Skip to main content

สังคมชาวบ้าน แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน คนละตำบล คนละอำเภอ หรือแม้แต่คนละจังหวัด ถ้าได้ชื่อว่าเป็น “คนมีตังค์” ต่อให้ไกลแค่ไหน เมื่อมีใครสักคนพูดถึง ก็จะมีคนจดจำไว้ ถ้าอยู่ใกล้หน่อยก็มีคนรู้จัก เผลอๆ รู้ไปถึงวงศ์วานว่านเครือนู่น


เหมือนที่เขาว่า มีเงินก็นับเป็นญาติ ใส่ผ้าขาดถึงเป็นญาติก็ไม่นับ

อย่าง ตาผล คนตำบลใกล้เคียงไปได้เมียที่สมุทรสาคร ทำบ่อเลี้ยงปลา จนกระทั่งมีรถกระบะ 2-3 คัน เปิดร้านคอมพิวเตอร์ให้น้องเมียดูแล


ลุงเปลี่ยน อยู่ท้ายหมู่บ้าน ใครก็รู้ว่ามีหนี้เยอะ แต่พอไปเป็นพ่อค้าคนกลางตระเวนซื้อของจากแถวบ้านไปขายที่กรุงเทพฯ ก็เริ่มมีตังค์ ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมกำลังจะปลูกบ้านใหม่ ลูกสาวคนโตกับลูกเขย ต้องออกจากงานโรงงานไปช่วยกันดูแลแผงขายของที่กรุงเทพฯ


น้าใจ ทำนาทำไร่มีมั่งจนมั่ง วันหนึ่งมีคนรวยจากในเมืองมาขอซื้อที่ติดถนนแถวทางไปชะอำที่แกทิ้งร้างมานานปี แล้วปลูกอาคารพานิชย์สามชั้นสิบคูหา เขาว่า น้าใจได้เงินไปหลายล้าน


พี่มาด ทำกับข้าวทำขนมขายพอมีพอกิน ไปได้แฟนเป็นฝรั่งแก่ ปลูกบ้านหลังเบ้อเริ่มให้อยู่ แถมจ้างอีกเดือนละหมื่นให้อยู่บ้านดูแลสามี สบายไป

ฯลฯ


สารพัดแบบ สารพัดที่มาของคนมีตังค์

ที่แปลก แต่เป็นเรื่องปกติของชาวบ้านก็คือ คนมีตังค์ มักจะถูกนินทาน้อยกว่าคนไม่มีตังค์ แม้จะถูกพูดถึงก็จะเป็นน้ำเสียงยกย่องแกมอิจฉาเสียมากกว่า

ใครมีตังค์ ก็มีหน้าตา มีสิทธิพิเศษบางอย่างที่คนไม่มีตังค์ไม่มี

หน้าตา ดูจะมีความสำคัญมากกว่า “ตังค์” เสียอีก

ใครต่อใคร จึงอยากเป็นคนมีตังค์


แล้วก็เหมือนจะเป็นข้อบังคับว่าคนมีตังค์ จะมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวบ้านไม่ได้

คนมีตังค์ต้องมีบ้านหลังโต มีรถหลายคัน มีรถกระบะป้ายแดง มีทีวีจอใหญ่ มีจานดาวเทียมตั้งตระหง่านอยู่หน้าบ้าน มีลูกก็ต้องส่งเรียนในจังหวัด

ใครมีตังค์แต่ไม่ทำตามข้อบังคับของคนมีตังค์ ก็จะถูกเหมารวมว่าเป็นคนไม่มีตังค์ และจะถูกนินทาในระดับเดียวกับคนไม่มีตังค์ในที่สุด

พี่ยอด ช่างทำสีรถ เปิดอู่ที่บ้าน มีงานเข้าไม่ได้ขาด รถรอคิวยาวหลายคัน แต่แกฝีมือดี ทำงานเร็ว แต่ละวันมีเงินเข้าบ้านหลายพัน แต่พี่น้อยเมียแก ไม่เคยทำตัวเป็นคุณนาย ยังขายขนม ขายน้ำแข็งไสเหมือนเดิม

ชาวบ้านไม่ได้ยกย่องว่าทั้งสองทำตัวติดดิน แต่กลับนินทาลับหลังพี่น้อยว่า

...มีตังค์เสียเปล่า ไม่แต่งเนื้อแต่งตัว เป็นข้าก็อยู่สบายไปแล้ว ไม่ต้องมานั่งขายของอย่างนี้หรอก ระวังเถอะ...ไม่ทำตัวให้สวย เดี๋ยวผัวก็ไปมีเมียน้อย...”

เป็นงั้นไป


บางคน เคยเป็นคนมีตังค์ แต่พอไม่มีตังค์แล้วจมไม่ลง

ยายแป้ว เมียอดีตผู้ใหญ่หมู่บ้านถัดไป เคยใส่ทองเต็มตัว แจกคำดูหมิ่นให้คนอื่นที่จนกว่าไปทั่ว จนชาวบ้านเขาเบื่อจะคบ แต่จะด้วยอะไรก็ไม่ทราบได้ เงินทองที่เคยมีก็ร่อยหรอ แต่ยายแป้วก็ยังชอบทำตัวเหมือนเดิม แม้ไม่มีทองจะใส่ ก็ยังดิ้นรนหาเงินมาดาวน์รถเก๋งมือสองกลางเก่ากลางใหม่ ให้ลูกชายขับไปทำงาน จะไปไหนก็ต้องนั่งรถ ให้คนรู้ว่าข้านั้นมีรถนั่ง ยังดูถูกว่าคนนั้นจน คนนี้ยาก เหมือนเดิม


นานเข้านอกจากตังค์จะไม่เพิ่ม หนี้สินยังพอกพูนจนกระทั่งยายแป้วต้องไปรับจ้างเขาทำงาน หลานเคยส่งขึ้นรถไปเรียนในจังหวัดก็ต้องเอากลับมาเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน ผัวก็เป็นโรคประจำตัวทำงานหนักไม่ได้ ลูกชายก็เงินเดือนน้อย ชักหน้าไม่ถึงหลัง


หน้าตาที่เคยใหญ่โต หดจนเหลือน้อยกว่าคนอื่นตั้งครึ่ง จะออกปากขอความช่วยเหลือใครก็ลำบากเพราะไปว่าเขาไว้มากเสียแล้ว กระนั้น นิสัยชอบดูถูกคนอื่น แถมคุยโว ก็คงจะแก้ยากเสียแล้ว วันดีคืนดีก็ยังไปเบ่งว่าข้าแน่


คนฟังก็ได้แต่ปลงสังเวช


นิสัยที่ฝังลึกเปลี่ยนยากแล้ว คนเห็นแก่ตัวก็ยิ่งเหนียวแน่นในความเห็นแก่ตัว แม้มีมากก็ไม่คิดแบ่งใคร ยิ่งไม่มียิ่งคิดจะเอาเปรียบเพื่อจะได้มี

คนมีตังค์(จริงๆ) หรือ คนไม่มีตังค์(จริงๆ) รู้จักเก็บรู้จักใช้ ก็มีความสุขได้เหมือนกัน

แต่คนไม่มีตังค์ แล้วดันไปทำตัวเป็นคนมีตังค์ แถมยังดูถูกคนไม่มีตังค์ คงยากจะรู้จักความสุขที่อยู่ข้างใน จิตใจที่หดตัวลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นของใคร มักจะมุ่งไปสู่สภาพเดียวกัน โดยที่เจ้าของไม่มีวันรู้ตัว


วัตถุนิยม ไม่ใช่สิ่งที่จะทำร้าย ทำลายใครได้ มันเป็นผลผลิตจากสังคมมนุษย์ แล้วสังคมมนุษย์ก็ช่วยกันเชิดชูบูชาว่ามันมีค่ามากมาย


มีตังค์ ไม่มีตังค์ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้สักบาทเดียว


 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…