Skip to main content

  เนื่องจากเป็นวิชาเรียน ชื่อวิชาการเขียนสารคดี เพื่ออรรถรสจึงต้องมีการเพิ่มลดรายละเอียดของเรื่อง ให้เข้ารูปแบบสารคดีสมัยใหม่ และพยายามเขียนอย่างไม่เข้าข้างความคิดตัวเองมากที่สุด

 

ก่อนเขียนอาจารย์ให้อ่านงานที่รุ่นพีเขียนไว้ เป็นเรื่องลุงขายของเล่นเด็กทำจากท่อพีวีซีที่เรียก "ป๋องแป๋ง" แถวองค์พระปฐมเจดีย์คนหนึ่ง ข้อคิดหลักของเรื่องนี้คือ การทำงานนั้นน่าภาคภูิมิใจ แม้ว่าจะรายได้น้อย ทำแล้วหนื่อย แต่ถ้าเป็นงานสุจริต ทำแล้วเราพอใจ เลี้ยงชีพได้ งานนั้นก็คืองานที่ดี

 

หนูเห็นด้วยและไม่เถียงเรื่องการทำงานที่ชอบ แต่หนูสนใจประเด็นที่มากไปกว่านี้ ในงานของหนู หนูต้องการจะบอกอาจารย์ว่า ชีวิตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของเราเสมอไป ตราบใดที่เรายังเป็นพลเมือง ยังอยู่ภายใต้กฏหมาย อยู่ภายใต้อำนาจต่างๆนานา

 

แต่สุดท้ายตอนแจกงานคืน อาจารย์ก็ดูจะสนใจแต่สิ่งที่อาจารย์สนใจอยู่เหมือนเดิม ซ้ำยังมาบอกคนอื่นว่าให้สนใจแบบตัวเอง หลังได้ตรวจงานแล้วพบว่านักศึกษาเขียนถึงความเจ็บความลำบากของคนจน อาจารย์ก็บอกว่าไม่อยากให้คิดว่าเงินสำคัญ ความสุขใจต่างหากที่สำคัญกว่า

 

โอ้! แบบนี้หนูว่ามันเป็น"กับดัก" ทัศนคติชัดๆเลยอาจารย์  หนูไม่ได้บอกว่าเงินสำคัญที่สุดหรอกนะ ความสุขมันก็สำคัญนั่นแหละ ความสุขมันก็สร้างมาจากใจเรานั่นแหละ แต่ถ้าสาธารณูปโภคพื้นฐานไม่ดี อดมื้อกินมื้อ อาจารย์จะมีความสุขได้ไหมล่ะ  คนรวยก็พูดได้สิว่าให้พอเพียง คนจนมันจะพอยังไง ในเมื่อมันขาดแคลน ถ้าอยากให้คนจนพอก็แบ่งมาให้สิคะ อย่ามีเยอะแล้วไปบอกคนอื่นให้พอ 

 

เรื่องความพอใจในความสุขที่อาจารย์พูดมานี่ อาจารย์บอกว่าเป็นปรัชญานะคะ (คล้ายกับอยากจะให้คนจนทำใจยอมรับความจนของตัวเอง) แต่หนูไม่เห็นว่ามันเป็นปรัชญาตรงไหนเลย หนูไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ

 

นอกจากนี้เรื่องหน้าที่ตามอวัยวะ ที่ว่าทุกส่วนของร่างกายนั้นสำคัญเท่ากัน เพราะต่างประกอบขึ้นเป็นร่างกายและมีหน้าเป็นของตัวอง เพียงแต่สูงต่ำไม่เท่ากันก็เท่านั้น หนูไม่คิดว่ามันควรจะเอามาเปรียบเทียบกับความสัมพันธ์ของคนในสังคม กระบวนทัศน์การมองสังคมการมองโลกมีตั้งหลายแบบ และยุคนี้มันก็โลกาภิวัตน์แล้ว แนวคิดเก่าๆมันไม่เหมาะสมหรอกค่ะ

 

   เรื่องการคิดต่างเห็นต่าง เพราะเราต่างวัย เพราะเจออะไรมาต่างกันจึงคิดต่างกัน  หนูว่าคนเรามันเรียนรู้ได้นี่คะ ไม่ใช่อ้างว่า ประสบการณ์ต่างเลยคิดต่าง มันอยู่ที่ว่าจะเปิดใจรับหรือไม่ต่างหาก 

 

บ่นมาตั้งนาน หนูไม่ได้มีทัศนคติที่ไม่ดีกับอาจารย์นะคะ ถ้าไม่เห็นด้วยก็วิจารณ์เป็นเรื่องๆไป และยังรู้สึกชื่นชมวิธีการสอน การอธิบายงานที่ทำให้เข้าใจได้ง่าย และมักอธิบายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอยู่ตลอด อาจารย์มีความเป็นอาจารย์ในความคิดหนู  แต่เเรื่องที่ไม่ชอบก็ต้องบอกว่าไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย การเรียนการสอนควรจะถ่ายทอดความรู้มาเป็นหลัก ส่วนทัศนคติหรือการมองโลก ปล่อยให้เด็กๆคิดเองจะดีกว่า เอาล่ะๆ เข้าเรื่องกันเถอะค่ะ

 

 

ลมหายใจสุดท้าย...ฝากไว้ที่เรือนจำ

                ชีวิตที่เดินทางผ่านเวลามาถึงหกสิบปี ย่อมเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงบั้นปลาย เป็นไม้ใกล้ฝั่งที่เอียงลงๆ นับวันน้ำเซาะตลิ่งไม้ก็จะล้ม เปรียบกับผู้ชราทั้งหลายที่มีลมหายใจอยู่ แต่ปราศจากความหวังความฝันเพื่อตัวเอง เมื่อถามถึงความสุขของคนแก่ โดยมากไม่มีอะไรเกินไปกว่าการได้อยู่กับคนที่รัก มองดูลูกหลานเติบโตมีอนาคตที่ดีจนลมหายใจสุดท้ายหมดลง แต่จะมีสักกี่คนที่มีโอกาสเช่นนั้น มีสักกี่คนที่จากลูกหลานไปด้วยเงื่อนไขความชราเพียงอย่างเดียว หากการจากไปตามเหตุผลอันสมควรเป็นสิ่งที่ทำให้คนอยู่ข้างหลังพอจะทำใจได้ “อากง” ก็ไม่ใช่หนึ่งในผู้จากไปเหล่านั้น

               

 “อากง” มีชื่อจริงว่า อำพล ตั้งนพคุณ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน อายุปี ๖๑ ปี บ้านของอากงฐานะยากจน เป็นเพียงห้องเช่าแคบๆ อยู่ในย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ อากงยึดอาชีพขับรถรับจ้างตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มรุ่นๆจนถนัดช่ำชองเป็นอย่างดี หากเมื่อแก่ตัวลง ทั้งโรคชราและมะเร็งในช่องปากรุมเร้าจนไม่สามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้อีก คงเหลือแต่หน้าที่ดูแลหลานๆเท่านั้นที่พอจะทำได้ หลานที่อากงต้องดูแล ส่งไปโรงเรียนมีทั้งหมดสี่คน คนโตสุดอายุไม่ถึงสิบสองขวบ และคนเล็กสุดอายุราวหกขวบ รายได้ทั้งหมดที่อากงนำมาเลี้ยงชีพจึงไม่ได้มาจากไหนเลยนอกจากอาศัยเงินที่ลูกๆส่งให้คนละเล็กละน้อย กระนั้นก็ตามชีวิตอากงก็ดูสงบเรียบร้อยดี ไม่มีวี่แววว่าจะได้พบความเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องไปจบชีวิตในคุก

 

เมื่อกลางปี ๒๕๕๓ ตำรวจเกือบ ๒๐ นาย บุกไปที่ห้องเช่าเล็กๆของอากง พวกเขาจับกุมอากงด้วยข้อหาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พร้อมกับรื้อค้นข้าวของในบ้านจนได้หลักฐานการกระทำผิดคือโทรศัพท์มือถือ ตำรวจควบคุมตัวอากงตั้งแต่นั้นและแจ้งข้อกล่าวหากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา๑๑๒ ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีโทษจำคุก ๓ – ๑๕ ปี โดยกระทำการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ คือใช้โทรศัพท์มือถือส่งข้อความที่มีลักษณะความผิดไปยังโทรศัพท์มือถือเลขาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

 

หลังถูกจับกุม อากงปฏิเสธข้อกล่าวหา อากงยืนยันว่าเขารักพระมหากษัตริย์ เขาส่งข้อความโทรศัพท์มือถือหรือข้อความเอสเอ็มเอสไม่เป็น แต่ศาลก็มีคำสั่งควบคุมตัวเขาไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพนานถึงสองเดือน และก่อนที่อาการมะเร็งช่องปากจะลุกลามหนักขึ้นทำให้ลิ้นคับปากจนอากงพูดไม่ได้ ศาลก็อนุญาตให้ประกันตัวออกไปรักษา  แต่แล้วในต้นปีถัดมา ช่วงกลางเดือนมกราคม อากงถูกเรียกตัวกลับ ศาลสั่งฟ้องการกระทำความผิด ทนายจึงต้องยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาต ทนายพยายามหาทางช่วยอากง นักวิชาการด้านสิทธิ์และเสรีภาพหลายคนก็รวมตัวกันช่วยเขาโดยใช้ตำแหน่งงานเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน  ทว่าศาลก็ยังคงไม่อนุญาต ด้วยเหตุผลว่าการกระทำผิดเช่นนี้เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ กระทบความรู้สึกของประชาชน “หากให้ประกันตัวไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี”

 

ช่วงเวลาที่ได้ออกไปรักษาโรคมะเร็ง รวมกับวันที่ศาลเรียกตัวกลับ เป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ไม้ใกล้ฝั่งอย่างอากงได้อยู่กับภรรยาและลูกหลาน แม้ว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ศาลยังไม่มีคำพิพากษา แต่ชีวิตที่เหลือของอากงกลับต้องอยู่แต่ในห้องขัง จะได้ออกมาก็ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งให้เข้าห้องพิจารณาคดี เมื่อนั้นจึงได้เห็นว่า การอยู่อย่างไร้อิสรภาพ อยู่ไกลลูกหลานนั้นสร้างความทุกข์ให้อากงเพียงใด หากมีใครสนใจคดีนี้ ก็จะเห็นภาพชายชรารูปร่างผ่ายผอม  สวมชุดผู้ต้องขัง เป็นกางเกงขาสั้นสีน้ำตาลแดง เสื้อสีน้ำตาลส้มบางเบา ไม่ได้สวมรองเท้า ผมสีขาวแซมดำ ใบหน้าเหี่ยวย่น แววตาเศร้าสร้อยเหมือนหัวใจร้องไห้อยู่ทุกขณะยืนอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีกับผู้คุมหนึ่งนาย แวดล้อมด้วยหลานตัวน้อยสามสี่คนกับ “ป้าอุ๊” ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากที่อยู่ด้วยกันมากว่า ๔๔ ปี บ้างก็เป็นภาพขณะที่ผู้คุมพาอากงมาเข้าห้องพิจารณาคดี แต่สำหรับป้าอุ๊และหลานคงจะมีภาพใด ที่น่าโศกเศร้าชวนอาลัยไปกว่าการมองเห็นอากงอยู่อยู่หลังม่านเหล็กยามที่ไปเยี่ยมไปหา

 

ครั้งหนึ่งในห้องพิจารณาคดี ศาลให้อากงอ่านข้อความที่กล่าวหาว่าอากงเป็นผู้ส่ง แล้วถามว่ารู้สึกอย่างไร อากงอ่านข้อความนั้นตามคำสั่งศาล แล้วตอบด้วยเสียงสั่นเครือว่า “ผมเสียใจมากครับ...ก็เขาด่าในหลวง” และอากงก็ยังยืนยันต่อศาลว่า “ผมรักในหลวงครับ” แต่คำพูด น้ำตาและข้ออ้างว่าส่งข้อความไม่เป็นไม่สามารถใช้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ ท้ายที่สุดศาลพิพากษาจำคุก ๒๐ ปี ด้วยวิธีการคำนวณแบบคูณเลข จำนวนข้อความที่ส่ง ๔ ข้อความ คูณด้วยโทษข้อความละ ๕ ปี ทั้งที่จริงคดีนี้มีข้อกังขาหลายประการ ตั้งแต่การพิสูจน์การกระทำความผิด ศาลพิสูจน์หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์หรือเลขอีมี(ไม่ใช่หมายเลขโทรศัพท์) พบว่าตรงกับหมายเลขเครื่องโทรศัพท์ของอากง แต่ทว่าก็มีเสียงทัดทานมากมาย ว่าเลขอีมีเป็นสิ่งเปลี่ยนแปลงได้ง่าย หากมีความรู้เรื่องโทรศัพท์ก็สามารถทำได้ ที่สำคัญเลขอีมีของข้อความที่ผิดกฎหมาย กับเลขอีมีของโทรศัพท์อากง ไม่ได้ตรงกันทั้งหมด ดังนั้นคำพิพากษาของศาลจึงไม่ได้วางอยู่บนหลักการทางกฎหมายที่ว่า หากการพิสูจน์ความผิดยังไม่สิ้นสงสัย จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับเป็นว่า หากจำเลยพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไม่ได้ จำเลยมีความผิด

 

หลังถูกศาลพิพากษา อากงป่วยหนักมากขึ้น เมื่อพบหน้าภรรยา เขามักพูดว่า “อุ๊ อั๊วไม่ไหวแล้ว” ใครๆต่างก็คิดว่าชายชรากับโรคมะเร็งไม่มีทางอยู่ได้ถึง ๒๐ ปี  อากงต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเรือนจำ หรือทัณฑสถาน-โรงพยาบาลราชทัณฑ์ แพทย์ตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งในช่องท้อง และแม้ว่าทนายจะพยายามยื่นอุทธรณ์คดี และยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อให้อากงได้ออกมารักษาที่โรงพยาบาลนอกเรือนจำ ออกมาอยู่กับลูกลูกหลาน แต่ศาลก็ไม่อนุญาต ดังนั้นทนายจึงดำเนินการทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ กระทั่งเวลาผ่านไปราวหนึ่งเดือน กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษอันล่าช้าก็มาไม่ทัน อากงไม่อาจรอได้ วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ อากงนอนอยู่ในโรงพยาบาลเรือนจำ ร้องไห้เพราะรู้สึกปวดท้องอย่างหนัก ในที่สุดก็เสียชีวิตลงก่อนที่ป้าอุ๊จะไปเยี่ยมเพียงไม่กี่นาที

 

แม้ว่าอากงจะไม่ใช่บุคคลตัวอย่าง ไม่ใช่คนร่ำรวยมีชื่อเสียง ไม่เคยทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศ หากเป็นเพียงชาวบ้านยากจน แก่ชรา เจ็บป่วย อ่อนแอและหัวใจเต็มไปด้วยความหวาดกลัว แต่การตายของอากงกลับเป็นที่น่าเศร้าสลดสำหรับคนที่รู้ข่าว จุดประกายให้คนมากมายหันมาสนใจกฎหมาย สนใจกระบวนการยุติธรรมของไทย ไม่ว่าอากงจะทำผิดจริงหรือไม่ ไม่ว่าอากงจะเป็นคนส่งข้อความหรือไม่ แต่ใครจะใช้ใจเมตตาธรรมปฏิเสธได้ว่า อากงไม่สมควรจะได้รับการประกันตัวเพื่อมารักษานอกเรือนจำ เพื่อมาอยู่กับครอบครัวที่มีคนดูแล หากคิดต่อสักนิด คงจะตั้งคำถามกับมาตรฐานของโรงพยาบาลเรือนจำ ว่าปฏิบัติกับผู้ต้องขังอย่างไร มีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลทั่วไปหรือไม่ ใครจะยังปฏิเสธว่าโทษของการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงถึง ๒๐ ปีนั้นไม่มากเกินไป  นอกจากนี้การพิจารณาคดีของศาล ทั้งคดีอากงและคดีอื่นๆที่เคยเกิดความผิดพลาดในการพิสูจน์หลักฐานจนผู้บริสุทธิ์ต้องกลายเป็นแพะรับบาป ถูกจำคุกโดยไม่ได้กระทำความผิด หรือแม้กระทั่งถูกประหารชีวิตไปแล้ว ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ชีวิตที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราเพียงอย่างเดียว ความสุขสงบในชีวิตอาจเริ่มได้ที่ใจของเรา แต่ก็ไม่เสมอไปในบริบทของสังคมที่ประชาชนยังอยู่ภายใต้กฎหมาย ตราบใดที่ประชาชนยังถูกปกครองโดยกลไกต่างๆของรัฐ ก็ไม่มีใครมั่นใจได้เต็มที่ว่าจะมีชีวิตที่ดีเพียงแค่เพราะตั้งใจทำความดีเสมอมา

 

อากงอาจเป็นคนธรรมดาที่ชีวิตมีทั้งทุกข์และสุข และโชคดีที่มีครอบครัวอบอุ่น มีภรรยาที่รักห่วงใยกันมาตลอด มีลูกที่ไม่เคยทอดทิ้งพ่อแม่ และหลานๆที่น่ารักอีกหลายคน หากอากงเป็นต้นไม้ วันคืนก็พาให้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่เติบโตเต็มที่และหยุดนิ่งแผ่กิ่งก้านสาขาเป็นร่มเงาให้สิ่งมีชีวิตน้อยๆได้อาศัยแล้ว หากไม้จะล้มลงก็เป็นเพราะการเวลา เป็นเพราะกฎธรรมชาติ เป็นเพราะถูกสายน้ำซัดเซาะ  ใครไหนเลยจะคิดว่าไม้ใหญ่ต้องถูกถอนออกจากฝั่งอย่างสิ้นราก จนต้องไปแห้งตายอยู่ไกลบ้าน ใครไหนเลยจะคิดว่าคนแก่อย่างอากงของหลานๆจะถูกคุมขังและไปล้มตายในคุก

 

ก่อนศพผู้ต้องขังจะถูกนำออกจากจากโรงพยาบาลเรือนจำเพื่อไปชันสูตรสาเหตุการตายที่โรงพยาบาลตำรวจ ป้าอุ๊บอกสามีว่า “กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว” ฉันเข้าใจว่าเธอพูดด้วยความรู้สึกโศกเศร้าสุดจะพรรณนา แต่เบื้องลึกของหัวใจคนเป็นภรรยาย่อมรู้ดี ว่าเขาจะมีอิสรภาพเพียงร่างกาย เพราะจนถึงลมหายใจสุดท้าย อากงยังรับรู้ว่าตัวเองอยู่ในเรือนจำ

 

หมายเหตุ เรื่องนี้ได้ ๘ คะแนน จากคะแนนเต็มสิบค่ะ

 

บล็อกของ ย้งยี้

ย้งยี้
เดี๋ยวนี้หันมาสนใจตะวันออกกลาง ทั้งด้านสงคราม ศาสนา วัฒนธรรม เสรีภาพ ฯลฯ บวกกับชอบคราวน์ปริ๊นซ์เมืองดูไบ ตามประสาเด็กผู้หญิงที่โตมากับละครหลังข่าว ก็เลยยืมฟ้าจรดทรายจากห้องสมุดม
ย้งยี้
 *** ปรับแก้จากการบ้านวิชากระบวนการสร้างความหมายในสังคม Construction of meanings in society คณะอักษรศาสตร์
ย้งยี้
ข้อโต้แย้งและคำเตือนจากผู้ไม่ยอมที่จะ"เชื่องเชื่อ"ถึงผู้ออกกฎว่ามาเป็นนักศึกษาเพื่อหาความรู้ ไม่ใช่มาเพื่อรับคำชมว่าน่ารักเมื่อแต่งกายในชุดนักศึกษา