Skip to main content
ประสาท มีแต้ม
1. ความเดิม จากปัญหาที่ผู้บริหารทั้งระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่และผู้จัดการใหญ่ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) “อ้าง” หลายครั้งหลายวาระด้วยกันว่า ก๊าซหุงต้มในประเทศไทยขาดแคลน ทาง บริษัท ปตท. จึงได้ออกมาบอกกับสาธารณะในสามประเด็นหลัก คือ (1) เสนอแนะให้รัฐบาลขึ้นราคาหรือลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มให้เท่ากับราคาตลาดโลก(2) ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาทาง ปตท. ได้นำเข้าก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีแล้วจำนวน2 หมื่นตัน ขณะเดียวกันผู้บริหารระดับสูงสุดอ้างว่าในปีนี้จะมีการนำก๊าซถึง 4 แสนตัน (3) ราคาก๊าซหุงต้มในตลาดโลกตันละเกือบพันเหรียญสหรัฐ แต่ราคาก๊าซในประเทศอยู่ที่ตันละประมาณ 300 เหรียญ ทำให้รัฐต้องเสียเงินชดเชยราคาเป็นจำนวนมาก ผมเกิดความสงสัยในข้อมูลดังกล่าว จึงได้ทำการสืบค้นทั้งจากกรมศุลกากรซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการเก็บภาษีนำเข้า-ส่งออกและจากกระทรวงพลังงานที่ดูแลข้อมูลนี้โดยตรง ก็ไม่พบว่าได้มีการนำเข้าก๊าซหุงต้มทั้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2551 แต่อย่างใด นอกจากจะไม่ได้มีการนำเข้าแล้ว ยังมีการส่งออกอีกต่างหาก ข้อมูลของทั้งสองหน่วยงานดังกล่าวก็ช่างตรงกันพอดี ผมจึงสรุปว่า คำกล่าวข้อที่ (2) ของ ปตท. เป็นเท็จ สำหรับข้อที่ (3) ผมวิจารณ์ว่าเป็นการให้ข้อมูลเพียงครึ่งเดียว ความจริงแล้วราคาก๊าซในประเทศที่มีอากาศหนาวราคาก๊าซจะต่างกันเกือบครึ่งต่อครึ่งในแต่ละปี สำหรับข้อ (1) ที่ ปตท. เสนอแนะให้รัฐบาลขึ้นราคา ผมไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ครับ แต่ผมพอจะจำความได้ว่า เดิมทีเดียวนั้น บริษัท ปตท. มาจาก “น้ำมันสามทหาร” ที่มีปรัชญาหลักว่า “เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของทหารและชาติ” ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของบทความที่ชื่อว่า “จับเท็จ ปตท. กรณี “นำเข้าก๊าซหุงต้ม””