Skip to main content

คำถาม : การรู้จักตัวเอง ( self knowledge ) คืออะไร เราสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
กฤษณมูรติ : ท่านเห็นระดับของความคิดที่ซ่อนอยู่ในคำถามนี้หรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ได้แสดงความไม่นับถือผู้ถาม แต่อยากจะชวนให้พวกเราใส่ใจต่อความคิด ซึ่งถามว่า

เราจะได้มันอย่างไร
เราจะต้องซื้อมันสักเท่าไหร่
ฉันจะต้องทำอะไร
ฉันจะต้องทุ่มเทอะไรบ้าง
ข้าพเจ้าจะต้องมีวินัยและฝึกสมาธิอย่างไรบ้าง
เพื่อที่ข้าพเจ้าจะได้รู้จักตนเอง

ความคิดเช่นนี้
มีลักษณะเป็นแบบเครื่องยนต์กลไก เป็นความคิดแบบครึ่งๆกลางๆ ซึ่งมักจะคิดเสมอว่า ฉันจะต้องทำอย่างนี้เพื่อที่จะได้อย่างนั้น บุคคลที่เรียกตนเองว่าเป็นศาสนิกชน ก็มักจะคิดในลักษณะนี้ด้วยเหมือนกัน

แต่การรู้จักตัวเอง
มิได้เกิดขึ้นด้วยวิธีการเช่นนี้ ท่านไม่สามารถที่จะซื้อและลงทุนเพื่อที่จะได้มันมาจากการกระทำหรือการฝึก การรู้จักตนเองจะเกิดขึ้นเมื่อท่านสังเกตตัวท่านเองในความสัมพันธ์ของท่าน
กับเพื่อนนักเรียนร่วมชั้น
กับครู
กับบุคคลที่อยู่รอบตัวท่าน
มันจะเกิดขึ้น เมื่อท่านสังเกตการกระทำของผู้อื่น กิริยาของเขา ลักษณะการแต่งตัว การพูด การยกย่องชมเชยของเขา และการโต้ตอบของตัวท่านเอง

การรู้จักตัวเองจะเกิดขึ้น  เมื่อท่านสังเกตสิ่งต่างๆซึ่งอยู่ในตัวของท่านและเกี่ยวกับตัวท่าน มองดูตัวของท่านเหมือนกับท่านมองดูตัวเองในกระจก

เมื่อท่านมองดูในกระจก
ท่านจะเห็นตัวท่านเองอย่างที่ท่านเป็น ใช่หรือไม่ ท่านอาจจะเกิดความปรารถนา ที่จะให้ศีรษะของท่านมีลักษณะแตกต่างไปจากที่มันเป็น อาจจะอยากให้มีผมขึ้นอีกเล็กน้อย อยากให้ใบหน้าของท่านน่าเกลียดน้อยลง แต่ความจริงจะอยู่ที่นั่น ปรากฏให้เห็นชัดในกระจก ท่านไม่สามารถจะขจัดมันออกไปได้ด้วยคำพูดกลบเกลื่อนที่ว่า
"ฉันช่างหล่อเหลาน่ารักเหลือเกิน"

ถ้าท่านสามารถ
มองดูกระจกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับผู้อื่น เหมือนกับที่ท่านส่องกระจกมองตนเอง ท่านจะพบว่าการรู้จักตนเองนั้น จะไม่มีที่สิ้นสุด มันเหมือนกับการเข้าไปสู่มหาสมุทรอันล้ำลึก
ไม่สามารถหยั่งได้
และไม่มีชายฝั่ง
พวกเราส่วนใหญ่ต้องการไปถึงปลายทางหรือจุดที่สิ้นสุด เราต้องการพูดได้ว่า ฉันได้มาถึงการรู้จักตนเองแล้ว และฉันมีความสุข แต่ภาวการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น

แต่เมื่อท่าน
มองดูตัวเองโดยปราศจากการตำหนิเหยียดหยามในสิ่งที่ท่านเห็น ปราศจากการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น ปราศจากความปรารถนาในความสวยงามและดีงามมากกว่าเดิม หากท่านเพียงแต่สังเกตว่าท่านเป็นอย่างไร แล้วดำเนินชีวิตไปอย่างนั้น ท่านก็จะพบว่า ท่านสามารถค้นพบตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง
มันเป็นการเดินทางที่ไม่มีที่สิ้นสุด
และสิ่งนี้เป็นความลึกลับและความสวยงาม.

หมายเหตุ ; โดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมถือว่างานบรรยายของกฤษณมูรติ เป็นเสมือนเพชรน้ำหนึ่งทางจิตวิญญาณ เป็นงานที่อ่านได้ตลอดชีวิต เพราะเป็นงานที่อ่านแล้ว รู้สึกเหมือนได้นั่งสนทนากับ กัลยา ณ มิตร ที่เต็มไปด้วยความรอบรู้ในเรื่องภายในของมนุษย์ ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาที่ไม่รู้จักจบสิ้น ฯลฯ

เพราะไม่ว่าท่านจะพูดถึง ความสัมพันธ์และความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับตัวเอง หรือระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสังคม ท่านก็จะขุดเอารากเหง้าของปัญหาออกมาตีแผ่ และอธิบายอย่างถึงแก่น - ให้เราครุ่นคิดพิจารณาถามตอบตัวเอง เพื่อเข้าถึงสัจจะด้วยตัวของเราเอง โดยมิได้ชักชวนหรือบังคับให้ใครเชื่อ

เรื่องการรู้จักตัวเอง ( self knowledge ) คืออะไร ที่ผมคัดมาจากรวมเล่ม " แห่งความเข้าใจชีวิตและการศึกษาที่แท้จริง"  ซึ่งแปลโดย โสรีช์ โพธิแก้ว โดยสำนักพิมพ์โกมลคีมทอง ( ตีพิมพ์ครั้งที่ 4 สิงหาคม 2545 ) ที่คุณเพิ่งอ่านจบ คงจะยืนยันความนิยมของผมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะท่านที่ปรารถนาจะรู้จักความเป็นมนุษย์ของตัวเอง

ครับ แล้วผมคงจะนำงานที่ดีและมีประโยชน์ของกฤษณมูรติมานำเสนออีก โดยเฉพาะประเด็นที่คนทั่วไปสนใจ เช่นเรื่องเกี่ยวกับตัวเราเองในเรื่องนี้ สวัสดีครับ.

21 - 22 มิถุนายน 2552
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…