Skip to main content

 สมยศ พฤกษาเกษมสุข

 
 
โลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วิกฤติจากประเทศหนึ่งลุกลามขยายตัวไปทุกส่วนของโลก จากศูนย์กลางทุนนิยมโลกอเมริกาถึงยุโรป ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง บรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจึงต้องเตรียมความพร้อมกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
 
ประเทศไทยพึ่งพิงการค้าการลงทุนระหว่างประเทศย่อมต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จะเห็นได้ว่าในปี 2555 การส่งออกขยายตัวเพียง 12.8% และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3-5% ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน
 
อีก 3 ปีข้างหน้า (2558) ประเทศในอาเซียน รวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) แต่ละประเทศในภูมิภาคนี้จึงเตรียมความพร้อมที่จะช่วงชิงโอกาสของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอีก 3 ปีข้างหน้า เพราะจะมีฐานการผลิตและการตลาดเป็นหนึ่งเดียวกัน รวมทั้งการเคลื่อนย้ายการค้าการลงทุนอย่างเสรีไร้ขีดจำกัด
 
พม่าสามารถปรับตนเองอย่างรวดเร็วด้วยการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง เช่น การปล่อยตัวนักโทษการเมือง การยอมให้มีเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น ส่วนลาว-กัมพูชา มีรัฐบาลมั่นคง กำลังปรับปรุงระเบียบแบบแผนระบบราชการให้พร้อมกับการขยายตัวของการค้าการลงทุน
 
ในขณะที่ประเทศไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งจนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จัดให้ไทยเรามีขนาดของจีดีพี สูงเป็นอันดับที่ 21 ในบรรดา 179 ประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะเคยมีวิกฤติการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 แต่ก็สามารถฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว
 
แต่ทว่าหลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ความรุนแรงและความผันผวนทางการเมือง รัฐบาลที่อ่อนแอ-อายุสั้น การบริหารประเทศด้วยระบอบอำมาตย์เฒ่า การสนับสนุนนักการเมืองเมื่อวานซืน ที่ใช้แต่ฝีปากกับฝีตีนมากกว่าใช้ฝีมือ ใช้กำลังทหารเข่นฆ่าประชาชนอย่างป่าเถื่อน นักการเมืองและข้าราชการสอพลอโกงกินรับตำแหน่งต่างตอบแทน ทำให้การบริหารงานราชการแผ่นดินเหลวแหลกเละเทะ
การทุจริตคอรัปชั่นแพร่ระบาดอย่างหนัก นักธุรกิจต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ-นักการเมืองที่คดโกง เป็นจำนวน 30-35% ของงบรายจ่ายและการลงทุน คิดเป็นมูลค่าสูงถึงกว่า 300,000 ล้านบาท จากงบรายจ่ายปี 2555 จำนวน 840,143.2 ล้านบาท
 
กลไกการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นสตง. หรือปปช. มิได้มีการปราบปรามกวาดล้างอย่างจริงจังเด็ดขาด แต่กลับทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ทำให้การทุจริตคอรัปชั่น เป็นมะเร็งร้ายในระบบเศรษฐกิจ
 
อุทกภัยน้ำท่วมเมื่อ ปี2554  รัฐบาลทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการชดเชยเยียวยาประชาชน แต่ทว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ทำให้การเยียวยาประชาชนในเขตพื้นที่น้ำท่วม กลายเป็นประเด็นทางการเมือง จนทำให้การจ่ายเงินเยียวยาบานปลาย กลายเป็นกระแสความไม่พอใจของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
 
ความอ่อนหัดในการบริหารจัดการด้านพลังงานแทนที่จะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้น้ำมันราคาถูกลง เพื่อลดต้นทุนการผลิตขนส่งภาคเกษตร แต่รัฐบาลกลับลดเก็บเงินเข้ากองทุนราคาน้ำมันในส่วนของเบนซิน ทำให้กองทุนขาดรายได้เดือนละ 7,000 ล้านบาท ในที่สุดเมื่อกองทุนน้ำมันขาดสภาพคล่อง จึงไม่สามารถพยุงราคาแก๊สแอลพีจีได้อีกต่อไป ต้องประกาศลอยตัวราคาตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะส่งผลให้มีการขึ้นราคาจากกิโลกรัมละ 18 บาท เป็น 24 บาท หรือแอลพีจีขนาด 13.5 กิโลกรัม ถังละ 250 บาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 350 บาท จะทำให้ค่าครองชีพด้านอาหารมีราคาแพงขึ้น
 
เรื่องน่ายินดีทางด้านเศรษฐกิจก็คือรัฐบาลเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300บาท หรือเพิ่มขึ้น 40% สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นการรักษาอำนาจซื้อของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือประสิทธิภาพการผลิตยังเพิ่มได้ไม่มากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงใช้แรงงานไร้ฝีมือเสียมากกว่า และในส่วนนี้หันกลับไปจ้างงานแรงงานต่างด้าว แทนที่แรงงานไทย ส่วนแรงงานที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหางานทำไม่ได้ เป็นจำนวน 152,000 คน คิดเป็น 42.33% ของจำนวนผู้ว่างงาน ซึ่งหมายถึงการสูญเสียทางด้านการศึกษา ที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน
 
ส่วนภาคเกษตรก็ต้องพบกับภัยธรรมชาติ ความผันผวนของราคาพืชผลการเกษตร งบประมาณของรัฐได้ทุ่มเทเพื่อแทรกแซงกลไกการตลาด ด้วยการรับจำนำข้าวจะช่วยให้เกษตรกรรักษาระดับรายได้ การรับจำนำข้าวจะทำให้รัฐต้องใช้เงินงบประมาณปีละ 500,000 ล้านบาท หากการบริหารจัดการหละหลวม จะเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย
 
ปัญหาพื้นฐานภาคเกษตรมีมาช้านานแล้ว คือปัญหาการถือครองที่ดินทำกิน ชาวนาทั่วประเทศเช่านาสูงถึง 75% อีกทั้งประสิทธิภาพการผลิตต่ำ กล่าวคือชาวนาไทยปลูกข้าวตามยถากรรมได้ 448 กิโลต่อไร่ ส่วนเวียดนามปลูกข้าวได้ 862.4 กิโลต่อไร่ สูงกว่าไทย 2 เท่า
การทุ่มงบประมาณในโครงการประชานิยม ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ประกอบด้วย อาทิเช่น การใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต การปฏิรูปที่ดิน การส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรสร้างอำนาจการตลาดด้วยตนเอง
 
การหลับหูหลับตาโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จะทำให้ทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตรของไทยกลับหัวกลับหาง งบประมาณจำนวนมากถูกนำมาใช้ภายใต้ชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง” แบบผักชีโรยหน้า ก่อให้เกิดการสูญเปล่างบประมาณด้านการพัฒนาการเกษตร ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก
 
ยังมีโครงการขนาดยักษ์หรือเมกะโปรเจกต์จำนวนมากที่ไปไม่ถึงไหน อืดอาด ทั้งในเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ การสร้างทางรถไฟรางคู่ และรถไฟความไวสูง เมื่อเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งกำลังลงทุนก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนของประเทศไทยยังทะเลาะกันไม่จบ จนไม่มีเวลาพัฒนาโครงการขนาดยักษ์ให้สำเร็จลุล่วงไปได้
 
การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้คงไม่สดใสเท่าใดนัก อีกทั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการกระจายรายได้แย่ที่สุด คือมีช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวย ห่างกัน 15 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งมีช่องว่างอยู่ราว 10 เท่า
 
ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจ-สังคมพบว่า ครัวเรือนมีหนี้สินคิดเป็น 56.9% ของประชากรทั้งหมด โดยมีหนี้เฉลี่ย 136,562 บาทต่อครัวเรือน
 
รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพื่อผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ด้วยการออกพรบ.กู้เงินทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น จาก 42% เป็น 50% ของจีดีพีในปี 2556 หากเศรษฐกิจหดตัว การจัดเก็บภาษีไม่บรรลุเป้าหมาย จะนำมาซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่อฐานะการคลังของประเทศได้
 
โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะตกต่ำถึงขั้นล่มสลายมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงทีเดียว เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางการเมือง อันได้แก่การรัฐประหาร ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน ระบบตุลาการขาดความเป็นกลาง ไม่มีความน่าเชื่อถือ ภายใต้กฎหมายที่ล้าหลัง ศาลเป็นเครื่องมือทางการเมืองและการละเมิดสิทธิเสรีภาพ การจับกุมคุมขังนักโทษการเมือง การใช้มาตรา 112 ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง นำมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ดังเช่น ความขัดแย้งระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขยายขอบเขตอำนาจไปก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร และการยกเลิกโครงการนาซ่าสำรวจอากาศ เป็นต้น
 
ปัจจัยเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจะกลายเป็นระเบิดเวลา ทำลายล้างสังคมไทย โอกาสแห่งความฉิบหายทั้งหลายทั้งปวง กำลังใกล้เข้ามาถึงอยู่ในเร็ววันนี้

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง