Skip to main content

ดั้งเดิม

ก่อนที่แต่ละบ้านจะมีเอกสารกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินของตัวเอง บ้านส่วนใหญ่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “รั้ว” อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละบ้านในละแวกก็ล้วนพี่น้อง หรือนับไปนับมาก็ญาติกันทั้งนั้น อาจปลูกต้นไม้เป็นแนวให้บอกได้ว่าเป็นแดนใคร แต่จะถึงขั้นปักเสาขึงลวดหนาม หรือก่อกำแพงล้อมนั้นน้อยราย เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลืองเงิน เขตบ้านใครก็บ้านมัน ถึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ถึงไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ไม่ก้าวก่ายกันอยู่แล้ว


เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ใครคนหนึ่งเกิดอยากทำเอกสารสิทธิ์ที่ดินของตน จากที่เคยชี้นิ้วบอกว่านี่เขตใคร การออกเอกสารสิทธิ์ จะแสดงให้รู้ว่าเขตใครที่ว่านั้นอยู่ตรงไหนกันแน่ เมื่อลูกหลานเพิ่มมากขึ้น การจะแบ่ง จะซื้อจะขาย จำเป็นต้องมีกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจน


ถ้าทุกอย่างเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็นก็ไม่น่าจะมีอะไร แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเพราะว่า คนที่ต้องการทำโฉนดนั้น ต้องการมากกว่าคนอื่น ใช้สิทธิ์มาก่อนได้ก่อน เอาเจ้าหน้าที่ที่ดินมาทำโฉนดก่อนใคร วางอาณาเขตตัวเอง ล้ำเข้าไปในแดนคนอื่น ไม่เพียงแค่นั้น ยังอาศัยเส้นสายที่มีติดต่อหน่วยราชการมาทำถนนคอนกรีตผ่านหน้าบ้านตัวเอง แต่อ้อมล้ำเข้าไปในแดนคนอื่น


เมื่อบ้านหลังแรกทำเช่นนั้น บ้านหลังอื่นก็ต้องรีบทำตาม เพราะไม่รู้ว่าจะถูกใคร “กิน” ที่เข้าวันไหน แม้จะหลังคาบ้านเคียงกัน เป็นพี่น้องคลานตามกันมา แต่ก็จำเป็นต้องทำรั้ว ทั้งเพื่อแสดงเขตตัวเอง ทั้งเพื่อกันคนอื่นเข้ามาบุกรุก ใครไม่ทำรั้วก็กลายเป็นคนเสียเปรียบ


แต่เดิม จะเดินผ่านบ้านกันก็ยังต้องร้องบอก จะเอาพริก มะเขือ มะนาว ก็ต้องร้องขอ แต่ตอนนี้ใครอยากจะเข้ามาในบ้าน มาหยิบฉวยอะไรในบ้านไปโดยไม่บอกกล่าวเจ้าของก็ทำกันตามอำเภอใจ จอบ เสียม เครื่องมือทำการเกษตร มาหยิบยืมไม่เคยบอก เอามาคืนไม่เคยครบ พืลผลปลูกไว้ในสวน เคยขอกันกินนั้น ไม่มีปัญหา แต่พอเงินเข้าบังตา อะไรๆ ก็กลายเป็นของมีราคา เลยเกิดรายการ เก็บไปไม่บอก ขโมยผักในสวนไปขายกันอย่างไม่ละอาย แม่ค้าบางคน เคยมาขอซื้อกล้วยแล้วมาตัดไปเอง ก็กลายเป็นมาแอบตัดกล้วยไปไม่บอกไม่กล่าว ถือวิสาสะ เอาไปก่อน แล้วบอกทีหลัง ถ้าไม่ทวงก็ทำเฉยเสีย


บางบ้านเลี้ยงวัว จะเอาวัวมาผูกให้กินหญ้าหน้าบ้านคนอื่นก็ไม่เคยขอ ไม่เคยบอก บางทีวัวหลุดออกมาเหยียบต้นไม้ที่ปลูกไว้ ก็ไม่เคยรับผิดชอบ หากไม่อยากมีปากเสียงก็ต้องทน เพื่อนบ้านประเภทเห็นแก่ตัวจนน่าขนลุกก็มีเหมือนกัน ปลูกบ้านเทพื้นปูนเสียเต็มพื้นที่ตัวเอง ขยะ น้ำเสีย ก็ทิ้งใส่ที่บ้านคนอื่น ต้นกล้วยของเพื่อนบ้านมาขึ้นเคียงรั้วตัวเอง ก็แอบฟันทิ้ง


สุดท้าย แม้เสาคอนกรีต กับลวดหนาม จะแพงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็จำต้องทำ เพื่อกันปัญหาจุกจิกกวนใจ ที่ไม่มีเงิน ก็เอาไม้มาปักแล้วเอาลวดธรรมดาผูก กระนั้นก็ยังมีเรื่องกระทบกระทั่งเพราะเพื่อนบ้านบางคน ไม่รู้จักคำว่า ความเกรงใจ


ความจริง ทุกที่ก็มีทั้งคนดีคนไม่ดี มีคนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีคนเห็นแก่ตัว ปัญหามันคงจะไม่มาก ถ้าหากผู้นำชุมชนดีพอ แต่ทั้งคนก่อนนี้ และคนนี้ คงใช้คำว่าดีพอไม่ได้ เป็นผู้นำแต่เพียงในนามเท่านั้น เมื่อเรื่องน้ำเน่าในหมู่บ้านไม่เคยสะสาง มันก็เลยกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงมาก่อความรำคาญทุกวี่วัน


เมื่อผู้นำเป็นที่พึ่งไม่ได้ ชาวบ้านก็ต้องพึ่งตัวเอง ป้องกันตัวเอง

คนเล่นยา คนขายยา ขโมย

กลางค่ำกลางคืน ก็ระวังตัวเอาเอง
ตำรวจนั้น ไม่ต้องพูดถึง รู้ทั้งรู้ว่าใครยุ่งกับยาเสพติดก็ยังปล่อยให้ลอยนวล

อยู่กลางหมู่บ้าน แต่รู้สึกเหมือนอยู่โดดเดี่ยว และจริงๆ ถ้าอยู่โดดเดี่ยวกลางสวนกลางนา ยังอาจจะสบายเสียกว่า


ถึงที่สุดแล้ว รั้ว คงไม่สามารถกันพวกมิจฉาชีพ หรือคนที่ประสงค์ร้ายต่อทรัพย์สินของเราได้ หากมันต้องการจริงๆ รั้วเพียงแค่ทำให้พื้นที่ มีขอบเขตที่ชัดเจนขึ้น แสดงให้เห็นสิทธิ์อันชอบในอาณาจักรเล็กๆ ที่เรียกว่าบ้านของเรา สังคมวัตถุนิยมที่ส่งเสริมให้ความโลภเติบโตในใจคน ทำให้ความเคารพในสิทธิ์ของคนอื่นลดน้อยถอยลง ยิ่งการควบคุมในสังคมหละหลวมหย่อนยาน การละเมิดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น


รั้วบ้าน ยังพอกั้นได้ แต่รั้วสำหรับสิทธิ์ส่วนบุคคล ไม่ได้ชัดเจนอย่างนั้น แม้จะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขอบเขตอยู่ตรงไหน ก็ยังมีคนชอบปีนเข้ามา ขโมยบางอย่างไปจากเรา


ความสงบ

ศักดิ์ศรี

ความเป็นมนุษย์


มันอาจเริ่มจากคนเห็นแก่ตัวบางคน แล้วแผ่ขยายออกไปจนทำให้ทุกคนต้องสร้างรั้วของตัวเอง


รั้ว ที่บอกขอบเขตความเป็นส่วนตัว

แต่ไม่อาจกันขโมยได้ จะมีประโยชน์อะไร ? ...


บล็อกของ ฐาปนา

ฐาปนา
“...พูดอย่างกว้างที่สุดคือ สิ่งเลวร้ายทั้งหมดเกิดจากการเลือกของเธอเอง ความผิดพลาดไม่ได้อยู่ที่การเลือกนั้นแต่อยู่ที่การเรียกว่าเลวร้าย เพราะเมื่อเธอบอกว่ามันเลวร้ายก็เท่ากับบอกว่าตัวเธอเองเลวร้ายด้วย เพราะเธอเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เธอไม่อาจยอมรับการตราหน้านี้ได้ ดังนั้น แทนที่จะตราหน้าตัวเองว่าเป็นคนเลวร้าย เธอกลับปฏิเสธสิ่งต่างๆ ที่ตนสร้างขึ้นมาเสียเลย อสัตย์ทางสติปัญญาและจิตวิญญาณนี้เองที่ทำให้เธอยอมรับโลกอันมีสภาพอย่างนี้ หากเธอจะยอมรับหรือแม้เพียงรู้สึกลึกๆ ข้างในว่าตนมีส่วนต้องรับผิดชอบต่อโลกใบนี้บ้าง โลกจะต่างออกไปกว่านี้มาก มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หากทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบ…
ฐาปนา
“...เราจะต้องดำรงชีวิตที่เป็นของเราเอง การงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเท่านั้น และงานคือชีวิตก็ต่อเมื่อเราทำงานนั้นด้วยสติเท่านั้น มิฉะนั้นเราก็จะเหมือนกับคนตายที่มีชีวิตอยู่ เราแต่ละคนจะต้องจุดคบเพลิงของชีวิตด้วยตนเอง แต่ชีวิตของเราแต่ละคนเกี่ยวพันกับชีวิตของบุคคลรอบๆ เราด้วย หากเรารู้จักวิธีปกปักรักษา และระวังจิตใจและหฤทัยของเราเอง นั่นแหละจะช่วยให้พี่น้องเพื่อนมนุษย์รอบข้างเรา รู้จักการมีชีวิตอยู่อย่างมีสติ...”(ติช นัท ฮันห์,ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ: มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งที่ 17,กันยายน 49) ความเปลี่ยนแปลง คือสัจธรรม ไม่มีสิ่งใดที่จะคงทนถาวรโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง…