Skip to main content

 

ดิดำรงศึก

 

ณ สำนักคิดบ้านส้มป่อย เขาดอยแง่ม ยามบ่ายวันหนึ่ง อากาศที่นี่เย็นสบายเพราะตัวสำนักเป็นอาคารไม้ทรงโปร่งร่มรื่นใต้เงาไม้ใหญ่ สร้างอิงลำธารซึ่งไหลลงมาจากภูเขาสูง เสียงน้ำปะทะก้อนหินแลตลิ่งตรงจุดนี้ไพเราะดุจมีใครมาบรรเลงเพลงซิมโฟนีของบีโธเฟ่นให้ฟัง
อาจารย์เปเเป้สนทนากับลูกศิษย์เรื่องสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อถ่ายทอดความคิดให้แก่ลูกศิษย์ ในขณะเดียวกันลูกศิษย์ก็ซักถามในประเด็นที่ตนสงสัย รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นใหม่ ๆ

 

คำสิงห์ลูกศิษย์คนหนึ่ง : บ้านเมืองพ้นอันตรายไปแล้วหรือยังครับ
อาจารย์เปแป้ : คำถามที่ดีต้องแคบที่สุด เจ้าจงปรับคำถามใหม่

คำสิงห์ : สภาพกึ่งสงครามกลางเมืองช่วง 4 – 5 ปี ที่ผ่านมา จะเป็นอันตรายต่อบ้านเมืองอีกหรือเปล่าหรือว่าสิ้นสุดแล้วครับ
อาจารย์เปแป้ : ตั้งคำถามดีขึ้น แต่เจ้ากับข้าก็อยู่ในป่าเขา จะสนทนาเรื่องนี้กันทำไม

คำสิงห์ : บ้านเมืองก็เหมือนเรือสำเภาใหญ่กลางมหาสมุทร ไม่ว่าเราจะอยู่ส่วนไหนของเรือ ถ้าเรือล้มแล้วไฉนเราจะรอด
อาจารย์เปแป้ : งั้นต้องดูนิยามสงครามกลางเมืองก่อนว่าคืออะไร แล้วดูมีประโยชน์แลโทษอย่างไร

คำสิงห์ : ข้าพเจ้าพอจะตอบได้ว่าสงครามกลางเมืองคือความขัดแย้งของคนภายในประเทศหนึ่ง จนถึงขั้นจับอาวุธเข้าประหัตประหารกัน โดยบางครั้งมีอำนาจต่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องมากบ้าง น้อยบ้าง หรือไม่มีเลยก็ได้ แต่ประโยชน์แลโทษนี่ซิผู้น้อยจนด้วยเกล้า
อาจารย์เปแป้ : ทุกสิ่งทุกอย่างมีคุณแลโทษด้วยกันทั้งสิ้น อย่างฝรั่งเขาว่าเหรียญมีสองด้าน หรือหยิน-หยางในลัทธิเต๋า สงครามกลางเมืองก็ไม่พ้นสัจจะนี้

คำสิงห์ : โทษนี่ข้าพเจ้าพอจะมองเห็นอยู่ คือความโหดร้าย ความสูญเสียทั้งทางร่างกายไม่ว่าจะตายหรือพิกลพิการ แลทางจิตใจที่มองไม่เห็นแต่มีผลต่อชีวิตมนุษย์มาก แลความเสียหายทางวัตถุทรัพย์สิ่งของ หรืออาจจะเป็นโอกาสของประเทศที่ควรจะพัฒนาเจริญรุ่งเรือง
อาจารย์เปแป้ : ยังก่อน อันโทษที่เจ้าบอกมานี้ พอจะแบ่งได้เป็นโทษในแบบรูปธรรมจับต้องได้ คือ วัตถุแลร่างกายที่บุบสลายไป รวมถึงจิตใจก็ถือเป็นรูปธรรม เพราะมันแสดงผลออกมาทางพฤติกรรมของมนุษย์ ส่วนโทษในแบบนามธรรม คือ โอกาสประเทศบ้าง ความแตกแยกในสังคมบ้าง ขอให้แบ่งโทษไว้ส่วนหนึ่งก่อนเพราะนามธรรมเหล่านี้มีพลังเร้นลับที่เกี่ยวข้องกับเหรียญสองด้านหรือหยิน-หยางที่ว่า

คำสิงห์ : แสดงว่าโทษแบบนามธรรมคือประโยชน์ของสงครามกลางเมืองหรือครับ
อาจารย์เปแป้ : อันคุณประโยชน์ของสงครามกลางเมือง คนที่รับฟังต้องเปิดใจกว้าง เหมือนถามหาคุณประโยชน์ของความตาย ความเจ็บป่วย หรือคุณประโยชน์ของยุง แมลงวัน แมลงสาบ

คำสิงห์ : ข้าพเจ้าพอจะมองเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่คู่โลกมาช้านาน ดังนั้นมันก็น่าจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง
อาจารย์เปแป้ : เจ้าเริ่มเห็นแล้วซิ แม้มันเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ แต่เราก็หนีมันไม่พ้น เมื่อมันเกิดขึ้น มันก็ให้ทั้งคุณแลโทษ แล้วมันก็ผ่านไปเป็นวัฏจักร นานบ้าง สั้นบ้าง แล้วแต่สังคมแลสถานการณ์จะพาไป

คำสิงห์ : อยากให้อาจารย์ไขข้อที่บอกว่าเป็นคุณให้เห็นภาพมากกว่านี้ ข้าน้อยจนด้วยเกล้า
อาจารย์เปแป้ : ทางที่ดีคือดูสงครามกลางเมืองที่ผ่านมาในสังคมอื่น เช่น สงครามกลางเมืองในอิตาลีช่วงศตวรรษที่ 15 – 16 ประโยชน์คือสร้างแนวคิดแบบเรอเนสซองซ์ขึ้นมาในยุโรป ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยุคกลางในยุโรปสิ้นสุดลง แล้วเราก็ได้ เลโอนาร์โดดาวินชี มีเกลันเจโล แลมาเคียเว็ลลี อีกตัวอย่างหนึ่งคือสงครามกลางเมืองในอเมริกา ผลของสงครามคือการเลิกทาสอย่างถาวร พร้อมแนวคิดเสรีภาพแลความเสมอภาค พร้อมนักคิดอีกหลายคน เช่น อับราฮัม ลินคอล์น แลจอห์น บราวน์  ตัวอย่างสุดท้ายคือสงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส แม้จะดูน่าสะพรึงกลัวแต่สิ่งที่ได้คือคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแลพลเมือง ซึ่งตอนนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญของเกือบทุกประเทศในโลก รวมทั้งแนวคิดสาธารณรัฐที่ก็เป็นระบอบการปกครองของประเทศค่อนโลก พร้อมนักคิดอีกหลายคน เช่น รอแบ็สปีแยร์ ฌองปอลมาราท์ กองดอร์เชต์ จอร์จ ดองตอง แลซางต์-จูสต์ แล้วสร้างฝรั่งเศสให้เป็นมหาอำนาจขึ้นมาโดยให้กำเนิดนโปเลียน

คำสิงห์ : เหมือนกับว่าสงครามกลางเมืองจะเป็นอาการป่วยของสังคมชนิดหนึ่ง พอหายแล้วสังคมก็จะแข็งแรงขึ้น มีภูมิต้านทานมากกว่าเก่า แต่ดูจากตัวอย่างแล้ว ทุกสงครามกลางเมืองสร้างกระแสความคิดใหม่ ๆ แลนักคิดระดับโลก ของบ้านเราพอจะมีกับเขาบ้างไหมครับ
อาจารย์เปแป้ : คำถามที่เจ้าพึ่งถามมานี่ละเป็นหัวใจของคำตอบหลักของการสนทนานี้ เพราะถ้าบ้านเรายังไม่ได้ให้กำเนิดนักคิดก็แสดงว่ายังไม่เกิดสงครามกลางเมืองจริง ๆ เต็มรูปแบบ หรือสถานการณ์ยังไม่สุกงอมจนไปถึงขั้นนั้น เหมือนเราป่วยกะเซาะกะแซะไม่ถึงขั้นโคม่าเข้าห้องไอซียู แต่ก็เป็นหวัดครั่นเนื้อครั่นตัวจะออกแดดไปสู้งานกับเขาก็ไม่ได้ คือนอกจากทำงานทำการไม่ได้เป็นจริงเป็นจังแล้ว ก็รออยู่ว่าเมื่อไหร่โรคจะกำเริบรุนแรง

คำสิงห์ : ถ้าอย่างนั้นเราควรรักษาให้หายขาดหรือรอโรคกำเริบรุนแรงดีครับ
อาจารย์เปแป้ : ไม่มีใครอยากป่วยเข้าขั้นโคม่าหรอก แต่ถ้าเป็นคน ๆ เดียวก็พอจะตัดสินใจได้ว่าอยากรีบรักษาให้หายขาด แต่ถ้าถามสังคมซึ่งประกอบด้วยคนจำนวนมากแล้วก็เกรงว่าจะไม่ได้คำตอบ

คำสิงห์ : แสดงว่าเราก็ยังป่วยอยู่แลคงจะถึงโคม่าสักวัน
อาจารย์เปแป้ : ข้าก็บอกเจ้าแต่แรกแล้วว่าทุกอย่างมันมีทั้งคุณแลโทษ แล้วเจ้าจะกลัวอะไร

คำสิงห์ : แต่อย่างไรข้าพเจ้าก็ไม่อยากป่วยจนถึงขั้นโคม่า อยากหายขาดก่อน ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะช่วยแนะนำวิธีรักษาบ้างได้ไหมครับ
อาจารย์เปแป้ : ข้าก็อยากแนะนำ แต่เกรงจะไม่เกิดประโยชน์อะไร

คำสิงห์ : ข้าพเจ้าเป็นผู้ไร้สติปัญญา หากคิดจะช่วยเหลือสังคมแลมนุษย์ร่วมโลกก็คงต้องขออาศัยสติปัญญาของอาจารย์เป็นที่พึ่ง
อาจารย์เปแป้ : อันการป่วยมันมีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน คือ ตัวโรค กับตัวคนป่วย เราจะหายป่วยก็ด้วยตัวโรคสูญสลายไป อันตัวโรคจะสูญสลายไปได้ก็ด้วยสองหนทาง คือ 1 ตัวโรคเสื่อมคลาย ลดอาการพิษ แล้วสลายตัวไปเอง โดยคนป่วยไม่ต้องรักษาให้ยุ่งยาก

คำสิงห์ : เหมือนการปล่อยให้หายเองใช่ไหมครับ
อาจารย์เปแป้ : เหมือนเจ้ายอมนอนป่วยสัก 5 วัน 7 วัน แล้วก็ดีขึ้นแลหายป่วย

คำสิงห์ : แต่ตัวโรคนี้มันก็มีหลายแบบ ตัวโรคที่ร้ายแรง ถ้ามานอนรอให้มันจากไปเอง คงจะตายเสียก่อน
อาจารย์เปแป้ : ถูกอย่างเจ้าว่า บางโรคเจ้าจะมานอนรอให้ตัวโรคสลายไปเอง เจ้าก็คงจะตายก่อน เพราะบางโรคมันกัดกินเจ้าไม่ปล่อยให้เจ้าหายป่วยได้ง่าย ๆ จึงต้องเป็นหนทางที่ 2 คือ เจ้าต้องรักษาโดยกินยา ฉีดยา ผ่าตัด ฉายแสง ไปตามอาการเพื่อให้ตัวโรคจากไป

คำสิงห์ : วิธีนี้เหมือนเราตัดสินใจต่อสู้กับตัวโรคด้วยหนทางภายนอกตัวเราทุกวิถีทาง ซึ่งส่วนใหญ่หายด้วยวิธีนี้กันทั้งนั้น แต่อาจารย์พูดถึงตัวคนป่วยด้วย คิดว่าตัวคนป่วยคงจะเป็นหนทางรักษาภายในใช่ไหมครับ
อาจารย์เปแป้ : ไหนว่าเจ้าไม่มีสติปัญญาไง ข้ารู้ว่าเจ้าหลอกถามข้า แต่ข้าก็เต็มใจให้เจ้าหลอก เพราะข้าอยู่กลางป่าเขา หาความบันเทิงก็ไม่มี มีแต่จะสนทนากับพวกเจ้านี่แหละ

คำสิงห์ : ข้าพเจ้าไม่มีเจตนาจะหลอกอาจารย์ แต่คิดไปตามตรรกะที่อาจารย์วางไว้
อาจารย์เปแป้ : เจ้าอย่าเป็นกังวล มาต่อกันที่ตัวผู้ป่วย อันโรคจะหายไม่หาย ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีการแบบไหน ตัวผู้ป่วยต้องเด็ดขาดในจิตใจของตัวเองว่าอยากหายป่วยจริง ๆ ถ้าจิตใจเข้มแข็งก็หายเร็ว ถ้าจิตใจเหยาะแหยะลังเลก็หายช้า

คำสิงห์ : ข้าพเจ้าเคยเห็นว่าบางคนอยากนอนป่วยด้วยซ้ำเพราะมีคนป้อนข้าวป้อนน้ำ ไม่ต้องลุกไปสู้งานให้เหน็ดเหนื่อย
อาจารย์เปแป้ : ที่เจ้าว่านี้ก็ถูก ตัวคนป่วยที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่างกายนี่ละคือผู้ตัดสินว่าจะเอาอย่างไรกับตัวเอง อันนี้ก็แล้วแต่วุฒิภาวะแลความเจริญทางปัญญาของผู้นั้น ถ้าอยากอ่อนปวกเปียกเป็นขี้โรคขี้ไข้ตลอด เราก็ไปว่าอะไรเขาไม่ได้

คำสิงห์ : วิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยให้หายเอง แต่ร่างกายต้องมีภูมิคุ้มกันที่ไว้ใจได้แลทำงานอย่างเข้มแข็ง รองลงมาก็กินยา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตัวผู้ป่วยก็ต้องใจสู้ด้วย
อาจารย์เปแป้ : ทีนี้ลองดูซิว่า เจ้าไม่อยากถึงขั้นโคม่า แต่จะรักษาให้หายก่อนนั้น เจ้าคิดว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง

คำสิงห์ : ข้าพเจ้าฟังอาจารย์ว่าแล้วก็นึกสมคำอาจารย์ที่ว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะบ้านเมืองที่ป่วยอยู่นี้จะรอให้หายเองก็คงไม่ได้ เพราะภูมิต้านทานไม่แข็งแรงพอ ครั้นจะกินยารักษาตัวก็จิตใจไม่เด็ดเดี่ยวพอจะสู้โรคได้ คงจะเป็นคนป่วยเรื้อรัง ลุกขึ้นทำงานได้ แต่จะหมายให้ดีเด่นกว่าคนอื่นคงไม่มีทาง แล้วก็รอวันดีคืนดีโรคที่หลบในกลับมากำเริบให้ล้มหมอนนอนเสื่อเป็นพัก ๆ ไป
อาจารย์เปแป้ : ไหนเจ้ามาคิดท้อถอย เมื่อสักครู่ยังอยากออกไปช่วยเหลือสังคมอยู่เลย แต่ที่ข้าบอกเจ้าว่าไม่เกิดประโยชน์อะไรเพราะด้วยเรื่องอื่นต่างหาก

คำสิงห์ : อาจารย์ต้องมีอะไรที่ศิษย์มองไม่เห็นแน่
อาจารย์เปแป้ : เจ้าลืมมองที่ตัวโรคต่างหาก ที่ไม่เกิดประโยชน์เพราะโรคที่เกิดกับบ้านเมืองเราเป็นโรคทางพันธุกรรมเฉพาะเผ่าพันธุ์ คนอื่นจะให้ยารักษาก็ไม่ตรงอาการ รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ไม่เชื่อเจ้าลองไปโรงพยาบาลดูซิ ถามหาโรคที่หมอไม่รับรักษา หมอก็จะบอกว่าพวกโรคทางพันธุกรรมนี่ละ

คำสิงห์มีสีหน้าหดหู่เมื่อฟังอาจารย์พูดจบ จึงกราบขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยไขประเด็นปัญหาการสนทนาในวันนี้ เขาเดินออกไปยืนตรงระเบียงอันเป็นมุมที่มองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของป่าแลเทือกเขาที่เรียงซ้อนกันแต่ไกล พร้อมนึกพรรณนาคำพูดของอาจารย์ในใจ

แล้วคำสิงห์ก็พูดกับตัวเองอย่างดีใจว่า “ถ้าเราป่วยด้วยโรคทางพันธุกรรมจริงตามที่อาจารย์ว่า ไหนเราจะรักษาไม่ได้ เดี๋ยวนี้มีเทคโนโลยีการตัดต่อยีนพันธุกรรมแล้ว ถึงรุ่นเรายังทำไม่ได้ แต่เมื่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราคงจะมีเทคโนโลยีที่เชื่อถือได้แลรักษาให้หายขาดได้เป็นแน่แท้”

 

หมายเหตุ:
เรื่องนี้เขียนขึ้นหลังการเลือกตั้งปี 54 และก่อนจะเกิดม็อบนกหวีด ทำให้รู้สึกว่าเนื้อเรื่องเข้ากลับความเป็นจริงในสังคมได้อย่างบังเอิญจริงๆ