Skip to main content

วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 

เรื่องแรกคือ วันนี้มีนักศึกษามาปิดภาคเรียนวิชานี้กัน 18 คนจากทั้งหมด 21 คน ผมถือว่าแค่นี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีมากแล้ว เพราะตั้งแต่สอนหนังสือมา ส่วนใหญ่นักศึกษาปริญญาตรีจะไม่ใส่ใจวันสุดท้ายของการเรียนกัน วิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่ไม่มีการสอบปลายภาค ฉะนั้นวันสุดท้ายจะไม่มีความหมายอะไรกับคะแนนของพวกเขา นอกจากว่าพวกเขาจะใส่ใจสนใจเรียนกันเอง ผมเลือกเชื่ออย่างนั้น

อาจจะเป็นการสบประมาทนักศึกษาที่เคยสอนในประเทศไทยบ้างหากจะบอกว่า นักศึกษาในห้องเรียนที่ผมเพิ่งสอนจบไปนี้เป็นห้องเรียนที่ดีที่สุดห้องหนึ่งที่เคยสอนมา ไม่ใช่ว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยสอนห้องเรียนไหนที่ดีเท่านี้ แต่หากเทียบคุณภาพนักศึกษาปริญญาตรี "ส่วนใหญ่" คือเกือบ 80% ของห้องนี้กับที่เมืองไทยแล้ว ผมว่านักเรียนที่นี่มีคุณภาพ "สูงกว่า" ที่เมืองไทย ในแง่ของความเอาใจใส่ต่อการเรียน ความตั้งใจทำงาน คุณภาพงานเขียน และการพัฒนาผลงานหลังจากได้รับคำแนะนำ

ไม่ใช่ว่านักศึกษาปริญญาตรีที่นี่จะเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่างหรอก พวกเขายังต้องเรียนรู้การเขียน การอ่าน การอ้างอิงผลงาน การเรียบเรียงความคิด และการมีวินัยในการเรียน แต่โดยรวมๆ พวกเขาพัฒนากันเร็วและมีความตั้งใจสูงมากตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย

อีกเรื่องที่น่ายินดีคือ นับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ผมได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้น จากการให้พวกเขาทำงานวิจัยเล็กๆ คนละชิ้น นักศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องใกล้ตัวที่ตนเองสนใจอยู่แล้ว ซึ่งก็สะท้อนตัวตนของแต่ละคนได้ค่อนข้างดี อย่างนักเรียนผิวสี ก็สนใจเรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสีผิว นักเรียนเอเชียนก็มักสนใจเรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมของสังคมหรือครอบครัวตนเอง นักเรียนหญิงสนใจเรื่องความเป็นหญิง คนชอบเล่นกีฬาก็สนใจเรื่องการเล่นกีฬา ซึ่งนี่ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับนักศึกษาที่เมืองไทยส่วนใหญ่

ที่แปลกออกไปก็มี เช่น นักเรียนอเมริกันผิวขาวคนหนึ่ง เคยไปเรียนมัธยมปลายที่อินโดนีเซียมาหนึ่งปี สามารถใช้ภาษา "บาฮาซา" ได้ และก็ยังคงสนทนาติดต่อกับเพื่อนที่อินโดฯ ก็เลยศึกษาเรื่องการใช้ภาษาของวัยรุ่นอินโดฯ ในโซเชียลมีเดีย อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนอเมริกันที่ศึกษาการใช้พื้นที่ห้องสมุดในห้องสมุดหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งว่ากันว่าเป็นห้องสมุดที่เงียบมากแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยนี้ ส่วนอีกคนศึกษากลุ่มคนที่ประท้วงการบริหารงานของรัฐวิสคอนซินโดยเดินเข้าไปร้องเพลงในที่ทำการรัฐทุกวันธรรมดาเวลาพักเที่ยงเป็นจำนวน 10-20 คน หนึ่งในนั้นคือพ่อของนักศึกษาคนนี้เอง

อีกคนที่น่าสนใจคือนักเรียนเวียดอเมริกันที่สัมภาษณ์คนชราที่เขาทำงานด้วย นักเรียนคนนี้ทำงานบริการ ทำความสะอาด ดูแลให้ความช่วยเหลือคนชราในบ้านพักคนชราแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่างานวิจัยเล็กๆ นี้ช่วยให้เขาได้พูดคุย ได้รู้จัก ได้เห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของคนชราเหล่านี้มากขึ้น เขาบอกว่า จากที่เคยเห็นคนแก่เหล่านี้ว่าเป็นเพียง "งาน" ของเขา แต่เมื่อได้รู้ชีวิตเบื้องหลังแต่ละคนมากขึ้น ได้สังเกตรายละเอียดของชีวิตประจำวันมากขึ้น ได้รู้เกียรติประวัติหน้าที่การงานสำคัญของพวกเขาในอดีตมากขึ้น ได้เห็นความโดดเดี่ยวของพวกเขามากขึ้น แล้วที่สุดก็ทำให้เห็นคนชราเหล่านี้เป็นเพื่อนมนุษย์มากขึ้น

ผมให้นักศึกษาทำงานวิจัยเล็กๆ ของตนเองก็จริง แต่ก็ไม่ได้ให้ต่างคนต่างศึกษากันไปเงียบๆ อยู่คนเดียว ผมให้พวกเขาค่อยๆ พัฒนางาน ให้เขาได้เอางานเขียนมาแลกกันอ่าน ให้พวกเขาแนะนำวิจารณ์กันเองในกลุ่มย่อยๆ อยู่สัก 4 สัปดาห์ แล้วในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียน ผมให้แต่ละคนนำเสนองานตัวเองสั้นๆ ให้ทุกคนได้ฟังได้สอบถามกัน

ที่น่ายินดีคือ วิธีนี้ทำให้พวกเขาได้เห็นมุมมอง ได้เห็นวิธีการตั้งคำถาม ได้เห็นแง่มุมของสังคม ได้รับรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปจากตนเองจากที่แต่ละคนสนใจได้ดีมาก นักเรียนผิวขาวอเมริกันได้เรียนรู้เรื่องของนักเรียนม้ง นักเรียนไต้หวัน และนักเรียนเกาหลี นักเรียนอเมริกันภาคเหนือได้รู้จักมุมมอง ความสนใจ ของนักเรียนอเมริกันจากภาคใต้ นักเรียนผิวขาวได้รับรู้มุมมองของนักเรียนผิวดำ นักเรียนผิวดำได้รู้จักความสนใจของนักเรียนผิวขาว  

เรื่องที่ผมยินดีที่สุดในวันนี้คือ นักศึกษาคนหนึ่งที่แทบไม่เคยมาเรียนเลย แล้วไม่ได้ส่งงานเลยมาตลอดภาคการศึกษา ได้แวะมาหา ที่ผ่านมาผมเตือนให้เขาถอนวิชานี้เสีย แต่เขาอธิบายว่าเขาป่วยหนัก ต้องพักเรียนทุกวิชาหลายสัปดาห์แล้ว แต่จะต้องจบภาคการศึกษานี้ ขอความกรุณาให้ผมผ่อนปรนแล้วเขาจะมาเรียนให้ได้ แต่สุดท้ายเขาก็มาเรียนไม่ได้ วันนี้เขามาหา เอางานมาส่งครบ แล้วอธิบายความเจ็บป่วย เขายอมรับเงื่อนไขว่าเขาจะไม่มีทางได้เกรดสูงๆ ผมรับงานเขา แล้วบอกว่าจะให้โอกาสเขาเท่าที่พอจะทำได้

เสียดายแต่ว่านักศึกษาที่เรียนด้วยไม่ได้มาอ่านบันทึกนี้ แต่เอาไว้ผมจะเขียนไปเล่าให้พวกเขาอ่านว่าได้อะไรจากห้องเรียนนี้บ้าง ที่จริงผมอยากถามพวกเขาแบบที่มักจะถามนักศึกษาเมื่อปิดภาคการศึกษาเสมอๆ ว่า พวกเขาได้อะไรใหม่ๆ จากการเรียนวิชานี้บ้าง พวกเขามีอะไรแนะนำเพื่อการปรับปรุงวิชานี้บ้าง เสียดายที่เวลาไม่พอ สุดท้ายก็เฝ้ารอที่จะได้อ่านงานเขียนชิ้นสุดท้ายของพวกเขา หวังว่าจะได้อ่านงานเขียนดีๆ และได้เรียนรู้อะไรจากพวกเขาเพิ่มขึ้นอีก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้