Skip to main content

ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเรื่อง “ตือม้าฮายด่าว” (Tư Mã Hai Đào) วีรบุรุษชายแดนเวียดนาม-ลาว ชาวไท ในฐานะที่เป็นบทเรียนการเขียนและอ่านภาษาไทเมืองคอง

ภาพ 1  ในศาลตือม้าฮายด่าว

ภาพ 2 หน้าศาลตือม้าฮายด่าว

ต่อมาเขาสรุปความเล่าเรื่องให้ผู้เขียนฟังตั้งแต่ต้นจนจบ[2] อันมาจากความเข้าใจเรื่องนี้จาก 3 แหล่งข้อมูลคือจากจารึกภาษาไท จากเรื่องเล่าปากต่อปาก และจากลำนำของไท เขาเล่าว่าในยุคของราชวงศ์เล (Triệu Lê) (ผู้เขียนตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองฝ่ายแล้ว พบว่าไม่ใช่ราชวงศ์เล แต่เป็นราชวงศ์เจิ่น ที่ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้างุ่ม ของลาวหลวงพระบาง ในคริสตศตวรรษที่ 14) [3] ในเวลานั้นอาณาจักรได่เหวียด (เวียดนาม) มีความบาดหมางกับอาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง อาณาจักรหลวงพระบางมีความเข้มแข็งมาก กษัตริย์ลาว โดยความร่วมมือกับกลุ่มชาติพันธุ์ฮ่อ ลื้อ ยวน[4] และส่าขาลาย ยกทัพมาทางชายแดนของแทงหวาเพื่อโจมตีอาณาจักรได่เหวียด (เวียดนาม)

ในเวลานั้นกองทัพแกว (เวียด)[5] ไม่ได้เตรียมพร้อม และประมาทเพราะดูถูกศักยภาพของกองทัพลาวว่าเป็นกองทัพที่ไม่เข้มแข็ง แต่กองทัพลาวมีแม่ทัพที่เข้มแข็งมาก ที่สำคัญคือมีคาถาอาคมที่ทำให้ทหารแกว เข้าไม่ถึงตัว อาคมที่ว่านั้นถูกลงไว้ที่กลอง เมื่อตีกลอง กองทัพแกวก็อ่อนแอลง ในขณะที่กองทัพลาวก็แข็งแกร่ง ในที่สุดกองทัพแกวที่รบกันที่กวานเซิน (อำเภอชายแดน ในจังหวัดแทงหวา) ก็แพ้ ลาวบุกเข้ามาจนเกือบถึงเมืองหลวง ทังลอง (Thăng Long) (ฮานอย) กษัตริย์ราชวงศ์เล (น่าจะเป็นราชวงศ์เจิ่น - ดูเชิงอรรถ) ขอเจรจาสงบศึก โดยต้องยกแผ่นดินให้ลาวเป็นระยะเวลา 3 ปี

แผ่นดินที่ยกให้คือตั้งแต่บริเวณที่บรรจบกันของ 3 แม่น้ำ คือ แม่น้ำหมา (Sông Mã) กับแม่น้ำอีกสองสาขาของแม่น้ำหมาที่อยู่ห่างจากสะพานห่ามส่ง (Hàm Rồng) ประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กับตัวจังหวัดแทงหวา ไปจนถึงอำเภอกวานเซิน อำเภอชายแดนได่เหวียด-ลาว เมื่อได้ดินแดนแล้วลาวเอาคนมาปกครอง และเอาประชาชนลาวมาอยู่ เมื่อครบ 3 ปี ลาวผิดสัญญา กษัตริย์ ราชวงศ์เลจึงเปิดศึกรบเอาแผ่นดินคืน แต่ก็แพ้เพราะเสียงกลองของลาวที่ลงอาคม

ในเวลานั้น ฮายด่าวยังเป็นคนใช้ของต่าว (ท้าว) ลางโค (Lang Khô) เมื่อต่าวลางโคไปที่เมืองหลวง ทังลอง ฮายด่าวก็ไปด้วยในฐานะผู้ติดตาม ฮายด่าวนั้นรูปร่างหน้าตาดี และมีความว่องไว ในเวลานั้นที่ทังลองมีการแข่งขันการต่อสู้แบบกังฟู ฮายด่าวเข้าร่วมการแข่งขันและชนะ จึงได้รับการแต่งตั้งเป็น “จางเหวียนหว๋อ” (trang nguyên võ)[6] (หรือ จอหงวนฝ่ายบู๊ ที่คนไทยคุ้นมาจากภาพยนต์จีน) เรื่องคล้ายดั่งนิยายจีน องค์หญิงหลงรักจางเหวียนหว๋อคนใหม่ที่ทั้งหล่อและเก่ง แล้วก็ขอกษัตริย์เลแต่งงานกับเขา เมื่อแต่งงานแล้ว ฮายด่าวก็เรียนหนังสือ แล้วเขาก็สอบได้เป็น “จางเหวียนวัน” (trang nguyên văn) (จอหงวนฝ่ายบุ๋น) ในเวลานั้น กองทัพลาวก็เข้าตีได่เหวียดอีกครั้ง ฮายด่าวจึงขันอาสากษัตริย์ไปรบกับลาว นัยหนึ่งก็เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของตัวเองคือเมืองแทง (หรือแทงหวาในปัจจุบัน) กษัตริย์โยนอาวุธแก่เขา เขาแข็งแรงมาก เขาสามารถเอาแขนโอบรับอาวุธต่างๆ ได้ภายใน 1 แขน

ฮายด่าวออกรบ แต่ก็แพ้ในศึกแรกเพราะทหารได้ยินกลองลงอาคมจากกองทัพลาว เขาต้องแก้กลศึกนี้ เขาจึงส่งอ๊อดม๊อด (คนเมืองม้อด ปัจจุบันคืออำเภอเถื่องซวน) และอ๊อดแดง (คนเมืองแดง ปัจจุบันคืออำภอลานแจ๋ง) ซึ่งเป็นคนที่ภักดีต่อฮายด่าว ไปเป็นสายลับไปที่กองทัพลาว กลอุบายคือการทำเป็นว่าถูกฮายด่าวเฆี่ยน โดยเอายางจากต้นไม้มาทำเป็นเลือด แล้วหนีออกไปจากค่ายทหารในเวลากลางคืน ไปบอกทหารลาวว่าฮายด่าวจะฆ่าพวกตน กองทัพลาวหลงเชื่อจึงรับเอาไว้ จากนั้นก็ให้ทำงานเล็กๆ ต่อมา ก็ให้ทำงานที่ใหญ่ขึ้น

จนกระทั่งสองคนนั้นรู้ความลับของกลองลงอาคมแล้ว กล่าวคือ กลองนั้นมีขนาด 2 เมตร ฝ่ายที่ตีกลองจะเป็นฝ่ายเข้มแข็ง ส่วนฝ่ายตรงกันข้ามจะอ่อนแอเมื่อได้ยินเสียงกลอง[7]  อ๊อดม้อดและอ๊อดแดงเล่าให้ฮายด่าวฟังถึงความลับดังกล่าว จึงออกอุบายชิงกลอง สองคนนั้นขันอาสากองทัพลาวนำกลองไปล้างที่แม่น้ำเพื่อขจัดความสกปรก เมื่อไปถึงลำน้ำก็ปล่อยกลองไปตามลำน้ำ เมื่อกองทัพลาวรู้ข่าวก็พยายามชิงกลองกลับ สองกองทัพสู้กันเพื่อชิงกลอง สุดท้ายฮายด่าวก็ชิงกลองมาได้

ในเวลานั้น กองทัพลาวได้เคลื่อนทัพลงมาที่บริเวณที่ปัจจุบันคือตำบลแต๋นตั่น อำเภอกวานเซิน ที่ซึ่งปัจจุบันคือตำบลที่เป็นด่านชายแดนเวียดนาม-ลาว ฮายด่าวได้ตีกลอง เมื่อกองทัพลาวได้ยินเสียงกลองก็อ่อนแอและแพ้ต่อฮายด่าว ฮายด่าวไล่ต้อนกองทัพลาวไปจึงถึงหลวงพระบาง เมื่อเข้าตาจนเช่นนั้น ทางลาวขอเจรจาสงบศึกและให้กษัตริย์จัดการเรือนแผ่นดินใหม่ โดยเอาทิศทางของต้นไม้ที่อยู่บนภูเขาแต๋นตัน (Tén Tằn) (ในตำบลแต๋นตัน อำเภอกวานเซิน ในปัจจุบัน) เป็นเส้นเขตแดน เพราะภูเขานั้นมีลักษณะเหมือนกับกระดูกสันหลัง และต้นไม้ที่ขึ้นบนภูเขานั้น ด้านหนึ่งชี้ไปทางล้านช้าง อีกด้านหนึ่งชี้มาทางได่เหวียด เมื่อเจรจาแบ่งเขตแดนได้แล้วจึงทำเสาทองแดง เพื่อเป็นหลักเขตแดน ต่อมาฮายด่าวเป็นเจ้าเมืองที่ทำหน้าที่ควบคุมประตูเมือง การเข้า-ออกนอกราชอาณาจักรได่เหวียด

ท่านได้รับพระราชทานยศเป็น “ตือม้า” ซึ่งน่าจะเทียบเท่ากับเจ้าเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง[8] แต่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกท่านว่า “ราชบุตรเชยแต๋นตั่น” หน้าที่เขาคือการรักษาชายแดน และรับบรรณาการจากล้านช้างและเมืองบริวารอื่นๆ เพื่อส่งไปยังราชสำนักทังลอง (ฮานอย) ด้วยเหตุที่ภูเขาแต๋นตั่นนั้นไม่ใช่ที่ราบ ฮายด่าวจึงพยายามหาที่ราบที่เหมาะแก่การสร้างบ้านแปงเมือง และพบว่าที่ราบแห่งหนึ่ง ซึ่งต่อมาฮายด่าวตั้งชื่อว่า เมืองจูซาน (Chu San) (กินพื้นที่กว้างใหญ่ทั้งอำเภอกวานฮว๋าและอำเภอกวานเซิน จนถึงเมืองจื่อบริเวณพื้นที่ทางใต้ของแม่น้ำหมา จังหวัดแทงหวา ในปัจจุบัน) นั้นมีที่ราบกว้างเหมาะสม อีกทั้งอยู่ห่างจากเส้นเขตแดนไม่ไกลนัก (ประมาณ 20 กิโลเมตร) เขาได้สร้างวังเล็กๆ (villa) ขึ้นมา ด้วยเหตุที่เมืองจูซานนั้นมีผู้ไทอาศัยอยู่มาก ตือม้าฮายด่าวจึงเปลี่ยนตัวเองจากคน "เหมื่อง" (Mường) เป็นคนไท ลูกหลานเขาก็เป็นคนไท ต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังบอกตัวตนของตนเองว่าเป็นคนไท[9]

อย่างไรก็ดี เรื่องตือม้าฮายด่าว สำหรับห่านามนิงนั้น จบไม่ค่อยสวย และยังมีความคลุมเคลืออีกมาก ภายหลังจากที่เขาได้ครองเมืองชายแดนของอาณาจักรได่เหวียดแล้ว เขาได้ชื่อว่าเป็นกบฏต่อราชสำนักฯ เรื่องการเป็นกบฏของเขาไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและไม่มีลำนำกล่าวถึงเรื่องนี้ ทว่ามีความเล่าต่อๆ กันมาหลายรุ่น การได้ชื่อว่าเป็นกบฏของเขามี 2 สมมติฐาน คือ หนึ่ง เขาถูกเพ็ดทูลว่าตนเองต้องการให้เมืองจูซาน (เมืองเซีย) เป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อราชสำนักฯ และเขาก็รับเอาบรรณาการแทนกษัตริย์ สอง คือเขาทำจริงๆ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งหรือสอง การมีอำนาจมาก และอยู่ห่างจากศูนย์กลางของอำนาจ รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็น “ราชบุตรเชยแต๋นตัน” ด้วยแล้ว ยิ่งเป็นภัยต่อราชสำนักฯ อย่างยิ่ง ดังนั้น กษัตริย์จึงยกกองทัพมาและฆ่าฮายด่าวเสีย แต่ก็ไม่มีใครยืนยันเหตุการณ์นี้ได้ สำหรับห่านามนิงแล้ว เขาคิดว่าการที่ฮายด่าวถูกฆ่าโดยกษัตริย์นั้นน่าจะจริง แต่ไม่มีการบันทึกเรื่องราวของคนทรยศ จึงไม่อาจหาหลักฐานยืนยันได้ นอกจากความเล่าสืบต่อกันมา

นอกจากนี้ เมืองจูซาน เมื่อสิ้นฮายด่าวแล้ว ลูกหลานไม่สามารถรักษาเมืองเอาไว้ได้ จึงได้เรียกเมืองดังกล่าวว่า “เมืองเสีย” หรือ การเสียเมือง (ในสำเนียงคนไทแถบเมืองเสีย-เมืองคอง คือเมือง “เซีย”) ดังนั้น เมืองหลักของจูซานจึงได้ชื่อว่าเป็น “เมืองเซีย” นับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนลูกหลานของตือม้าฮายด่าว ก็กลับไปอยู่เมืองคอง (อำเภอบ๊าเทื๊อก จังหวัดแทงหวา ในปัจจุบัน) อันเป็นบ้านเกิดของตือม้าฮายด่าว (เสียดายวันนั้น ที่ลุงวิง (คนที่จะขับรถพาผู้เขียนไปบ้านลูกหลานฮายด่าว) กลับมาไม่ทัน ผู้เขียนจึงไม่ได้ไป และต้องรีบกลับฮานอย เนื่องจากมีนัดอื่นรออยู่ แต่คิดว่าปลายปีนี้ ต้องไปพบลูกหลานตือม้าฮายด่าวให้ได้)

ภาพ 3 สมาชิกผู้ร่วมเดินทางและเจ้าบ้านเมืองเซีย

ภาพ 4 บ้านไท หน้าศาลตือม้าฮายด่าว

จบเรื่องเล่าของห่านามนิง แต่เรื่องเล่าของผู้เขียนยังไม่จบ เพราะผู้เขียนได้อุทิศเรื่องนี้เป็น 1 บทของงานวิจัย ซึ่งตรวจสอบกับหลักฐานทั้งทางฝ่ายเวียดนาม ลาว จารึกของท้องถิ่น  เรื่องเล่าจากคนต่างๆ อีกหลายคน

ตือม้าฮายด่าวกำลังถูกผู้เขียนตั้งสมมติฐานในงานวิจัยว่า เขาเป็น “ผีเมืองชายแดน ที่ไม่มีเส้นเขตแดน” (Spirit of the border has no boundary) แม้ในศตวรรษที่ 14 จะมีการปักปันเขตแดนบนภูแต๋นตั่นด้วยเสาทองแดง ยาวตั้งแต่จังหวัดเซินลาจนถึงแหงะอาน แต่เมืองชายแดนนั้นกลับกลายเป็นเมืองที่ไม่ได้แบ่งแยกผู้คนออกเป็นเวียด-ลาว หรือไท-ลาว พุทธ-ผี ตรงกันข้าม เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการค้าขายของคนหลายกลุ่ม หลายเมือง กิจกรรมการเล่นศึก การผสมผสานทางวัฒนธรรมของคนกลุ่มต่างๆ และที่สำคัญคือการต่อรองอำนาจอธิปไตยได้ด้วย

เพราะแม้แต่ตัวตนของตือม้าฮายด่าวเอง ก็ยังผสมผสานวัฒนธรรมจนมีหลายอัตลักษณ์ เขาเปลี่ยนตัวเองจากคน เหมื่อง (Mường) ที่มีฐานะราชบุตรเขยของกิง (เวียด) มาเป็นคนไท เพื่อปกครองเมืองจูซาน อันเป็นเมืองที่คนมีอำนาจคือไท

เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือ การฟื้นคืนชีพของตือม้าฮายด่าว ศาลของเขาที่เมืองเซียได้รับการปฏิสังขรณ์ มีการรื้อฟื้นงานเทศกาล “เซ่นเมืองเซีย” ตั้งแต่ปี 2009  และจัดอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานประจำอำเภอ อย่างไรก็ดี 

....เขากลับมาทำหน้าที่ “ผีผู้รักษาชายแดน ที่ส่งเสริมให้คนข้ามแดนและการผสมผสานวัฒนธรรมข้ามแดน” อีกครั้งหนึ่งแล้ว ครัซท่าน  และศาลตือม้าฮายด่าวไม่ได้มีแค่ฝั่งเวียดนาม 3 ศาล เท่านั้น ยังมีที่ฝั่งลาวอีก 3 ศาล

หากมีเวลาจะเล่าเรื่องนี้ผ่านหลักฐานอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเรื่องราวจากการปริวรรตภาษาไทเมืองคองเรื่องตือม้าฮายด่าว โดยผู้เขียนเอง วันนี้ต้องขอตัวไปเขียนบทว่าด้วยตือม้าฮายด่าวกับแนวคิดและการปฏิบัติการเรื่องพรมแดน ในศตวรรษที่ 14 ต่อก่อนเน้อ...

ภาพ 5 ทางไปเมืองเซีย ห่านามนิง แวะเยี่ยมญาติและคนรู้จัก (ซึ่งเป็นธรรมเนียมของการไปทำธุระที่อื่น)

ภาพ 6 ที่เมืองไท ในเวียดนาม ไม่มีเหล้า-ไม่มีเพื่อน ไม่มีเพื่อน-ไม่มีงาน  เก่งปานใดก็ทำงานไม่สำเร็จ

....เอ้า! เอาซัก 3-4 กรึ๊บ กำลังดี อิอิ

คุยเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2016 บันทึก 1 วันถัดมา

อัพโหลดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2016 ที่พิษณุโลก

อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ

 

 

 



[1] คุยกับห่านามนิง ที่บ้านของเขา ริมแม่น้ำหมา (Sông Mã) ที่ตำบลแก๋งนาง (Cánh Nàng) อำเภอบาเทื๊อก (Ba Thước) จังหวัดแทงหวา (Thanh Hóa) เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม ค.ศ. 2015

[2] เมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2016 ที่เดิม (อ้างแล้ว)

[3] ผู้เขียนค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาตร์จากทั้งของเวียดนามและลาวแล้ว พบว่าเหตุการณ์นี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์เล (ศตวรรษที่ 15) แต่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์เจิ่น (ศตวรรษที่ 14) ซึ่งน่าจะอยู่ร่วมสมัยกับเจ้าฟ้างุ่ม แห่งอาณาจักรล้านช้าง

[4] ตอนที่เล่านั้น ห่านามนิงถามผู้เขียนว่า ยวน คือคำเรียกชื่อของคนไทย ใช่หรือไม่ เพราะจากที่เขาค้นคว้านั้น ยวน คือไทกลุ่มหนึ่ง ผู้เขียนจึงกล่าวไปว่าน่าจะหมายถึงไทยวน ที่อยู่ทางอาณาจักรล้านนา

[5] คนไทที่นั่นเรียกคนเวียดว่า “แกว” โดยไม่มีนัยแห่งการดูถูก (ผู้เขียนคิดว่า คำว่าแกว น่าจะมาจากคำว่า เหงื่อย (คน) “แกวน” (คุ้นเคย) ในภาษาเวียดนาม ซึ่งแปลว่า “คนคุ้นเคย)

[6] เรื่องการคัดเลือกสามัญชนให้รับราชการเป็นจางเหวียน ทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู้นั้น เป็นระบบปกติของการสอบเข้ารับราชการของเวียดนามในยุคก่อนอาณานิคม เป็นการเปิดโอกาสให้กับคนที่มีความสามารถได้เลื่อนชนชั้น ดังที่คำอุปมาของเวียดนามที่กล่าวว่า “เคิมอายโซ่วบาเหาะ เคิมอายขอบาเด่ย” (không ai giâu ba họ, không ai khó ba đòi) แปลว่า ไม่มีใครจนและไม่มีใครรวยเกินกว่า 3 ชั่วคนหรอก

[7] สำหรับห่านามนิง เขาเห็นว่ากลองลงอาคมนั้นเป็นแค่ความเชื่อ ไม่ใช่ความจริง

[8] จากคำอธิบายของฝั่บซวนกือ (Phạm Xuân Cừ) ปัญญาชนท้องถิ่น คนไทผู้สอนภาษาไท และอดีตผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาตินาแหม่ว

[9] เรื่องการเปลี่ยนตัวเองเป็นคนอะไรนั้น ในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปในตอนที่เล่าเรื่อง ตือม้าฮายด่าว ในความทรงจำของฝั่บซวนกื่อ และการใช้แนวคิดของกองโดมินาสในการตีความ

 

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
อาจจะจริงที่ใครหลายคนพูดว่าการติดคุกโดยไม่ขอประกันตัวและการอดอาหารของ “ไผ่ ดาวดิน” (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม จากคดีแจกเอกสารไม่แสดงความเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในตลาดอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ) ไม่มีพลังในเชิง “ยุทธศาสตร์” แม้ว่ามันคือความพยายามของสันติวิธีในการการปลุกกระแสเรื่องสิ
เก๋ อัจฉริยา
อยากให้ทุกคนดูตารางข้างล่างนี้ เมื่อวานฉันไปลุ้นผลการนับคะแนนและจดตัวเลขนี้มากับมือ
เก๋ อัจฉริยา
ห่านามนิง ชายร่างเล็ก อายุ 74 ปี อาจารย์สอนภาษาไทเมืองคองของผู้เขียน เป็นอดีตครูโรงเรียนมัธยม หัวหน้างานการศึกษาอำเภอบาเทื๊อก และรองประธานคณะกรรมการบริหาร (ตามลำดับ) ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาไทแทงหวาและนักวิจัยอิสระ ห่านามนิงเล่า[1] ให้ผู้เขียนฟังเกี่ยวกับเ
เก๋ อัจฉริยา
ภาพข้างล่างนี้เป็นการทานอาหารมื้อแรกของฉันในรอบ 2 ปี ที่พร้อมหน้าพร้อมตากับทุกคนในครอบครัวไทขาว อำเภอมายโจว (เมืองมุน) จังหวัดฮว่าบิ่ง ที่ฉันเคยไปอาศัยอยู่หลายเดือน ในทุกปี ตั้งแต่ทำปริญญาเอก ในปี 2008  (จริงๆ ทำปริญญาเอกและมาที่มายโจวแล้วแต่ปี 2007 เพียงแต่อยู่บ้านอื่น) ยกเว้นปี 2015 จนถึงป
เก๋ อัจฉริยา
ปกติเมื่อฉันมาถึงฮานอย ฉันก็ใช้บริการแท๊กซี่สนามบินนอยไบ เท่าที่ฉันสังเกต แท๊กซี่ส่วนใหญ่ เมื่อรู้ว่าฉันพูดภาษาเวียดนามได้ ก็ชอบคุยโน่นนี่นั่นกับฉัน พี่แท๊กซี่คนนี้ก็เหมือนกัน พี่แกเป็นผู้ชาย อายุน่าจะประมาณ 40 กว่าๆ เมื่อพี่แกเห็นฉันพูดภาษาเวียดกะแก แกถามว่าฉันเป็นคนช่าติอะไร พอบอกว่าไทย แกหันมา
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 18 มิถุนายน 2558 หลังจากที่เถ่ยซาว (อาจารย์ซาว) หย่อนลุงนิง (ห่านามนิง) และผู้เขียนไว้ที่โรงแรมที่ตัวอำเภอเถื่องซวนเมื่อเย็นวาน เช้าวันต่อมาเราจึงต้องไปวิจัยกับเครือข่ายใหม่ แต่ขอออกนอกเรื่องเพื่อขอบันทึกเกี่ยวกับความไฝ่รู้ของห่านามนิงสักหน่อย
เก๋ อัจฉริยา
มาเถื่องซวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-19 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนนัดกันไว้กับลุงนิงหรือห่านามนิงว่าจะไปเถื่องซวนด้วยกัน เพราะแกได้ทุนและร่วมทำวิจัยกับทางมหาวิทยาลัยห่งดึ๊ก (ĐH Hồng Đức) มหาวิทยาลัยประจำจังหวัดแทงฮว๋า เกี่ยวกับคนไทเสาะ (Thaí Gịo) ซึ่งมีอยู่มากในอำเภอเถื่องซวน (Thường Xuân) เดิมท
เก๋ อัจฉริยา
วันที่ 12 มิถุนายน 2558 ผู้เขียนซึ่งกำลังเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยไทแดงได้กลับไปที่อำเภอบาเทื๊อก จังหวัดแทงฮว๋าอีกครั้ง ครั้งนี้ได้นัดหมายกับห่านามนิง (อดีตครูมัธยม หัวหน้าแผนการศึกษา และรองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอบาเทื๊อก) และห่ากงโหม่ว (อดีตเจ้าหน้าที่อำเภอบาเทื๊อก) ผู้ซึ่งเป็นครูผู้สอนภาษาไทแ
เก๋ อัจฉริยา
จากบทความเรื่อง “มหาวิทยาลัยที่ไม่มีนิสิต: กรณีนโยบายมหาวิทยาลัยสีเขียวของ ม.นเรศวร” ตามลิ้งค์นี้ http://www.prachatai.com/journal/2015/05/59557  ซึ่งบทความดังกล่าวนั้น กล่าวถึงนโยบาย Green University ของมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อส่งเ
เก๋ อัจฉริยา
แม้จากประมาณการตัวเลขจากกรมปศุสัตว์พบว่ามีวัวเนื้อที่เกษตรกรไทยขุนเพื่อส่งออกในนาม “วัวไทย” ประมาณ 6 ล้านตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า วัวที่เอามาขุนจำนวนมากมายเหลือประมาณนั้นถูกนำเข้ามาจากประเทศพม่า แต่ละสัปดาห์ มีวัวประมาณ 3,000 – 5,000 ตัว หรือเดือนหนึ่งๆ ก็มีประมาณ 12,000 - 20,000 ตัว ได้ถูกนำข้ามแด