Skip to main content
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ       :    รายงานจากหมู่บ้าน       ประเภท         :    กวีนิพนธ์     ผู้เขียน         :    กานติ ณ ศรัทธา    จัดพิมพ์โดย     :    สำนักพิมพ์ใบไม้ผลิพิมพ์ครั้งแรก      :    มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๕๐เขียนบทวิจารณ์     :    นายยืนยง
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ช่อการะเกด ๔๒ ( ตุลาคม – ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ) ประเภท : นิตยสารเรื่องสั้นและวรรณกรรมรายสามเดือน บรรณาธิการ : สุชาติ สวัสดิ์ศรี จัดพิมพ์โดย : พิมพ์บูรพา สาเหตุที่วรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยังคงมีลมหายใจอยู่ในหน้าหนังสือ มีหลายเหตุผลด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตัวนักเขียนเองที่อาจมีรสนิยม ความรู้สึกฝังใจต่อวรรณกรรมแนวนี้ว่าทรงพลังสามารถขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง แก้ปัญหาสังคมได้ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเหตุผลนี้เพียงประการเดียวก่อน คำว่า แนวเพื่อชีวิต ไม่ใช่ของเชยแน่หากเราได้อ่านเพื่อชีวิตน้ำดี ซึ่งเห็นว่าเรื่องนั้นต้องมีน้ำเสียงของความรับผิดชอบสังคมและตัวเองอย่างจริงใจของนักเขียน อันนี้คงพิจารณายาก ลำพังอาศัยเสียงจากความรู้สึกเข้าจับ แต่หากพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นที่หลอมเป็นเรื่องสั้นหรือเรื่องยาวนั้น ก็พอจะสรุปได้ นอกจากนั้นแนวเพื่อชีวิตต้องไม่สักแต่สะท้อนภาพปัญหาเท่านั้น ขณะเดียวกันต้องไม่เทศนาอย่างไร้ศรัทธา เหมือนดั่งที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยเตือนว่า อย่าเทศนาในสิ่งที่ตนไม่เชื่อ เพราะสิ่งหนึ่งที่ต่อลมหายใจให้แนวเพื่อชีวิต คือการชี้นำ หรืออภิปลายให้เห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่นำเสนอนั้นด้วย มิเช่นนั้น แนวเพื่อชีวิตอาจกลายเป็น แนวเขียนที่เร่อร่าล้าสมัย หรือบ้องตื้นกว่ารายการโทรทัศน์ จากการกลับมาของ ช่อการะเกด ฉบับที่ ๔๒ ปี ๒๕๕๐ นี้ คำว่าเพื่อชีวิตที่มีชีวิตและลมหายใจของวันนี้ได้กลับมาให้เราได้เชยชมกันแล้วในเรื่องสั้นเด็ดดวงของ เดช อัคร ขอกล่าวถึงสักเล็กน้อยเกี่ยวกับช่อการะเกด เผื่อว่าจะเป็นเกร็ดเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ยังไม่ทราบความเป็นมา ช่อการะเกด เป็นหนังสือต่อเนื่อง ( pocket magazine ) ถือกำเนิดครั้งแรกในรูปเล่มของ “โลกหนังสือ” ฉบับ “เรื่องสั้น” เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑ เพื่อให้เป็นเวทีเผยแพร่ผลงานเรื่องสั้นของผู้สนใจและรักการเขียนในขอบเขตทั่วประเทศโดยไม่จำกัดรุ่นวัยใหม่เก่า ทั้งไม่จำกัดรูปแบบและเนื้อหา ช่อกำเนิดใหม่อีกครั้งโดยฝีมือศิษย์เก่าอย่างเวียง-วชิระ บัวสนธ์ และสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ซึ่งเราไม่ขอกล่าวถึง เนื่องจากมีเรื่องสั้นมือสังหาร ของเดช อัครรอให้กล่าวถึงอย่างไม่อาจระงับใจได้ มือสังหาร เขียนเป็นแนวเพื่อชีวิตเหมือนต้นฉบับแต่แตกแขนงใหม่ได้ชัดเจน แต่ทำไมต้องยกย่องกันปานนี้ เพราะประเด็นที่เดช อัครพูดถึงเป็นเรื่องหนักหน่วงและเร่งเร้าเหลือเกิน มันร้อนมากเมื่อกล่าวถึงปัญหาชายแดนใต้ ที่ถูกคลุมโปงให้อยู่ใต้รักแร้ของรัฐบาลหน้าสื่อแทบทุกประเภท เรื่องเขียนถึงครอบครัวหนึ่งที่ไทยพุทธกับไทยมุสลิมร่วมชีวิตสมรส ฝ่ายสามี คืออับรอมานกับภรรยา คือลิมะ (แต่เดิมชื่อมะลิ แต่เมื่อแต่งงานและเข้ารับศาสนาอิสลาม โต๊ะอีหม่ามก็ตั้งให้ใหม่) เราจะพบจุดขัดแย้งในตั้งแต่นาทีแรกและดำเนินต่อไปอย่างบีบคั้นกดดันยิ่ง อับรอมานมีอาชีพฆ่าวัว เขาไม่กินไก่ส่วนลิมะไม่กินเนื้อวัว ทุกครั้งที่อับรอมานกลับมาหลังจากฆ่าวัวพร้อมเนื้อ ลิมะจะมีอาการแพ้ท้องรุนแรงสาหัส ขณะที่อับรอมานไม่กินไก่ แต่มะลิกลับฆ่าไก่กินเพื่อประชดเขา (หน้า ๔๙) อาการแพ้ท้องอย่างรุนแรงของลิมะใช่ว่าจะเพิ่งเกิดขึ้นกับลูกคนนี้ มันเป็นตั้งแต่ท้องลูกคนแรกได้เพียงห้าเดือน วันก่อนที่จะรู้ว่าพี่ชายของตัวเองเสียชีวิต ซึ่งดูเหมือนจะรุนแรงกว่าครั้งนี้ด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะอาเจียนอย่างหนักแล้ว นางยังนึกอยากกินเนื้อคนที่เป็นตำรวจ เมื่อเห็นอับรอมานหิ้วเนื้อสด ๆ เลือดแดงยังไหลเยิ้มกลับมา ทั้งที่เป็นคนไม่กินเนื้อ ลิมะวิ่งเข้าไปแย่งเนื้อในมือสามีมายัดใส่ปาก เคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อยราวกับกระสืออดอยาก ชั่วพริบตาเนื้อพร่องไปครึ่งพวง ...ฯลฯ... อาการอยากกินเนื้อมนุษย์ของลิมะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อท้องยูนุส (ลูกคนที่สอง)ได้สามเดือน ก่อนที่สานุดิงถูกยิงเพียงสองวัน คราวนี้นางไม่ได้อยากกินเนื้อตำรวจเหมือนครั้งก่อน แต่กลับเป็นเนื้อคนที่เป็นทหาร ...ฯลฯ... กระทั่งลิมะมีอาการแพ้ท้องครั้งใหม่ นางเหม็นแม้กระทั่งเสื้อที่เขานำกลับมาจนแทบทนไม่ไหว ...ฯลฯ... เค้าโครงเรื่องผูกโยงถึงสถานการณ์ที่ญาติของสองสามีภรรยาถูกสังหารด้วยฝีมือผู้ที่ต้องการให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนา ขณะอาการแพ้ท้องรุนแรงของลิมะก็ถูกนำมาร้อยเข้าด้วย เหล่านี้อาจแสดงให้เห็นถึงสัมพันธภาพระหว่างการตายและการเกิดของคนในสังคมที่มีพันธะร่วมระหว่างกัน เหมือนเครือข่ายทางจิตวิญญาณ ทั้งนี้ เดช อัครได้สรุปข้อขัดแย้งระหว่างสองสามีภรรยาต่างความเชื่อนี้ในตอนจบว่า “ หยุดเถอะ ” เขาพึมพำออกมาพอให้ตัวเองได้ยิน ทั้งที่ไม่รู้ว่าทำไมถึงหลุดคำนี้ออกมา แต่พลันนึกได้ว่า หากเขาหยุดเอาเนื้อกลับมาบ้าน ลิมะก็คงหยุดฆ่าไก่ เพราะที่นางต้องฆ่านั้นไม่ใช่ว่าฆ่าเพราะอยากกิน แต่เพื่อต้องการที่จะเอาคืน... ปัญหาที่เดช อัครมองอย่างใคร่ครวญและถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมาคือความขัดแย้งระหว่างความเชื่อในเชิงจิตวิญญาณ ที่ถูกกระทำมารุ่นต่อรุ่น ราวกับเป็นมรดกตกทอดอันบัดซบ ทางออกก็คือหยุดนั่นเอง กล่าวถึงกลไกของการสำแดงพลังของเรื่องนี้โดยย่นย่อได้ว่า เดช อัครถ่ายทอดคู่ขัดแย้ง (ที่อยู่ในกระแสสถานการณ์ปัจจุบัน) อาศัยภาพลักษณ์ภายนอกที่ห่อหุ้มไว้ด้วยความเชื่อทางศาสนา พุทธ –อิสลาม นั่นคือปมปัญหาแรกที่เป็นสัญลักษณ์ร่วมระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน แล้วนำเอาเหตุการณ์ปัจจุบันที่อยู่ในอารมณ์ร่วมเชิงสังคม (ปัญหาชายแดนใต้) มาเชื่อมต่อเข้ากับสถาบันครอบครัว สร้างตัวละครที่สดใหม่ คืออยู่ในเหตุการณ์จริงของอารมณ์ร่วมเชิงสังคมดังกล่าว ผูกปมขัดแย้งย่อยที่สอดคล้องกับปมแรก แล้วดำเนินเรื่องไปพร้อมกับปลุกเร้าความสนใจของผู้อ่านด้วยปัญหาครอบครัวนั้น เมื่อถึงจุด climax เรื่องก็พร้อมคลี่คลายตามปมย่อยที่ผูกไว้ ทำไมปมย่อยที่คลี่คลายแล้ว คือ “หยุด”จะเชื่อมโยงให้ปมใหญ่คลี่คลายตามไปด้วย นั่นคือเรื่องที่ผู้อ่านต้องครุ่นคิดต่อไปเพราะผู้เขียนได้บอกแล้วว่าปัญหาต้องแก้ไขจากจุดเล็ก ๆ ที่เป็นปัจเจกเสียก่อน ซึ่งการณ์นี้ต้องอาศัยกระบวนการแบบพลวัต แม้เรื่องมือสังหารจะโดดเด่นดังกล่าวมาแล้วเพียงไร เราก็ไม่ควรละเลยจะกล่าวถึงข้อบกพร่องสักเล็กน้อย เนื่องจากเรื่องสั้นที่ดีเด่นและทรงพลังนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือ คือภาษา เพื่อถ่ายทอด โดยการใช้คำระหว่าง ๓,๐๐๐ –๑๐,๐๐๐ คำตามรูปแบบของเรื่องสั้นนั้น คือใช้คำน้อยแต่กินความมากนั่นเอง ดังนั้นการเขียนเรื่องสั้นที่ดีนักเขียนจำต้องประหยัดคำ ขัดเกลา ตัดทอน คำซ้ำ คำซ้อน เพราะเรื่องสั้นที่ดีก็มีคุณค่าเทียบเท่ากวีนิพนธ์ได้เช่นกัน สำหรับเรื่องสั้นที่ไม่ใช้คำฟุ่มเฟื่อย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวเหยียดชนิดที่เรียกได้ว่าถั่งโถมออกมาอย่างหมดเปลือก คือ เรื่องผู้ไร้เหย้าของ ภาณุ ตรัยเวช ผู้ไร้เหย้า เป็นเรื่องสั้นที่ให้เกร็ดความรู้แก่ผู้อ่านไปพร้อมด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องสั้นวรรณกรรมไทยเรานี้ ยังมุ่งเน้นให้แสดงทัศนคติ อุดมคติ หรือสำแดงอารมณ์กันจนสนุกสนาน หลงลืมไปว่าโลกนี้ยังมีสรรพวิทยาการอีกท่วมท้นที่จะจำนัลแด่ผู้อ่าน ไม่เท่านั้น เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องเทียบเคียงประวัติศาสตร์ที่หาอ่านยากในสังคมวรรณกรรมไทยอีกด้วย ขณะเดียวกันความยาวของเรื่องเป็นความต่อเนื่องที่กระชับรัดกุม การใช้ภาษาก็ไม่ฟุ่มเฟื่อยเรื้อยเจื้อยแต่อย่างใด นอกเสียจากขาดการขัดเกลาให้เกิดสำนวนโวหาร เพื่อเปรียบเทียบ หรือตัดทอนเนื้อเรื่องให้แน่นขึ้น ช่อการะเกด เล่มนี้ บรรจุเรื่องสั้นไว้ทั้งหมด ๑๒ เรื่อง จะน่าอ่านชวนชื่นเพียงไร ขอบอกว่า ราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ ไม่ต้องนำมาคำนวณ เพราะนอกจากจะทำให้รู้ซึ้งว่าสถานการณ์เรื่องสั้นวรรณกรรมไทยเป็นเช่นไรแล้ว อาจทำให้บางคนที่ชื่นชอบเขียนเรื่องสั้นเกิดลำพองใจ คิดจะเขียนส่งตรงถึงรสนิยมของบรรณาธิการในฉับพลันก็เป็นได้ พิจารณาจากเล่มนี้แล้วเชื่อว่ารสนิยมของบรรณาธิการช่อการะเกดในยุคนี้ อาจไม่ได้เป็นความหวังสูงส่งอะไรนักที่จะ สร้างสรรค์ ส่งเสริมวรรณกรรมไทยให้เลิศเลอนักทั้งนี้ก็ต้องฝากความหวังไว้กับนักเขียนด้วย ต้องติดตามในเล่มต่อไป หากใครมีรสนิยมเคี้ยวข้าวโพดคั่วขณะอ่านหนังสือ ช่อการะเกดก็มีของแถมให้ในรูปแบบบทความของมุกหอม วงษ์เทศที่ตั้งข้อสังเกตแบบกระจายกระจาดเกี่ยวกับงานเขียนร่วมสมัย ส่วนที่พลาดไม่ได้คือ บทความวรรณกรรม ของ นพพร สุวรรณพานิชในบทความเรื่อง วรรณกรรมและ “กำเนิดเรื่องผี” ในเมืองไทยและวรรณกรรมสายรอบโลก โดย เฟย์ บางทีเกร็ดความรู้ก็สำคัญกว่าทัศนคติหากเราเองก็คิดวิเคราะห์เองได้ แต่อย่าลืม มือสังหาร และ ผู้ไร้เหย้าก็แล้วกัน.
Hit & Run
   อรพิณ ยิ่งยงพัฒนาในเกมช่วงชิงพื้นที่สื่อ กลยุทธ์หนึ่งก็คือ ทำยังไงก็ได้ ให้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้เป็นข่าว ส่วนฝ่ายตนนั้น ต่อให้เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายแต่ถ้าได้พื้นที่ข่าวก็ถือว่าได้เปรียบใน ระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยก็พอทำให้ชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่คุ้นหูอยู่ในความจดจำ ดีกว่าเป็นบุคคลโนเนมที่ไม่มีใครรู้จักเช่นเดียวกัน ช่วงนี้ ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีพูดอะไร ให้สัมภาษณ์ว่าอะไร สื่อมักจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ สังเกตได้ว่าเวลาอ่านหรือฟังข่าวในเวลานี้ ผู้สื่อข่าวจะหยิบคำพูดของนายกรัฐมนตรีมาเปิดเผยแบบยาวๆพูดแบบตามตำรา ก็คือ แหล่งข่าวเป็นผู้นำในรัฐบาล พูดอะไรก็ย่อมเป็นข่าวอยู่แล้ว แต่นั่นอาจจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของกรณีที่เกิดขึ้น ผู้นำฝ่ายค้านแม้จะมีฐานะเป็นผู้นำประเทศเช่นกัน แต่กลับไม่ได้มีโอกาสได้เป็นข่าวเท่าไรการเปิดเผยคำพูดของนายกฯ สมัครแบบคำต่อคำ ให้พื้นที่ข่าวแก่ท่านนายกฯ แบบไม่น้อยนั้น เชื่อได้ว่าเป็นเพราะสิ่งที่นายสมัคร สุนทรเวชพูดนั้น ไม่ใช่แค่เรื่อง ‘พูดอะไร' แต่เป็นเรื่อง ‘พูดอย่างไร' คือ สื่ออาจเห็นว่าลักษณะวิธีพูดของนายกฯ มีนัยยะที่ต้องการเสนอ คือ มีความไหวตัวและละเอียดอ่อนกับคำพูดของผู้นำประเทศคนนี้เป็นพิเศษสื่อภาคสนาม สื่อที่ต้องคอยประกบติดนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องอาศัยความอดทนอดมากอยู่แล้ว มายุคของนายกฯ คนนี้ คงต้องใช้ขันติและอุเบกขาให้มากยิ่งกว่าเดิมเป็นเท่าตัว บุคลิกของผู้นำเช่นนี้ เรียกร้องให้สื่อจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานแข็งแกร่ง ไม่เช่นนั้นคงจะเผลอไปอยู่ในขั้วใดขั้วหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมืองโดย ไม่ทันตั้งใจนั่นคือ งานข่าวสำหรับสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ภายใต้รัฐบาลสมัคร 1 นี้ คงต้องอาศัยพลังใจที่แข็งแกร่งมาก ไม่อ่อนไหวจนกลายเป็นการให้น้ำหนักกับท่านนายกรัฐมนตรีไปโดยไม่รู้ตัว รวมทั้งไม่อ่อนไหวจนไม่สามารถทำงานได้พูดภาษาปาก อาจจำเป็นต้องพูดว่า เพื่อให้สอดคล้องกับผู้นำประเทศ สื่อมวลชนต้องไม่หน้าบางจนเกินไปความอ่อนไหวนี้ อาจรวมถึงที่มาของบรรยากาศการแทรกแซงสื่อที่ร่ำลือกันในช่วงเวลานี้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นในข่าวการถอนตัว จนนำมาสู่การยกเลิกจัดรายการ ‘มุมมองเจิมศักดิ์' ซึ่งจัดโดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และคู่หู เถกิง สมทรัพย์ ซึ่งออกอากาศเป็นประจำทุกเช้า ที่คลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ คลื่นวิทยุในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ โดยวิสดอมเรดิโอเป็นผู้ได้สัมปทานคลื่นเรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่ระหว่างดร.เจิมศักดิ์จัดรายการ ซึ่งกำลังกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนายสมัคร สุนทรเวช ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากอัลจาซีร่าว่า มีคนตายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียง 1 คน โดยดร.เจิมศักดิ์ ได้หยิบข้อมูลต่างๆ ทางประวัติศาสตร์มาเล่าในรายการ หลังจากนั้น ดร.เจิมศักดิ์ ให้ข่าวแก่สื่อมวลชนว่า ระหว่างกำลังจัดรายการ มีรัฐมนตรีโทรศัพท์ไปยังคลื่นวิทยุวิสดอมเรดิโอว่าจะโละผังรายการทั้งหมด ของคลื่นวิทยุวิสดอม ทำให้เจ้าของคลื่นโทรศัพท์มาสอบถามว่า ดร.เจิมศักดิ์จะบรรเทาความเสียหายให้แก่วิสดอมได้อย่างไร สุดท้าย ดร.เจิมศักดิ์ ตัดสินใจถอนตัวจากการจัดรายการแม้กระแสข่าวต่อจากนั้น จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าที่แท้แล้วอะไรเกิดขึ้น เพราะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็ให้ข่าวปฏิเสธ ย้ำว่าไม่มีการโทรศัพท์ไปแทรกแซง ทั้งยังสั่งให้นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประสานงานไปยังบริษัทฟาติมา ซึ่งเป็นเจ้าของคลื่น 105 เปิด การแถลงข่าวเพื่อแสดงข้อเท็จจริง ซึ่งนายแสงชัย อภิชาติธนพัฒน์ ประธาน บริษัท ฟาติมา บรอดคาสติ้ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานคลื่นวิทยุ เอฟเอ็ม 105 เมกะเฮิรตซ์ ก็ เปิดเผยว่า ไม่ได้ถูกแทรกแซงจากกรมประชาสัมพันธ์ หรือรัฐบาล แต่มีการพูดคุยกับนายเจิมศักดิ์ ถึงความไม่สบายใจกับเนื้อหารายการที่วิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่น ซึ่งเขาอยากให้สังคมเกิดความสมานฉันท์ และยอมรับว่ามีความกังวลว่าหากยังดำเนินรายการที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์ บุคคลอื่นต่อไป อาจจะมีปัญหาเรื่องคลื่นหลุด ซึ่งจะส่งผลเสียหายกับบริษัทให้ไม่สามารถดำเนินกิจการอยู่ได้ต่อเรื่องนี้ จริงเท็จอย่างไร คงยังไม่รู้แน่ชัด แต่อย่างน้อยสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ฐานะของคนทำสื่อ มีความเปราะบางมากเหลือเกินเรื่องเก่าๆ อย่างปัญหาโครงสร้างสื่อ กลายเป็นสิ่งที่จองจำการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้ไม่สามารถทำงานได้อย่าง เต็มที่ ไม่เว้นวงการข่าวเท่านั้น ล่าสุด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คลื่นวิทยุรายการเพลงที่ดีที่สุดเพียงคลื่นเดียว อย่าง The Radio ก็ถูกปลดกลางอากาศแบบที่คนฟังหรือแม้แต่ผู้จัดรายการไม่ทันได้ตั้งตัวปัญหาของสองกรณี มาจากเหตุเดียวกัน คือ นายทุนผู้ได้สัมปทานคลื่น มีความประสงค์จะเปลี่ยนเนื้อหารายการ กรณีที่ดร.เจิมศักดิ์เจอ คือรายการวิพากษ์การเมืองแรง นายทุนคลื่นมีความกังวล ส่วนกรณีที่ The Radio เจอ คือ นายทุนอยากเปลี่ยนแนวรายการ จากรายการดนตรี ไปเป็นการ ‘โฆษณาดนตรี' ที่มีรายได้มากกว่าคลื่นวิทยุโทรทัศน์กระแสหลัก อยู่ในภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานทหาร หน่วยงานเหล่านี้ก็ปล่อยสัมปทานออกมาปีต่อปี เพื่อให้นายทุนที่วิ่งเต้นทุกๆ ช่วงสิ้นปีเพื่อให้ ‘ได้รับคัดเลือก' ได้คลื่นไปบริหาร ก่อนจะมาปล่อยถึงมือคนทำสื่อเป็นทอดสุดท้าย โครงสร้างแบบนี้ หนีไม่พ้นทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุนถามว่า ระบบโครงสร้างเวลานี้ ยังหลงเหลือให้ที่ทางสำหรับจิตวิญญาณสื่อสารมวลชนบ้างหรือไม่ สิ่งที่น่าสนใจต่อกรณีของ The Radio คือ ผู้คนตื่นตัวมากกับปัญหาที่ว่า รายการดีดีมักไม่มีที่ให้อยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มีคนตั้งกระทู้เรื่องนี้ หลายคนขอให้รายการไม่ล้มหายจากไป แต่เปลี่ยนมาออกอากาศในอินเตอร์เน็ตแทน พร้อมทั้งเสนอตัวช่วยด้านเทคนิคทุกอย่าง แต่อย่างไรก็ดี สื่อแต่ละประเภทก็มีธรรมชาติของสื่อที่ต่างๆ กัน แม้อินเทอร์เน็ตดูจะเป็นที่ทางสำหรับคนไม่มีทางเลือกในการส่งสาร แต่สำหรับคนรับสาร ดูเหมือนทางเลือกจะน้อยลงทุกที นี่อาจจะเป็นอีกความท้าทายของรัฐบาล ชุดที่ประกาศว่าจะมีการ จัดระบบสื่อ เพราะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้ จำเป็นต้องรู้ต้นตอปัญหาของระบบการสื่อสารมวลชนในประเทศไทย หากกล้าจริง ต้องทำลายโครงสร้างที่มัดมือสื่ออยู่ในเวลานี้ และเลิกคิดว่าตนจะเป็นผู้เข้ามาทำเนื้อหาสื่อให้ดีเอง เพราะการครอบงำแบบนั้น ประชาชนไม่ต้องการ  เพิ่มเติม :คอลัมน์ บ้านบรรทัดห้าเส้น ประชาไท : 99.5 The Radio : เมื่อรายการวิทยุดีๆ จะไม่มีที่อยู่คลิปเกี่ยวกับการให้สัมภาษณ์ ของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศข่าวมติชน : 'จักรภพ'ปัดสั่งปลดพิธีกรคลื่น105 เจ้าของยืดอกรับขอให้ถอนตัว เพื่อรักษา'ธุรกิจ'ข่าวผู้จัดการ : "หมัก" สั่งรื้อช่อง 11 ท้า "เจิมศักดิ์" หาหลักฐาน รมต.สั่งถอดรายการ
new media watch
  ทุกครั้งที่กวาดตาไปยังข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์...เรามักสะดุดตากับ ‘ข่าวร้าย' มากกว่า ‘ข่าวดี' และคนที่ภูมิต้านทานความเศร้าต่ำ อาจรู้สึกหดหู่เมื่อได้เห็น จนบางทีก็เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่า เราบริโภคข่าวร้ายมากเกินไปหรือเปล่า?ไม่ใช่ว่าจะมาชวนให้ใครหลบหนีจากโลกแห่งความจริง (อันโหดร้าย) แต่หลายคนที่คิดว่า เราควรมีพื้นที่ข่าวที่สร้างสรรค์จรรโลงใจในชีวิตประจำวันบ้าง โปรดฟังทางนี้...บล็อก ‘Happy Media' เป็นพื้นที่หนึ่งซึ่งเปิดไว้รอท่า เพราะบล็อกเกอร์ประจำของที่นี่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘สื่อสร้างสรรค์ (ความสุข)' หรือ "กลุ่มคนที่มีความสนใจใฝ่หาการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสุขภายใน สร้างสรรค์ความสุขภายนอกให้ผู้อื่นและสังคม" โดยการ "ร่วมกันคิด พูดคุย เรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ สนุกๆ และผ่อนคลาย"ด้วยความหวังว่า "มิตรภาพ ความงามในชีวิต และการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะนำไปสู่ความสุขอย่างยั่งยืนในชีวิตของทุกคนและแผ่ขยายไปในเครือข่ายของสังคมต่อไป"
Hit & Run
ตติกานต์ เดชชพงศคงรู้กันหมดแล้วว่า สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถูกยึด และต่อจากนี้ ทีวีช่องนี้จะไม่มีรายการบันเทิง ‘ไร้แก่นสาร' อีก จะมีก็แต่รายการที่มีประโยชน์ สร้างสรรค์สังคม มีคุณค่า ประเทืองปัญญากว่ารายการทีวีแบบเดิมๆๆๆๆ ฯลฯ แล้วทีวีช่องนั้นก็ถูกเรียกเสียใหม่ว่า ‘ทีวีสาธารณะ' ในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งเติบโตมากับสิ่งที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ ‘รสนิยมสาธารณ์' ไม่ว่าจะเป็น ละครน้ำเน่า (ผ่านยุคของ พจมาน สว่างวงศ์, ดาวพระศุกร์ หรือ โสรยา ใน ‘จำเลยรัก' มามากกว่าหนึ่งยุค!) รวมถึงเกมโชว์ที่ ‘ได้รับแรงบันดาลใจ' มาจากต่างประเทศ และการ์ตูนญี่ปุ่นที่เอะอะก็ต่อสู้กัน (แม้แต่การ์ตูนแมวหุ่นยนต์ ‘โดราเอมอน' ที่ไม่มีฉากต่อสู้ ก็ยังอุตส่าห์มีฉากยั่วยุทางเพศอย่าง ‘ฉากอาบน้ำ' จนต้องเซ็นเซอร์เบลอๆ ให้เป็นที่เลื่องลือ) ฯลฯ ต้องสารภาพว่า...สิ่งที่เห็นในทีวีบ้านเราตอนนี้ ไม่ได้แตกต่างหรือพัฒนาจากที่เคยเห็น (หรือเคยเป็น) เมื่อหลายปีก่อนสักกี่มากน้อย เชื่อว่าน่าจะมีประชาชนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่เติบโตมาในยุคไล่เลี่ยกัน และมีความรู้สึกทำนองเดียวกันนี้อยู่บ้าง...การตั้งเป้าหมายของทีวีสาธารณะว่าจะผลิตรายการที่มี ‘สาระ' ออกสู่สังคม เพื่อยกระดับทางความคิดความอ่านและให้ความรู้กับผู้เสพสื่ออันทรงอิทธิพลอย่างโทรทัศน์เป็นประจำ จึงเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุนความบันเทิงที่เราเคยเสพ ผ่านทางละครน้ำเน่า ละครเกาหลี-ญี่ปุ่นสุดรันทด การ์ตูนบ้าพลัง รวมถึงเกมโชว์ที่ระดมกำลังดารานักร้องมาเล่นเกมกระชากเรตติ้ง จึงถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ ‘นอกกลุ่ม' สาระ อย่างไม่มีทางเลี่ยง โทษฐานที่รายการเหล่านี้ ‘ไม่สร้างสรรค์' ในสายตาของคนที่ (ถูกเรียกว่า) เป็นปัญญาชน แต่คำถามหนึ่งซึ่งซ้อนทับขึ้นมาก็คือว่า รสนิยมสาธารณ์ซึ่งปรากฏอยู่ในทีวีมาเนิ่นนาน กลับกลายเป็น ‘ความสามานย์' ที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากไปเสียแล้วหรือ...ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า คนที่เติบโตมากับสื่อด้อยคุณภาพซึ่งยึดครองพื้นที่ฟรีทีวีมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีคือคนไม่มีคุณภาพ ไร้สาระ และถูกมอมเมา อย่างนั้นหรือ?อีกคำถามที่น่าสนใจก็คือ บรรดาคนใหญ่คนโตผู้มีอำนาจตัดสินชี้ขาดให้ทีวีช่องหนึ่ง-ซึ่งเคยสร้างความบันเทิงให้กับคนจำนวนมาก-ต้องมากลายเป็น ‘ทีวีในฝัน' ที่พวกเขาอยากจะเห็นนั้น เติบโตมากับทีวียุคไหน? การหล่อหลอมแบบไหนที่ทำให้พวกเขากล้าตัดสินใจ ทั้งๆ ที่ไม่เคยได้ถกเถียงกันอย่างจริงจังเลยว่า ระหว่าง ‘สาระ' และ ‘สาธารณ์' อย่างไหนที่คนดูต้องการมากกว่ากัน? เพราะอะไร พวกเขาถึง ‘ลืมถาม' ความเห็นของพนักงานกว่า 800 คนที่มีชะตากรรมเกี่ยวพันกับสถานีโทรทัศน์ที่กำลังจะเป็นทีวีสาธารณะนั่นด้วย 000สิ่งที่สร้างความบันเทิงให้กับคนส่วนใหญ่ได้ง่ายๆ ไม่ต้องอาศัยประสบการณ์หรือความรู้ขั้นสูงก็สามารถเข้าถึงได้ทุกคน ถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ มักง่าย ฉาบฉวย ไม่ต่างอะไรกับการกล่าวหาว่า รสนิยมสาธารณ์มีส่วนในการมอมเมาให้คนในสังคมคุ้นชินกับความตื้นเขินและรสชาติสีสันอันฉาบฉวยของลูกกวาดที่หวานหอมแต่ขาดแคลนคุณค่าทางโภชนาการ? แต่ถึงแม้ว่าลูกกวาดจะไม่มีประโยชน์เมื่อเทียบกับอาหารมื้อหลัก ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะทำให้ลูกกวาดหายสาบสูญไปจากการรับรู้ของ ‘ผู้บริโภค' เพราะถึงที่สุดแล้ว ลูกกวาดก็ให้รสชาติที่อาหารจานหลักไม่มีทางให้ได้ถ้ามีทีวีสาธารณะแล้ว เราไม่จำเป็นต้องพูดถึง การพัฒนาระบบการศึกษา, การเปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น หรือการปรับระบบโครงสร้างให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรหรือองค์ความรู้ต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน อย่างนั้นหรือ?คำตอบก็คือ ‘ไม่ใช่' เพราะปัจจัยที่จะสร้างคุณภาพให้กับคนในประเทศ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ทีวีสาธารณะเท่านั้น ส่วนความคลุมเครือประการอื่นๆ ที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชนกันอีกยาว ก็คงจะเป็นเรื่องของงบประมาณจำนวนมากมาย ปีละ 2 พันล้านบาท คิดกันหรือยังว่าจะจัดการกับมันอย่างไร? และจะมีกลไกการตรวจสอบขั้นตอนบริหารจัดการสถานีแบบไหน? โปร่งใสหรือเปล่า?ประเด็นคำถามเหล่านี้ ถือเป็นแรงเสียดทานอย่างหนึ่ง ซึ่ง (อาจ) ทำให้ทีวีสาธารณะคืบหน้าไปได้ช้ากว่าที่คิด ลำพังแค่การเอาชนะใจสาธารณชนในขั้นแรกก็ทำไม่ได้เสียแล้ว...ต่อให้จุดหมายปลายทางทีวีสาธารณะสวยหรูอย่างไรก็ตาม จะมีคนยอมเดินไปด้วยจนตลอดรอดฝั่งล่ะหรือ?000คำว่า ‘สาธารณ์' ปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Unbearable Lightness of Being ของ ‘มิลาน คุนเดอรา' ซึ่งถูกแปลออกมาเป็นภาษาสวยงามโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ ส่วนรากศัพท์ในภาษาเยอรมันคือคำว่า Kitsch และได้รับการอธิบายว่าเป็น ‘ความดาษดื่น' ‘การเลียนแบบ' หรือ ‘การเสแสร้งว่ามีรสนิยมต่ำ' (ในกรณีที่พูดถึงงานศิลปะ) หรือแม้กระทั่งการถูกเรียกว่า ‘ความตื้นเขินทางอารมณ์' แต่ถึงที่สุดแล้ว คนที่มีจิตใจฝักใฝ่รสนิยมสาธารณ์ก็มีความสุขดีี่ ในการที่ได้ซึมซับและชื่นชมสิ่งต่างๆ ซึ่งถูกจัดประเภทว่าเป็น Kitsch เหล่านั้น...
new media watch
สถานการณ์ความรุนแรงที่ตกเป็นข่าวรายวันตามหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้ภาพลักษณ์ความเป็น ‘ที่เกิดเหตุ' ของจังหวัดชายแดนใต้แจ่มชัดในความรู้สึกของคนไทยภาคอื่นๆ จนไม่มีใครคิดจะเดินทางไปเยือนพื้นที่สีแดงที่อยู่ปลายด้ามขวาน แต่ถ้ามองจากมุมของคนในพื้นที่ ทั้ง ‘ความรู้สึก' และ ‘การมีส่วนร่วม' ย่อมจะแตกต่างออกไปจากมุมของคนที่มองจากที่ไกลๆ  Deep South Watch คือพื้นที่แห่งหนึ่งบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งขับเคลื่อนโดยนักข่าวหลายค่ายหลายสำนักที่เคยรวมตัวกันทำงานในยุคบุกเบิกของสถาบันข่าวอิศรา (สถาบันนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) ซึ่งลงไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นเวลานาน ปัจจุบัน นักข่าวกลุ่มนี้มีความตั้งใจที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อรายงานความเป็นไปและข้อเท็จจริงของจังหวัดชายแดนใต้ และได้แตกหน่อมาทำงานในฐานะองค์กรสื่ออีกแห่งหนึ่ง โดยร่วมมือกับ นักวิชาการ และบุคลากรในแวดวงต่างๆ ที่ในพื้นที่ ภายใต้สโลแกน ‘เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้' ที่นี่ไม่ได้มีแค่รายงานเหตุร้ายรายวัน เพราะเน้นหนักที่การเปิดมุมมองของคนในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ ‘คนนอก' ได้รับรู้รับฟังและทำความเข้าใจ ที่สำคัญคือมีหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กและข้อมูลการวิเคราะห์วิจัยของนักวิชาการในจังหวัดชายแดนใต้ เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีในรูปแบบ pdf.ด้วย!
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
ภาพจากประชาไทภาพจากวิกิพีเดีย คนสองคนจากต่างดินแดน แต่ “หัวใจ” คล้ายคลึงกัน ยึดมั่นในอุดมการณ์ สร้างความยุติธรรมแก่สังคม ต่อสู้เพื่อคนจนและผู้ด้อยโอกาส ต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ นึกถึงคนจนและความยุติธรรมอันดับแรก ห่วงใยและคำนึงถึงตนเองเป็นสิ่งสุดท้ายที่กระทำ มด/ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์เกิด     2498บ้านเกิด  กรุงเทพฯการศึกษา รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครอบครัวเกิดในครอบครัวคนจีนชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะ แต่เป็นลูกที่แตกต่าง มีวิญญาณขบถตั้งแต่ศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาชนในยุค 14 ตุลา ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม ซึบซับวิญญาณการต่อสู้ หลังจาก 6 ตุลา ต้องหลบหนีภัยการเมืองเข้าป่าเกือบ 4 ปีกิจกรรม ทำกิจกรรมด้านสังคมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาสภาหน้าโดม วงดนตรีกรรมาชน สนใจเรื่องปัญหาชนชั้นกรรมาชีพ ตั้งแต่ยังศึกษาที่ธรรมศาสตร์ เข้าไปคลุกคลีช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากนายทุนเจ้าของโรงงาน และมีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำการต่อสู้ ของคนงานโรงงานฮาร่า ยืนหยัดต่อสู่อย่างมั่นคง กระทั่งคนงานสามารถยึดโรงงาน ผลิตสินค้าออกมาขายเองได้ งานยืนอยู่เคียงข้างประชาชนคนยากไร้ทุกกลุ่ม ทุกเครือข่ายมาโดยตลอด  ขบวนการประชาชน ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนค่อนข้างมาก ในรอบสิบปีมานี้ คือ ขบวนการสมัชชาคนจน ซึ่งมีเครือข่ายคนจนทุกกลุ่มเข้าร่วมเป็นสมาชิก และการต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูนอย่างยาวนาน มีความมั่นคงในอุดมการณ์การต่อสู้ ระหว่างการต่อสู้ ขบวนการประชาชนเกิดการเรียนรู้ และก่อให้เกิดการยอมรับภูมิปัญญาชาวบ้าน เกิดงานวิจัยโดยชาวบ้าน กลายเป็นองค์ความรู้ที่ยอมรับในวงวิชาการ ชีวิต มด-วนิดาเป็นคนอยู่ง่าย กินง่าย ไม่ฟุ่มเฟือย ชีวิตเรียบง่าย ติดดินทำงานกับชาวบ้านได้อย่างกลมกลืน ทำงานหนักตลอดชีวิตของการทำงานเพื่อปวงชน ดูแลตนเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ควรค่าแก่การคารวะยิ่ง อย่างไรก็ตามเธอมีความเข้มแข็งอย่างที่สุด เมื่อสามารถยืนหยัดอยู่กับมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง โดยไม่ยอมปริปากให้ใครเป็นห่วงนานนับปี กระทั่งยอมรับการรักษาทางการแพทย์ และโรคร้ายก็คร่าชีวิตนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ของคนจนเมื่อ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา  Munir Said Thalib เกิด 2508บ้านเกิด สุราบายา อินโดนีเซียการศึกษา กฎหมาย มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบาวิจายา เมืองมารัง จังหวัดชวาตะวันออกครอบครัวเกิดในครอบครัวอาหรับ อินโดนีเซีย ซึ่งปกติชาวอาหรับมีความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจการค้า เป็นชนชาติที่ค่อนข้างร่ำรวยในอินโดนีเซีย ไม่เชี่ยวชาญและยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ครอบครัวมูเน่ก็เช่นเดียวกัน มุ่งในเรื่องของธุรกิจในครอบครัว คิดแต่เรื่องสร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่น แต่มูเน่กบฏต่อครอบครัว ไม่ยอมทำตามกฎเหมือนครอบครัวอาหรับทั่วๆ ไป ตั้งแต่เข้าเป็นนักศึกษาก็เลือกเรียนกฎหมาย และสนใจการทำกิจกรรมเพื่อช่วยคนจนคนด้อยโอกาสมากกว่า ซึ่งแทบจะหานักกิจกรรมชาวอาหรับ-อินโดนีเซียได้น้อยมาก ในรั้วมหาวิทยาลัย และในสังคมอินโดนีเซีย กิจกรรมเป็นนักกิจกรรมตัวยง เป็นประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย สนใจปัญหาแรงงาน การกดขี่ค่าแรงในเมืองสุราบายา เข้าร่วมกิจกรรมช่วยเหลือด้านแรงงานที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบจากนายทุน กระทั่งได้แต่งงานกับผู้นำกรรมกรหญิงชื่อ ซูซีวาติ ซึ่งต่อสู้เคียงข้างกันเพื่อคนด้อยโอกาส และเพื่อสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอดงาน จากสุราบายา และหลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจในปี 2541 เขาเดินทางสู่กรุงจาการ์ตา และก่อตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ชื่อว่า KONTRAS หรือ Committee Against Disappearances and Torture ในยุคซูฮาร์โต 32 ปีที่ครองอำนาจ มีผู้คนเสียชีวิต ถูกจับ และสูญหายในยุคนั้นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงปราบปรามคอมมิวนิสต์ มีผู้คนล้มตายมากกว่าสองล้านคน เหยื่อการเมือง และบ้าอำนาจของซูฮาร์โตส่วนใหญ่กระทำการต่อต้าน วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลซูฮาร์โต ซึ่งมูเน่และองค์กร ได้ยกประเด็นผู้สูญหายทั้งหมดในยุคนั้น ขึ้นมาเป็นประเด็นเชิงสังคมที่รัฐบาลในยุคนั้นต้องตอบคำถาม และค้นความจริงของการสูญหาย เสียชีวิต และถูกจับในยุคนั้น ทำให้ทหาร และผู้มีอำนาจในยุคนั้นแค้นเคืองมูเน่ ที่กัดไม่ปล่อยในปัญหาดังกล่าว ชีวิตวิถีชีวิตกับอุดมการณ์ของมูเน่ สอดคล้องกันอย่างควรค่าแก่การคารวะ เขาไม่สนใจสร้างฐานะในแบบครอบครัวอาหรับ เขาใช้ชีวิตเรียบง่าย มีเพียงมอเตอร์ไซต์หนึ่งคันสำหรับเดินทางไปไหนต่อไหน งานของเขาเสี่ยงต่อชีวิตอย่างมาก เพราะมีผู้อำนาจหลายคนเสียผลประโยชน์จากการต่อสู้ของเขา เขาเสียชีวิตจากการวางยาพิษเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ขณะนั่งเครื่องบนไปเรียนต่อที่อัมสเตอร์ดัม จนกระทั่งปัจจุบันทางการยังไม่สามารถจับผู้ร้ายได้ อย่างไรก็ตาม เขาเป็นนักสู้แถวหน้าของเอ็นจีโอ อินโดนีเซีย การตายของเขาเป็นจุดร่วมและกระตุ้นให้ประเด็นสิทธิมนุษยชน ในอินโดเซียเป็นประเด็นที่ทั่วโลกติดตามขอคารวะแก่ จิตวิญญาณของสองผู้ยิ่งใหญ่ของคนจน: ไทย-อินโดนีเซีย ในแง่อุดมการณ์ที่แน่วแน่มั่นคง  Note*: ขอบคุณ Mr.Heru Suseto, Deputy Dean Department of Law Society and Development Faculty of Law University of Indonesia ที่ให้ข้อมูลมูเน่
Hit & Run
"ต้นตอของปัญหาใหญ่ๆ ในสังคม พบว่าเรื่องหนึ่งคือ คนที่เป็นเจ้าของปัญหาไม่มีช่องทางส่งเสียงของตัวเองในช่องทางสื่อสารมวลชน ยิ่งวิทยุและทีวีนั้นยิ่งไม่ต้องพูดถึง พื้นที่ของคนเดือดร้อน ถูกเบียดออกมาบนท้องถนนที่ออกมาประท้วงให้คนเมืองใหญ่รำคาญ" 
new media watch
  แนวคิดเรื่อง ‘ห้องสมุดไร้กำแพง' หรือ Library without wall ถูกพูดถึงในหลักสูตรการเรียนรู้ของเหล่าบรรณารักษ์มาหลายปีดีดักแล้ว และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำลายกำแพงห้องสมุดลง เพื่อทำให้แนวคิดนี้เป็นจริงขึ้นมาได้พักหลังๆ เลยไม่ค่อยมีคนติดกับภาพบรรณารักษ์ยุคก่อนๆ ที่ต้องอนุรักษ์ความเชย ความเฮี้ยบ และเงียบเอาไว้กับตัว เพราะบรรณารักษ์ยุคใหม่เปิดตัวเองกับโลกภายนอก (และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) มากขึ้นเยอะบล็อกยอดนิยมเจ้าหนึ่งในเวิร์ดเพรส ได้แก่ บล็อกเกี่ยวกับห้องสมุด projectlib.wordpress.com ซึ่งเจ้าของบล็อกประกาศตัวว่าเป็นหนอนหนังสือเต็มขั้น และเป็นหนึ่งในบรรณารักษ์ยุคดิจิทัลที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองพอๆ กับที่สนใจข้อมูลที่เป็นสาระความรู้อื่นๆ ด้วย เพราะอย่างนี้ความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในแวดวงต่างๆ นอกเหนือจากเรื่องหนังสือ ห้องสมุด วัฒนธรรม สังคม ที่น่ารู้ เลยถูกรวบรวมเอาไว้ในบล็อกนี้อย่างจุใจที่สำคัญ บรรณารักษ์ที่นี่ไม่มองลอดแว่นหรือทำตาเขียว กรณีที่ใครคิดจะอ่านออกเสียงดังๆ หรือจะเอาอาหารมากินประกอบการอ่านบล็อกห้องสมุดแห่งนี้แน่ๆ
กอแก้ว วงศ์พันธุ์
มีโอกาสต้อนรับเพื่อนชาวอินโดนีเซียที่มาเยือนเมืองไทยเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา  หลังจากที่เธอเสร็จสิ้นภารกิจการงานในกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบหมายจากที่ทำงานแล้ว เธอก็บินตรงไปยังภูเก็ต และแวะเยี่ยมเยือนผู้เขียนที่พังงา ขอเรียกเธอสั้นๆ ว่า ทีน่า เธอเป็นลูกครึ่งจีน-อินโดนีเซีย ทำงานเป็นเลขานุการ  ที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำอินโดนีเซีย แม้ร่างกายจะไม่สมบูรณ์แต่เธอก็ได้รับโอกาส ให้ทำงานในตำแหน่งหน้าที่สำคัญของสถานทูต เธอแสดงให้เห็นว่า ร่างกายไม่ใช่อุปสรรคของการทำงานและขาดความคล่องตัวแต่อย่างใด ตลอดเวลาสิบกว่าปีในการทำงาน เธอได้รับมอบหมายให้ไปดูงานต่างแดนหลายประเทศ เช่น อียิปต์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศไทย ฯลฯ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการทำงานของเธอ  ทีน่า กับเพื่อนๆ เคยถามเธอว่า สังเกตจากสิ่งแวดล้อมที่กรุงจาการ์ตาและอีกหลายเมืองในอินโดนีเซีย ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำสาธารณะ รถประจำทางสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ แม้แต่ส่วนราชการ ไม่ได้ให้ความสำคัญและเอื้ออำนวยต่อคนพิการหรือร่างกายไม่สมบูรณ์เลย เพราะไม่มีเครื่องมือใดๆ ช่วยเหลือและบริการสำหรับคนพิการ  แล้วเธออดทนได้อย่างไรมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี เธอยอมรับว่า รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการ ซึ่งคงต้องรณรงค์และกดดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญต่อปัญหานี้ อินโดนีเซียยังถือว่าเป็นประเทศที่ยากจน ปัญหาสำคัญของอินโดนีเซียตอนนี้คือ การพยายามกำจัดปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหามหึมาของประเทศ หากกำจัดคอรัปชั่นไม่ได้ ประเทศจะไม่มีทางไปรอด เธอบอกว่า การคอรัปชั่นของอินโดนีเซียเป็นการคอรัปชั่นแบบไม่มียางอาย ที่เธอรับไม่ได้เอาเสียเลยก็คือ เงินบริจาคช่วยเหลือเหตุการณ์สึนามิ ที่ระดับรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่งประกาศในสื่อเลยว่า เงินบริจาคของชาวต่างชาติ ให้โอนเข้าบัญชีธนาคารของเขา เพื่อที่เขาจะนำไปช่วยเหลือชาวอาเจะห์ด้วยตนเอง เธอมองว่านอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ได้เรื่องแล้ว นักการเมืองเหล่านี้ยังดูแคลนสติปัญญาคนอินโดนีเซีย นึกว่าประชาชนไม่รู้ว่านักการเมืองคอรัปชั่นขนาดไหน นี่ไม่ใช่ยุคปิดหูปิดตาประชาชนเหมือนในอดีต เธอบอกว่าอย่างนั้น  นี่คือปัญหาของอินโดนีเซีย  เธอเป็นประชาชนธรรมดาที่ไม่ฝักใฝ่เรื่องทางการเมืองแม้จะเป็นกลุ่มการเมืองทางเลือกก็ไม่สนใจ ความจริงแล้ว ภาคประชาชนของอินโดนีเซีย หรือ เอ็นจีโอของเขาเข้มแข็งมาก พยายามตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอย่างแข็งขัน เมื่อแข็งมาก แรงกดของฝ่ายอำนาจก็มากเป็นลำดับเช่นกัน คนทำงานเอ็นจีโอด้านสิทธิมนุษยชน คนสำคัญของอินโดนีเซียได้สังเวยความกลัวการตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายอำนาจมาแล้วหนึ่งราย (ในยุคประชาธิปไตย) คือ Munir เขาเสียชีวิตด้วยยาพิษ เมื่อครั้งที่เขานั่งเครื่องบินไปต่างประเทศ ซึ่งจะนำเรื่องราวของเขามาให้อ่านในตอนต่อไป ทีน่ากับเพื่อน ศราวุธ ประทุมราชสำหรับทีนา สิ่งที่เธอทำได้ในการแก้ปัญหาให้กับตัวเองแบบคนธรรมดาสามัญ คือ ให้กำลังใจตนเอง และครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญในการดำรงอยู่ เธอสามารถช่วยเหลือตัวเองได้เกือบเท่าๆ กับคนที่มีร่างกายสมบูรณ์ แต่ใช้กำลังมากกว่าเกือบสองเท่า ใจเธอสู้แม้ผู้เขียนยังทึ่ง เพราะสิ่งที่เธอเรียกร้องในการท่องเที่ยวพังงาครั้งนี้คือ พายเรือแคนู ซึ่งเธอว่ายน้ำไม่ได้ เธออยากเห็นป่าเมืองไทย แต่ผู้เขียนจนใจ ยอมแพ้เรื่องศักยภาพของคนนำเที่ยว (คือผู้เขียนเอง) มากกว่า เพราะกลัวจะพาเธอไปไม่รอด เลยได้แค่ขี่ช้างท่องป่า สบายขึ้นมาหน่อย และลงเรือแคนูพร้อมกับเธอ แม้มันล่มก็ยังมีฝีพายและเสื้อชูชีพพยุงกันไปได้  แม้บางเวลาเธอจะอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด แต่ก็พยายามรบกวนคนอื่นแต่เพียงเล็กน้อย ช่วงที่อยู่อินโดนีเซีย เธอแสดงน้ำใจในความเป็นเจ้าบ้าน คอยแนะนำให้ความเห็นเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของอินโดนีเซีย เธอเป็นนักอ่าน และชอบเรียนรู้ สังเกตจากความรอบรู้ของการตอบคำถามของเพื่อนต่างบ้านต่างเมือง เพื่อนๆ ก็ได้รับความคิดเห็นในมุมแปลกใหม่ของเธอ ในเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมของแต่ละภาคของอินโดนีเซีย แถมยังมีตัวอย่างให้ได้ปฏิบัติกันจริงด้วย ด้วยการพาพรรคพวกไปพิสูจน์วัฒนธรรมเรื่องอาหารการกินของคนจีนผสมวัฒนธรรมซูดาน ซึ่งเป็นพื้นที่แถบตะวันตกของอินโดนีเซีย โดยฝีมือคุณแม่ของเธอ ที่บ้านในเมืองโบโกร์ เมืองเดียวกับสถานที่ตั้งที่พักของประธานาธิบดีอินโดนีเซีย  ซึ่งห่างจากจาการ์ตาราว 54 กิโลเมตร นับเป็นอาหารที่สุดแสนอร่อยมื้อหนึ่งสำหรับพวกเรา  อาหารมื้อที่อร่อยที่สุดมื้อหนึ่งทีน่าเป็นความทรงจำที่ดีจากอินโดนีเซีย นั่นคือ ความเป็นคนอินโดนีเซียที่น่ารักและมีน้ำใจ “ผู้คนน่ารัก” ไม่ได้มีแต่ในบ้านเรา แต่มีทุกหนทุกแห่งในโลก โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำและผู้คนในชนบททุกแห่งหนที่ผู้เขียนได้พบเจอ  ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคที่จะเห็นการกระทำด้านดีและมีเมตตาของมนุษย์ ผู้เขียนทำการบ้านเรื่องภาษาอินโดไปน้อย พูดได้งูๆ ปลาๆ เช่น  ซายา เมา เปอกี บันดุง (แปลว่า ฉันต้องการจะไปบันดุง) ชาวบ้านเห็นว่า คงได้แค่นี้มั้ง ทั้งชาวบ้านและคนขับรถในหมู่บ้านชายแดนเมืองบันดุงจึงรุมช่วยเหลือ ช่วยกันโบกรถประจำทาง แถมกำชับคนขับให้ไปส่งให้ถึงเมืองบันดุง (น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะเขาคุยกับคนขับแล้วชี้มือชี้ไม้มาทางผู้เขียน) วันนั้นก็กลับถึงที่หมายอย่างปลอดภัย  อีกครั้งหนึ่งในใจกลางเมืองบันดุง ซึ่งผู้เขียนได้รับการเตือนมาว่า อย่าใช้บริการแท็กซี่ ฉะนั้นจึงเลือกใช้บริการรถสองแถว ซึ่งแน่นขนัด และท่ามกลางความมืดมิดของราตรีนั้น ผู้เขียนกลับได้รับแสงสว่างจากน้ำใจคนขับและชาวบ้านที่โดยสารมาด้วยกัน เนื่องจากผู้เขียนต้องต่อรถอีกทอดไปยังโรงแรมที่พัก แต่สถานที่รอรถนั้นไฟฟ้าสลัวๆ น่ากลัวมาก ชาวบ้านที่อยู่บนรถต่างส่งภาษาที่ผู้เขียนไม่ทราบว่าพูดอะไร แต่คนขับรถพาผู้เขียนมายืนรอที่ป้ายรอรถ แถมยังรอนานถึง 20 นาที โดยที่ผู้โดยสารไม่มีใครบ่นสักคำ จนกระทั่งรถอีกคันมาถึง คนขับจึงบอกให้ขึ้นรถ และไปช่วยกำชับกับคนขับคันที่ผู้เขียนนั่งให้ไปส่งที่โรงแรมในนามบัตรที่ผู้เขียนส่งให้เขาดูก่อนหน้านี้ ผู้เขียนจึงได้ทราบว่า ทุกคนยอมเสียเวลาเพราะเมตตาคนต่างถิ่นต่างภาษาที่ต้องรอรถในเวลาค่ำมืดเพียงลำพัง เป็นเรื่องที่ซาบซึ้งใจอย่างมากภาษาท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญในการเข้าถึงชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คน ซึ่งต้องตระหนักแต่ประสบการณ์ของผู้เขียน “ภาษากาย” และ “ภาษาใจ” ก็สำคัญไม่น้อย หมายถึงการมีท่าทีและความจริงใจต่อสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เป็นเรื่องที่สร้างไมตรีต่อกันได้เช่นกัน วันนี้ทีน่าคงมีความสุขกับครอบครัว และขึ้นรถไฟจากที่บ้านซึ่งห่างจากที่ทำงานถึง 54 กิโล ไป - กลับทุกวัน ร่างกายที่ไม่เอื้ออำนวยไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานและการมีน้ำใจต่อคนอื่นเลย
new media watch
  ใครที่เป็นแฟนประจำนิตยสาร ‘สารคดี' ย่อมรู้ว่า ‘วัน ตัน' เป็นนามปากกาของ บก.วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ - ผู้เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และคนทำหนังสือผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ของไทยนอกเหนือจากบทบาทการเป็นนักคิดนักเขียน วันชัยยังเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นนักเคลื่อนไหวด้านกิจกรรมเพื่อสังคมอีกนับไม่ถ้วน บท บก.ของวันชัย จึงเป็นสิ่งที่หนอนหนังสือ ‘ต้องอ่าน' พอๆ กับคอลัมน์ที่ ‘วัน ตัน' เขียนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลกสีเขียวใบนี้ แง่มุมดีๆ และความคิดที่ชวนให้เก็บไปต่อยอด มักมีที่มาจากงานเขียนหลายๆ ชิ้นบนพื้นที่หน้ากระดาษที่ว่ามาแล้วทั้งสิ้น ตอนนี้สารคดีเปิดพื้นที่ ‘บล็อก' ให้กับสมาชิกและคนในกอง บก.แล้ว นักเล่นเน็ตจึงมีโอกาสได้อ่านงานของวันชัย และวัน ตัน ได้ง่ายดายและรวดเร็วขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ บล็อก http://www.sarakadee.com/blog/oneton/ ของวันชัย ไม่ใช่แค่สถานที่เก็บงานเขียนในสารคดีเท่านั้น แต่เป็นแหล่งรวมความคิดเห็นที่น่าสนใจของวันชัยในแง่ต่างๆ เพื่อให้คนที่สนใจตามอ่านกันได้ โดยไม่้ต้องใช้เวลาไปกับการเสาะแสวงหาผลงานของวันชัยจากหลายๆ ที่ ล่าสุด บก.วันชัย พูดถึงพลังงานนิวเคลียร์, สถานการณ์ในพม่า และ ‘ตลกร้าย' เรื่องเอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่นด้วยบอกได้คำเดียวว่า ‘ไม่น่าพลาด'  
new media watch
ประกาศตัวเป็น 'นิตยสารออนไลน์' รายล่าสุดที่เปิดให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตดาวน์โหลดเนื้อหาข้างในเล่มมาอ่านกันได้ฟรีๆ ทุกหน้า ที่ www.modepanya.com ด้วยความตั้งใจของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ไฟแรง คือ ณ พงศ์ วรัญญานนท์, เวสารัช โทณผลิน และ ศิริพร ฤกษ์สิรินุกูล ที่อยากสร้างสรรค์สารคดีเสริมปัญญาให้นักอ่านได้เสพสาระและความบันเทิงกันแบบไม่ต้องอาศัยทุนรอนมากนัก (ที่สำคัญ-ไม่ต้องตัดต้นไม้มาทำหนังสือ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนไปได้อีกนิดหน่อย)แม้จะไม่ใช่หนังสือทำอาหาร แต่บทความหลายชิ้นช่วยบำรุงสมองนักอ่านได้ดี มีสรรพคุณด้านการกระตุ้นความคิด ซึ่งอาจจะฟังดูขัดแย้งกับชื่อ 'หมดปัญญา' ที่เป็นหัวนิตยสารอยู่บ้าง แต่คนทำก็แก้ต่างไว้ในบทบรรณาธิการว่า แท้จริงแล้ว 'หมดปัญญา' เป็นคำย่อที่กร่อนมาจาก 'โหมดปัญญา' Modepanya นี่เองบทสัมภาษณ์หลากหลายในฉบับแรก สำแดงความบ้าพลังของคนทำเป็นอย่างดี อาทิ การคุยกับ 'สุชาติ สวัสดิ์ศรี' หรือ 'สิงห์สนามหลวง' 'ประกาย ปรัชญา' ผู้ดำรงชีวิตด้วยการเป็นกวี 'ตุลย์ ไวฑูรย์เกียรติ' นักแต่งเพลงผู้กำลังเล่นเกมภาษา รวมถึง 'สายสวรรค์ ขยันยิ่ง' ผู้คว้ารางวัลเกียรติยศด้านการใช้ภาษาไทย นอกจากนั้นยังมีกราฟิกสวยที่รวมภาพแบบเรียนตั้งแต่ยุคแรกไปจนถึงยุคสร้างชาติและยุคล่า (สุด) ภายใต้คอนเสปต์รวมๆ เรื่อง 'ภาษา' ที่มีความเกี่ยวพันโยงใยกับเราทุกคน...ของดีๆ แล้วยังเปิดให้อ่านฟรีๆ แบบนี้...ใครไม่อ่านก็คง 'หมดปัญญา' เหมือนกันแหละ