Skip to main content
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"

 
การสนทนาต่อจากดูหนังเสร็จ ทั้งในโรงและนอกโรง ทำให้ผมเข้าใจเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตลอดจนได้ความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์เพิ่มขึ้นมากมาย ที่น่าสนใจคือที่คุณเปียบอกว่า "ตัวละครชนบทในเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในหนังตลาดทั่วไป ถ้ามี พวกเขาก็จะเป็นเพียงภาพเบลอๆ จางๆ อยู่ข้างหลัง" 
 
ผู้ชมคนหนึ่งถามว่า "ทำไมผู้แสดงจำนวนมากเป็นญาติพี่น้องนามสกุลเดียวกับผู้กำกับล่ะ" คุณสืบบอกว่า "ผมเป็นคนบ้านนอก ไม่ได้ร่ำรวยอะไร และหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องผมเอง ราว 50% เป็นเรื่องจริงของครอบครัวผมและคนในหมู่บ้านผม"
 
คุณเปียบอกว่า "ผมตั้งใจทำหนังขาว-ดำตั้งแต่ต้นเลย อยากทำมานานแล้ว แต่หนังตลาดทำแบบนี้ไม่ได้" "หนังนี้ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 12 วัน" 
 
ส่วนตัวผมทั้งชอบและไม่ชอบอะไรหลายๆ อย่าง ที่ชอบคือการนำเสนอ landscape ของชนบทที่ยิ่งเห็นชัดขึ้นด้วยภาพหนังขาว-ดำตลอดทั้งเรื่อง ผมชอบ soundscape ของหนังในหลายๆ แง่มุม ตั้งแต่เสียงพูดสำเนียงสุโขทัย เสียงของชนบทสลับกับความเงียบของตัวละครเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของหนัง ผมชอบผู้แสดงหลายๆ คน บางคนแม้นั่งๆ นอนๆ ก็ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ได้แล้ว
 
หากอะไรจะเป็นตัวละครเอกสำคัญที่ไม่ใช่คนในหนังเรื่องนี้ ผมว่าโทรศัพท์มือถือนี่แหละคือตัวละครเอกที่สำคัญ มีฉากหนึ่งที่ล้อเลียนการสื่อสารชนิดนี้อย่างน่าขันยิ่งนัก แต่หากพิจารณาบทบาทโทรศัพท์มือถือในหนังนี้โดยรวมๆ แล้ว ถ้าดูแบบหนึ่ง อาจได้ภาพว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นสื่อแสดงภาพไม่น่าพิสมัยของชุมชน แสดงการแยกจนเกือบจะแตกสลายของชุมชน 
 
แต่สำหรับผม หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นภาพชนบทที่เชื่อมต่อกับโลกนอกชุมชนได้อย่างดี โทรศัพท์มือถือแสดง landscape ที่สำคัญของชนบทไทย แทนที่โทรศัพท์มือถือจะแยกชุมชน ผมกลับเห็นว่าโทรศัพท์มือถือเชื่อมพื้นที่ในท้องถิ่นเข้ากับโลกกว้างนอกชุมชน พร้อมๆ กับเปิดโอกาสให้เกิดชุมชนทางไกลต่างถิ่น เปิดโอกาสให้เกิดการถ่ายเทไหลเวียนของสังคม
 
ผมว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะตากล้องบอกว่า มีหลายๆ ตอนที่เขาจงใจปล่อยภาพบางอย่างที่น่าขัดใจเจ้าของทุน แต่ถึงอย่างนั้น แม้เจ้าของทุนจะเข้มงวดจนกระทั่งผู้ชมหลายคนสังเกตเห็นได้ว่า "ชนบทในหนังนี้แสนดีเหลือเกิน" แต่ก็ยังมีภาพบางภาพเล็ดรอดสายตาเจ้าของทุนไปได้ ผมตั้งใจว่าจะไปดูอีกสักรอบ เพราะภาพพวกนั้นเล็ดรอดตาผมไปเช่นกัน
 
ถ้าจะวิจารณ์กันอย่างตรงไปตรงมา ที่ผมไม่ชอบที่สุดคือน้ำเสียงอาลัยอาวรณ์กับการเปลี่ยนแปลงในชนบทของหนังเรื่องนี้ แม้หนังจะชูให้เห็นภาพคนจน คนสามัญอย่างเด่นชัด หากแต่คนชนบทกลับเป็นคนที่น่าเห็นใจ น่าเป็นห่วง การละทิ้งชนบทกลายเป็นความผิดบาป 
 
นั่นทำให้นึกถึงบทสนทนากับผู้เข้าสอบสัมภาษณ์ในตอนเช้า ผู้เข้าสอบคนหนึ่งเล่าว่า เขาอาศัยหนังเพื่อบอกเล่าถึงชีวิตของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สะดุดใจกรรมการสอบหลายท่านคือที่ผู้เข้าสอบบันทึกว่า "หนังสามารถทำนายอนาคตได้" เมื่อสอบถามดูปรากฏว่าใจจริงผู้เข้าสอบหมายถึงว่า "หนังสามารถให้ความหวังได้"
 
มีข้อถกเถียงบางตอนในห้องสอบที่น่าสนใจคือเรื่อง "ความเป็นภาพยนตร์"  กรรมการสอบท่านหนึ่งถามผู้เข้าสอบว่า "ทำไมคุณถึงอธิบายหนังด้วยทฤษฎีนั่นนี่มากมาย คุณไม่คิดหรือว่าหนังมันพูดอะไรของมันเองได้" ผู้เข้าสอบตอบว่า "เราอาจวิจารณ์หนังได้ด้วยเกณฑ์ทางสุนทรีย์ หรืออาจวิเคราะห์หนังด้วยทฤษฎีต่างๆ" 
 
กรรมการสอบถามเพิ่มว่า "คุณไม่คิดบ้างหรือว่า หนังมันพูดอะไรเองได้เหมือนกัน" ผู้เข้าสอบพยายามตอบอีกว่า "หนังถูกใช้อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ เช่น เมื่อพูดถึงประเด็นหนึ่ง ก็อาจนำหนังเรื่องหนึ่งมาใช้อธิบาย" 
 
กรรมการสอบอีกคนถามต่อว่า "คุณไม่คิดหรือว่า หนังมันมีวิธีการเข้าถึงความจริงแบบของมันเองแตกต่างจากตัวหนังสือหรือ text ที่คุณอ่านเพื่อใช้วิจารณ์หนัง แทนที่คุณจะพยายามแปลง movies ให้เป็น text ทำไมคุณไม่ลองพยายามคิดว่า หนังเองมันช่วยให้เราเข้าใจอะไรที่ text มันบอกเล่าไม่ได้บ้างล่ะ"
 
เชื่อได้ว่าผู้ชมจะสามารถเข้าใจสังคมชนบทส่วนหนึ่งได้จากหนังเรื่อง "วังพิกุล" และด้วยความที่ "วังพิกุล" มีความพิเศษในหลายๆ ลักษณะดังที่กล่าวไปบ้างข้างต้น หนังเรื่องนี้จึงเปิดข้อถกเถียงเรื่องความเป็นชนบทไทยพร้อมๆ กับชวนให้ถกเถียงเรื่องความเป็นภาพยนตร์ได้อย่างดี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้