Skip to main content

 


ฉันเอยฉันทลักษณ์
ยากยิ่งนักจะประดิษฐ์มาคิดเขียน
เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน
มิผิดเพี้ยนตามกำหนดแห่งกฎเกณฑ์

 

แม้คนมีใจแสนรักสลักถ้อย
ยังท้อถอยยอมเลิกราเป็นว่าเล่น
เพราะมิอาจผ่านกฎหมดทุกประเด็น
จึงต้องเป็นผู้แพ้แก่ฉันทลักษณ์เอย.


บทกวี ที่ผมเขียนขึ้นมากล่าวถึงความยากของฉันทลักษณ์บทนี้ เป็นบทกวีที่เขียนตามรูปแบบฉันทลักษณ์ที่ทางโบราณเขาเรียกกันว่ากลอนดอกสร้อย ชึ่งมีฉันทลักษณ์ หรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการแต่ง เช่นเดียวกับการแต่งกลอนสุภาพทั่วๆไป นั่นคือบทหนึ่ง แบ่งเป็นสองคำกลอน คำกลอนหนึ่งมีสองวรรค


หรือจะจำง่ายๆก็ได้ว่า บทหนึ่งมี
4 วรรค สองวรรคเป็น 1 คำกลอน และแต่ละวรรค ทางโบราณท่านก็ได้กำหนดชื่อเฉพาะเอาไว้ด้วยนะครับ นั่นคือ


วรรค
1 เรียกว่าวรรค สดับ
วรรค 2 เรียกว่าวรรค รับ
วรรค 3 เรียกว่าวรรค รอง
วรรค 4 เรียกว่าวรรค ส่ง


และแต่ละวรรค มีจำนวนคำตั้งแต่
6 - 9 คำ กลอนที่เขียนยืนพื้นวรรคหนึ่ง 6 คำเป็นหลัก เรียกว่ากลอน 6 ส่วนกลอนที่เขียนวรรคหนึ่ง ด้วยจำนวนคำตั้งแต่ 7 - 8 และไม่เกิน 9 คำ เรียกกันว่ากลอนแปด ที่ยังคงนิยมเขียนกันอยู่ในปัจจุบัน


กลอนดอกสร้อย ที่ผมเขียนข้างบนนั่น ก็อยู่ในรูปแบบฉันทลักษณ์ของกลอนแปดทุกประการ ต่างกันแต่ว่า เขากำหนดให้วรรคแรกของบทแรก ด้วยคำ
4 พยางค์ ( หรืออาจจะเกินไปสักหนึ่งหรือสองพยางค์ ก็อนุโลมกันได้ ) ซึ่งมักจะเป็นคำนามหัวข้อเรื่องที่จะเขียน และต้องมีคำสร้อยว่า เอ๋ย ติดตามพยางค์แรก และกำหนดให้จบในบทที่สอง ด้วยวรรคสุดท้ายที่ต้องลงด้วยคำว่าเอย เช่นกลอนดอกสร้อยจากวรรณคดีเรื่องหนึ่ง ที่ให้ตัวนางเอ่ยถามถึงความรักกับตัวพระว่า


ความเอ๋ยความรัก
เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน
หรือเริ่มเพาะเหมาะหว่างกลางหัวใจ
หรือเริ่มในสมองตรองจงดี


แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง
อย่าระคางตอบสำนวนให้ถ้วนถี่
ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงระตี
ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย ( จบ )


ตัวพระก็ตอบว่า


ตอบเอ๋ยตอบถ้อย
เมื่อเห็นน้องน้อยเจ้าสงสัย
ตาประสบตารักสมัครไซร้
เสมือนให้อาหารสำราญครัน

แต่ถ้าแม้นสายใจไม่สมัคร
เหมือนฆ่ารักเสียแต่เกิดยอมอาสัญ
ได้แต่ชวนเพื่อนยามาพร้อมกัน
ร้องรำพันสงสารรักหนักหนาเอย.
( จบ )
 

หวังว่าคงเข้าใจโครงสร้างที่เป็นภาพรวมของกลอนดอกสร้อยนะครับ และเรื่องที่ผมจะแจกแจงต่อไป ก็คือความยากในการที่จะเขียนบทกวีฉันทลักษณ์ ( ข้อบังคับ ) ให้ถูกต้องตามกำหนดกฎเกณฑ์ ที่ทางโบราณได้กำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ฯลฯ ดังที่ผมบอกเอาไว้ว่า 


แม้คนมีใจแสนรักสลักถ้อย
ยังท้อถอยเลิกราเป็นว่าเล่น
เพราะมิอาจผ่านกฎหมดทุกประเด็น
จึงต้องเป็นผู้แพ้แก่ฉันทลักษณ์เอย.

 

ในที่นี้ผมจะพูดถึงเฉพาะกฎกติกาบังคับในการเขียนกลอนแปด ที่ผมพอจะเขียนได้ และยังเป็นงานฉันทลักษณ์ ที่คนยังพอรู้จักกันทั่วไปในปัจจุบัน ว่ามีกฎเกณฑ์ที่เป็นรายละเอียดย่อยยิบขนาดไหน ถ้าคุณอยากจะเขียน เพื่อเอาชนะมัน และได้งาน เป็น “เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน” ดังที่ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว เขียน ( ฮา )
 

ครับ
การเขียนกลอนแปดนั้น นอกจากจะกำหนดให้เขียนบทละ 4 วรรค และวรรคหนึ่งกำหนดให้ใช้คำ ตั้งแต่ 7- 8 คำขึ้นไป และไม่เกิน 9 คำ ยังมีเรื่องสัมผัส ตั้งแต่สัมผัสสระ สัมผัสอักษร สัมผัสนอก สัมผัสใน และเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค


คำว่าสัมผัส คือการบังคับใช้คำให้คล้องจองกัน ซึ่งถือกันว่า เป็นลักษณะบังคับที่สำคัญที่สุดในงานร้อยกรองทุกประเภท ว่ากันว่า ไม่มีงานร้อยกรองใดที่ไม่มีบังคับสัมผัส งานเขียนที่ไม่มีบังคับสัมผัส จึงไม่ถือว่าเป็นงานร้อยกรอง ครับ เรามาทำความเข้าใจรายละเอียดเรื่องสัมผัสกันก่อนนะครับ


1.
สัมผัสสระ คือการใช้สระตัวเดียวกัน หรือเสียงเดียวกัน ถ้ามีตัวสะกดต้องอยู่ในมาตราเดียวกัน เช่น ใคร ไป นัยน์ ใหม่ / วาด อาจ ราษฎร์ บาท / รัก ชัก ศักดิ์ หัก ฯลฯ
2.
สัมผัสพยัญชนะ ( นิยมเรียกกันว่า สัมผัสอักษร ) คือใช้คำที่ใช้พยัญชนะต้น ตัวเดียวกันหรือเสียงเดียวกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปสระและวรรณยุกต์ เช่น ทราบ สร้าง ศาสตร์ เซ / ทิ้ง ถ่อม ธรรม เฒ่า เข้า เคียง ฆ่า คิด ฯลฯ
3. สัมผัสนอก คือ สัมผัสท้ายวรรคของแต่ละวรรค ส่งไปสัมผัส กับคำใดคำหนึ่ง ( ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ ) ในวรรคต่อๆไป สัมผัสนอกนี้ เป็นสัมผัสบังคับในร้อยกรองทุกประเภท จะไม่มีไม่ได้ และกำหนดให้ใช้แต่สัมผัสสระเท่านั้น เช่น
 

ฉันเอ๋ยฉันทลักษณ์
ยากยิ่งนักจะประดิษฐ์มาคิดเขียน
เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน
มิผิดเพี้ยนตามกำหนดของกฎเกณฑ์

 

คำว่าลักษณ์ ท้ายวรรคแรก สัมผัสสระ กับคำว่า นัก ชึ่งเป็นคำที่ 3 ของวรรค 2 ( กฎเกณฑ์กำหนดให้สัมผัสกับคำในวรรคที่ 2 ได้ ตั้งแต่คำที่ 1- 5 ในกรณีที่วรรคนี้มี 8 คำ และคำที่ 1- 6 ถ้าวรรคนี้มี 9 คำ
และคำว่า เขียน ท้ายวรรคที่ 2 สัมผัสสระกับคำว่า เนียน ท้ายวรรคที่ 3
และคำว่า เนียน ท้ายวรรคที่ 3 สัมผัสกับคำว่า เพี้ยน ในวรรคที่ 4 คำที่ 3 ( เช่นเดียวกับวรรค 2 วรรคนี้กฎเกณฑ์กำหนดให้คำท้ายวรรคที่ 3 สัมผัสสระกับคำในวรรคที่ 4 ตังแต่คำที่ 1- 5 ในกรณีที่วรรคนี้มี 8 คำ และ1- 6 ในกรณีวรรคนี้มี 9 คำ )

4.
สัมผัสใน คือสัมผัสที่คล้องจองกันอยู่ภายในวรรคเดียวกันของแต่ละวรรค เป็นสัมผัสที่กฎเกณฑ์ไม่บังคับ จะมีก็ได้ไม่มีก็ได้ จะเป็นสัมผัสสระหรือพยัญชนะก็ได้ทั้งนั้น และไม่กำหนดกฎเกณฑ์ว่าจะต้องมีตำแหน่งตายตัวเหมือนสัมผัสนอก เช่น กลอนวรรคหนึ่ง
 

แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม”
จะมีสัมผัสในที่มีสระ 2 แห่งคือ ลามกับหยาม และ หยาบกับปลาบ และกลอนอีกวรรคหนึ่ง
เขาเคลียนิ้วเนิบนุ่มเสียงทุ้มพร่า”
มีสัมผัสในที่เป็นสัมผัสพยัญชนะ และสัมผัสสระ อย่างละแห่ง คือ นิ้วกับเนิบ ( สัมผัสพยัญชนะ ) และ นุ่มกับทุ้ม ( สัมผัสสระ )

แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่ว่า ถึงแม้สัมผัสในกฎเกณฑ์จะไม่บังคับตายตัวให้มี แต่ถ้ามี สัมผัสในก็จะช่วยให้งานร้อยกรอง งดงามสละสลวยและไพเราะเป็นอย่างยิ่ง เวลาอ่านออกเสียง

5.
สัมผัสระหว่างบท นี่ก็เป็นสัมผัสที่กฎเกณฑ์กำหนดบังคับตายตัวเอาไว้ นั่นคือ คำสุดท้ายของบทแรก และของทุกๆบท จะต้องมีสัมผัสสระ กับคำท้ายวรรคที่สองของบทต่อไป จนถึงบทสุดท้าย เช่น

ฉันเอยฉันทลักษณ์
ยากยิ่งนักจะประดิษฐ์มาคิดเขียน
เป็นบทกวีงามวิจิตรสนิทเนียน
มิผิดเพี้ยนตามกำหนดของกฎเกณฑ์
 

แม้คนมีใจรักสลักถ้อย
ยังท้อถอยยอมเลิกราเป็นว่าเล่น
เพราะมิอาจผ่านกฎหมดทุกประเด็น
จึงต้องเป็นผู้แพ้แก่ฉันทลักษณ์เอย.

 

สัมผัสสระ - ระหว่างบทในกลอนดอกสร้อยนี้ก็คือ คำว่า เกณฑ์ ท้ายวรรค 4 ของบทแรก ที่โยงใยมาสัมผัส กับคำว่า เล่น ในท้ายวรรคสองของบทต่อมา และสมมุติว่ากลอนดอกสร้อยกำหนดให้จบ 5 บท นั่นย่อมหมายความว่า คุณจะต้องส่งสัมผัสระหว่างบท ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้ายตามกฎเกณฑ์บังคับ จนครบทุกบทนั่นแหละครับ
 

ผ่านเรื่องสัมผัสมาแล้ว
คราวนี้ก็มาถึงกฎเกณฑ์บังคับ เรื่องเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคของแต่ละวรรคในแต่ละบท ที่ถือกันว่า เป็นลักษณะพิเศษของกลอน ที่คนคิดจะเขียนกลอนจะต้องทราบ และยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะถ้าหากกลอนไม่มีเสียงท้ายวรรคเป็นไปตามที่กำหนดไว้ ก็จะทำให้ขาดความไพเราะและขัดหู แต่ข้อบังคับในเรื่องเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค ก็มีกฎข้อบังคับตั้งแต่
ห้ามใช้
ควรใช้
และไม่ควรใช้
ห้าม หมายถึงใช้ไม่ได้อย่างเด็ดขาด
ส่วน ควร หรือ ไม่ควร เป็นเรื่องของความนิยม
และคำว่าเสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคนี้ ถือเอาเสียงเป็นหลัก มิได้ถือเอาตามรูปสระ และกำหนดเป็นกฏเกณฑ์ของกลอนทุกๆบทเอาไว้ดังนี้
 

วรรคที่ 1 คำสุดท้ายของวรรคนี้ จะใช้เสียง สามัญ เอก ตรี โท หรือจัตวาก็ได้ แต่ไม่นิยมใช้เสียงสามัญ เพราะถือว่าเรียบและเบาเกินไป ทำให้ลีลาของกลอนไม่กระชับ
วรรค 2 คำสุดท้ายของวรรคนี้จะต้องใช้เสียง เอก โท หรือ จัตวา เท่านั้น ห้ามใช้สามัญและเสียงตรี ที่นิยมใช้กันมากคือเสียงจัตวา
วรรค 3 คำสุดท้ายของวรรคนี้ จะต้องใช้เสียงสามัญหรือเสียงตรี แต่ที่เหมาะที่สุดคือเสียงสามัญ
วรรค 4 คำสุดท้ายของวรรคนี้ ซึ่งเป็นวรรคสุดท้ายของบท เช่นเดียวกับคำสุดท้ายของวรรค 3 นั่นคือ จะต้องใช้เสียงสามัญหรือเสียงตรีเท่านั้น ห้ามใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา และนิยมใช้เสียงสามัญ เช่นเดียวกับวรรค 3
 

ซึ่งสรุปได้ว่า คุณจะต้องใช้ถ้อยคำเขียนเป็นเรื่องราวออกมา ให้มีจำนวนถ้อยคำ มีสัมผัสทุกสัมผัส ( รวมทั้งสัมผัสในที่ไม่บังคับด้วย ) และเสียงท้ายวรรคในแต่ละบท ตามที่กฎเกณฑ์กำหนดไว้ คุณจึงจะได้บทกวีในรูปแบบของกลอนแปดหรือกลอนสักวาที่ไพเราะงดงาม อย่างผมเขียนเป็นลักวาให้ดูเป็นตัวอย่างนั่นแหละครับท่าน ( ฮา )
 

ที่ยากที่สุด
ก็คือเรื่องเสียงท้ายวรรคนี่แหละครับ ที่เขาถือเป็นส่วนพิเศษที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะเสียงท้ายวรรคนี่แหละ ที่ทำให้เวลาอ่านออกเสียงมาแล้ว จะทำให้กลอนมีเสียงสูงต่ำฟังไพเราะเสนาะหูเหมือนกับเสียงดนตรี ที่ว่ายากก็คือ คุณจะต้องรู้ว่าเสียงท้ายวรรคแต่ละวรรคเป็นเสียงอะไร ตั้งแต่เสียงที่...
ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด
ควรใช้
หรือไม่ควรใช้ตามกฎ - ในแต่ละท้ายวรรค

เช่นคำบางคำ รูปและเสียงสระไม่ตรงกัน เช่นคำว่า ฟ้า รูปสระเป็นรูปโท แต่เสียงเป็นเสียงตรี คุณจะทึกทักเป็นเสียงโท แล้วหยิบไปใช้ในท้ายวรรคที่กฎเกณฑ์อนุญาตให้ใช้เสียงโท ไม่ได้ครับ รูปวรรณยุกต์นะใช่ แต่เสียงไม่ใช่ ก็แปลว่าผิดกฎเกณฑ์ ที่เขาถือเอาเสียงเป็นหลัก เพราะพยัญชนะในภาษาไทย ที่แบ่งเป็นอักษร
3 หมู่ ได้แก่ อักษรต่ำ อักษรกลาง อักษรสูง เมื่อผสมสระเข้ากับพยัญชนะและผันตามรูปวรรณยุกต์แล้ว จะได้รูปและเสียงสระตรงกัน ตั้งแต่เสียงสามัญไปจนถึงเสียงจัตวา ก็เฉพาะพวกอักษรต่ำ เช่น
กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า
กาย ก่าย ก้าย ก๊าย ก๋าย

ส่วนอักษรกลางและอักษรสูง เวลานำผสมกับสระ รูปและเสียงสระจะไม่ตรงกันครับ แต่ถ้าอยากรู้ว่าเป็นเสียงอะไร ก็ให้ไปนำไปกับเทียบเสียงวรรณยุกต์ในกลุ่มอักษรต่ำ เช่นคำว่า ฟ้า ก็นำไปเทียบเสียงกับวรรณยุกต์

กา กา ก้า ก๊า ก๋า
คำว่าฟ้า ที่มีตัว ฟ.ฟัน เป็นอักษรกลาง มีรูปสระเป็นโท จึงมีเสียงเป็นเสียงตรี ตามเสียงที่เทียบกับคำว่า ก๊า นั่นเอง
นั่นหมายความว่า เรื่องของเสียงท้ายวรรค คุณจำเป็นจะต้องมีความรู้ ในเรื่องไวยากรณ์เกี่ยวกับอักษร 3 หมู่ และเสียงวรรณยุกต์ ที่ตรงกับรูปและไม่ตรงกับรูป เอาไว้สำหรับเช็คความถูกผิดด้วยครับ

และอีกประการหนึ่งที่กฎเกณฑ์ห้ามอย่างเด็ดขาด ก็คือสัมผัสซ้ำ ขอยกตัวอย่าง
 

เราพบกันวันนี้ที่ในป่า
ไม่ตั้งใจจะมากันทั้งสอง
น้ำในขวดวันนี้ไร้สีทอง
เราทั้งสองจึงต้องเมาแต่เหล้าดอย
( ฮา )
 

คำว่า สอง ในท้ายวรรคที่สอง สัมผัสซ้ำกับคำว่า สอง ซึ่งเป็นคำที่ 3 ในวรรคที่ 4 อย่างนี้แหละครับที่เขาเรียกว่าสัมผัสซ้ำ เพราะยากจนถ้อยคำหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าเช็คดูแล้วพบก็แก้ไขเสีย ถ้าแก้ไขเองไม่ได้ แต่อยากให้มันถูกตามกำหนดกฎเกณฑ์ ก็ต้องลดอีโก้ ยอมไปขอคนที่เขาเก่งในด้านนี้แก้ไขให้ อย่างเช่นบทนี้ถ้าจะแก้ไขใหม่ ก็พอแก้ได้ว่า
 

เราพบกันวันนี้ที่ในป่า
ไม่ตั้งใจจะมากันทั้งสอง
น้ำในขวดวันนี้ไร้สีทอง
เราจึงต้องดื่มเหล้าดอยกันหนาวตาย

 

ครับ
กฎเกณฑ์บังคับในการเขียนกลอนให้เนี้ยบ มันเคร่งครัดจุกจิกอย่างนี้แหละครับ ที่ทำให้...
 

แม้คนมีใจรักสลักถ้อย
ยังท้อถอยยอมเลิกราเป็นว่าเล่น
เพราะมิอาจผ่านกฎหมดทุกประเด็น
จึงต้องเป็นผู้แพ้แก่ฉันทลักษณ์เอย

 

แต่ถ้าคุณอยากเขียน อยากเอาชนะ ก็ลองดู ว่ามันจะยากอย่างที่ผมว่าไว้หรือเปล่า.


หมายเหตุ
; รายละเอียดเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ข้อบังคับ หยิบยกมาจากหนังสือ “ร้อยกรอง Poetry WorKs and Techniques ” ของ อาจารย์ประทีป วาทิกทินกร ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตีพิมพ์ครั้งที่ 6 // 9 กันยายน 2531


19
สิงหาคม 2552
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
แด่...คนเล็กๆทุกๆคนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง ฯลฯ หรือมิได้เป็นคนเสื้อสีใดๆ ที่ตกเป็นเหยื่อกฎหมายหมิ่นฯ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอำนาจพิเศษกับคนเล็กๆ ที่ขาดอำนาจต่อรองที่เข้มแข็งในการปกป้องและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้แก่ตนเอง และไม่มีใครสามารถที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้ แม้แต่รัฐบาลที่พวกเขาหลายคนได้เลือกเข้าไป นั่งอยู่ในรัฐสภา.
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
พุทธภาษิตที่กล่าวว่า “ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” และ “อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก” ประการแรกยังน่าสงสัยว่าเป็นความจริงโดยหรือไม่ แต่ประการที่สองที่กล่าวว่า อำนาจย่อมเป็นใหญ่ในโลก เป็นความจริงตามพุทธภาษิตได้กล่าวเอาไว้อย่างแน่แท้
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
อำนาจ ไม่ว่าอำนาจนั้น จะเป็นอำนาจที่ชอบธรรมหรือไม่ ตราบใดที่อำนาจนั้นยังมีอำนาจอยู่ อำนาจนั้น ย่อมมีอำนาจในการบังคับผู้อยู่ภายใต้อำนาจ ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตาม
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ยามเช้า โอ้ ยามเช้าอันมืดมนของข้า ยามเช้าที่ข้ามองไม่เห็นหนทางใดๆ ที่จะนำชีวิตลุล่วงผ่านพ้นวันนี้ไปได้ เพราะข้าได้ใช้ตัวช่วยชีวิตทุกตัว