Skip to main content

ในสังคมไทยยุคนี้ คนจำนวนไม่น้อยมองว่า การไม่มีศาสนา เหมือนอาการป่วยที่น่าสงสารและควรจะรักษาให้หาย ศาสนิกจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องแก้ไขเรืองนี้ ต้องทำให้คนที่ไม่มีศาสนากลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้อง ถึงแม้เราควรหลีกเลี่ยงผู้แสวงบุญเหล่านี้เพื่อประหยัดเวลาของชีวิต แต่ในบางครั้งการพูดคุยถึงประเด็นที่อ่อนไหวนี้อย่างตรงไปตรงมาและมีเหตุผลเช่นปัญญาชนอาจจะมีประโยชน์อย่างที่เรานึกไม่ถึงก็ได้ ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำในการวางตัวในสังคมที่เน้นศาสนาเช่นในไทย ถ้าท่านผู้อ่านทราบว่าคุณไม่ได้นับถือศาสนาใดเลย

1.ไม่ควรป่่าวประกาศว่าไม่นับถือศาสนาอย่างพร่ำเพรื่อ หากไม่จำเป็น
อย่างน้อยที่สุดการไม่นับถือศาสนาของคุณไม่ได้เป็นแฟชั่นที่โก้เก๋ในสังคมนี้ (เราหวังว่าคุณมีเหตุผลที่ไม่นับถือศาสนาอีกที่ไม่ใช่การที่คิดว่ามันดู"อินดี้" เช่น
เห็นว่าศาสนาไม่สำคัญต่อชีวิต) โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรคิดว่าเรามีหน้าที่ต้องเผยแพร่การไม่นับถือศาสนาของเราให้คนอื่นทำตาม จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองและเพื่อนๆอศาสนิกหลายๆท่าน พบว่าการพยายามเปลี่ยน"ความเชื่อ"ของคู่สนทนาโดยการใช้"เหตุผล"นั้น มีโอกาสสำเร็จประมาณ 0% ...ใช่ครับ ไม่ว่าเราจะชี้แจงอย่างไร เราก็แทบจะไม่มีทางเปลี่ยนความเชื่อทางศาสนาของคนอื่นได้เลยถ้าเขาไม่ได้สนใจจะเปลี่ยนความเชื่ออยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการเปิดเผยว่าท่านไม่ได้เชื่อเหมือนเขา ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรมากไปกว่าการประกาศว่าเราไม่ได้เป็นพวกเดียวกับเขา และยิ่งถ้าท่านโชคไม่ดีมันจะทำให้เกิดการโต้เถียงที่ไม่มีวันได้ข้อสรุปและเสียเวลามาก

แต่แน่นอน ในบางสถานการณ์ เราต้องเปิดเผยตัวเพื่อรักษาสิทธิของเราเองในฐานะคนที่ไม่นับถือศาสนา เมื่อองค์กรหรือตัวแทนศาสนาพยายามจะอาศัยประโยชน์จาก"ความเชื่อ"(โดยคิดว่าเราเชื่อ) ถือเป็นช่วงเวลาที่การเปิดเผย(ว่าเราไม่เชื่อ)เป็นสิ่งที่ควรพิจารณา เช่นถ้ามีคนพยายามชวนคุณไปสัมนาทางศาสนาซึ่งเสียเวลาและบางครั้งเสียเงิน เราอาจจะต้องปฏิเสธไปตรงๆว่าไม่ได้นับถือและไม่ได้สนใจศาสนา

2.ในกรณีที่ตัดสินใจเปิดเผยว่าไม่นับถือศาสนา ควรจะทำความเข้าใจให้ชัดเจน ว่าไม่นับถือศาสนาไม่ได้หมายความว่าไม่มีคุณธรรม
โดยเฉพาะต่อคนที่คุณต้องคบค้าสมาคมด้วย เพื่อนที่ดีของเราบางคนอาจจะยังเข้าใจว่าการไม่มีศาสนาก็คือไม่มีคุณธรรม (ซึ่งคุณมีคุณธรรม...ใช่มั๊ย?) ศาสนิกจำนวนมากเป็นคนดีมีเหตุผล และเป็นเพื่อนที่ดีของเราได้ พวกเขาจะเข้าใจได้ว่าคุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ว่าเขานับถือศาสนาอะไร แต่คนเราสามารถเป็นคนดี เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้โดยไม่ต้องนับถือศาสนาเดียวกันเลยแม้แต่น้อย
ทั้งนี้เรื่องนี้จะทำได้ง่ายแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการวางตัวในด้านอื่นๆที่ไม่ใช่ศาสนาของเราด้วย เราช่วยเหลือเพื่อนๆบ่อยมั๊ย? เราทำร้ายคนอื่นบ่อยมั๊ย? เราเคารพความรู้สึกของคนอื่นเสมอใช่มั๊ย? ถ้าเราวางตัวดี การทำความเข้าในในจุดนี้ก็ไม่ยาก

3.เข้าร่วมกลุ่มคนที่ไม่นับถือศาสนา
ในหลายๆครั้งเราอาจจะอยากปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็นจากคนอื่นๆเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ แต่บางครั้งถ้าเราไปปรึกษาคนที่เคร่งศาสนา เราก็จะได้ทางออกที่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรนอกจากช่วยสนับสนุนศาสนา (เช่นไปสะเดาะเคราะห์แก้กรรม) เราอาจจะอยากได้คำปรึกษาที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา ดังนั้นการได้รู้จักมิตรสหายที่ไม่นับถือศาสนาเหมือนๆกัน ย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และยังทำให้เรารู้สึกอุ่นใจที่มีเพื่อนที่(ไม่)มีแนวคิดทางศาสนาคล้ายๆกันด้วย
ปัจจุบันในประเทศไทยมีกลุ่มเหล่านี้อยู่หลายแห่งครับ คุณสามารถเข้าร่วมกลุ่มนี้และพูดคุยประเด็นทางศาสนา/ศีลธรรมที่ไม่กล้าถามใครได้อย่างเสรี เช่น
กลุ่มไม่ฝักใฝ่สิ่งศักดิ์สิทธิ์https://www.facebook.com/groups/273271822697065/doc/276999938990920/ กลุ่มนี้สมาชิกเยอะและคึกคักมาก เป็นกลุ่มเฟสบุ๊ค
กลุ่มคนไม่มีศาสนาhttps://www.facebook.com/groups/ThaiIr/ กลุ่มแรกๆ(อาจจะแรกสุด)ที่เกิดขึ้นในไทย เป็นกลุ่มเฟสบุ๊คเช่นกัน
กลุ่มศาสนวิจารณ์ https://www.facebook.com/groups/380793651956115/ เน้นวิจารณ์ศาสนาตามชื่อ เป็นกลุ่มเฟสบุ๊คเช่นกัน
เฟสบุ๊คไทยเอทิสต์ https://www.facebook.com/ThaiAtheist เป็นเฟสบุ๊คเพจครับ

 

4.เข้าใจในคำสอนทางศาสนา
ในบางครั้งเพื่อนศาสนิกที่ดีของเราจะอดไม่ได้ที่จะอยากรู้ว่าทำไมคนดีๆและมีเหตุผลอย่างเราจึงไม่นับถือศาสนา ถ้าเราตัดสินใจจะเปิดอกคุยเรื่องนี้ เราก็ควรจะมีความเข้าใจในประเด็นนี้อย่างลึกซึ้ง ว่าศาสนามีประโยชน์และมีโทษอย่างไร ทำไมคนเราถึงนับถือศาสนา ถ้าไม่นับถือศาสนาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ ส่งผลต่อสังคมแค่ไหนอย่างไรฯลฯ โชคดีที่ตามกลุ่มที่ยกมาข้างต้น จะมีการพูดคุยในเรื่องเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ เราจึงหาข้อมูลได้ไม่ยากอยู่แล้ว หรือถ้าอยากจะหาข้อมูลเองเพิ่มเติม เราอาจศึกษาจากเอกสารของศาสนาเองก็ได้(แค่ต้องแยกแยะว่าอันไหนเป็นข้อเท็จจริง อันไหนเป็นภาพลักษณ์ที่องค์กรศาสนาพยายามสร้างขึ้น) นอกจากนั้นการตอบคำถามทางศาสนาได้อย่างลึกซึ้งจะช่วยเรารับมือศาสนิกบางแบบได้เป็นอย่างดี (แต่ถ้าแบบที่เคร่งไม่มีเหตุผลอย่าไปเถียงด้วย เสียเวลา)
นอกจากนี้ ได้มีผู้รวบรวมประเด็นที่มีการถกเถียงกับศาสนิกบ่อยมาก รวมถึงเสนอวิธีการตอบไว้แล้ว ที่นี่ https://www.facebook.com/groups/atheistthai/doc/476533155704263/ คุณอาจจะนำคำตอบเหล่านี้ไปใช้ หรืออาจจะคิดคำตอบขึ้นมาใหม่อีกก็ได้

สุดท้ายนี้อยากจะเน้นย้ำว่า เราต้องชัดเจนกับความหมายของคำว่า ไม่นับถือศาสนา กับ ต่อต้านศาสนา ต่างกันอย่างไร เราตกอยู่ในกลุ่มไหนกันแน่
เรายังเอาคำสอนทางศาสนามาประยุกต์ใช้อย่างเป็นประโยชน์ได้ แค่ไม่ได้เอามากราบไหว้บูชา? ...หรือเราไม่ยอมรับในทุกสิ่งที่ศาสนาสอนเลย? บทความนี้มุ่งไปที่ประเด็นแรกคือยอมรับได้แต่ไม่ถึงกับนับถือ ไม่ได้เป็นบทความที่สนับสนุนให้ต่อต้านศาสนาแต่อย่างใด

บล็อกของ atheist_thai

atheist_thai
ในสังคมไทยยุคนี้ คนจำนวนไม่น้อยมองว่า การไม่มีศาสนา เหมือนอาการป่วยที่น่าสงสารและควรจะรักษาให้หาย ศาสนิกจำนวนมากรู้สึกว่าเป็นภาระหน