Skip to main content

วิกฤตการเมืองการปกครองไทยในหลากหลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วง 4-5 ปีหลัง   ประเด็นทางกฎหมายที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนนั้นมุ่งตรงมาที่ “การใช้อำนาจอธิปไตยในการวินิจฉัยชี้ขาดของศาล”   เนื่องจากการทำหน้าที่ของศาลนับแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ได้อยู่ในความสนใจของสังคมเป็นอย่างยิ่ง   คำพิพากษาของศาลได้ส่งผลกระทบต่อความขัดแย้งการเมืองการปกครองโดยตรง   จนมีมวลชนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยต่อการทำหน้าที่ของศาลทั้งในแง่เนื้อหารสาระที่เป็นผลของคำพิพากษา 

แต่ประเด็นที่หลบซ่อนของปัญหาทางกฎหมายนี้ คือ วิธีการให้เหตุผลทางกฎหมายหรือตีความกฎหมายของศาลไทยใช้ระบบใดกันแน่   คำถามนี้หากจะตอบให้เห็นพลวัตรจำต้องย้อนไปดูที่ระบบกฎหมายที่สร้างขึ้นมาของสังคมไทย รวมถึงกระบวนการต่างๆที่รายล้อมศาล นั้นก็คือ ระบบกฎหมายไทย และนิติวิธีของกฎหมายไทย นั่นเอง

อะไรทำให้ระบบกฎหมายแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน?

ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณาคือมีระบบกฎหมายใดบ้างที่ใช้กันอยู่ในโลกนี้

ระบบกฎหมายสากลแบ่งระบบกฎหมายออกเป็น 2 ระบบใหญ่ คือ  

1) ระบบกฎหมายจารีตประเพณี COMMON LAW  

2) ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร CIVIL LAW

ที่มาทางประวัติศาสตร์ของกฎหมายสองระบบนี้มีความแตกต่างกัน   อันเป็นเหตุให้เกิดแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายที่แตกต่างกันไปด้วย   นิติวิธีก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย

คำถามที่เกิด คือ เราเอาวิธีคิดของระบบ CIVIL&COMMON มาใช้ปนกันได้หรือไม่?

ซึ่งคำถามนี้เองจะนำมาใช้ตอบคำถามที่ว่าศาลไทยใช้เหตุผลและตีความกฎหมายอย่างไร

ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าวได้ต้องแบ่งแยกให้ชัดเจนก่อนว่าระบบกฎหมายทั้งสองมีระบบนิติวิธีของตนอย่างไรบ้าง

 

ระบบกฎหมายจารีตประเพณี COMMON LAW   

มีลักษณะนิติวิธีหลักๆดังต่อไปนี้

•                   ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากการพัฒนากฎหมายจากนำ สามัญสำนึก ของ สามัญชน (COMMON SENSE of COMMON PEOPLE) มาปรับใช้ในวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท เนื่องจากมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ระหว่างชนชั้นเจ้ากับสามัญชน จนแสดงออกมาในการส่งสามัญชนเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งวินิจฉัยคดี และสร้างกฎหมาย

•                   ในศาลจึงมีลูกขุนตัดสินข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่ผิด ควรชดใช้เยียวยาอย่างไร สำหรับกรณีใหม่ที่ไม่เคยมีแนวบรรทัดฐานที่จะนำมาปรับใช้ได้ หรือข้อเท็จจริงจำต้องใช้สามัญชนมาวัดสามัญสำนึกของคู่ความในกรณีนั้นๆ

•                   ผู้พิพากษามีบทบาทสำคัญในการวางแนวบรรทัดฐานโดยการสกัดหลักจากคำพิพากษา

•                   สารัตถะของกฎหมายจึงมีที่มาจากการสั่งสมแนวบรรทัดฐานจากคำพิพากษาในอดีต

•                   หากมีข้อพิพาทสงสัยในการตีความกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริง จึงมักใช้วิธีการย้อนกลับไปดูแนวบรรทัดฐานที่คำพิพากษาเก่าที่เคยวางไว้

•                   การเรียนกฎหมายจึงใช้วิธีการศึกษาคำพิพากษาของศาล เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา ฯลฯ

•                   กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภามีหรือไม่ – มีรัฐสภาออกกฎหมายเรื่องใหม่ๆ   แต่หากกฎหมายใหม่มีลักษณะขัดหรือแย้งกับแนวบรรทัดฐานเดิมที่ฝ่ายตุลาการวางไว้ ศาลอาจตีความจนทำให้กฎหมายบัญญัติเหล่านั้นเสียไปได้ตามหลัก Golden Rule เพื่อคงแนวบรรทัดฐานไว้

•                   ศาลจึงตีความกฎหมายตามแนวบรรทัดฐานที่เคยวางเอาไว้

•                   การอุดช่องโหว่ของกฎหมายทำโดยแนวบรรทัดฐานที่สร้างมาโดยศาล

•                   ประชาชนรู้สิทธิ หรือพอจะคาดเดาคำตัดสินได้หรือไม่? – อาจได้หากมีสามัญสำนึกสอดคล้องกับสามัญชนส่วนใหญ่ของรัฐ  แต่อาจยากในแง่การต้องไปศึกษาจากคำพิพากษา

 

ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร CIVIL LAW  

มีลักษณะนิติวิธีหลักๆ ดังต่อไปนี้

•                   ประวัติศาสตร์ของกฎหมาย CIVIL LAW เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีอารยธรรม (CIVILIZED CITY) เมืองเหล่านั้นจะมีพลเมือง(CIVIC) จำนวนมาก  จนต้องมีการสถาปนาชนชั้นปกครองขึ้นมาเพื่อปกครองคนหมู่มาก และต้องสร้างกฎหมายให้พลเมืองจำนวนมากรับรู้ จึงต้องสร้างกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่คนรับรู้ชัดเจนขึ้น เช่น แผ่นศิลาทั้ง 12 ในกรุงโรม ประมวลกฎหมายฝรั่งเศส ฯลฯ เพื่อให้พลเมืองรับรู้กฎหมายที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้น

•                   ปัจจุบันสารัตถะของกฎหมายจึงเกิดจากการลงมติของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการปกครองประเทศ มีการประกาศใช้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน มีประมวลกฎหมาย

•                   ส่วนการวินิจฉัยข้อพิพาทให้แบ่งไปให้ฝ่ายตุลาการใช้อำนาจอธิปไตย ศาลจึงต้องตัดสินคดีตามกฎหมายที่ออกมาจากฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเคร่งครัด หรือตีความกฎหมายคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการสร้างกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายสร้างจากตัวแทนของประชาชน

•                   ในศาลจึงไม่มีลูกขุนตัดสินข้อเท็จจริงว่าผิดหรือไม่ผิด ควรชดใช้อย่างไร

•                   ศาลผู้พิพากษามีบทบาทสำคัญพิพากษาทั้งข้อเท็จจริง และการปรับใช้กฎหมาย

•                   การเรียนกฎหมายใช้วิธีการศึกษาหลักกฎหมาย เจตนารมณ์ที่อยู่เบื้องหลังบทบัญญัติกฎหมายลายลักษณ์

•                   การตีความกฎหมายจึงต้องดูตัวบทบัญญัติ และเจตนารมณ์ในการสร้างกฎหมายขึ้นมา

•                   กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภามีหรือไม่ – มี และเป็นที่มาในการออกกฎหมายหลัก  

•                   ศาลตีความขัดหรือแย้งกับเจตนารมณ์ของผู้สร้างกฎหมายไม่ได้

•                   การอุดช่องโหว่ของกฎหมายทำโดยวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้

•                   ประชาชนรู้สิทธิ หรือพอจะคาดเดาคำตัดสินได้หรือไม่? – อาจง่ายกว่าในเชิงการมีเอกสารหลักฐานเป็นประมวลกฎหมาย บทบัญญัติที่ชัดเจน   แต่กฎหมายสร้างโดยชนชั้นปกครองพลเมืองอาจต้องเข้าใจเจตนารมณ์ของชนชั้นปกครอง(ตัวแทน, หัวหน้าคณะรัฐประหาร)ผู้สร้างกฎหมายนั้น

 

แล้วประเทศไทยอยู่ในระบบกฎหมายอะไร มีนิติวิธีอย่างไรกันแน่?

•                   ประเทศไทยมีความสับสนในเรื่องนิติวิธีในระบบกฎหมายสูง หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์กฎหมาย

•                   รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษรมาใช้กับประเทศสยาม ด้วยเหตุผล ณ ช่วงเวลานั้น คือ การเร่งปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับอารยประเทศ เพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ยกเลิกเรื่อง สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของอังกฤษ และประเทศต่างๆที่ได้รับสิทธินี้   พระองค์จึงเลือกใช้ระบบกฎหมายที่สามารถเปรียบเทียบมาใช้ได้ง่าย รวดเร็ว

•                   นักกฎหมายไทยรุ่นแรกๆจบมาจากประเทศอังกฤษ (พระองค์เจ้ารพีฯ)  ซึ่งเป็นแม่แบบของระบบกฎหมายจารีตประเพณี   เมื่อพระองค์เจ้ารพีฯถอนตัวจากการริเริ่มโครงสร้างระบบกฎหมายไทย   จึงหันไปสร้างบุคลากรทางกฎหมายแทน คือ สอนกฎหมายในโรงเรียนสอนกฎหมายที่พัฒนามาเป็นเนติบัณฑิตยสภาในปัจจุบัน   และวางแนวทางการเรียนการสอนกฎหมายซึ่งมีอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน คือ การตีความกฎหมายโดยอิงแนวบรรทัดฐานที่ศาลเคยวางไว้ (การอ้างอิงฎีกานั่นเอง)

•                   ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยได้ทำให้ระบบกฎหมายไทย   แสดงรูปแบบโครงสร้างหลักมีลักษณะเป็นระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร คือ มีการออกกฎหมายโดยรัฐสภา ศาลตัดสินโดยใช้กฎหมายที่ออกมาจากฝ่ายนิติบัญญัติ   แต่คำถามสำคัญคือ “วิธีการตีความกฎหมาย”

•                   แต่การเรียนกฎหมายไทยมีกลิ่นอายของระบบกฎหมายจารีตฯสูง คือ การศึกษากฎหมายที่มีข้อสงสัยในการตีความปรับใช้โดยศึกษา “ฎีกา”   และมีอิทธิพลไปถึงการเรียนการสอนกฎหมายในมหาวิทยาลัย   และกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังหัวบุคลากรทางกฎหมายไทยส่วนใหญ่ รวมถึงผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ในศาล

 

ทุกระบบมีข้อดี/ข้อด้อย แต่ก็มีตัวแก้ที่ต้องนำมาใช้ด้วย!

ตัวแก้ของระบบกฎหมาย Common Law

เนื่องจาก ศาลมีบทบาทที่สำคัญทั้งในการตัดสินคดีและทำให้เกิดบรรทัดฐานในการวินิจฉัยคดีต่อไป  ดังนั้นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง คือ

  • ต้องให้ สามัญชน Common People มีส่วนในการเข้าไปวินิจฉัยคดีส่วนข้อเท็จจริงด้วย เพื่อนำ สามัญสำนึกของสามัญชน มาเป็นดุลยพินิจในการตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับ ชีวิตประจำวันในแต่ละยุคแต่ละสมัย
  • การคัดเลือกตุลาการ ต้องมีกระบวนการคัดเลือกบุคคลที่มีความช่ำชองด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น ตุลาการต้องกำหนดให้คุณสมบัติด้านประสบการณ์ทำงานสูง ทำงานด้านทนายความ อัยการ นิติกร มาเป็นเวลานานนับสิบๆปี
  • ฝ่ายที่ออกกฎหมายต้องเป็นตัวแทนของสามัญชนเข้าไปออกกฎหมาย ลดจำนวนตัวแทนจากอภิสิทธิ์ชน เพื่อให้กฎหมายใหม่ๆที่ออกมาสะท้อนความต้องการของประชาชนทั้งรัฐ

 

ตัวแก้ของระบบกฎหมาย Civil Law

เนื่องจาก ฝ่ายออกฎหมาย (นิติบัญญัติ) มีอำนาจสูงสุดในการออกกฎหมายมาให้อะไรเป็นความผิด หรือสร้างกรอบของสังคม สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ

  • ต้องป้องกันระบอบเผด็จการทั้งหลายที่จะยึดอำนาจการออกกฎหมาย การปกครอง และการตัดสินคดี มาอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  • ตัวแทนของประชาชนในสภานิติบัญญัติ จึงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด   การแทรกแซงด้วยวิธีการสรรหาใครที่มิได้มาจากการเลือกของประชาชนมิได้
  • การสรรหาคัดเลือกตุลาการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบที่ใช้อำนาจกึ่งตุลาการจะต้องมีการยึดโยงกับประชาชน
  • ผู้พิพากษาต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งด้านทฤษฎีด้านกฎหมายเพราะต้องวินิจฉัยข้อกฎหมายให้ตรงกับเจตนารมณ์ในการสร้างกฎหมายนั้นๆ และประสบการณ์ชีวิตที่ช่ำชองเพราะต้องชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงของคดีด้วย

 

ระบบผสมผสาน

ในโลกปัจจุบัน เส้นแบ่งของระบบกฎหมายทั้งสองได้เลือนลางลงไปมาก เนื่องจากแต่ละประเทศได้พยายามพัฒนาระบบกฎหมายของตนเอง โดยพยายามนำข้อดีของระบบต่างๆมาปรับใช้ และลดข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมของตนให้มากที่สุด   เช่น    มีการนำระบบลูกขุนให้สามัญชนเข้ามาช่วยใช้ดุลพินิจหรือช่วยตัดสินคดีมากขึ้น โดยเฉพาะในคดีอาญาที่ว่าด้วยความเป็นความตายของสามัญชนคนหนึ่ง ก็ย่อมต้องอาศัยสามัญชนเข้ามาช่วยตุลาการตัดสินด้วย    สภานิติบัญญัติที่มีตัวแทนของประชาชนมาจากการเลือกตั้งสะท้อนความต้องการของประชาชนทั้งประเทศ   และการเชื่อมโยงระบบกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาช่วยเป็นหลักประกันเสริม หากกลไกภายในรัฐไม่เพียงพอในการอำนวยความยุติธรรม    

แต่สิ่งที่รับรู้และกลายเป็นเสาหลักในการธำรงนิติธรรมไว้ในนิติรัฐ คือ การไม่ยอมรับเผด็จการรวบอำนาจจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง!

ความก้าวหน้าด้านกฎหมายในสากลโลก จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกแบบระบบกฎหมาย ต้องศึกษาเปรียบเทียบและนำมาใช้ให้เหมาะสมเพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรม และโครงสร้างรัฐที่สะท้อนความต้องการของประชาชน และเป็นหลักประกันสิทธิให้กับสามัญชนยิ่งๆขึ้นไป   เพราะต้องไม่ลืมว่า กฎหมายเป็น "ฟางเส้นสุดท้าย" ที่จะรักษาความมั่นคงของรัฐได้ หาไม่แล้วความขัดแยงต่างๆ จะผลักสังคมไปสู่กลียุค

 

มองย้อนนิติรัฐไทย เพื่อก้าวไปสู่อนาคตที่ดีกว่า

จากประวัติศาสตร์กฎหมายชี้ให้เห็นถึงความโกลาหลในนิติวิธีของไทย   จนทำให้เกิดความสับสนในหมู่นักกฎหมาย และส่งผลสะเทือนไปสู่การรับรู้เข้าใจของสังคม   จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดสังคมไทยจึงมีข้อสงสัยในประเด็นนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ   สังคมกฎหมายไทยอาจต้องปรับตัวให้นิติวิธีทั้งหลายกลมเกลียว (Harmonized) เพื่อบูรณภาพแห่งกฎหมาย อันจะเป็นการประกันความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม   และสร้างความรับรู้ เข้าใจ อธิบายได้   อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงของระบบกฎหมายไทยในท้ายที่สุด   หรือเราจะรอให้สังคมภายนอกเข้ารื้อสร้าง (De-Construction) ระบบกฎหมายให้สอดคล้องกับความเข้าใจของสังคม   เนื่องจากสังคมเริ่มสงสัยการทำงานของศาลและนิติวิธีของระบบกฎหมายไทยมากขึ้นทุกที

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
Nick Srnicek ได้สรุปภาพรวมของแพลตฟอร์มดิจิทัลที่แตกต่างกัน 5 ประเภท คือ1.แพลตฟอร์มโฆษณา, 2.แพลตฟอร์มจัดเก็ยข้อมูล, 3.แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม, 4.แพลตฟอร์มผลิตภัณฑ์, และ 5.แพลตฟอร์มแบบลีน 
ทศพล ทรรศนพรรณ
ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีรายได้และผลกำไรจำนวนมหาศาลจากการประมวลผลข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคในระบบของตน แต่ยังไม่มีระบบการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม    เนื่องจากยังมีข้อถกเถียงเรื่องใครเป็นเจ้าของข้อมูลและมีสิทธิแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นบ้าง    จึงจ
ทศพล ทรรศนพรรณ
การบังคับใช้ พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่ผลักดันออกมาในปี พ.ศ.
ทศพล ทรรศนพรรณ
แพลตฟอร์มมักเป็นระบบแบบเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหา จากการที่ทำให้การเข้าถึงข้ามเขตอํานาจ ในทางกลับกัน กลับมีการกําหนดให้หน่วยงานกํากับดูแลและผู้ออกกฎหมายต้องร่วมมือกันข้ามพรมแดนแห่งชาติเพื่อประสานระบอบกฎหมายและกฎระเบียบในขณะที่จัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นรวมถึงประเด็นกา
ทศพล ทรรศนพรรณ
การวิเคราะห์ปรับปรุงเกระบวนการระงับข้อพิพาทของบรรดาผู้บริโภคในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยืนยันว่าระบบสามารถใช้เพื่อทำการแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคจํานวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution - ADR) ที่ได้รับการรับรองจากสาธารณะให้เป็นมากกว่ากลไกการระงับข้อพิพาทใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
การสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคจึงเป็นผลดีต่อการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และการตัดสินใจของผู้บริโภคที่จะทำธุรกรรมออนไลน์กับผู้ขายต่อไป ทำให้ประเทศต่าง ๆ  รวมถึงประเทศไทยให้ความสนใจและมุ่งให้เกิดการคุ้มครองอย่างจริงจังต่อปัญหาการละเมิดสิทธิในความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู
ทศพล ทรรศนพรรณ
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันใดที่ผู้คนจำนวนมากขาดความรู้ความเข้าใจต่อเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อชีวิตโดยตรง รัฐในฐานะผู้คุ้มครองสิทธิประชาชนและยังต้องทำหน้าที่กระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย จึงมีภาระหนักในการสถาปนาความ “เชื่อมั่น” ให้เกิดขึ้นในใจประชาชนที่ลังเลต่อการเข้าร่วมสังฆกรรมใน
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริงเป็นสื่อใหม่ในโลกยุคดิจิทัลที่แสดงด้วยภาพและเสียงสามมิติซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้ ทำให้เกิดเป็นสังคม (Community) ภายในโลกเสมือนจริงที่ผู้คนสามารถติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ แต่มิใช่เพียงการเข้าไปรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเพียงเท่านั้น นอก
ทศพล ทรรศนพรรณ
การทำธุรกรรมบนอินเตอร์เน็ตมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการเข้าร่วมสัญญาอย่างรวดเร็วสะดวกลดอุปสรรค ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตก็ด้วยไม่ต้องการเดินทางหรือไม่ต้องมีตัวกลางในการประสานความร่วมมือหรือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้รับรองสถานะของสัญญาในลักษณะตัวกลางแบบที่ต้องทำในโลกจริง ที่อาจถูกกฎหมายบังคับให้ทำตามแบ
ทศพล ทรรศนพรรณ
โลกเสมือนจริง (Virtual World) คือสภาพแวดล้อมเสมือนซึ่งสร้างและปฏิบัติการด้วยซอฟต์แวร์ (Software) ที่อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ (Server) ของเจ้าของแพลตฟอร์ม (Platform) สิ่งแวดล้อมเสมือนเหล่านี้ออกแบบมาให้ผู้เล่นหรือผู้ใช้โลกเสมือนจริงสามารถใช้ตัวตนเสมือนหรืออวตาร (Avatar) ในการท่องไปในโลกนั้น โดยสามารถติดต
ทศพล ทรรศนพรรณ
เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ โดยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับประเด็นกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์สามารถห้ามปรามการเผยแพร่ความคิดหรือการแสดงออกในงานสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยอ้างเหตุแห่งการคุ้มครองสิทธิของปัจเจกชนอย
ทศพล ทรรศนพรรณ
ความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจดิจิทัลที่สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการจำนวนมหาศาลแต่นำมาซึ่งความกังขาว่า สังคมได้อะไรจากการเติบโตของบรรษัทขนาดใหญ่ผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีและควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้ อันเป็นที่มาของเรื่อง การจัดเก็บภาษีดิจิทัลได้กลายเป็นข้อกังวลที่สำคัญสำหรับหลาย ๆ รัฐบาล ในยุโรป เช่นใน เยอรมนี