร จะสามารถขจัดนักเก็งกำไร แล้วนำไปสู่การนำเงินและทรัพย์สินไปผลิต และลงทุนในภาคการผลิตที่แท้จริงมากขึ้น   มิใช่เต็มไปด้วยคนเล่นหวย เล่นหุ้น แต่ไร้ผู้ประกอบการ   โดยโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นได้ด้วยการขจัดการผูกขาดตลาดของรายใหญ่

เราสามารถเก็บภาษีกับผู้ผูกขาด และการกำกับตลาดมิให้บรรษัทหรือนายทุนผูกขาดเศรษฐกิจ   มิใช่การปล่อยให้บรรษัทจำนวนน้อยครอบครองกิจการทั้งลายไว้ใต้ร่มของไม่กี่บรรษัท  จนรวบเอาการหากำไรในกิจกรรมต่างๆในชีวิตคนทั้งสังคมไว้ในอุ้งมือตนจนมีอำนาจกำหนดชีวิต ตั้งแต่ การกิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การพักผ่อน การสื่อสาร บันเทิง   จนคนรุ่นใหม่ไม่มีช่องแทรกขึ้นมาทำมาหากินอย่างอิสระ แต่กลับต้องมาอยู่ใต้ร่มของบรรษัทอย่างเลี่ยงมิได้

การขจัดการผูกขาดเบ็ดเสร็จของบรรษัท จะส่งเสริมการแข่งขันเพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการให้หลากหลายและเติบโตนอกกระถางบอนไซของบรรษัทและนายทุนผูกขาด

การแข่งขันอย่างอิสระของผู้ผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ช่างฝีมือ นักวิจัยพัฒนา และนักคิด นักสร้างสรรค์ จะเพิ่มประสิทธิผลทางการผลิตในแง่ สิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ และการผลิตมวลรวมไม่สูญเสียไปแช่แข็งเทคโนโลยีของบรรษัทที่ต้องการผูกขาดตลาดด้วยสินค้ารุ่นเก่าของตน   เช่น   บรรษัทธุรกิจบันเทิงขนาดใหญ่รายเก่าไม่ยอมให้ศิลปินทางเลือกเติบโต เพราะจะทำให้บรรษัทใหญ่เสียประโยชน์ไป

ความหลากหลายของสินค้า บริการ และสิ่งสร้างสรรค์ จะนำไปสู่การบริโภคที่ขยายตัว เพราะนอกจากจะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังอาจขยายไปดึงดูดการบริโภคของคนในวัฒนธรรมอื่นด้วย เพราะการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบันเอื้อให้   ซึ่งจะทำให้รัฐที่ผู้ผลิตเหล่านั้นสังกัดจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

การเพิ่มรายได้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างระบบสวัสดิการรองรับคนที่ไม่สามารถทำงานได้เป็นเรื่องที่รัฐที่อยู่กับคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเหตุผลทางสิทธิมนุษยชน/มนุษยธรรม   แต่วิธีการทำให้สำเร็จต้องทำให้คนขยันและทำงานเพราะมี “รางวัล” ตอบแทนการทำงานและการยอมจ่ายสมทบทุน

การสร้างสวัสดิการคนทำงานจึงเป็น “รางวัล” ที่ต้องสร้างขึ้นเพื่อ “จูงใจ” ให้คนขยันทำงานมากขึ้น โดยไม่ตัดโอกาสการพัฒนาด้วยสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “สัญชาติ”

บล็อกของ ยาจกเร่ร่อน

ยาจกเร่ร่อน
ในสังคมไทยปัจจุบันการทำงานของคนเน้นไปที่การแข่งขันกันทำงานเพื่อสะสมเงินไว้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตัวเอง ตั้งแต่การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากท้องไปวันๆ การอดออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน รวมไปถึงเก็บหอมรอมริบไว้ทำทุนในอนาคต  หรือพูดง่ายๆก็คือ ทุกคนต้องสะสมทุกอย่างเพื่อตัวเอง   เพราะสังคมไทยไ
ยาจกเร่ร่อน
คนในโลกปัจจุบันเริ่มไม่รู้หน้า รู้หลัง ไม่รู้ว่าปัจจุบันกำลังทำอะไร เพื่ออะไร หรือควรจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตเพราะคุณค่า ความหมาย ในหัวที่ถูกกดดัน บีบคั้น เพราะสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา มันขัดแย้ง ยอกย้อนกันเอง มาตลอด
ยาจกเร่ร่อน
หลังๆ คงได้ยินคนบ่นว่า "เบื่อคนต่างด้าวที่เข้ามาแย่งงานคนไทย" หรือ "รำคาญนักท่องเที่ยวที่ทำอะไรตามใจตัวเอง" หรือที่เคยกระหึ่มเป็นพักๆ ก็คือ  "ต่อต้านบรรษัทข้ามชาติ"   เรื่องเหล่านี้ใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ
ยาจกเร่ร่อน
หากจะลองค้นหาดูว่าในสังคมไทยเรารักเทิดทูนบูชาอะไร เป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต อาจทำได้ด้วยการหาหลักฐานมาบอกว่าเราแสดงความรักกับอะไรมากที่สุด   มูลค่าและราคาของสิ่งที่เรารักจนยอมเสียเงินซื้อหามา น่าจะเป็น "ตัวชี้วัดที่ดี" ได้อย่างหนึ่ง  
ยาจกเร่ร่อน
สิ่งที่ยังยืนยันว่า คนจีนยังมีรากเหง้าอยู่ คือ พิธีไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษในช่วงตรุษจีน และเช็งเม้ง  แต่สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ความทรงจำของคนจีน ที่ผ่านคำบอกเล่าของบรรพบุรุษที่อพยพมากจากเมืองจีน
ยาจกเร่ร่อน
การชุมนุม เป็นเครื่องมือของใคร?หากยึดตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิในการชุมนุมเพื่อแสดงออกได้อย่างเสมอภาคกัน
ยาจกเร่ร่อน
แด่ พ่อแม่พี่น้องและเพื่อนที่เสนอให้ Respect your Tax ขอพูดง่ายๆ นะครับ สาเหตุที่ต้องเอาการเมืองเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง มาใช้ ก็เพื่อมาแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เพราะ  ต้นทุนในชีวิตของแต่ละคนในการเริ่มต้นมันไม่เท่า
ยาจกเร่ร่อน
แรงงานพลัดถิ่น คือใคร
ยาจกเร่ร่อน
ใคร คือ แรงงานอารมณ์?
ยาจกเร่ร่อน
แม่ครัว เด็กเสิร์ฟ หาบเร่แผงลอย ช่างนวด คนขับรถรับจ้าง แม่บ้าน คนทำความสะอาด ยาม เป็น "ตัวแทนสาขาอาชีพ" ได้ไหม?