Skip to main content

 

ก่อนอาทิตย์ตกในไร่ข้าวโพด

สีส้มโชติโชนอยู่อีกครู่ใหญ่

แผ่ร่มเงาความเวิ้งว้างกว้างออกไป

อีกหนึ่งวันกลืนวันวัยในวันนี้

\\/--break--\>

 

แก้มซีดเซียวพรายพลิ้วบนผิวน้ำ

ป้ายความช้ำอ่อนไหวไว้เต็มที่

ความอ่อนหวานซึ้ง ซึ้ง..ที่พึงมี

อาจเป็นสีดำสนิท - นิจนิรันดร์

 

เหน็ดเหนื่อยและอ่อนเพลียเสียทุกอย่าง

การเดินทางที่เป็นอยู่สู่ความฝัน

อาจจะถึง หรือบางที ไม่มีวัน

อิ่มพิษอันปวดร้าวช่างยาวนาน

 

ปีกความมืดร่อนคว้างกลางดงไม้

ดับดวงไฟ สายรุ้ง ความฟุ้งซ่าน

ดอกไม้ดาว - ดอกเดิมเริ่มผลิบาน

ทีละดอก จนละลาน เต็มลานฟ้า

 

เหล้าแก้วใหม่ให้รสชาติฝาดกว่าเก่า

โรยความเหงาท่ามกลางความฟางฝ้า

ในอารมณ์...ล้วนความหลังและน้ำตา

แย่งเข้ามาต่อสู้อยู่ภายใน

 

ยิ้มหลายยิ้มเยือกเย็นไม่เป็นมิตร

ดำสนิทข่มขวัญให้หวั่นไหว

ตาหลายคู่เป็นเส้นทางที่ห่างไกล

ไม่พบความจริงใจใครสักคน.

 

 

คราวที่แล้ว ผมได้พูดถึงฉันทลักษณ์หรือกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการเขียนกลอนแปด ตั้งแต่การกำหนดเบื้องต้นว่า กลอนบทหนึ่ง ต้องมี 4 วรรค วรรคหนึ่งใช้คำได้ตั้งแต่จำนวน 7 ถึง 8 และไม่เกิน 9 คำ รวมทั้งเรื่องสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบท และเสียงท้ายวรรคอย่างละเอียด

 

คราวนี้ ผมขอนำตัวอย่างกลอนฉันทลักษณ์ชิ้นหนึ่ง ที่ชื่อว่า " สิ่งที่หัวใจแสวงหา " ของ อุฬาริน หรือที่มีนามจริงว่า คุณอุไรวรรณ ภู่ทะวงศ์ สุภาพสตรีนักกลอนผู้มีเสียงโด่งดังในวงการนักกลอนในอดีต จากหนังสือรวมเล่มบทกวีของเธอที่ชื่อว่า " คิดถึง ห่วงหา และว้าเหว่ " ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 30 มานำเสนอ เป็นตัวอย่างของงานฉันทลักษณ์ที่ผมถือว่ายอดเยี่ยม ตั้งแต่ คำ ความ สัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบท และเสียงท้ายวรรคที่ไม่ผิดเพี้ยนจากกฎเกณฑ์แม้แต่วรรคเดียว

 

ครับ ถ้าจะเปรียบบทกวีบทนี้เป็นยอดเจดีย์อันงดงามสูงส่ง ที่เราต้องแหงนหน้ามองดู ก็ไม่ควรลืมก้มมองดู รากฐานอันแข็งแกร่งของเจดีย์ทุกขั้นตอน ที่ก่อขึ้นไปให้ยอดเจดีย์งดงามสูงส่งเสียดฟ้า ซึ่งหมายถึง ความประณีตในการสร้างงานตามกำหนดกฎเกณฑ์ของฉันทลักษณ์อันยากยิ่ง - ทุกขั้นตอนนั่นเอง

 

ที่สำคัญก็คือ เนื้อหา " สิ่งที่หัวใจแสวงหา " ของ อุฬาริน ที่บอกไว้ในบทสุดท้ายว่า

 

" ยิ้มหลายยิ้มเยือกเย็นไม่เป็นมิตร

ดำสนิทข่มขวัญให้หวั่นไหว

ตาหลายคู่เป็นเส้นทางที่ห่างไกล

ไม่พบความจริงใจใครสักคน "

 

ยังเป็นเนื้อหาที่เป็นสากล และไม่วันที่จะตกยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่เป็นสังคมวัตถุนิยมที่เลวร้ายถึงขนาด ทำให้เยาวชนในสถาบันการศึกษาต่างๆของเรา บางพวก บางกลุ่ม ยอมขายตัว เพียงเพื่อแลกมือถือ หรือกระเป๋าแบรนด์เนมสักใบหนึ่ง จนเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีสิทธิ์ที่จะไปโทษเยาวชนที่รู้ไม่เท่าทัน แต่ต้องโทษสังคมบริโภควัตถุที่สร้างค่านิยมเช่นนี้ขึ้นมา - จากกระแสวัฒนธรรมของทุนนิยมการผลิตเพื่อขายของสารพัด ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศที่เข้ามามีอำนาจในการสร้างวาทกรรมค่านิยมทางวัตถุเพื่อขายของที่บริษัทของตัวเองผลิต... จนกลายเป็นค่านิยมที่เลวร้ายนี้ ท่ามกลางความเมินเฉยของอำนาจรัฐ ใช่หรือมิใช่.

 

23 สิงหาคม 2552

กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…