Skip to main content

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

เท่าที่ผมได้ติดตามการจัดการเรียนการสอนของภาควิชานี้มาต่อเนื่องหลายปี และยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้กับทั้งกิจกรรมการจัดแสดงผลงานนักศึกษาและผู้บรรยายพิเศษในกิจกรรมต่าง ๆ ของภาควิชา รวมทั้งยังส่งผลงานวิชาการมาร่วมตีพิมพ์วารสารของภาควิชาในฉบับปฐมฤกษ์ ก็เนื่องจากว่าผมเล็งเห็นถึงการให้เสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะและความแข็งแกร่งทางวิชาการของคณาจารย์และนักศึกษาภาควิชานี้

ในอดีตหลายปีที่ผ่านมา การให้อิสระในการแสดงออกของทั้งอาจารย์และนักศึกษาทำให้ภาควิชานี้ รวมทั้งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการกล่าวขานกันกว้างขวางว่า เป็นสถาบันศึกษาศิลปะที่มีมาตรฐานสูง มีความก้าวหน้าทั้งทางวิชาการและการแสดงออกทางศิลปะในระดับแนวหน้า ไม่เพียงไม่น้อยกว่า แต่ยังอาจจะเหนือกว่าสถาบันศิลปะเก่าแก่บางสถาบันด้วยซ้ำไป  

นั่นย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ปกครองจำนวนมากส่งเสริมให้นักศึกษามาศึกษาเล่าเรียนที่นี่ นั่นย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาฝีมือดี ความรู้ดี จำนวนมากตั้งใจมาศึกษาที่นี่ แม้จะด้วยค่าเล่าเรียนในอัตราค่อนข้างสูง เพราะเป็นโครงการพิเศษ  

แต่ในระยะ 2-3 ปีให้หลังนี้ การบริหารคณะวิจิตรศิลป์กลับมีแนวทางที่สวนทางกับทิศทางอันรุ่งเรืองในอดีต จนอาจกล่าวได้ว่า คณะวิจิตรศิลป์ยุคนี้เกิดความมัวหมองตกต่ำลงอย่างน่าเป็นห่วง

นับตั้งแต่กรณีการปรับเปลี่ยนการบริหารงบประมาณของภาควิชาที่ตามระเบียบเดิมเป็นการบริหารที่ภาควิชามีเดียฯ เองมีอิสระในการบริหาร ไปเป็นการบริหารภายใต้อำนาจของคณะ กรณีการไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลป์จัดงานแสดงประจำปีของนักศึกษาเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา กรณีการยึดผลงานนักศึกษา กรณีการข่มขู่หรือถึงกับดำเนินคดีทางการเมืองกับนักศึกษา แล้วล่าสุดคือกรณีการตรวจสอบผลงานนักศึกษาก่อนจัดแสดง ก่อนหน้านี้ไม่ปรากฏว่ามีการกระทำเยี่ยงนี้มาก่อน  

นั่นทำให้ผมมีคำถามต่าง ๆ แก่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ เลยเรื่อยไปจนถึงผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้

ข้อแรก ผมสงสัยว่าคณะวิจิตรศิลป์ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารชุดปัจจุบันมองว่าศิลปะคืออะไร ศิลปะคือผลงานสวยงามที่จรรโลงความสุขความบันเทิง หรือแม้แต่โน้มนำไปสู่พุทธิภาวะ แก่ผู้ชม ผู้เสพย์ เท่านั้นหรือ หรือที่คับแคบยิ่งกว่านั้นคือ งานศิลปะจะต้องรับใช้หรือสอดคล้องกับค่านิยม ความเชื่อ ความดีงามตามบรรทัดฐานของรัฐบาล ตามบรรทัดฐานของสังคม เท่านั้นหรือ  

ถ้าเช่นนั้น พวกท่านก็คงต้องเลิกสอนศิลปะตะวันตก เลิกสอนแม้กระทั่งศิลปะไทย แล้วหันไปสอนศิลปะมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เขียนงานบนฝาผนังถ้ำ หรือปัจจุบันนี้หากพวกท่านได้ดำเนินการเช่นนั้นไปแล้วหรือกำลังจะปรับปรุงหลักสูตรให้เป็นไปดังนั้น ผมก็ขออภัยที่มิได้ล่วงรู้หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะฯ ในรายละเอียด

ข้อต่อมา ผมสงสัยว่า หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ศิลปะตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการ รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัย จะทำหน้าที่ผลิตคนป้อนนโยบายรัฐ ป้อนกระแสสังคม เพียงเท่านั้นหรือ บทบาทของศิลปินหรือนักวิชาการ รวมทั้งมหาวิทยาลัย ในทัศนะของผู้บริหารคณะฯ ขุดนี้ คือการผลิตซ้ำวัฒนธรรม อุดมการณ์ ค่านิยม ระบบคุณค่าของสังคมหรือของผู้มีอำนาจบางกลุ่ม โดยไม่มีข้อสงสัย ไม่มีข้อทัดทาน เลยอย่างนั้นหรือ  

แต่หากผู้บริหารคณะฯ ยืนยันว่า แนวทางการบริหารของตนเองไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น ก็โปรดอธิบายให้สาธารณชน อย่างน้อยให้ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียนได้รับรู้ว่า สิ่งที่พวกท่านกำลังกระทำอยู่ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการแสดงออกที่แตกต่างไปจากกรอบบรรทัดฐานของรัฐและสังคมไทยอย่างไร  

ข้อสาม หากผู้บริหารคณะฯ เห็นดังนั้น ทำไมคณะผู้บริหารจึงไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่า คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมการแสดงออกของนักศึกษา ในแนวทางที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ต่อบรรทัดฐานของรัฐไทยและสังคมไทยทั่วไป คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ส่งเสริมให้เกิดความคิดนอกกรอบ  

ทำไมไม่ประกาศให้ชัดเจนไปเลยเพื่อว่าพ่อแม่ผู้ปกครองของนักศึกษา ตลอดจนสาธารณชนจะได้เข้าใจว่า ขณะนี้แนวทางการบริหารงานจะเป็นแบบนี้ หากนักศึกษาและผู้ปกครองไม่ประสงค์จะให้นักศึกษาได้เรียนรู้ศิลปะตามแนวทางคับแคบเช่นนี้ จะได้เลือกหาสถาบันอื่น และหากไม่มีสถาบันอื่นใดให้เสรีภาพในการแสดงออกเลย พวกเขาก็อาจไม่เข้าเรียนสถาบันศิลปะใดในประเทศนี้เลยก็ได้

ข้อสุดท้าย ผมขอถามเลยไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่า การบริหารการศึกษาศิลปะตามแนวทางของผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ชุดปัจจุบันนี้ ได้รับการยอมรับ เห็นดีเห็นงามจากผู้บริหารมหาวิทยาลัย ว่าเป็นไปตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วยหรือไม่  

หากเป็นไปตามแนวทางปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะยืนยันหรือไม่ว่าแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ แล้วถ้าเช่นนั้น จะอธิบายอย่างไรว่าการกระทำต่าง ๆ ของคณะวิจิตรศิลป์ที่ผ่านมาไม่กี่ปีนี้ เป็นการส่งเสริมเสรีภาพการแสดงออกทางศิลปะและวิชาการ  

หรือว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองเห็นด้วยว่าจะต้องปิดกั้นการแสดงออกทางศิลปะ ตลอดจนการแสดงออกทางวิชาการในสาขาวิชาอื่น ๆ นั่นหมายความว่า หากผู้บริหารประสงค์จะปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษาก็สามารถกระทำได้ มหาวิทยาลัยจะไม่ทัดทานการปิดกั้นใช่หรือไม่  

หากผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีความคิดเห็นเช่นเดียวกันกับคณะวิจิตรศิลป์ ไม่ทัดทาน ไม่สอบสวนการกระทำอันเข้าข่ายปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกของคณะวิจิตรศิลป์แล้ว ผมก็สงสัยอย่างยิ่งว่า การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ตามทัศนะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็คือการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานสูงในแง่ของผลผลิต โดยไม่ได้ใส่ใจกับคุณค่าของเสรีภาพการแสดงออก ไม่ได้ใส่ใจกับการให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น ที่อาจจะแหวกขนบ นอกกรอบ แตกต่างไปจากบรรทัดฐานของสังคมเลยอย่างนั้นหรือ

ถึงที่สุดแล้ว หากงานศิลปะ งานวิชาการ และมหาวิทยาลัยไม่ต้องแสดงบทบาทในการแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่าแก่สังคม ไม่สอนให้คิดนอกกรอบ ไม่สอนให้เกิดความคิดวิพากษืวิจารณ์ ผมสงสัยว่าเราจะมีมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไรกัน หรือไม่เช่นนั้น มหาวิทยาลัยก็ดำเนินกิจการต่อไปนั่นแหละ แต่ควรสำนึกในใจให้ดัง ๆ ว่า พวกคุณกำลังดำเนินกิจการโรงเรียนดัดสันดานหรือกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของผู้มีอำนาจ มากกว่าจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้