Skip to main content

ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ได้จัดงานรำลึก ๑๕ ปีในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในบริเวณแถบอีสานใต้นี้ นับว่ามีปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐอยู่หลายโครงการ เอาแค่ใกล้ๆ ที่ฉันอยู่ มีปัญหาจากการสร้างเขื่อนอยู่สามโครงการคือ เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูน และเขื่อนราษีไศล


เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนที่สร้างในยุคที่สังคมยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนจากภาครัฐเข้ามาจึงทำให้ชาวบ้านไม่มีสิทธิ์เสียงที่จะคัดค้าน รวมถึงการถูกสั่งให้ย้ายบ้านไปอยู่ในพื้นที่กันดาร ทำไร่ทำนาไม่ได้ ค่าชดเชยที่ดินที่ถูกน้ำท่วมก็ได้มาเพียงไร่ละ ๒๐๐ บาท แม้ขมขื่น ไม่ยินดีต่อสิ่งเหล่านี้ แต่จะทำอย่างไรได้ นอกจากแอบจับกลุ่มคุยกันซึ่งก็ได้เพียงไม่เกินห้าคน สภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น ทำอะไรไม่ได้นี้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปลายปี 2537 เมื่อคนคนหนึ่งได้เข้ามาหาชาวบ้าน มาร่วมพูดคุยและเริ่มทำให้ชาวบ้านเห็นหนทางรำไรว่าจะแก้ไขให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไร จะต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมจากเหตุการณ์ที่ทำลายสภาพชีวิตครอบครัวนี้ได้อย่างไร


บุคคลคนนั้นได้ปลุกใจให้ชาวบ้านเห็นพลังชีวิตของตัวเอง เขาทำให้ชาวบ้านรู้ว่าคนตัวเล็กๆ นั้นสามารถที่จะต่อสู้กับอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมได้ แต่ว่าเราจะสู้เฉพาะพวกเราไม่ได้ เสียงของเรายังน้อยเกินไป ดังนั้น เราต้องรวมกลุ่ม กลุ่มของคนเดือดร้อนมีที่ไหนเราไปรวมที่นั่น เพื่อให้เกิดพลังที่ใหญ่ขึ้น และที่สุดกลุ่มใหญ่ของความเดือดร้อนที่เขาบอกก็ปรากฏให้เห็นในนาม "สมัชชาคนจน"


นันทโชติ ชัยรัตน์ หรือหัวหน้า ปุ๋ย ของชาวบ้านกลายเป็นบุคคลที่พี่น้องสิรินธรต้องจดจำไปจนชั่วชีวิตเมื่อได้พาชาวบ้านเข้าสู่ขบวนการต่อสู้ และ๑๕ ปีแห่งพลังแห่งศรัทธา ไม่มียอมแพ้ ไม่ท้อถอย ก็ได้มอบของขวัญให้พวกเขาด้วยการที่รัฐยอมจ่ายเงินชดเชยให้กับครอบครัวที่เดือดร้อนเป็นเงินจำนวนหนึ่งที่พอจะทำให้ตั้งหลักสร้างคุณภาพชีวิตกันใหม่ได้


แน่นอนว่าในสายตาคนมีอันจะกินมันช่างเป็นเงินน้อยนิด และในสายตาของคนที่รู้เรื่องกฎหมายดีโดยเฉพาะในโลกยุคแค่กล่าวหมิ่นประมาทก็โดนฟ้องร้องค่าเสียหายเป็นเงินหลักล้าน หรือปัญหาเมียน้อยเมียหลวงก็ยังฟ้องร้องเป็นเงินสิบล้านยี่สิบล้าน ดังนั้น คนที่ได้รับการเบียดเบียนชีวิตจนไม่รู้จะหาที่ซุกหัวนอนตรงไหนได้นั้น เงินเท่านี้ยังถือว่าน้อยไปด้วยซ้ำ


แต่ทว่า ในความเคยชินของคนที่อยู่กับระบบเจ้าขุนมูลนาย ไม่ว่าคนจนเหล่านี้จะได้รับเงินชดเชยไปจำนวนเท่าไหร่ ก็ล้วนไม่สบตา ไม่ถูกใจ สักที เพราะพวกเขาเคยชินกับการที่ชาวบ้านต้องนอบน้อม ชาวบ้านที่น่ารักต้องไม่หือไม่อือ ผู้ใหญ่ว่าไงก็ค่อยว่าตาม ให้อะไรก็ควรแสดงความดีใจที่ได้รับ ไม่ใช่การมาร้องแรกแหกกระเชออยู่หน้าทำเนียบ หน้าตารึก็กระดำกระด่าง ผิวพรรณรึก็หยาบกร้าน เท้าแตกตีนแตก เสื้อผ้าเหม็นเก่า ยังพยายามจะหาทางเจรจากับนายกฯ


ความรับไม่ได้ที่เห็นชาวบ้านเปลี่ยนไปเป็นแข็งกร้าว ทำให้พวกเขามักคิดว่าคนเหล่านี้ก้าวร้าว โดยที่ไม่ได้ดูที่มาที่ไปสักนิดว่าก่อนนี้พวกเขาถูกกระทำอย่างไร


และนั่นเอง ถึงทำให้การเรียกร้องความเป็นธรรมของคนรากหญ้าต้องใช้เวลายาวนาน (จนฉันคิดว่า มันน่าจะจ่ายค่าเสียเวลาให้ด้วยนะ ตั้ง ๑๕ ปี นี่ถ้าเป็นปัญญาชนหัวหมอในเมืองกรุงก็คงทำแบบนี้แล้ว)


เมื่อได้รับเงิน ชาวบ้านทุกคนต่างซาบซึ้งถึงคุณค่าเงินก้อนนี้ดีว่า กว่าจะได้มาต้องเหน็ดเหนื่อยเพียงไหน แต่แน่นอนว่า ภายใต้ความเหน็ดเหนื่อยนี้ ทุกคนก็ได้บทเรียนอันประเมินเป็นมูลค่าไม่ได้ มันมีค่ายิ่งกว่าเกียรติบัตรความรู้ระดับใดๆ ทั้งสิ้น เพราะมันมาจากประสบการณ์ตรงที่แม้คนจบด๊อกเตอร์มาก็อาจไม่เข้าใจ


ดังนั้น เพื่อไม่ให้บทเรียนชีวิตสูญเปล่าหรือว่าได้เงินมาแล้วก็แปลว่าการต่อสู้นั้นได้จบลง ชาวบ้านทั้งหมดจึงตกลงกันว่าเราจะยังคงรวมกลุ่มช่วยเหลือกันและกัน อีกทั้งจะทำงานกันต่อไปเผื่อมีปัญหาอื่นๆ อีกในวันข้างหน้า

"หัวหน้าปุ๋ยบอกว่า ถ้าเราได้รับการแก้ปัญหาแล้วเราก็ยังต้องรวมกันเพื่อสู้เหมือนเดิม เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่วันหน้าเค้าก็จะมาเอาเปรียบอีก"


พ่อ บุญมี คำเรือง หนึ่งในแกนนำสำคัญของชาวบ้านสิรินธรเล่าให้ถึงแนวคิดของหัวหน้าปุ๋ยที่อยากให้ทุกคนยังรวมตัวกันอยู่ และแน่นอนทุกคนล้วนเห็นด้วยและพร้อมจะสืบสานแนวคิดนี้


วันที่จัดงาน มีทั้งเวทีอภิปรายของชาวบ้านที่ได้สรุปบทเรียนการต่อสู้และก้าวต่อไปของชาวบ้านสิรินธร ซึ่งก็มีทั้งคำแนะนำในเรื่องการใช้เงินที่ได้มา โดยเฉพาะการเน้นให้ทำการเกษตรอินทรีย์ อย่าไปเป็นทาสของปุ๋ยเคมี หรือ ธกส. ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวจะกลายเป็นหนี้กันอีก


แน่นอนว่า เมื่อเอ่ยถึง ธกส. แล้ว วงนอกเวทียังคงคุยกันอย่างออกรสออกชาติว่าทำอย่างไรถึงจะทำให้ชาวบ้านหนีภัยจาก ธกส. ได้


ปัญหา ธกส. มีมาแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่จวบจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่น่าเชื่อเลยว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ซึ่งดูเหมือนว่าจะมาช่วยเหลือคนจนแต่สุดท้ายกลับกลายเป็นมีดที่คอยกรีดเฉือนเอาเนื้อคนจนไปกินทุกปี ทุกปี หลายคนหมดเนื้อหมดตัว ต้องยกที่ดินทำกินให้ธนาคารไป หลายคนก็ยังเป็นหนี้บานเบอะจนหัวหงอกหัวขาวก็ยังไม่รู้จะใช้หนี้อย่างไรหมด


อะไรจะช่างประสบความสำเร็จอย่างสูงปานนั้นหนอ ธกส.


งานรำลึก ๑๕ ปีการต่อสู้เขื่อนสิรินธร นอกจากเวทีการอภิปรายที่ยังคงเป็นประโยชน์ต่อคนฟังแล้ว ช่วงเย็นและกลางคืนยังคงมีดนตรีและหมอลำมาร้องรำทำเพลงท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายพอดี


เสียงพิณเสียงแคนเสียงร้องลำยังคงปลุกขวัญและเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านที่หากดูเพียงรูปลักษณ์ภายนอก เราก็อาจจะคิดด้วยความคุ้นเคยว่าพวกเขาเป็นเพียงพลเมืองชั้นล่าง ไม่ปราดเปรื่องดั่งคนมีความรู้ดี แต่หากได้ลองฟังพวกเขาพูด เปิดโอกาสให้พวกเขาได้พูด ก็จะรู้ว่าพวกเขามีปัญญา มีวิจารณญาณ และมีอารมณ์อันเยือกเย็น น่านับถือ


คนใช้ชีวิตมาปูนนี้ ย่อมรู้ได้ไม่แตกต่างจากพวกเราว่าอะไรคือดี อะไรคือถูกต้อง

 

 

บล็อกของ สร้อยแก้ว

สร้อยแก้ว
นุ่มนิ่มเหลือเกิน ลูกแม่เอ๋ย นานวัน เนื้อตัวเจ้าอวบอิ่ม กอดได้แน่นเต็มกอด หอมแก้มเจ้าได้แรงๆ เสียงหัวเราะคิกๆ คักๆ ยามแม่เอาหน้าซุกพุงนิ่ม หรือสีข้างซี่โครงน้อย เจ้าร้องลั่น หัวเราะกรี๊ดๆ จั๊กจี้จั๊กกะเดียม แม่รู้ความลับของเจ้าแล้วสิ ว่าเจ้าเองก็บ้าจี้เหมือนแม่ แต่ยิ่งเจ้าเบี่ยงตัวหนีคิกๆ แม่ก็ยิ่งอยากแกล้ง เพราะอยากยินเสียงคักๆ คิกๆ กรี๊ดกร๊าดๆ
สร้อยแก้ว
ถึง ลุงแสงดาว เช้าวันนี้แม่ตื่นตั้งแต่ยังไม่ถึงตีห้าดี แม่ย่องมาเปิดคอมพิวเตอร์ เปิดอินเตอร์เน็ต (ยามเช้าๆ เน็ตแม่จะเดินได้เร็ว คงเพราะเป็นเวลาที่ไม่ค่อยมีใครใช้งาน คลื่นอากาศเลยเดินทางได้คล่อง) แม่คงคิดว่าจะแอบทำงานตอนหนูหลับล่ะสิ เรื่องอะไร หนูจะยอมให้แม่สนุกอยู่คนเดียวล่ะ หนูไหวตัวทันหรอกน่า เลยกลิ้งซะสองรอบแล้วยันขายันแขนลุกนั่ง ร้อง อื้อๆ แม่ก็หันขวับทันที
สร้อยแก้ว
  ตาน้ำอายุครบ ๗ เดือนในวันนี้แล้ว ลูกมีภาษาของลูก และรู้วิธีสื่อสารกับแม่ ๐ ถ้าลูกเบื่อนอนเล่นหรือการนั่งอยู่กับที่ ลูกอยากให้แม่พาเดินเล่น ลูกจะเงยหน้าร้องอ้อนด้วยการทำเสียงฮือๆ หรือบางทีทำเสียงแงๆ แต่ว่าไม่มีน้ำตาหรอก ลูกแกล้งทำ พอแม่อุ้ม ลูกก็จะยิ้มร่า พร้อมกับตบบ่าแม่แปะๆ เมื่อไหร่ที่ลูกตบบ่าแม่แปะๆ นั่นแปลว่า ไป ไป เหมือนว่าแม่เป็นม้างั้นเหอะ ตบก้นแล้วไปได้
สร้อยแก้ว
  ตาน้ำ ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นเองที่แม่หลบมารดน้ำให้หัวใจ รินลมหายใจแผ่วๆ ช้าๆ ตาน้ำ ช่วงเวลาสั้นๆ เท่านี้เอง แต่มันทำให้แม่มีความสุข เพราะแม่สงบ ปลอดโปร่ง
สร้อยแก้ว
ตาน้ำ ยามเมื่อลูกนอนหลับ สิ่งที่แม่อยากทำที่สุดคืออะไรนะ เขียนหนังสือ, นอน, อยู่เฉยๆ ว่างๆ เพราะการเลี้ยงลูกเองมันเหนื่อยใช่เล่นเหมือนที่ใครหลายคนว่า แทบไม่ได้หายใจหายคอ ทั้งที่ยามลูกตื่นเราก็เล่นสนุกด้วยกัน มีความสุขเมื่อลูกอยู่ในอ้อมกอด ขำบ้าง ดุบ้างยามลูกยื้อแย่งจะเอาทุกอย่างในมือแม่
สร้อยแก้ว
  ตาน้ำ ลูกรู้สึกอย่างไรบ้างไหมขณะที่ลูกบินอยู่บนฟ้า ตาน้ำ ลูกดูดนมแม่แล้วหลับปุ๋ยขณะแม่กอดลูกไว้แนบอก แม่เหม่อมองท้องฟ้า เห็นเพียงปุยเมฆขาวฟูฟ่อง บนฟ้าช่างเวิ้งว้าง บ่อยครั้งที่แม่ไม่มั่นใจเลยว่าแม่จะเป็นแม่ที่ดีไหม แม่จะเลี้ยงลูกได้คู่ควรหรือไม่ แม่รู้สึกว่าแม่ต่ำต้อยเสมอเมื่อนึกถึงความไว้วางใจจากสวรรค์ให้ดูแลบุตรีน้อยๆ คนนี้
สร้อยแก้ว
    ตาน้ำ แม่เพิ่งรู้ว่า ยามลมพายุพัดระหว่างมีบ้านอยู่กลางหุบเขากับที่ราบโล่ง เสียงสายลมจะหวีดดังไม่เหมือนกัน
สร้อยแก้ว
แต่ก่อนฉันเคยใฝ่ฝันกับการมีบ้านมานาน แต่จนแล้วจนรอดก็มักจะรู้สึกว่ายังไม่ใช่เวลานั้น มันยังไม่ถึงเวลา ฉันยังอยากเดินทางท่องไปอยู่ ยังอยากพบเจออะไรใหม่ๆ อยู่ ดังนั้น หลายครั้งหลายหนเมื่อพบเจอปลอกหมอน ฟูกนอนพื้นบ้าน ผ้าพื้นเมืองลายคลาสสิก แก้ว จาน ชาม เซรามิกที่ถูกใจก็มักจะซื้อเก็บไว้ แต่ก็ไม่ค่อยได้นำเอาออกมาใช้
สร้อยแก้ว
  ฉันได้แต่อมยิ้มเมื่อได้ยินเสียงดุๆ ของคนขายของชำที่มีต่อเด็กหญิงตัวเล็กๆ คะเนอายุเธอน่าจะประมาณสามขวบคนขายของถามเด็กหญิงว่า "เอาอะไร"เด็กหญิงตอบอ้อมแอ้ม น้ำเสียงลังเล "เอา...เอา... เอานม!"
สร้อยแก้ว
ช่วงปิดเทอม ดาวใจกับไพจิตรได้เข้ามาที่ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านเกือบทุกวันเพราะพ่อแม่ของเธอมารับจ้างสับมัน (มันสำปะหลัง) กับสหกรณ์ปากมูล (สหกรณ์ปากมูลและศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านอยู่ติดกัน) บางครั้งดาวใจก็รับจ้างด้วย เพราะเธอโตแล้ว อายุสิบสี่ปีกว่า เธอทำงานแบบนี้ได้สบายมาก ส่วนไพจิตรยังคงเป็นเด็กหญิงซนๆ วิ่งไปวิ่งมา ทำงานตามแต่คำบัญชาการของพ่อแม่