Skip to main content

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว

มหาวิทยาลัยมาลายาเป็นมหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยไทยหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแห่งที่ผมทำงานอยู่ ควรจะแวะเวียนกันมาดูแล้วดูเล่า ดูให้เข้าใจแล้วลอกเลียนแบบเขาไปบ้างว่า ทำไมเขาจึงทำมหาวิทยาลัยแบบนี้ขึ้นมาได้ แล้วอย่าได้อ้างเด็ดขาดว่า "ก็เพราะฝรั่งตั้งขึ้นไง ก็เพราะมาเลเซียเคยเป็นเมืองขึ้นอังกฤษไง" เพราะพูดแบบนั้นนอกจากจะไม่รู้เรื่องอาณานิคมแล้ว ยังดูถูกตนเองว่า ขนาดไม่ได้ถูกครอบครองโดยใคร แถมส่งคนไปเรียนจากเจ้าอาณานิคมมากมาย แต่เมื่อกลับมาบ้าน แต่ละคนกลายเป็นบิดานั่นบิดานี่ ก็เป็นโดยไม่ได้ทิ้งอะไร สร้างอะไรดีๆ เอาไว้บ้างเลย 

อาจารย์สุมิต แมนเดล คนมาเลย์เชื้อสายอินเดียที่มหาวิทยาลัยมาลายาเล่าว่า ความแตกต่างระหว่างมหาวิทยาลัยนี้ กับมหาวิทยาลัยแห่งชาติคือ มหาวิทยาลัยมาลายาตั้งโดยอังกฤษตั้งแต่ปี 1905 เดิมอยู่ในสิงคโปร์ แล้วมาตั้งที่กัวลาลัมเปอร์เมื่อแยกประเทศกันหลังทศวรรษ 1940 นอกจากนั้น ความเป็นมรดกอาณานิคมคือการคงชื่อ Malaya ไว้ 

ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ตั้งขึ้นหลังเกิดประเทศมาเลเซีย คือหลังยุคอาณานิคมแล้วหลายปี มหาวิทยาลัยแห่งชาติทำในสิ่งที่มหาวิทยาลัยมาลายาคิดว่าทำไม่ได้ คือเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษามาเลย์เป็นแห่งแรก แต่มหาวิทยาลัยมาลายาประกาศว่า หากมีคนในชั้นเรียนแม้แต่คนเดียวที่พูดภาษามาเลย์ไม่ได้ ก็ต้องจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 

ที่น่าสนใจคือ มหาวิทยาลัยมาลายามีพิพิธภัณฑ์ถึง 7 แห่งด้วยกัน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม หลังจบการสัมมนาวิชาการที่โรงแรมแห่งหนึ่ง มหาวิทยาลัยมาลายาซึ่งเป็นผู้จัด ก็ได้จัดให้ไปชมมหาวิทยาลัยด้วยการนำชมพิพิธภัณฑ์ 2 จาก 7 แห่งนั้น เพียงแค่นี้ผมก็นึกไม่ออกว่า หากพาใครมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อันเป็นนที่รักของผม จะพาเขาไปดูพิพิธภัณฑ์อะไร ก็พอมีนั่นแหละ แต่ก็ยังมีไม่น่าสนใจพอ 

แห่งแรกที่เขาพาไปคือ Museum of Asian Arts มี 3 ชั้น ชั้นแรกแสดงผลงานชั่วคราวของศิลปินอาชีพ ที่นี่เป็นแกลอรี่ด้วย ขายงานศิลปะที่จัดแสดงที่นี่ด้วย ผลงานที่นำมาแสดงไม่มากชิ้น เพราะสถานที่เล็ก แต่ก็เป็นผลงานของศิลปินระดับชาติ มีชื่อเสียง ขายผลงานได้เป็นล้านริงกิต (1 ริงกิตเท่ากับราวๆ 10 บาท) 

ส่วนชั้นสองกับชั้นสามเป็นคอลเล็คชั่นเครื่องเคลือบดินเผาหรือเซรามิก ของเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมยืนตะลึกงันอยู่หน้าชุดเซรามิกจากสมัยสุโขทัย ที่เป็นรูปช้าง ทั้งเศียรเดียวและสามเศียร มีคนนั่งบนช้าง แต่งตัวเป็นช้างศึก มีกองทหารคุ้มกันช้างทั้งสี่ขาด้วย ในของสะสมชุดเดียวกันนี้ยังมีช่อฟ้าหัวนาคเซรามิกจากสมัยเดียวกันด้วย เขาลงศักราชไว้ว่าคศ.ที่ 14 

ผมถามเจ้าหน้าที่ว่าได้ของพวกนี้มาอย่างไร เขาตอบว่า เคยมีอาจารย์จากประเทศไทยมาประจำที่นี่ แล้วบริจาคของสะสมส่วนตัวของท่านไว้ที่นี่ ด้วยความรู้และประสบการณ์อันจำกัดเกี่ยวกับเครื่องเคลือบของผม บอกได้เลยว่าผมไม่เคยเห็นของพวกนี้ในสภาพสมบูรณ์มากเท่านี้มาก่อน และดูเหมือนที่นี่จะรู้ดีถึงค่าของมัน จึงนำเอาของชุดนี้มาอวดเป็นของชุดพิเศษเลยทีเดียว นอกจากนั้นสำหรับของไทยเอง ที่นี่ยังมีเครื่องเคลือบที่เป็นจาน ชาม ถ้วยจากไทยสมัยสุโขทัยที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์อีกเป็นสิบๆ ชิ้น 

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มักไม่เปิดให้เข้าชม เพราะเขาใช้สำหรับการเรียนการสอนเป็นหลักถัดไป ผู้จัดพาขึ้นรถวนไปชมนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับป่าดิบชื้น สถานที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของ "สวนป่า" ของมหาวิทยาลัย อาจารย์เฟอร์นานโด รอสซา นักวิจัยจากโปรตุเกสที่มาสอนมานุษยวิทยาประจำอยู่ที่นี่เล่าว่า เดิมมหาวิทยาลัยเป็นสวนปาร์มขนาดใหญ่ของพวกอังกฤษ สวนปาล์มเหล่านั้นเคยมีป่าอยู่แทรกอยู่ด้วย 

เมื่อตั้งมหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งของสวนปาล์มยังอยู่ ส่วนที่เป็นป่าก็ยังคงเป็นป่า มหาวิทยาลัยได้เก็บพื้นที่เหล่านั้นไว้เป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษา ที่จัดแสดงแห่งนี้ก็จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับป่าร้อนชื่ออย่างละเอียด เสียดายที่วันนี้มืดแล้ว ก็เลยไม่ได้มีโอกาสเดินเข้าไปในป่าของมหาวิทยาลัย ที่ว่ากันว่ายังมีสัตว์ผ่าที่สืบเผ่าพันธ์ุมาตั้งแต่ยุคอาณานิคม 

โดยรวมแล้ว มหาวิทยาลัยมาลายาน่าอยู่ มีเนินมากมายยิ่งทำให้สวยงามร่มรื่น คนหนึ่งในแขกซึ่งมาจากเยอรมนีเปรยว่า "นักเรียนที่นี่น่าอิจฉามาก" อีกคนหนึ่งซึ่งมาจากแอฟริกาพูดขึ้นบ้างว่า "พวกนักศึกษาเขาจะรู้หรือเปล่าว่า สภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ตอนนี้มันดีมาก" 

มหาวิทยาลัยไทย ไม่ต้องมีสวนป่าที่มีลิง มีสัตว์ป่าให้ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ขอเพียงแต่ผู้บริหารทำในสิ่งที่ควรทำ มากกว่าไปเที่ยวเป็นที่ปรึกษาอย่างเลือกข้างตรงข้ามกับประชาธิปไตย ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยยกระดับคนเองขึ้นมาบ้างได้มากแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว