Skip to main content

สองเดือนผ่านไป คณะลิเก กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน กลายเป็นมหรสพประจำหมู่บ้าน ซึ่งไม่เพียงแค่คนในหมู่ แต่คนต่างหมู่ ต่างตำบลยังพากันมาดู


แต่ละคืน ที่ศาลาประจำหมู่บ้านซึ่งกลายสภาพเป็นโรงลิเก จะมีเก้าอี้พลาสติกสะอาดสะอ้านจำนวนสิบกว่าตัววางไว้อย่างมีระเบียบ รอผู้ชมขาประจำมานั่ง


อาจดูน้อยจนไม่น่าเชื่อว่า คนดูเพียงแค่นี้ คณะลิเกจะยอมเล่น ทว่า ด้วยจำนวนคนเพียงแค่นี้นี่เอง ที่ทำให้รายได้ให้คณะฯ ทุกค่ำคืนอย่างที่เรียกได้ว่า “คุ้มค่าตัว”

ยายจัน - คนแก่ขี้เหงา ลูกสาวไปขายของทำเงินจนมีรถหลายคันมีบ้านหลังใหญ่ แต่ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน เลยปล่อยให้ยายจัน มาเป็นแม่ยกลิเก

ป้าย้อย – แม่ค้าขายผลไม้ตลาดในอำเภอ แผงของแกใหญ่ที่สุด ขายดีที่สุด ปล่อยให้ผัวกับลูกเฝ้าบ้าน มานั่งดูลิเกแทบจะทุกคืน

น้าวัน – แม่บ้าน สามีเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่มีเวลาให้ความสุขกับภรรยา แกเลยมาหาความสุขจากการดูลิเก สัปดาห์ละหลายคืน

ลุงกิจ – ชาวนาเพิ่งเกษียณ ปล่อยให้ลูกสาวกับลูกเขยดูแลที่สวนที่นาหลายสิบไร่ ตัวเองก็มานั่งดูลิเกทุกคืน ด้วยเหตุผลที่ว่า “เบื่อทีวี”

คุณนายตำรวจ – ไม่มีใครรู้ว่าแกชื่ออะไร แต่มีคนจำได้ว่าแกเป็นเมียนายตำรวจระดับสารวัตร แกจะมานั่งดูลิเก สัปดาห์หนึ่งแค่ครั้งสองครั้ง แต่ให้ค่าดูครั้งละไม่ต่ำกว่าห้าร้อย จัดเป็นแขกระดับ วี ไอ พี

พี่สวย – แม่ม่ายลูกสอง มาดูลิเกทุกคืน แต่ไม่เคยให้ค่าดู เพราะจริงๆ แล้วแกมานั่งขายลูกชิ้นปิ้ง กับน้ำอัดลม

ฯลฯ


รวมๆ แล้วแต่ละคืน ลิเกก็ได้เงินพอแบ่งชาวคณะกันคนละร้อยสองร้อย ดีกว่าอยู่ว่างๆ ถ้าคืนไหนลิเกงดเล่น ก็เป็นอันรู้กันว่า มีคนมาจ้างไปเล่นที่อื่น


คณะลิเกเก็บเงินได้มากแค่ไหน ? ... คำถามนี้ใครๆ ก็อยากรู้

...ก็ขนาดที่เอารถมาซ่อมได้ก็แล้วกัน...” พี่แหวง ช่างซ่อมรถยนต์แบบครบวงจร(เคาะ-พ่นสี-ซ่อมเครื่อง)ประจำหมู่บ้าน ตอบคำถามแบบยิ้มๆ


รถสี่ล้อคันใหญ่ของคณะมาจอดอยู่หน้าบ้านพี่แหวง รอให้แกทำสีใหม่ เปลี่ยนหลังคาใหม่

บางวันตอนบ่ายๆ หลังจากซ้อมเสร็จ ชาวคณะลิเก จะมาช่วยพี่แหวง ขูดๆ ขัดๆ สีรถ เพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น

ใครที่เคยตั้งแง่กับชาวคณะลิเก พอมาเห็นพวกเขาช่วยกันทำงาน ก็พลอยใจอ่อน

น้า...ไม่ไปดูพวกฉันเล่นบ้างหรือจ๊ะ คืนนี้เล่นเรื่องใหม่ด้วยนะ” นางเอกหน้าคมเอ่ยถาม

...ไว้ว่างๆ ข้าจะแวะไปดูมั่ง...ลุงย้อย คนไม่ดูลิเก คิดว่าคืนนี้จะลองแวะไปดูสักที


สุดท้าย คนที่ยังจงเกลียดจงชังคณะลิเกไม่เลิกก็คือ ตาไฉ

ตาไฉ เป็นอดีตช่างไม้ และนักเล่นไพ่ตัวยง แต่ปัจจุบันเป็นคนพิการเพราะตกจากนั่งร้านก่อสร้าง ตาไฉ ได้ยายภา สาวโรงงานวัยเกือบขึ้นคานเป็นเมีย มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน แต่พ่อตาของตาไฉ ต้อนรับเฉพาะคนมีเงิน ไม่ต้อนรับลูกเขยพิการที่ยังชีพด้วยเบี้ยคนพิการจากรัฐ และรับจดหวยเป็นรายได้เสริม ตาไฉเลยต้องระเห็จมานอนอยู่ที่ศาลาหมู่บ้าน เมียกับแม่ยาย ก็คอยส่งข้าวส่งน้ำให้


ที่ผ่านมา แม้จะเดินไม่ได้ ไปไหนมาไหนต้องเข็นรถ แต่ตาไฉก็พอได้รับความเมตตาจากชาวบ้าน พออยู่ได้ ยิ่งช่วงหลังๆ มีรถแม่ค้ามาขึ้นของที่ศาลา ตาไฉยิ่งได้รับความเมตตาทีละหลายสิบบาท


แต่พอคณะลิเก ย้ายมาประจำเท่านั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตาไฉเคยได้ก็มลายหายไป


ใครต่อใครต่างก็เอาข้าวของมาให้ลิเก ทุกคนมองข้ามและลืมเลือนตาไฉผู้(พยายามอย่างสุดขีดที่จะ)น่าสงสาร ยิ่งคณะลิเกมาปักหลักอาศัยศาลาเป็นที่ทำงาน ที่นอน หุงข้าว ทำอาหาร ฯลฯ ตาไฉซึ่งเคยเป็นเจ้าที่เก่า ยิ่งเซ็งหนักขึ้นไปอีก


...ลูกคือความหวัง ความสุข และชีวิต ของพ่อแม่…”

คำพูดนี้ไม่มีใครเข้าใจลึกซึ้งไปกว่าตาไฉ เพราะชีวิตจิตใจของแกได้ทุ่มเทให้กับ ไอ้บอมบ์ ลูกชายของแกไปหมดแล้ว


ที่จริง ก่อนจะมาได้กับยายภา ตาไฉ ก็มีเมียมีลูกมาก่อน แต่พอแกเล่นไพ่จนแทบจะขายบ้าน ก็เลยถูกเมียไล่ตะเพิดออกมา แต่ตาไฉ ยังคิดว่าตัวเองแน่ เพราะหมอดูเคยทำนายไว้ว่า ตัวแกนั้นอนาคตจะได้ นั่งกินนอนกิน จนกระทั่งมาได้กับยายภา สาววัยเกือบขึ้นคาน สติไม่ค่อยจะเต็ม พอมีไอ้บอมบ์ แกก็ทั้งรักทั้งหลง แต่หลังจากที่ตกจากนั่งร้าน จนเดินไม่ได้ ต้องนั่งกินนอนกิน(หมอดูแม่นมากๆ) แกจึงพยายามให้ทุกอย่างที่แกคิดว่าดีที่สุด


และสิ่งที่ดีที่สุดที่แกรู้จักมาทั้งชีวิต ก็คือสิ่งที่เรียกว่า เงิน

ได้เงินมาเท่าไร ตาไฉ ก็ประเคนให้ไอ้บอมบ์ลูกชายสุดที่รักวัยห้าขวบ ไอ้บอมบ์จึงชินกับการถูกเลี้ยงด้วยเงินมาตั้งแต่น้อย


ก่อนลิเกจะมา ไอ้บอมบ์ก็ใช้เงินได้อย่างมากที่สุดก็คือซื้อขนม แต่พอลิเกมา ไอ้บอมบ์ก็รู้จักใช้เงินขึ้นมาอีกอย่างคือ ให้ลิเก


ยายภา เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นิยมลิเก แรกๆ ที่ลิเกมาเล่น ยายภา พาไอ้บอมบ์มาดูทุกคืน แต่ละคืนให้เงินลิเกไม่ต่ำกว่าร้อย แค่สามคืนแรกก็หมดไปห้าร้อยแล้ว


หนึ่งเดือนต่อมา ว่ากันว่า เงินโบนัสที่ยายภาได้จากโรงงาน ตั้งหมื่นกว่าบาทนั้น ลงกระเป๋าลิเกหมดเลย


ส่วนไอ้บอมบ์ ก็กลายเป็นขาประจำรุ่นเยาว์ของคณะลิเก วันไหนยายภาไม่พาไปดู จะแหกปากร้องไห้ดิ้นพราดๆ กับพื้น หรือวันไหน ได้ไปดู แต่ยายภาไม่มีเงินให้ ไอ้บอมบ์ก็จะไปไถเอากับตาไฉ ถ้าไม่ได้ก็จะแหกปากร้องไห้ดิ้นพราดๆ กับพื้นจนกว่าจะได้


ยายภาเอง หลังจากเป็นขาประจำระดับแม่ยกอยู่พักหนึ่ง ก็มีคนเห็น คนที่เล่นเป็นตัวโกงแวะไปหาถึงบ้าน ไปอ้อนขอให้ส่งข้าวปลาอาหารให้บ้าง


เป็นอันว่า ลูกและเมียของตาไฉ กลายเป็นพวกลิเกไปหมดแล้ว


ข้าต้องเก็บเงินพวกเอ็ง” ตาไฉ บอกกับหัวหน้าคณะลิเกตอนเย็นวันหนึ่ง

เก็บเงิน? เก็บค่าอะไรล่ะจ๊ะ?” หัวหน้าคณะงงว่าตาไฉจะมาไม้ไหน เพราะรู้ๆ อยู่ว่าตาไฉเกลียดคณะลิเก อาศัยศาลาอยู่ด้วยกันมาตั้งหลายเดือน ตาไฉแทบจะไม่พูดกับชาวคณะลิเกเลย

ก็ค่าที่ไงเล่า พวกเอ็งมาอาศัยศาลาอยู่ ข้าก็ต้องเก็บค่าที่น่ะสิ” ตาไฉบอกเหตุผล

อ้าว...นี่ศาลาของหมู่บ้านไม่ใช่หรือจ๊ะ?”

ก็ใช่”

แล้วพ่อไฉจะมาเก็บเงินฉันได้ยังไงล่ะจ๊ะ มันไม่ใช่ศาลาของพ่อไฉสักหน่อย”

ก็ข้าอยู่มาก่อน มีสิทธิ์ก่อน พวกเอ็งมาทีหลัง ก็ต้องให้ค่าที่ข้าสิ พวกเอ็งเล่นลิเกได้คืนละตั้งหลายร้อย แบ่งให้ข้าสักคืนละร้อยสองร้อยสิวะ” ตาไฉ เรียกเก็บค่าคุ้มครองหน้าตาเฉย


หัวหน้าคณะอึ้งไปพักหนึ่ง ก็บอกตาไฉว่า

จ๊ะ...ถ้าฉันเล่นได้เงินคืนละหมื่นเมื่อไรฉันจะแบ่งมาให้พ่อไฉสักสองร้อยนะจ๊ะ”

หัวหน้าคณะว่า แล้วก็หันหลังเดินกลับไป ปล่อยให้ตาไฉตะโกนด่าดังลั่น


เดี๋ยวนี้พอตกเย็น ไอ้บอมบ์เลิกเรียน มาวิ่งเล่นแถวศาลา มันก็ร้องรำลิเกของมันอยู่คนเดียว

ใครได้ยินก็หัวเราะ


แต่ตาไฉแอบร้องไห้อยู่คนเดียว

 

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…