Skip to main content
20080407_สนทนา2


...
ทว่าการเคลื่อนย้ายกระบวนทัศน์ครั้งนี้ต้องอาศัยปัญญามหาศาล ความกล้าหาญมหึมา และความมุ่งมั่นเหลือคณา เพราะความกลัวจะจู่โจมถึงแกนกลางของแนวคิดนี้ และป่าวร้องว่าผิดพลาด ความกลัวจะกัดกินเข้าไปยังแก่นแห่งสัจธรรมล้ำเลิศและแปลงให้เป็นเรื่องเท็จเทียม ความกลัวจะบิดเบือน และทำลาย ฉะนั้นความกลัวจะเป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุด


ทว่าเธอไม่อาจมีและไม่อาจสร้างสังคมที่ปรารถนาและใฝ่ฝันมาช้านานจนกว่าจะเห็นปัญญาและกระจ่างชัดถึงปรมัตถ์สัจจ์ที่ว่า สิ่งที่เธอทำแก่ผู้อื่นเธอก็ได้ทำแก่ตัวเอง สิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้อื่น เธอก็ไม่ได้ทำให้ตัวเอง

ว่าความเจ็บปวดของผู้อื่น ก็คือความเจ็บปวดของตัวเธอ ความเบิกบานของผู้อื่นก็คือความเบิกบานของเธอด้วยเช่นกัน


ว่าเมื่อเธอปฏิเสธส่วนใดส่วนหนึ่งของมัน ถือว่าเธอกำลังปฏิเสธส่วนนั้นของตัวเอง...”

(หน้า 313-314)


ปัญหาสุดท้ายและยากเย็นที่สุดก่อนเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสู่โลกอารยะ นั่นคือการทำให้มนุษย์มองเห็นและเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ภายในตัวเอง กระบวนการวิวัฒน์ทางจิตวิญญาณ จะดำเนินไปตามลำดับขั้น โดยขึ้นอยู่กับพลังศรัทธาเป็นสำคัญ ขณะที่สังคมโดยรวมดูเหมือนว่า ความเจริญแห่งวิญญาณจะวิ่งสวนทางกับความก้าวล้ำของเทคโนโลยี การหยัดยืนในกระแสอันเชี่ยวกรากให้ได้จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง


ในความเป็นปุถุชน แม้ว่าลึกๆ จะฝันใฝ่ถึงสิ่งที่สูงส่ง ถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ ถึงสังคมที่ดีกว่านี้ ทว่าน้อยคนเหลือเกินจะกล้าเชื่อว่า เราสามารถทำให้มันเป็นจริงได้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง ก่อนจะแผ่ขยายไปสู่สังคม


ทั้งที่จริงๆ แล้ว ในระดับของการดำรงชีวิตประจำวัน สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะหากเราไม่อาจยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้น เราอาจถูกกระแสสังคมดึงให้ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เมื่อเหลียวมองรอบข้าง ไม่เห็นสิ่งที่เรียกว่าความรัก ความงาม หรือความดี ความมืดบอดในใจอาจทำให้เราคิดว่านั่นเป็นธรรมดาของโลก ใครๆ ก็ต้องเอาตัวรอด แล้วเหตุใดเล่าเราจะไม่เอาตัวรอดเช่นเดียวกับผู้อื่น


ด้วยความคิดที่หดตัวเช่นนี้ จึงทำให้สำนึกโดยรวมของคนทั้งโลกตกต่ำลง


สังคมส่งผลต่อปัจเจก แต่ปัจเจกก็ย่อมส่งผลต่อสังคมได้เช่นกัน ในอดีต สังคมโลกโดยรวมแม้จะยังมีความโหดร้ายป่าเถื่อนไม่ต่างจากปัจจุบันนัก ทว่า น้ำใจไมตรีและการมีชีวิตที่กลมกลืนกับโลกธรรมชาติมีมากกว่าปัจจุบัน ยุคสมัยแห่งทุนที่ชี้นำให้มนุษย์สะสมความโลภ ทำให้สังคมโลกเพิ่มแรงพุ่งทะยานไปข้างหน้าฉุดดึงมนุษย์ให้ออกห่างจากความเชื่อเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวของทุกสิ่ง จิตใจที่หดแคบลงจนเหลือเพียงตัวเรา ของเรา ส่งผลต่อจิตสำนึกหมู่กลายเป็นปัญหาสำคัญที่กระทบทั้งหน่วยเล็กหน่วยใหญ่ ทั้งยังมีแนวโน้มจะเสื่อมถอยลงยิ่งกว่าเดิม


การหยุดยั้งหายนะของโลกซึ่งหมายถึงหายนะของตัวเราเองด้วย จึงมีอยู่เพียงวิธีเดียวนั่นคือการพยายามมองให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่ง การดำรงตนอยู่ด้วยภาวะแห่งการเกื้อกูลมิใช่เบียดเบียน มิใช่แยกตัวออกห่าง


นี่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “การเคลื่อยย้ายกระบวนทัศน์” ที่ท้าทายมนุษยชาติมากที่สุด ไม่ใช่การอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กับทำลายโดยอ้างว่ายั่งยืน ไม่ใช่การค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ ไม่ใช่การค้นหาความเป็นไปได้ในการดำรงชีวิตที่ดาวอังคาร ยิ่งไม่ใช่การหาทางรอดเพียงลำพังโดยไม่มองถึงสังคมโดยรวม


ฟังดูเหมือนเป็นสิ่งเลื่อนลอย เป็นอุดมคติชั่วกัลปาวสานที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่หากนี่ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ต้องการแล้ว ยังจะมีสิ่งอื่นใดอีก ? ศานติ และความเบิกบานแห่งชีวิต ยังเป็นสิ่งที่น้อยเกินไปอีกหรือ ?

และแท้จริงแล้ว ความบริบูรณ์นี้ยังจะแสวงหาได้จากที่ใดอีกหากไม่ใช่ภายในตัวมนุษย์เอง

คำตอบสุดท้ายของทุกสิ่ง ไม่ว่าจะสรุปด้วยคำว่า “ความรัก” หรือ “ศรัทธา” แต่นี่ก็คือความรู้สึกสูงสุดและพลังงานมากมายมหาศาลที่สุด ที่มนุษย์มี แต่เห็นคุณค่าของมันน้อยเหลือเกิน


การอ่านสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 แม้ประเด็นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องสังคม แต่ในที่สุดแล้ว ทุกคำถามก็ทำให้ผู้อ่านต้องย้อนกลับมามองถึงคุณค่าภายในตัวเอง ความคิดสูงสุดที่แต่ละคนมีต่อตัวเอง เพราะนี่คือสิ่งที่จะกำหนดคุณค่าของสิ่งต่างๆ ในสังคม หากเราไม่ตระหนักถึงสิ่งนี้ เราย่อมไม่อาจมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ได้เลย สังคมก็จะดำเนินไปด้วยอำนาจของคนไม่กี่คน ที่ “กี๊ก” มันไว้ ไม่ยอมแบ่งให้คนอื่น


นานมาแล้ว ที่ผมมักจะใช้คำแก้ตัวดาดๆ ที่ว่า “รอให้เราพร้อมเสียก่อน ค่อยช่วยคนอื่น” เพราะผมคิดว่าตนเองยังไม่ดีพอ ยังไม่พร้อมที่จะช่วยใครได้ เมื่อกลับมาคิดดูในตอนนี้ คำแก้ตัวดาดๆ นี้เป็นจริงแค่ครึ่งเดียว เพราะ แม้ว่าผมจะยังไม่พร้อม แต่หากผมเห็นแก่ตัวน้อยลง ผมก็สามารถช่วยคนอื่นได้มากขึ้น


แท้จริงแล้วทุกคนล้วนมีคุณค่า และสังคมก็คือภาพสะท้อนของคุณค่าที่แต่ละคนมอบให้ตนเอง

คุณลงมือปลูกต้นไม้ สักวันมันก็ให้ร่มเงากับคุณ

คุณลงมือก่อกองไฟ สักวันมันก็แผดเผาคุณ


ศรัทธา” ที่คุณมีให้แก่ตัวคุณเองนั้น มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่คุณคิด


*******************************


** ขอขอบคุณ คุณอัฐพงศ์ เพลินพฤกษา สำหรับหนังสือสนทนากับพระเจ้าเล่ม 2 และความปรารถนาดี

เสมอมา

บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…