Skip to main content
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 

ผมไม่ถือว่านี่เป็นการข่มขู่ด้วยการอ้างอำนาจศาล ผมกลับถือว่านี่เป็นการที่อธิบดีฯ กล้าออกมาอธิบายพร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นกับประชาชน และย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ประชาชนที่เสียภาษีและมอบอำนาจอธิปไตยให้ท่านช่วยดูแลให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน จะแสดงความเห็นต่ออธิบดีฯ และสถาบันตุลาการอย่างตรงไปตรงมา ผมขอตั้งคำถามกับท่านและสถาบันตุลาการดังนี้ 

 

ท่านเคยเห็นประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาลมากเท่านี้มาก่อนหรือไม่ สถาบันตุลาการกำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเกินขอบเขตหรือไม่ สถาบันตุลาการจะมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนี้อย่างไร

 

1) ท่านเคยเห็นประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อศาลมากเท่านี้มาก่อนหรือไม่ 

 

ความเสื่อมศรัทธาที่ประชาชนมีต่อศาลนั้นมาจากการที่ผู้คนสงสัยในความ “สองมาตรฐาน” ของสถาบันตุลาการในกรณีของคดีการเมือง ดังเช่น กรณีของกลุ่ม กปปส. ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด แต่ก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว เพื่อให้พวกเขาได้ต่อสู้คดีในขั้นต่อไปได้อย่างเต็มที่ และเป็นไปตามหลักการต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าคดีจะสิ้นสุด 

 

แต่กับกรณีของผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มเยาวชน พวกเขากลับถูกถือเสมือนว่ากระทำผิดไปแล้ว ถูกถือเสมือนว่าตัดสินความผิดไปแล้ว จากเหตุของการไม่ปล่อยตัวประชาชนที่ต้องคดีเหล่านี้ตามที่ท่านกล่าวว่า (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366)

 

“อาศัยหลักตามมาตรา 108/1 ที่ว่าหากให้ประกันแล้ว เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น ซึ่งเหตุนี้มีความหมายว่า เป็นเรื่องที่กระทำมาแล้ว แล้วจะกลับไปกระทำอีก ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อฟ้องมาแล้วว่าทำอย่างนี้ เมื่อปล่อยไปก็ไปกระทำอีก อันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่นก็ได้หรือเป็นเหตุอันตรายประการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคดีนี้”  

 

ข้อนี้จะถือว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ถือว่าเป็นการตัดสินล่วงหน้าว่าจะไป “ก่อเหตุอื่น” ที่ก็ยังไม่รู้ว่าคืออะไรแล้วจะเป็นอันตรายได้อย่างไร หรือไม่ แล้วท่านเองก็ยังว่า “ส่วนผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที ในเมื่อฟ้องมาแล้วว่าทำอย่างนี้ เมื่อปล่อยไปก็ไปกระทำอีก อันนี้ก็เป็นเหตุอันตรายประการอื่น” ตามคำกล่าวของท่านอธิบดีฯ ตรงนี้เอง มีรายละเอียดที่น่าพิจารณา 2 เรื่องด้วยกัน 

 

เรื่องแรกที่ท่านว่า “ผิดหรือไม่ผิดเอาไว้อีกที” นั้น อันที่จริงศาลเคยสั่งไม่ปล่อยตัวด้วยเหตุผลที่ว่า “มีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” ก่อนที่หลังจากนั้นจะให้เหตุผลสั้นๆ ในการขอปล่อยตัวแล้วศาลสั่งไม่ปล่อยตัวครั้งต่อๆ ไปอีกหลายครั้งว่า “ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” (ดู https://www.bbc.com/thai/thailand-56220928) ประชาชนตั้งข้อสงสัยมากกว่า นี่จะนับว่าเป็นการที่ศาล “ตัดสิน” ไปก่อนการพิจารณาคดีแล้วหรือไม่ว่าผู้ต้องหากระทำผิด และนี่ทำให้ประชาชนสงสัยว่า ศาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 โดยเคร่งครัดหรือไม่ (อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ได้ตั้งคำถามนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว https://www.facebook.com/ThaiAcademicNetworkforCivilRights/photos/a.487222531441124/1933516940145002/)

 

อีกเรื่องได้แก่คำถามที่ว่า อะไรคือ “อันตรายประการอื่น” ถ้อยคำเช่นนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ตีขลุมเกินไปแล้วละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาหรือไม่ ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเหล่านี้มากกว่าอีกกลุ่มหรือไม่ ท่านมั่นใจผู้ต้องหาคดี กปปส. มากกว่าผู้ต้องหาคดีกลุ่มเยาวชนกลุ่มนี้ได้อย่างไร ใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายอะไรมาพิจารณาแตกต่างกัน แล้วหากดุลพินิจบกพร่อง ท่านจะรับผิดชอบกันอย่างไร

 

2) สถาบันตุลาการกำลังปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของคนกลุ่มหนึ่งอย่างเกินขอบเขตหรือไม่

 

ข้อนี้แสดงให้เห็นจากการใช้ถ้อยดังในการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองล่าสุดนั้น เป็นได้โดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามมิให้ทั้งสองทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” 

 

ประชาชนสงสัยว่ากิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์คืออะไร มีความเชื่อมโยงกับคดีอย่างไร คดีมาตรา 112” ไม่มีข้อความหรือถ้อยคำที่ระบุว่าห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วการที่ศาลตั้งเงื่อนไขลักษณะนี้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เกินเลยขอบเขตอำนาจศาลหรือเปล่า เป็นการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่เสียเองหรือเปล่า มีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากเจ้าหน้าที่รัฐตีขลุมหรือตีความกว้างขวางว่า แม้กระทั่งการเก็บเงินไว้ในกระเป๋าเงินและนั่งทับกระเป๋าเงินก็ถือว่าเป็นความเสื่อมเสียแล้วได้หรือไม่ 

 

ยิ่งกว่านั้น อะไรคือสถาบันพระมหากษัตริย์แน่นอนว่าหลายคนอาจจะเห็นว่าคำนี้เป็นคำที่ชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว หากแต่เราก็ได้เคยเห็นมาแล้วว่า แม้แต่บูรพกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ยังเคยถูกตีความให้ได้รับการคุ้มครองโดยมาตรา 112 จนเป็นเหตุให้มีการนำไปฟ้องร้องและศาลก็รับฟ้องได้ แล้วคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในงื่อนไขการปล่อยตัวนี้ จะหมายถึงกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนบูรพกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วยหรือไม่ หรือหากมีจะตีความรวมกระทั่ง อาคาร ที่ดิน รูปภาพ ฯลฯ องคาพยพใดๆ ที่ก่อให้เกิดและอำนวยให้ดำเนินไปซึ่งอำนาจและบารมีของกษัตริย์ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ จะเป็นอย่างไร แล้วนี่จะถือว่าเงื่อนไขนี้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ต้องหาหรือไม่ 

 

3) สถาบันตุลาการจะมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองขณะนี้อย่างไร

 

ในฐานะที่ว่าศาลและสถาบันตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประวัติศาสตร์ที่ใหญ่โตกว้างไกลกว่าสถาบันตุลาการเอง ท่านเองและสถาบันตุลาการตระหนักหรือไม่ว่า สถาบันตุลาการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ด้วย 

 

ผมเข้าใจว่าท่านทราบดีว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 นั้น เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แสดงถึงวิกฤติของสังคมไทยอีกช่วงหนึ่ง หากท่านไม่เห็นว่าสังคมไทยกำลังเกิดวิกฤติอย่างไร ท่านก็ไม่สมควรมีอำนาจมากมายอย่างที่ท่านมีอยู่อีกต่อไปแล้ว เพราะท่านไม่เข้าใจบริบทแวดล้อมความเป็นไปของสังคมมากพอที่จะดูแลปกป้องความยุติธรรมให้สังคมได้อีกต่อไป และท่านรวมทั้งผู้อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหลายก็ควรจะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้นว่าบ้านเมืองเราขณะนี้มีปัญหาอะไรกันแน่

 

เอาล่ะ สมมติว่าท่านเข้าใจ ท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ ผมขอตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมากับท่านว่า วิกฤตินี้เป็นเรื่องของความขัดแย้งของประชาชนกับรัฐบาล หรือองคาพยพส่วนอื่นๆ ของสังคมรวมทั้งกระบวนการยุติธรรมเองมีส่วนในความขัดแย้งนี้ด้วย ท่านเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมเอง (เช่น การใช้ ปมอ. มาตรา 112 การใช้ ปมอ. มาตรา 116 และกฎหมายอื่นๆ ในทางการเมือง) มีปัญหาหรือไม่ ท่านคิดว่าท่านเองมีส่วนที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ หรือท่านและสถาบันตุลาการจะเป็นเพียงแค่ฟันเฟืองหนึ่งของอำนาจรัฐ ที่อาจจะถูกรัฐบาลหรืออำนาจอื่นใดฉวยใช้เพียงเพราะท่านละเลยปัญหาที่ใหญ่กว่าคดีความที่อยู่ต่อหน้าตัวท่านเอง 

 

ท่านจะเพียงใช้อำนาจในขอบเขตของท่านโดยอ้างว่า ปัญหาอื่นๆ นั้นช่างใหญ่โตเกินกว่าที่ท่านจะทำอะไรได้ แค่เพียงท่านทำตามอำนาจหน้าที่ของท่านก็แล้วก็ปัดความรับผิดชอบไปให้ส่วนอื่นๆ ของสังคมรับผิดชอบเอาเอง  เมื่อท่านตัดสินคดีความเสร็จ พวกท่านก็กลับบ้านนอนดูความพังทลายของสังคมโดยไม่ต้องแยแสกับความบิดเบี้ยวของสังคมที่กำลังดำเนินไปอยู่ขณะนี้หรืออย่างไร

 

สรุปแล้ว ท่านคิดว่าศาลและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดเองมีส่วนทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไหม แล้วพวกท่านคิดจะแก้ไขความเสื่อมนี้อย่างไร สถาบันตุลาการเองมีส่วนเป็นการเปิดช่องให้มีการละเมิด คุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วท่านตระหนักหรือไม่ว่าสถาบันตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาวิกฤติการณ์ของประเทศในขณะนี้ ท่านเองจะมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ หรือจะดึงดันถือทิฐิว่าศาลย่อมถูกต้องเสมอ 

 

ด้วยความเชื่อมั่นต่อความยุติธรรมและหลักมนุษยธรรม

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้