Skip to main content

นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ

พูดถึง "การเขียน" ผมว่าคนเราต้องเขียนสิ่งที่เรารู้ เราคิด เรารู้สึกจริงๆ คือเขียนอย่างจริงใจ อย่างไม่หลอกลวงตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นลีลาแบบตรงไปตรงมาหรือประชดประชันหรือลีลาไหนๆ ก็ตาม นั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด 

ผมว่ามันจะตลกน่าดูหากการเขียนจะเขียนเพียงเพื่อเอาใจคนอ่าน การเขียนคือการแสดงออกอย่างหนึ่ง ถ้าเราต้องแสดงออกเพียงเพื่อให้ถูกใจผู้รับรู้ นักเขียนคนนั้นจะไปได้ไม่ไกลหรอก 

ผมมองการเขียนเหมือนกับการทำงานศิลปะ ถ้าผู้สร้างผลงานทำงานได้แค่งานเอาใจตลาด เขาก็จะไม่มีวันได้นำเสนอความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างจากคนอื่น อันนี้ก็ต้องเลือกเอาว่าคุณอยากเป็นคนทำงานป้อนตลาด หรืออยากเป็นคนทำงานที่ได้นำเสนอความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งก็ต้องเสี่ยงว่าจะตกกระป๋องหรือก้าวลำนำหน้าคนอื่น 

แต่ผมบอกได้ว่า ในประสบการณ์ของผมและจากคนที่รู้จักรอบข้าง การเลือกทำงานตามความเป็นตัวของตัวเอง แม้จะลำบาก แต่ผลที่ได้รับมีสองอย่าง ในเบื้องต้น คุณสนุกกับมัน และจะทำมันอย่างเต็มที่ ในท้ายที่สุด คุณจะได้ผลตอบแทนคือมีที่มีทางในสังคม แม้จะช้าไปบ้าง (จนบางคนอาจต้องรอหลังสิ้นชีวิตไปแล้ว-ข้อนี้ผมไม่ได้บอกเขาไป)

ข้อต่อมา เรื่อง "อนาคต" ว่าในเมื่อคุณเป็นคนช่างสงสัย ไม่เชื่อตามที่ใครๆ เขาบอกกันง่ายๆ แล้วจะทำให้ชีวิตลำบากหรือเปล่า คุณอายุยังน้อย ไม่น่าแปลกใจที่คุณย่อมกังวลว่าอนาคตข้างหน้าไกลๆ จะเดินไปอย่างไร จะเริ่มต้นอย่างไร ทางไหนกันแน่ที่จะเป็นทางที่ประสบความสำเร็จ 

เรื่องนี้ตอบยากจริงๆ มันแล้วแต่จังหวะ โอกาส และการตัดสินใจ หากจะตอบจากตัวเอง ผมเองที่เป็นผมทุกวันนี้ก็ไม่เชิงว่าจะเป็นตัวเองแบบที่ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กๆ คือความฝันเรามันเป็นอย่าง แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราฝันเป๊ะๆ หรอก แต่ก็ไม่รู้นะ บางคนอาจทำตามฝันได้ตรงเป๊ะจริงๆ ก็ได้ 

ความฝันเราก็คงต้องปรับไปเรื่อยๆ บ้าง ตามเงื่อนไขความจริงที่มันขยับไปเรื่อยๆ เด็กๆ ผมไม่เคยคิดจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็ใครจะไปฝันแบบนั้นได้ล่ะหากไม่ได้เติบโตมาในครอบครัวแบบนั้น ผมไม่ได้เติมโตมาในครอบครัวที่มีการศึกษาสูงอะไร เพียงแต่เงื่อนไขของชีวิตมันนำพามาเรื่อยๆ สุดท้ายก็มาทำงานอย่างที่เป็นทุกวันนี้

แต่หากจะถามว่า แล้วผมได้ทำตามความใฝ่ฝันไหม ก็ใช่นะ นี่คือสิ่งที่ผมอยากเป็นโดยรวมๆ คือ อยากทำงานที่อิสระ อยากเป็นตัวของตัวเอง อยากนำเสนอความคิดความอ่านของตัวเอง อยากค้นคว้าหาความรู้ไปเรื่อยๆ เหล่านี้ตรงกับความเป็นผมที่ใฝ่ฝันแบบรวมๆ โดยที่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะลงเอยอย่างไร 

สรุป ถ้าถามผมว่าจะทำอย่างไรดี คุณก็ต้องถามตัวเองในขณะนี้ แล้วทำเท่าที่จะทำได้ แบบไม่หลอกตัวเอง แต่นั่นก็แล้วแต่ว่าคุณจะเลือกอย่างไรอยู่ดี

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้