Skip to main content
 
            ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
 
 
 
 
ผมเคยเข้าใจว่า

             ท่านอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ ในปัจจุบัน เป็นคนแรกที่คิดและเสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แทนผู้ว่าฯที่ส่งมาจากส่วนกลาง เพราะผมเคยอ่านบทความของอาจารย์ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร...ในที่สุดก็มักจะวกเข้ามาหาเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจัง ประมาณว่า ผมนึกถึงอาจารย์ธเนศวร์ทีไร ผมก็จะนึกถึงเรื่องผู้ว่าฯจากการเลือกตั้งขึ้นมาพร้อมๆกัน 
 
            แต่เมื่อผมเข้าไปร่วมสัมมนา “เวทีปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานคร” ที่คุณสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการวิทยาลัยจัดการสังคมภาคเหนือ คุณชัชวาลย์ ทองดีเลิศ อดีต ผู้อำนวยการ “โฮงเฮียนสืบสานล้านนา” เชียงใหม่ และตัวแทนองค์กรภาคประชาชนระดับผู้นำ 10 กว่าองค์กรร่วมกันจัด ณ ที่ห้องประชุม ภูอิงฟ้ารีสอร์ท ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 - 31 พฤษภาคม 2555 เพื่อเตรียมตัวปฏิบัติการขับเคลื่อนนำเรื่องนี้ ที่ค่อยๆพัฒนาอย่างเงียบๆ เหมือนหน่อไม้ที่ค่อยๆเติบโตภายใต้พื้นดิน จนแทงหน้าดินทะลุโผล่ยอดแหลมๆออกมา - เป็นร่าง พ.ร.บ. เพื่อนำไปยื่นเสนอรัฐสภาให้พิจารณา
 
          ในงานนี้เองแหละครับ ที่ผมได้ข้อมูลใหม่ท่านอาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง ซึ่งเป็นผู้ตั้งต้น ร่าง พรบ.ฉบับนี้ และเป็นวิทยากรผู้บรรยายคนสำคัญในขณะบรรยายท้าวความหลังเรื่องนี้ว่า - ผู้ที่เป็นต้นคิดและออกมาพูดเรื่องนี้เป็นคนแรก ซึ่งเป็นเวลานานมาแล้วถึงสามสิบกว่าปี คือ คุณไกรสร ตันติพงศ์ อดีต ส.ส. หลายสมัยของจังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้รับการขานรับจากภาคประชาชน 
 
          ต่อมา ท่านอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง จึงได้ลุกขึ้นมาพูดและเสนอให้มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี  2533 ซึ่งว่ากันว่า นอกจากเสียงของอาจารย์จะไม่ได้รับการขานรับจากภาคประชาชนแล้ว อาจารย์ยังถูกคัดค้านต่อต้านแบบรุมกินโต๊ะกันอย่างเอร็ดอร่อยจากนักวิชาการทางรัฐศาสตร์ด้วยกันอีก
     
            จึงพอสรุปได้ว่า ณ ห้วงเวลานี้ เรื่องที่เคยแสลงใจใครต่อใครในเรื่องนี้ ได้รับการขานรับแล้วจากภาคประชาชนและแทบทุกภาคในสังคม ด้วยเหตุผลมากมายจากความเปลี่ยนแปลงของสังคม และการเมืองตั้งแต่ปี 2547 มาจนถึงปัจจุบันที่ยังอึมครึมอยู่
 
 
สิ่งที่บ่งบอกก็คือ 
 
       ร่างพรบ.ฉบับนี้ ที่อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์ผู้สอนกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ตั้งต้นร่าง พรบ.ฉบับนี้ได้ให้รายละเอียดที่มาของ พรบ.เอาไว้ว่า “ปรับแก้เนื้อหา จากประชาชน นักวิชาการ ข้าราชการ องค์กรปกครองท้องถิ่น ในการประชุมกว่า 40 เวที จากเวทีอำเภอ 25 เวที และจากเวทีการประชุมตรวจการสอบ และการออกแบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมอีก 10 กว่าครั้ง” โดยสรุปสาระสำคัญของ ร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร  เอาไว้ 3 แนวทางด้วยกันคือ
 
      1. ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค เหลือเพียงราชการส่วนกลางและราชการท้องถิ่นเต็มพื้นที่ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจในการกำหนดแนวนโยบาย ระเบียบ ข้อบัญญัติ การจัดงบประมาณ การคลัง การจัดการบริหารบุคลากร กลไกโครงสร้างการบริหารงานภายในท้องถิ่น เพื่อการบริหารราชการท้องถิ่นได้ โดยไม่ขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ยกเว้น 4 เรื่องหลัก คือ การทหาร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ และการศาล
 
        โดยแบ่งการปกครองเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบน (เชียงใหม่มหานคร) และระดับล่าง (เทศบาล) ทำให้สามารถดูแลครอบคลุมพื้นที่โดยทั้ง 2 ระดับมีการบริหารที่อิสระต่อกัน เป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่การทำงานให้ชัดเจน
 
      2. ทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม จริยธรรม ทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการสร้างดุลภาพ 3 คือ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร สภาเชียงใหม่มหานคร และสภาพลเมือง
 
        รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้อำนาจโดยตรงในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตรวจสอบการทำงานของหน่วยงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ และเข้าถึงการใช้งบประมาณ ผ่านกระบวนการกลไกต่างๆ เช่น สภาพลเมือง การไต่สวนสาธารณะ กรรมาธิการด้านต่างๆ เช่น  การศึกษา เกษตร ซึ่งมีการรับรองการใช้อำนาจ และมีงบประมาณกระบวนการดังกล่าว
 
      3. การปรับโครงสร้างด้านภาษี โดยภาษี โดยภาษีทุกชนิดที่เก็บได้ในพื้นที่จะส่งคืนรัฐบาลส่วนกลางร้อยละ 30 และคงไว้ที่จังหวัดร้อยละ 70
 
      และจากสาระสำคัญของ ร่างพรบ.ทั้ง 3 ประการนี้ ได้แตกรายละเอียดออกไปเป็นมาตราต่างๆ 4 หมวด รวมกันทั้งหมด 157 มาตรา (ที่ผมต้องกลับบ้านมานั่งอ่านจนเกือบป่วย)
     ครับ นี่คือที่มาและภาพรวมทั้งหมดของ ร่าง พรบ. ที่ผมเข้าไปร่วมในงานสัมมนาที่เพิ่งผ่านพ้นไป
 

ส่วนการขับเคลื่อน พรบ.สืบเนื่องต่อจากนี้ไป

 
       เป็นเรื่องของผู้นำองค์กรแต่ละท้องถิ่นจะทำการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง พร้อมกับรวบรวมรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนทุกองค์กรรวมกันไปจนถึงปลายเดือนมิถุนาให้ได้ตามเป้าหมายในขั้นตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 10,000 คนหรือ 15,000 คน เพื่อเปิดเวทีประกาศเจตนารมณ์ “เชียงใหม่จัดการตนเอง สู่การขับเคลื่อน พรบ.เชียงใหม่มหานคร” ในวันที่ 24 มิถุนายน 2555 ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์เพื่อส่งสัญญาณให้รัฐบาลตรียมตัวรับการยื่นรายชื่อผู้สนับสนุน ร่าง พรบ.นี้ในช่วงเวลาระหว่างปลายเดือนกรกฏาถึงต้นเดือนสิงหา
 
        หลังจากยื่นรายชื่อแล้ว พวกเขายังจะจัดงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ติดต่อกันทุกวัน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายนเป็นเวลา 120 วัน (โอ พระเจ้า ผมฟังแล้วตกใจจนหายง่วงเป็นปลิดทิ้ง เพราะคิดไม่ถึงว่าเขาจะเล่นกันหนักถึงขนาดนี้)
 
 
นี่คือ 

         การเริ่มต้นเคลื่อนไหวของพลังการเมืองอันมหึมาอีกแนวทางหนึ่งจากส่วนภูมิภาค ที่ผมยังพบว่าในการรวมกันเป็นองค์ประกอบของพลังนี้ ยังมีกลุ่มคนเสื้อแดงและคนเสื้อเหลืองจำนวนหนึ่ง ที่ก้าวข้ามความขัดแย้งที่เคยมีต่อกันเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วย 
 
        พร้อมกับการสรุปบทเรียนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับทุกฝ่ายว่า ปัญหาแทบทุกอย่างในท้องถิ่นรวมทั้งปัญหาการแตกแยกเป็นคนเสื้อเหลือง - เสื้อแดงในสังคมไทย ล้วนแล้วแต่มีรากเหง้าต้นตอมาจากการรวมศูนย์อำนาจการบริหารปกครองไปกระจุกไว้ที่ส่วนกลางมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 5 รวมทั้งความผิดหวังจากรัฐบาลแบบนายทุนที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของทุนที่ชักใยอยู่เบื้องหลังมากกว่าเพื่อชาวบ้านชาวเมืองส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นทุนศักดินาหรือว่าทุนโลกาภิวัตน์ที่ยังคงห้ำหั่นกันไม่รู้จักเลิกรา 
 
      ครับ ก็คงต้องรอดูกันต่อไป ถ้าปัญหา ร่าง พรบ.ปรองดองของรัฐบาลที่ถูกฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรฯ ออกมาคัดค้านแบบเอาเป็นเอาตายในห้วงเวลานี้ ไม่ถูกหยิบขึ้นมาอ้างเป็นเหตุแห่งความชอบธรรมให้ใครสักคนหนึ่ง...ลุกขึ้นมายึดอำนาจให้เสียรังวัดเสียก่อน 
 
       แล้วเราคงจะได้เห็นขบวนการภาคประชาชน “เชียงใหม่จัดการตนเอง สู่การขับเคลื่อน พรบ.เชียงใหม่มหานคร” ขับเคลื่อนไปตามขั้นตอนจนถึงปลายทางที่รัฐสภา ด้วยความระทึกใจ...ในอนาคตอันใกล้นี้.
 
                     *****************************************************************
 
 
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 29 มิ.ย. - 5 ก.ค. 2555
 

 

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ชีวิตของผมเป็นชีวิตที่ประสบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนเส้นกราฟมานับครั้งไม่ถ้วน หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนและเข้าใจกันได้ง่าย ๆ แบบภาษาชาวบ้านก็คือ เป็นชีวิตที่ประสบกับความรุ่งเรืองและตกต่ำตามวิถีทางและอัตภาพของตัวเองสลับกันไปมา...นับครั้งไม่ถ้วน นั่นเองแต่ก็แปลก...จนป่านนี้ ผมก็ยังไม่อาจทำใจยอมรับและรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ต้องมีขึ้นมีลง นั่นคือเวลาที่ชีวิตผมขึ้นหรือรุ่งเรือง ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองฟูฟ่องพองโต และมองดูโลกนี้สวยงามสดชื่นรื่นรมย์ น่าอยู่น่าอาศัย...ราวกับสวรรค์บนพื้นพิภพแต่พอถึงเวลาที่ชีวิตเริ่มลงหรือตกต่ำ ผมก็จะรู้สึกว่าตัวเองเริ่มห่อเหี่ยวฟุบแฟบ…
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมเคยรู้จักคนบางจำพวกที่มีลักษณะต่างจากคนธรรมดาทั่วไปอย่างเรา ๆ ท่าน อยู่ประการหนึ่ง นั่นคือคน-คนพวกนี้ไม่ว่าจะประสบกับปัญหาชีวิตมากน้อยหรือหนักหนาสาหัสเพียงใด เมื่อถึงเวลานอนหลับ…เขาสามารถที่จะปล่อยวางปัญหานั้น ๆ ออกไปจากความคิดจิตใจ และนอนหลับได้สนิท ราวกับว่าไม่มีปัญหาใด ๆ มาแผ้วพาน ครั้นเมื่อตื่นขึ้นมาในยามเช้าวันใหม่ เขาก็จะหยิบยกปัญหาต่าง ๆ มาครุ่นคิดพิจารณาหาทางแก้ไข ปัญหาใดที่แก้ไขได้…ก็จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย ส่วนปัญหาที่ยังแก้ไขไม่ได้เขาก็สามารถจะปล่อยวางปัญหานั้นเอาไว้ก่อน และหันไปทำธุระอื่น ๆ แทนที่จะเก็บมาหมกมุ่นครุ่นคิด เป็นทุกข์กังวลอยู่กับปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้…