Skip to main content

การพัฒนาชนบทถือเป็นภารกิจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่ยุคต้านภัยคอมมิวนิสต์ที่ต้องการขจัดภัยคุกคาม ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่กันดารให้มี น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เพื่อขับไล่พวกที่ปลุกระดมโดยอาศัยความแร้นแค้นเป็นข้ออ้างให้ฝ่อไปเพราะเชื่อว่าเมื่อ “การพัฒนา” มาถึง คอมมิวนิสต์ก็จะแทรกซึมไม่ได้
                ในทศวรรษนี้ที่รัฐบาลจากการรัฐประหารสองครั้งหลังสุดมิได้พูดโดยตรงแต่ก็เป็นที่รับรู้กันไปทั่ว ก็คือ การขจัดความยากจนเพื่อต่อสู้กับการเมืองประชานิยมของเหล่าผู้แทนที่ใช้นโยบายลด แลก แจก แถม มาเป็นเหยื่อล่อ?   ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนเครือพรรคไทยรักไทยหรือที่คิดกันว่าเป็น “คนเสื้อแดง”  

                จริงอยู่ที่ “คนเสื้อแดง” มีหลากหลาย และกลุ่มที่ต้านรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็อาจมีความแตกต่างกันไปในเฉดต่างๆ   แต่บทความนี้จะพูดถึงเฉพาะ การทำสงครามเพื่อยึดครองใจคนชนบทของรัฐบาลรัฐประหารเท่านั้น  

                สิ่งแรกที่ต้องตอบให้ได้ คือ ปัจจุบันคนชนบทเป็นใคร หรือเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ก็ คนชนบททำอะไร อยู่ในภาคการผลิตใด   “ชาวนา” คือ คนกลุ่มหลักของชนบทจริงหรือไม่   และสังคมชนบทต้องการอะไรเพื่อไม่เอนเอียงไปทางการเมืองแบบที่ใช้นโยบายลด แลก แจก แถม เป็นเครื่องมือ แบบที่พรรคอื่นๆ หรือระบบราชการแย่งชิงใจประชาชนไม่ได้

                ภาพกระท่อม กองฟาง และทุ่งนา ที่มีชาวบ้านลงแขกเกี่ยวข้าว แบ่งปันข้าวปลาอาหาร กลายเป็นสิ่งล้าสมัย    สังคมชาวนา แบบที่แต่ละครอบครัวทำการผลิตทางการเกษตรเพื่อยังชีพ ไม่นำไปขาย หรือมีรายได้จากการเกษตรอย่างเดียว แทบจะไม่เหลืออยู่แล้ว   ชาวนาที่ทำเกษตรเพื่อยังชีพและไม่แลกเปลี่ยนอาหาร สินค้าด้วย “เงินตรา” นั้นแทบจะหมดไป  

เหลือเพียงบางกลุ่มที่ได้รับโครงการพิเศษของรัฐพยุงรักษาไว้ หรือไม่ก็เป็นกลุ่มที่อาศัยรายได้จากทางอื่นเข้ามาจุนเจือ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เป็นต้น   แม้กระทั่งกลุ่มดังอย่างบ้านกุดชุม ในหมู่บ้านนั้นกว่าครึ่ง ก็ทำการผลิตและดำรงชีวิตแบบอื่น

การติดภาพชนบทแบบโรมแมนติกจึงไม่ช่วยให้เข้าใจอะไร และไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอะไร เพราะไม่อาจฝืนดึงคนชนบทกลับไปดำรงชีพแบบเดิมได้อีกแล้ว ดังเนื้อเพลง “ทุ่งนาแดนนี้ไม่มีความหมาย”

ชนบทอาจจะยังเป็นที่ผลิตอาหารและวัตถุดิบแต่กลายเป็นวิธีการเชิงอุตสาหกรรม มีการผลิตสินค้าบางชนิดจำนวนมาก กินพื้นที่กว้างขวาง ลงทุนเยอะ และมีความสัมพันธ์กับบรรษัท ห้างร้าน ดำเนินการเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ   สาเหตุก็มาจากการขยายตัวของสังคมเมือง ที่คนผลิตอาหารเองไม่ได้ ต้องซื้อหาอาหารปรุงสำเร็จ ผ่านแปรรูปของร้านสะดวกซื้อ หรือบริโภคร้านข้างทางที่รับวัตถุดิบต่อมาอีกทอด

การเกษตรยังสำคัญต่อการผลิตอาหาร แต่การเกษตรเป็นแบบอุตสาหกรรมแล้วนั่นเอง   ดังนั้นแนวโน้มที่จะเกิดกับชนบทไทยจึงมี 2 แนวใหญ่ๆ คือ

  1. การทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) เพื่อตอบสนองตลาดมวลชน (Mass Market)
  2. การทำเกษตรประณีตตั้งแต่ ออร์แกนิค ไร้สาร คุณภาพสูง ฯลฯ เพื่อสนองตลาดเฉพาะ (Niche Market)

การเกษตรทั้งสองแบบต้องอาศัยความรู้ทางธุรกิจในการบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพการผลิตเป็นอย่างมาก ดังนั้นนโยบายรัฐที่ตื้นเขิน เพียงแค่จ่ายเงินอุดหนุน หรือปฏิรูปที่ดินเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พออีกแล้ว

สาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรมนั้นหนักไปที่ปัจจัยการผลิต มูลนิธิวิถีไทได้แสดงให้เห็นแนวโน้มค่าใช้จ่ายในการผลิตต่อรอบว่าเป็น ค่าตัวอ่อนพันธุ์พืช และเมล็ดพันธุ์ เกือบครึ่ง เมื่อผนวกกับค่าปุ๋ย ยา อาหาร แล้วก็เกือบเป็นต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นการปฏิรูปกรรมสิทธิ์เหนือพันธุกรรม หรือที่เคยพูดเรื่องอธิปไตยอาหาร นำพันธุกรรมกลับมาเป็นของส่วนรวมหรือเกษตรกร จึงเป็นวาระเร่งด่วนมาก  

สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ทักษะในการบริหารจัดการฟาร์ม ในระบบพันธสัญญามี “สัญญา” ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและปากเปล่า แต่ผูกมัดเกษตรกรได้ และมีไม่น้อยที่ทำให้เกิดหนี้จากการผลิตในระบบนี้แล้วออกจากระบบไม่ได้   ต้องทำการผลิตต่อไป   ซึ่งนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยยังมีการเกษตรอุดมสารเคมีและฮอร์โมนส์ เพราะทุกคนต้องการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตจนตกในวังวนของสารพิษ   บางรายรู้ทั้งรู้ว่ากำลังฆ่าคนกินทางอ้อมก็เลิกไม่ได้ เพราะภาระหนี้ติดพันจนอาจล้มละลายและสูญเสียที่ดิน แล้วต้องไปเป็นแรงงานรับจ้างในท้ายที่สุด

รัฐสามารถเข้าไปช่วยในการเจรจาต่อรองและกำกับการทำสัญญาของเกษตรกรกับเอกชนได้ เพื่อให้เกิดสัญญาที่เป็นธรรม และเข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตให้ปลอดสารพิษ เพื่อลดค่าใช้จ่าด้านสาธารณสุขทั้งภาคเกษตรในชนบทและคนกินในเมืองด้วย

เหนือสิ่งอื่นใด คือ การพัฒนาวิธีบริหารจัดการเชิงธุรกิจ ให้เกษตรกรเป็นผู้จัดการฟาร์มที่ช่ำชอง ศึกษาข้อมูลตลาด เข้าใจผู้บริโภค สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าและฟาร์มตัวเองได้ด้วย เช่น การท่องเที่ยวฟาร์มและธรรมชาติ   เพื่อสร้างความสุขทั้งเกษตรกรในชนบท และคนเมืองที่มาเที่ยว

แล้วไปหนุนเสริมเรื่องระบบโทรคมนาคมและโลจิสติกส์ ให้เกิดตลาดจริงๆ หรือตลาดออนไลน์ ที่คนกินในเมือง กับเกษตรกรในชนบท เจรจากันโดยตรง ควบคุมการผลิตให้ปลอดภัย เพราะรู้จักกัน

เมื่อการเกษตรเกี่ยวพันกับตลาดมากขึ้น นโยบายรัฐก็ยิ่งสำคัญตามไปด้วย เกษตรกรจึงสนใจการเมือง   ดังนั้นการบริหารชนบทจึงต้องใส่ใจรายละเอียด เพราะภาคบริการและพาณิชย์ในชนบทโตขึ้นโดยมีการเกษตรเป็นฐาน

นโยบายพัฒนาชนบทของรัฐจึงต้องครบวงจรทุกด้านด้วย

 

ผู้เขียน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์
 

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกที่ต้องนำมาพูดกันก่อนเลยเห็นจะไม่พ้นว่า กฎหมายคืออะไร เพราะไม่งั้นคงไปต่อไม่ได้ และที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นปัญหามากในความเป็นจริง  เนื่องจากหลายครั้งเรามีปัญหากับคนอื่น หรือสังคมมีความขัดแย้งเถียงกันไม่จบไม่สิ้นก็ไม่รู้ว่า เรื่องนี้ควรจะจบลงอย่างไร ชีวิตจะเดินต่อไปแบบไหน   ซ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกนี่เกิดขึ้นกับผู้คนมากมายครับ เนื่องจากมันเป็นชีวิตของเพื่อนผมเองที่บ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัดแต่เค้าเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แล้วเช่าหอพักอยู่รอบนอกกรุงเทพฯเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากที่ทำงานอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ถ้าไปเช่าหออยู่ใกล้ๆ สงสัยจะไม่เหลืออะไรให้เก็บให้ใช้เลย จนเธอต้องมาบ่นให้ฟังเรื่
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อกฎหมายเข้ามาใกล้ชีวิตคนธรรมดาอย่างเรามากขึ้น จึงเป็นการยากที่จะไม่สนใจอีกต่อไป   พอเกิดปัญหาขึ้นมากับตัวเอง ทางหนึ่งที่คนส่วนใหญ่พอจะทำได้ คือ ปรึกษากับคนใกล้ตัวที่ร่ำเรียนมาทางกฎหมาย เพราะจะให้ไปปรึกษากับทนาย หรือนักกฎหมายที่ไหนก็ยังไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ไหนควา