Skip to main content

9 ธันวาคม 2556 - 24 มกราคม 2557

สวัสดีค่ะพี่สมยศ

จดหมายนี้เริ่มลงมือเขียนตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เมื่อทราบข่าวว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา เล็กก็คิดถึงพี่สมยศจับใจ คิดถึงความเสียสละของพี่และของหลายๆ คนเพื่อร่วมขับเคลื่อนกงล้อประชาธิปไตยและเสรีภาพให้หมุนวนไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยความหวังว่าจะมีรัฐบาลที่ตระหนักในความเสียสละของประชาชน และมุ่งมั่นเดินหน้าประเทศไทยด้วยความเคารพประชาชนอย่างแท้จริง

แต่เอาเข้าจริง การดำเนินงานของพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ก็เป็นไปในทิศทางที่ประนีประนอมกับขั้วอำนาจชนชั้นสูง และดูเผิกเฉยต่อความเจ็บปวดที่แนวร่วมต้องทนแบกรับอยู่ในคุกเกินกว่าความคาดหวังของพวกเรา ... และแทบไม่จำเป็นต้องเอ่ยถึงความชัดเจนมากทางท่าทีของรัฐบาลเพื่อไทยที่หลีกเลี่ยงและไม่แตะเรื่องมาตรา 112 และนักโทษการเมืองจากกฎหมายมาตรา 112 มิใยว่ามันจะเป็นประเด็นปัญหาหลักที่มีการเรียกร้องจากหลายภาคส่วนทั้งในประเทศไทยและจากนานาชาติ ให้รัฐบาลเพื่อไทยต้องรีบแก้ไขก็ตาม

และการยุบสภาก็ไม่ทำให้ปัญหายุติ การเมืองไทยเราก็เข้าสู่ยุคแห่งความอกสั่นขวัญหายกันอีกรอบ ... และผู้คนมากมายก็มาช่วยกันแสดงออกทางการเมื่อเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์มันซ้ำรอยปี 2519 2535 หรือ2549

ไม่มีอะไรสำคัญที่สุดเท่าการสู้เพื่อเสรีภาพ
และตระหนักว่าเมื่อรักเสรีภาพ ก็จะเคารพเสรีภาพคนอื่นให้ได้มากที่สุด

อึม ... อีม ...อ่า ... ต้องขอโทษจริงๆ นะฮะ ที่จดหมายฉบับนี้ต้องเขียนค้างคาและอยู่ในความคิดคำนึงร่วม 2 เดือน และส่งมาไม่ทันวันครบรอบ 1 ปีของการตัดสินคดีพี่เช่นที่ตั้งใจ ทั้งนี้เพราะมันถูกความเร่งด่วนหลายเรื่องราวให้ต้องวางไว้ก่อน ...

ไม่ใช่เพราะไม่เห็นความสำคัญของพี่ ที่จนบัดนี้ก็ยากจะทำใจเชื่อว่าพี่ต้องทุกข์ทรมานในคุกเมืองไทยเกือบจะสามปีแล้ว และแม้ว่าพี่จะมีคุณูปการกับประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการประกาศสู้เพื่อความยุติธรรม แม้ตัวเองจะต้องถูกจองจำ ... เพื่อเปิดให้คนที่มีสามัญสำนึกในประเทศไทยและนานาชาติ ได้เห็นความอัปยศและน่าอดสูของกระบวนการยุติธรรมของไทย ... แต่สิ่งที่พี่ต้องเผชิญ และต้องทนทุกข์ก็เป็นโศกนาฎกรรมแห่งชีวิตในกรงขังเสรีภาพในดินแดนที่ชื่อว่าไทย ที่ควรจะหมาย "อิสรภาพ" เช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่ยากจะทนเห็นโดยไม่รู้สึกเจ็บปวดร่วมไปด้วยได้

ด้วยที่ความร้าวรานที่ทุกคน(พี่และครอบครัว) ที่ถูกตีกระหน่ำจากความอยุติธรรมของไทยมันหนักหนาสาหัสจริง การจะเขียนจดหมายถึงพี่จึงต้องจริงจัง และเขียนด้วยความเคารพในอุดมการณ์และความมุ่งมั่นของพี่ ...

มันก็เลยต้องเขียนในช่วงเวลาที่พร้อมและใจที่ไม่พะว้าพะวังกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยในสภาพความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบัน และในความเร่งด่วนเฉพาะหน้า ... โดยเฉพาะที่นับตั้งแต่กันยายน 2556 จนบัดนี้เล็กแทบไม่ได้พักเหมือนกัน เพราะต้องร่วมต่อสู้และทำข้อมูลเพื่อการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยที่ถูกค้าความฝันมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ จนต้องประสบกับชะตากรรมที่ยากลำบากในต่างแดน และถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หลายด้าน ... และ...และในสภาพชีวิตคนร่อนเร่ไร้ที่อยู่อาศัยของตัวเล็กเองนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ก็ทำให้เวลาและสมาธิถูกทำให้ขาดตอนไปกับการเคลื่อนย้ายและติดขัดเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือ ... มันก็เลยทำให้เล็กไม่สามารถจดจ่อกับจดหมายนี้จนจบได้ในการเขียนคราวเดียว ... ขอโทษด้วยจริงๆ อีกครั้ง นะฮะพี่

แต่การเขียนจดหมายฉบับนี้ค้างคา ก็เป็นเรื่องดีเหมือนกันนะฮะ เพราะมันทำได้กลายเป็นพันธนาการทางความคิดและความรู้สึกที่ทำให้เล็กเฝ้าหวนคิดถึงพี่อย่างรุนแรงมากกว่าเดิม และก็เฝ้าคิดถึงพันธสัญญาที่จะต้องเขียนจดหมายถึงพี่ฉบับนี้ให้เสร็จให้จงได้ 

แน่นอนมันเป็นเรื่องที่ไม่น่ารื่นรมย์นัก ไม่ว่าจะเป็นพี่หรือเล็ก แม้ต่างก็ตระหนักและเตรียมใจเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมของเมืองไทยพอสมควร เมื่อเลือกเส้นทางชีวิตเพื่อทำงานต่อสู้กับคนใช้แรงงาน เพื่อความยุติธรรมและความเป็นธรรมในสังคมประชาธิปไตยประชาชน ในสภาวะการเมืองที่ "อุดมการณ์ถูกท้าทายด้วยสติปัญญาและการตรวจสอบจากสังคม" 

มันเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ ที่เห็นการเข้าไปสนับสนุนขบวนการรอยัลลิสต์ ที่ยังไม่ยอมเลิกลา นับตั้งแต่ปี 2548 ของขบวนการสหภาพแรงงานต่างๆ ทั้ง สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มสหภาพแรงงานยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสภาแรงงานต่างๆ 

การเลือกข้างการเมืองที่ยืนอยู่บนจุดยืนที่ผิดของขบวนการสหภาพแรงงาน โดยไม่ใส่ใจที่จะใช้พลังการจัดตั้งที่มี เพื่อเปิดพื้นที่เสรีภาพและการเสมอภาคของประชาชนในสังคมไทยอย่างเท่าเทียม เป็นพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ "สหภาพแรงงานสากล" ที่มันควรจะเป็น ... และเขาเหล่านั้นก็เป็นนักสหภาพแรงงาน หรือผู้คนที่ทั้งพี่สมยศและเล็กต่างก็รู้จักและทำงานมาด้วยนับสองทศวรรษ

เมื่อเห็นขบวนการแรงงานยังไม่ยอมเปิดตาเปิดใจดูความจริง  ก็เข้าใจว่าทำไมพี่ผันตัวออกมาจากขบวนการแรงงานและมาทำงานรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย

เมื่อทนไม่ได้ จนต้องออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและประท้วงรัฐประหารในปี 2549 เล็กเองก็ได้กลายเป็นอีกคนที่ตั้งคำถามกับขบวนการแรงงานไทย และออกมาสู้บนถนนสายประชาธิปไตยประชาชนเช่นเดียวกับพี่สมยศ

และในช่วงเวลานี้ เล็กก็ตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า การที่พี่อยู่ในคุก และเล็กแม้ไม่อยู่ในคุกก็ต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ จนทำให้เราทั้งสองคนก็ไม่สามารถทำงานขับเคลื่อนบนท้องถนน ในห้องประชุม หรือกลางลานหมู่บ้านได้ดังเดิมนั้น ถือเป็นการเสียเวลาหรือไม่?

หลายคนพยายามบอกกับเล็กว่า "ถ้าคุณอยู่เมืองไทยคุณคงจะทำอะไรได้มาก" เล็กก็มักจะถามกลับไปว่า เราจะทำอะไรได้มากแค่ไหน ถ้าการอยู่ในประเทศไทย ต้องปิดปากตัวเอง และทนอยู่กับผู้คนในสภาพที่ไม่สามารถพูดความจริง หรือแสดงออกซึ่งความรู้สึกอย่างแท้จริงได้ ... เล็กจะทนอยู่ในสังคมที่ผู้คนถูกความกลัวมอบเมาจนทำให้เชื่อว่านั่นคือความรักได้อย่างไรโดยไม่รู้สึกคับข้องใจ?

เวลามันดูว่าจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว จะสามปีแล้วที่พี่ต้องอยู่ในคุก แต่ความอึดอัดทางการเมืองไทยก็ดูจะไม่ขยับเคลื่อนตัว ...

เรายังต้องอยู่ในความรู้สึกคับแค้นที่เห็นประเทศชาติต้องตกอยู่ในสภาวะวุ่นวายและไร้เสถียรภาพมาต่อเนื่องยาวนาน ...

ในการต้องเป็นประจักษ์พยานแห่งความโหดร้ายที่เพื่อนพี่น้องแรงงานต้องถูกกระทำย่ำยีทั้งในเมืองไทยและในต่างแดน แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากเพราะกลไกแทบทุกอย่างในประเทศไทย ไม่สามารถตอบสนองปัญหามากมายของคนชั้นล่าง และถูกมัดมือให้ตอบสนองอำนาจเบื้องบนเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อย ...

และในความพยายามที่จะอดทนอดกลั้นและรอคอยวันเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน เพื่อว่าจะได้เห็นความชัดเจนแห่งทิศทางประเทศไทยกันได้มากกว่าในยามตีสี่ที่ยังมืดมิดเช่นนี้ ...  เป็นสภาวะที่น่าอึดอัดและชวนให้ถอดใจไม่ใช่น้อย

แต่เพราะพี่ยืนหยัด ก็ทำให้เล็กต้องกัดฟันอยู่เสมอในยามเผชิญกับความลำบากและยุ่งยากกับชีวิตในต่างแดน ให้สามารถทำใจได้ว่า เราอยู่ในช่วงยามแห่งการต่อสู้เพื่ออนาคตของประเทศไทย

ต้องขอโทษอีกครั้งจริงๆ ที่ไม่ได้เขียนจดหมายถึงพี่บ่อยเช่นที่ใจนึก แต่ขอให้พี่ทราบว่า เล็กระลึกถึงพี่เสมอ และที่ยืนหยัดมาได้ 3 ปี ในสภาพชีวิตต่างแดนที่ไม่ได้สุขสบายและขัดสนเช่นนี้ได้ ก็เพราะรู้ว่าพี่ต้องสู้อยู่ในสภาพใดที่เมืองไทย

เล็กสู้อย่างมีความหวัง ไม่ว่าจะอีกนานแค่ใด และก็เชื่อว่าประเทศไทยไม่อาจทานพลังความต้องการของคนในประเทศที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่เคารพในสิทธิความเสมอภาคของพลเมืองทุกคนว่าเท่ากัน ที่เปิดพื้นที่เสรีภาพเท่าที่ประเทศอารยะชนจะพึ่งให้กับประชาชน และมีภราดรภาพที่ไร้ชนชั้น

ขอส่งกำลังใจมาให้พี่สมยศค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้พี่เผชิญหน้า ทั้งกับความร้อนที่แผดเผาของห้องขัง และความหนาวเหน็บไปกับความด้านชาของหัวใจผู้คน และเล็กมั่นใจว่าพี่ไม่โดดเดี่ยวและอบอุ่นไปด้วยมิตรภาพและความรักที่ผู้เข้าใจนำไปมอบให้ไม่ขาดสาย ... ท้ายที่สุดนี้ ขอให้พี่อดทนและผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากได้อย่างสง่างาม

               

 

รักและนับถือ

เล็ก จรรยา ยิ้มประเสริฐ

 

บล็อกของ สมยศ พฤกษาเกษมสุข

สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข  
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ  พฤกษาเกษมสุข แปลบทความในThe  Economist  เรื่องของ ลักษมี  ซีกัล  (ร้อยเอกลักษมี) หมอ และนักต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ที่ได้ มรณกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม  (อายุ  97  ปี) 
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
  "บรรดาคนเป็น  ที่มีชีวิตอยู่ได้แต่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ไต่เต้าสู่ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์  ในที่สุดพวกเขาเป็นได้แค่ลิ่วล้อสถุลของระบบการเมืองแบบเก่าเท่านั้น"
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บทกวีที่หลุดรอดจากลูกกรงแดนตารางถึงเหยื่อมาตรา112ผู้จากไป
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
บี.เจ.ลี (B.J.LEE) ถอดความภาษาไทยโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข แปลจากนิตยสาร Newsweek 6 สิงหาคม, 2012   
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข    
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
เมื่อแกนนำคนเสื้อแดง บรรณาธิการนิตยสาร Red Powerและนักโทษการเมือง ม.112 มองทิศทางเศรษฐกิจประเทศไทยผ่านลูกกรงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
สมยศ พฤกษาเกษมสุข
สมยศ พฤกษาเกษมสุข เล่าถึงชีวิตในเรือนจำของเพื่อนร่วมชะตากรรม สุชาติ นาคบางไซ  แกนนำ นปช.รุ่น 2 นักโทษการเมืองคดี ม.112 กำลังรออิสรภาพที่ดูเหมือนว่ามันกำลังใกล้ที่จะมาถึง