Skip to main content

กลางเดือนกุมภาพันธ์

ดูเหมือนแดดจะแผดแสงก่อนที่ดวงตะวันจะขึ้นเสียอีก

ความร้อนแห่งวันเริ่มต้นพร้อมกับเสียงไก่ขัน

เด็กๆ ไปโรงเรียน ผู้ใหญ่ก็จับจอบจับเสียมเตรียมตัวไปไร่

 

หลังจากฤดูหนาว(กว่าปกติ)ผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว หน้าร้อนปีนี้ ก็เข้าแทนที่อย่างแทบไม่ทันตั้งตัว แต่ชีวิตคนใต้ท้องฟ้า จะร้อนจะหนาวแค่ไหนก็ได้แค่บ่น แล้วก็ทนๆ กันไป

กระนั้น ความร้อนตามทุ่งนา ป่า เขา ก็ยังพอมีร่มให้หลบ มีลมเย็นพัดโชยให้คลายได้บ้าง


ขณะที่ปัญหาเศรษฐกิจกำลังลุกลามไปทั่วประเทศราวกับไฟป่าออสเตรเลีย อีกมุมหนึ่งของประเทศ ชาวนาก็กำลังตัดสินใจว่า จะทำนาปรังปีนี้ดีหรือเปล่า

...ทางชลประทานเขาก็บอกมาแล้ว ว่ามีน้ำน้อย แล้วมีคลองตั้งสามสายจะเปิดให้หมดทุกสายพร้อมกันคงไม่พอ ก็เลยต้องแบ่งเปิดสายละสามวัน...ข้าก็เลยไม่อยากจะเสี่ยงทำนาปรังหรอก เดี๋ยวน้ำไม่พอละก็ เสร็จเลย...” ลุงเผย ปรับทุกข์กับเพื่อนวัยเดียวกันในวงกาแฟตอนเช้า

...ส่วนข้าไม่ต้องคิด ที่ข้าอยู่ห่างจากคลองตั้งเยอะ หน้าน้ำยังต้องรอทีหลังเขา หน้าแล้งนี่ยิ่งไม่ต้องคิดทำเป็นอันขาด...” ทิดเป้า พูดบ้าง

...แต่ที่เอ็ง...” ลุงเผย หันไปทางน้าอู๊ด “...อยู่ติดคลองนี่นา คงได้ทำนาปรังสินะ เออ...น่าอิจฉาจริงเว้ย ข้าวกำลังราคาดีเสียด้วย...”


แต่น้าอู๊ด ส่ายหน้า

...ยังไม่รู้เลยว่าจะทำได้หรือเปล่า คงจะต้องแบ่งทำ เพราะกลัวว่าน้ำจะไม่พอ...นี่ก็คิดอยู่ว่า จะปลูกมะเขือเทศ หรือแตงกวาคงจะเหมาะกว่า...” น้าอู๊ดสารภาพตามตรง

ทิดเป้า ดูดกาแฟสองที แล้วเปรยว่า

...เออ...หน้าแล้งบ้านเรา มันก็ต้องเอานาไปปลูกมะเขือเทศ แตงกวา แตงโม กันหมดนั่นละนะ ถ้าโชคดี ก็คงพอคืนทุนบ้าง ถ้าโชคร้ายราคาร่วง ก็คงได้กู้สหกรณ์กันอีกแล้ว...”

ลุงเผย หัวเราะ ปลอบใจกึ่งกระเซ้าว่า

...กู้สิดี ไม่มีหนี้ ไม่มีหน้า...มีหนี้สิน ก็เท่ากับมีเครดิตนะเว้ย...”


การปลูกแตงกวา มะเขือเทศ แตงโม ถั่วฝักยาว บวบ ฟัก มะระขี้นก ในฤดูแล้ง เป็นที่นิยมในแถบนี้มาแต่ไหนแต่ไร เนื่องจากพอเข้าหน้าแล้ง บางปีน้ำน้อย ทำนาปรังไม่ได้ จึงเอาที่นามาปลูกพืชล้มลุกนานาชนิดแทน


ในพื้นที่หลายร้อยตารางกิโลเมตร ตลอดคลองสามสายที่ขนานกันไปจนกระทั่งออกทะเล ที่นาถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นแปลงผัก พอเพาะกล้าจนโต ก็ยกร่อง คลุมพลาสติก ปักหลักไม้รวกแล้วขึงตะคัด รดน้ำให้ปุ๋ย ดูแลให้ต้นอ่อนเติบโต เตาะแตะต้วมเตี้ยม ไต่ตามผืนตะคัดขึ้นไป เมื่อเติบใหญ่จนออกดอก ออกผล จึงได้เวลาเก็บเกี่ยว


ว่ากันอย่างขำๆ

ปีกลาย ยายจง ปลูกมะเขือเทศ ได้ราคาดีเหลือหลาย กิโลละยี่สิบห้าบาท มีเท่าไรแม่ค้าเหมาหมด ช่วงแรกยายจงจึงทำเงินไปได้หลายหมื่น แต่ผ่านไปไม่นาน มะเขือเทศราคาตกเหลือกิโลละสองบาท แม่ค้ายังไม่ค่อยอยากจะเอา ยายจง เลยต้องเอามาแจกเพื่อนบ้านไว้เชื่อมกิน


ปีก่อนนู้น น้าโชติกับครอบครัว ช่วยกันปลูกมะเขือเทศ จังหวะดี มะเขือเทศแพง น้าโชติได้มาสามแสน ปลดหนี้สินไปจนหมด แถมถอยรถกระบะมือสองมาอีกหนึ่งคัน แต่ปีถัดมา มะเขือเทศราคาตก น้าโชติก็กลับไปเป็นหนี้ใหม่อีกครั้ง


สำหรับเกษตรกร(บางชุมชน) การปลูกอะไรสักอย่างก็เหมือนซื้อหวย เพียงแต่มันมีความเสี่ยงกว่ากันเยอะ ถ้าโชคดีก็อาจหมดหนี้ ถ้าโชคไม่ดีก็แค่พอถูไถได้กำไรพอคุ้มเหนื่อย ถ้าโชคร้ายก็เพิ่มหนี้เข้าไปอีก ความคิดที่ว่า ทำแต่พอดี เหนื่อยแต่พอดี ขาดทุนหรือได้กำไร ก็เอาแต่พอดี เป็นได้แค่ความคิด


เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับชาวบ้าน(บางชุมชน) ทั้งที่ยังเป็นหนี้ และทั้งที่รวยแล้ว จึงไม่อาจเป็นจริงได้ เพราะคำว่า “พอ” ไม่เคยเกิดขึ้นจริง


ก็ต้องเสี่ยงกันไป...อยู่เฉยๆ มันจะไปมีอะไรดีขึ้นมา” ป้าจิ๊บว่าอย่างนี้

แล้วทำไมต้องทำตั้งเยอะแยะล่ะ เปลืองปุ๋ย เปลืองยา เหนื่อยก็เหนื่อย เกิดราคาตกก็ขาดทุนสิ...ทำน้อยๆ ลงทุนน้อยๆ ก็ไม่ต้องเสี่ยงมาก” ลูกสาวแนะนำ

อ้าว...ทำน้อยๆ เวลาขายก็ขายได้น้อยๆ ด้วยสิ เรื่องอะไร มีที่ตั้งเยอะ ไม่ใช้ก็เสียเปล่าสิ” ป้าจิ๊บ ไม่เห็นด้วย แล้วแกก็ตั้งหน้าตั้งตา ทำแบบเยอะๆ ของแกต่อไป


ปลายสัปดาห์นั้นมีข่าวดี เมื่อผู้ใหญ่บ้านประกาศออกเสียงตามสายว่า ทางชลประทานนั้น ได้มีมติแล้วว่าจะเปลี่ยนแปลงให้มีการเปิดน้ำนานสองสัปดาห์ และจะปิดอีกหนึ่งสัปดาห์สลับกันไป ซึ่งน่าจะพอเพียงแก่การทำนาปรัง


ชาวบ้านได้ยินข่าวดังนั้น ที่ไม่คิดจะทำนาปรังก็เลยต้องรีบไปจองรถไถกันใหญ่

ใครเอาที่ไปปลูกแตงกวา ปลูกมะเขือเทศแล้ว ก็ไม่มีสิทธิปรับเปลี่ยน ส่วนใครที่ยัง หากต้องการทำนาก็ต้องรีบดำเนินการ

งานนี้ใครไวก็ได้เปรียบ

ทำทั้งมะเขือเทศ ทั้งแตงกวา ทั้งนา มันจะไหวหรือแม่...” ลูกสาวถามอย่างเป็นห่วง

เออน่ะ...ข้าทำของข้าได้” ยายจิ๊บยืนยันอย่างคนเชื่อมั่นในตัวเองสูง


ลูกสาวได้แต่เป็นห่วง เพราะกะเพรา โหระพา ก็ยังออกเต็มไร่หลังบ้าน แม้ราคาจะตกเหลือกิโลกรัมละห้าบาทหกบาท แต่ทำคนเดียวก็ไม่ค่อยจะทันแล้ว ไหนจะต้องคอยวิ่งไปช่วยแม่ดูแลแตงกวา กับ มะเขือเทศ อีก


แล้วมันจะพอเพียงได้ยังไง...” ลูกสาวบ่นอย่างเหนื่อยหน่าย


บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…