Skip to main content

20080130 ภาพประกอบ หัวข้อคำตอบอยู่ในผืนดิน

“...ยังไม่เคยเห็นธนาคารไหนในโลกให้ดอกเบี้ยร้อยเปอร์เซนต์ ฝากพันให้พัน ฝากหมื่นให้หมื่น ฝากล้านให้ล้าน ไม่เคยเห็น แต่ธรรมชาติจะให้มากกว่านั้นแทบทุกเรื่อง ถ้าเราฝากธรรมชาติ อย่างเช่น ถ้าเราเอาเงินสิบบาทไปฝากธนาคาร ถ้าเขาให้ดอกร้อยเปอร์เซนต์ สิ้นปีก็ได้สิบบาท รวมที่ฝากเป็นยี่สิบบาท คือสูงสุดแล้ว แต่ถ้าฝากธรรมชาติ ก็เหมือนฝากให้คนอื่นทำงาน สมมติต้นกล้วยห้าบาท ค่าปลูกกล้วยอีกห้าบาท รวมเป็นต้นทุนสิบบาท พอสิ้นปีได้ปลีกล้วยมาอันหนึ่ง เครือกล้วยอีกเครือหนึ่ง หน่อกล้วยอีกสองหน่อ อันนี้ไม่รู้ราคาเท่าไรแล้ว ถามว่ามันได้ร้อยเปอร์เซนต์ หรือกี่ร้อยเปอร์เซนต์ แถมปีที่สองก็ไม่ต้องไปฝากอีกมันมีของมันสองหน่อแล้ว ธรรมชาติจะให้เรามากขึ้นเรื่อยๆ...”
(คำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้านผู้ริเริ่มการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ)

ครอบครัวของแม่ผมเป็นครอบครัวชาวนา ตากับยายยังทำนาอยู่แม้ว่าลูกทุกคนจะมีครอบครัวไปหมดแล้ว
ที่นาของตามีอยู่หลายสิบไร่ นอกจากนี้ตายังเลี้ยงวัว และมีบ่อปลาอีกหลายบ่อ  พอถึงหน้านา รอบบ้านตาจะกลายเป็นทุ่งข้าวเขียวสุดลูกหูลูกตา ทุกช่วงปิดเทอมผมจะได้ไปอยู่กับตา ช่วยตาเลี้ยงวัวบ้าง จับปลาบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็จะวิ่งเล่นตามประสาเด็ก ภาพท้องนา จึงเป็นภาพที่อยู่ในใจผมมาตลอด

เมื่อผมอายุได้ประมาณสิบขวบ ตาให้ผมได้ลองดำนาเป็นครั้งแรก ในวัยนั้น อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คือเรื่องน่าสนุกทั้งสิ้น เมื่อรู้วิธี ผมก็โหมทำทั้งวัน สนุกอย่างลืมเหน็ดลืมเหนื่อย ผลของการดำนาวันแรก ผมเลยได้เป็นไข้นอนซมอยู่บนเตียงเนื่องจากตากแดดทั้งวัน คุยถึงเรื่องนี้ทีไร ตากับยายจะหัวเราะด้วยความเอ็นดูทุกครั้ง

หลังจากนั้นไม่นาน ตาจากไปด้วยโรคไต ยายขายนาส่วนหนึ่ง ที่เหลือก็ให้เขาเช่า วัวถูกขายไป บ่อปลาถูกถม ผมไม่ได้กลับไปที่นั่นอีกเลย

ผมเติบโตเช่นเดียวกับบุตรข้าราชการทั่วไป จบมอหกต่อปริญญาตรี จบแล้วหางานทำ วนเวียนเข้าๆ ออกๆ เป็นลูกจ้างอยู่นานปี ก่อนจะพบหนทางของตัวเอง อาจเพราะบางสิ่งในวัยเด็กยังอยู่ในความทรงจำอย่างยาวนาน ผมจึงหวนหาวันคืนในท้องนามาตลอด

ยี่สิบปีเต็มนับจากครั้งแรกที่ผมได้ดำนา ผมได้ดำนาอีกครั้งบนที่นาแปลงเล็กๆ ของมูลนิธิที่นา  แม้จะเป็นเพียงที่นาแปลงเล็กๆ ที่แบ่งให้ทุกคนได้ลองทำคนละแถว สองแถว แต่มันก็ทำให้ผมได้สัมผัสกับประสบการณ์การดำนาอีกครั้ง

แสงแดด
พื้นเลนในท้องนา
ต้นกล้าข้าวเหนียวต้นเล็ก

ในอดีต ก่อนที่การปฏิวัติเขียวจะเปลี่ยนชีวิตมนุษย์ไปค่อนโลก ผืนดินคงอุดมกว่านี้ ธรรมชาติคงสมบูรณ์ยิ่งกว่านี้ เพียงแค่หว่านข้าวลงในแปลง ปล่อยให้สายลม แสงแดดและพื้นดินดูแล เมล็ดข้าวก็เติบโตจนกลายเป็นต้นข้าว ที่เต็มไปด้วยรวงข้าว มีเมล็ดข้าวในแต่ละรวงนับสิบนับร้อยเมล็ด หรือจะเพาะจากเมล็ดข้าว ให้เป็นต้นกล้า จากนั้นก็ดำนา ปักดำกล้าข้าว 3-4 ต้นเป็นหนึ่งกอ ทำไปทีละจุดๆ จนเต็มท้องนา ผ่านวันผ่านคืน ข้าวก็จะเติบโตเป็นแถวแนว เขียวไปทั้งท้องทุ่ง

หากไม่ได้ลงมือดำนา หากไม่ได้เฝ้ามองการเติบโตของต้นข้าว หากไม่ได้ลงมือเก็บเกี่ยว หากไม่ได้สีข้าว
หากไม่ได้หุงข้าว และหากไม่ได้ลิ้มรสข้าวที่ปลูกเอง ไหนเลยจะรับรู้ถึงความรักอันไพศาลจากธรรมชาติ

ธรรมชาติไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด นอกจากให้ ทั้งยังให้มากเกินกว่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์ แต่ความต้องการของมนุษย์กลับมากยิ่งกว่าที่ธรรมชาติมอบให้ และไม่เคยเพียงพอ นั่นจึงเป็นโศกนาฏกรรมตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ขณะที่ดำนา ผมเกิดความคิด ความรู้สึกหลายอย่าง เหมือนได้ย้อนกลับไปในวันที่ได้ดำนาเป็นครั้งแรก เพียงแต่ครั้งนี้มันมากกว่าความสนุกประสาเด็กในวันวาน

หากการวิปัสสนา คือหนทางแห่งการเรียนรู้ตนเอง ทำให้เห็นทุกข์และหาหนทางที่จะลด หรือไปให้พ้นจากความทุกข์

การได้ผลิตอาหารเองเช่นการปลูกข้าว ก็เป็นหนทางที่ทำให้เห็นความจริงว่า ชีวิตมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่อาจหลีกพ้น และการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติเท่านั้น จึงจะเป็นหนทางสู่สันติ

หากความรักคือคำตอบ ธรรมชาติซึ่งเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็มีคำตอบสำหรับทุกคำถาม

เมื่อการดำนาเสร็จสิ้น ผมนั่งมองแนวต้นกล้าเบี้ยวๆ เฉๆ ของตนเองและชาวนาสมัครเล่นทั้งหลายแล้วก็ให้นึกขำ
แน่นอน ความสำคัญของมันย่อมอยู่ที่การเติบโตของต้นข้าวไม่ใช่ความเป็นระเบียบเหมือนแถวทหาร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเที่ยงตรงสม่ำเสมอของระยะห่างก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตเช่นกัน

พวกเราเหมือนเด็กปอหนึ่งที่เพิ่งหัดเขียนกอไก่ กว่าจะเขียนได้เต็มหน้ากระดาษก็โย้ไปเย้มา  ขณะที่ชาวนาผู้ปลูกข้าวมาทั้งชีวิต เหมือนกับช่างอักษรผู้มีลายมืออันหมดจดงดงาม บรรจงเขียนอักษรแต่ละตัวด้วยความชำนาญ รวดเร็ว และเป็นระเบียบยิ่ง ทั้งเมื่อเขียนเสร็จแล้ว ต้นข้าวแต่ละกอ แต่ละแถวก็มีระยะห่างราวกับใช้ไม้บรรทัดวัด

ชาวนา นำเมล็ดข้าวหนึ่งเมล็ดไปฝากผืนดิน แล้วผืนดินก็คืนเมล็ดข้าวอีกสิบร้อย พัน หมื่นเมล็ดให้แก่ชาวนา

บางที เมื่อถึงวันหนึ่ง ผมอาจจะหมดความสนใจในการจับดินสอ ปากกา แล้วหันไปขีดเขียนบนผืนดินแทน มันคงจะคล้ายกับการจับดินสอหัดเขียนกอไก่อีกครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่การดุ่มเดินไปเพียงลำพังแน่นอน เพราะผมรู้ว่าปลายทางของการทำงานนี้อยู่ที่ไหน

สักวันหนึ่ง...

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…