Skip to main content

จะเขียนเรื่อง closed caption หลายรอบแล้วแต่ก็ยังไม่ได้เขียนเสียที (เหมือนกับอีกอื่นร้อยสิ่งอย่างที่ยังไม่ได้ทำ) วันนี้ขอเขียนเร็วๆ แบบเท่าที่นึกออก ไม่มีอ้างอิงอะไรใดๆ ทั้งสิ้น (ไม่งั้นจะไม่ได้เขียนซะที)

คำนี้ได้ยินกันบ่อยในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เพราะถูกพูดถึงในบริบทของการประมูลความถี่ทีวีดิจิทัล
 
กสทช.นี่ตั้งแต่ตั้งขึ้นมาก็เป็นองค์กรที่ไม่ว่าจะขยับอะไรคนก็สนใจไปหมด ส่วนหนึ่งก็เพราะมันสำคัญ เป็นทรัพยากรสาธารณะที่มีจำกัด เป็นเรื่องเทคโนโลยีการสื่อสารที่ยุคนี้มันสำคัญขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่า เป็นเพราะมันเป็นองค์กรที่มีและเกี่ยวข้องกะเงินเยอะน่ะ
 
จริงๆ เราทุกคนใกล้ชิดกับ closed caption มาอย่างไม่รู้ตัว สัญลักษณ์ [CC] ใน YouTube ที่กดไปแล้วจะเห็นคำบรรยาย นั่นก็ย่อมาจาก closed caption นี่แหละ
 
closed caption ไม่เหมือนกับ subtitle เสียทีเดียว
 
สมมติว่าเป็นหนังละกัน subtitle นั้นจะมีคำบรรยายเฉพาะคำพูดของตัวละคร
 
ในขณะที่ closed caption จะบรรยายละเอียดกว่า เช่นว่า มีเสียงเดินลากเท้า มีเสียงดนตรีบรรเลงจากไกลๆ ตัวละครกำลังกระซิบอยู่ มีเสียงกรีดร้อง มีเสียงคลื่น อะไรแบบนี้เป็นต้น
 
พูดอีกอย่างคือ ในการทำ subtitle นั้น คนทำมีสมมติฐานว่าผู้ชมยังได้ยินเสียงอยู่ แต่อาจต้องการคำบรรยายเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เช่นอาจจะไม่รู้ภาษา หรือฟังสำเนียงไม่ถนัด
 
ส่วนสมมติฐานของการทำ closed caption คือ ผู้ชมนั้นไม่สามารถได้ยินเสียงเลย จึงจำเป็นต้องบรรยายทุกอย่างที่สำคัญกับเรื่อง
 
อย่างไรก็ตาม เวลาบอกว่า "ผู้ชมไม่สามารถไม่ได้ยินเสียง" นั้นไม่ได้แปลว่าผู้ชมมีปัญหาทางการได้ยินหรือหูหนวก
 
ผู้ชมอาจจะเป็นคนธรรมดาทั่วไปนี่แหละ แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีเสียงดัง มีเสียงรบกวน หรือไม่สามารถใช้เสียงได้ (เปิดเสียงจากทีวีไม่ได้) คำบรรยายบนจอจึงมาทดแทน
 
ใครเคยดูทีวีในผับหรือในสถานที่สาธารณะ อย่างท่ารถ สนามบิน อะไรพวกนี้คงพอนึกออก เราแทบไม่ได้ยินเสียงเลย ถ้ามีตัวอักษรคำบรรยายให้อ่าน มันก็ดีกว่าแน่ และสำหรับคนที่อาจจะไม่ถนัดภาษาไทยนัก ฟังเร็วๆ ไม่ทัน การมีคำบรรยายก็ย่อมช่วยได้มาก ไหนๆ จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกันแล้วครับ
 
closed caption จึงไม่ใช่ "เทคโนโลยีสำหรับคนพิการ" อย่างที่หลายคนเข้าใจ (ซึ่งก็คงโทษเขาไม่ได้ เพราะกลุ่มคนที่ผลักดันเรื่อง closed caption อย่างจริงจังในเมืองไทยนั้นมาจากกลุ่มผู้มีปัญหาทางการได้ยินหรือสมาคมที่เกี่ยวกับคนพิการเป็นหลัก) 
 
closed caption เป็นเทคโนโลยีสำหรับคนทั่วๆ ไปนี่แหละ ชีวิตคนเราย่อมมีโอกาสไปอยู่ในสถานการณ์หลากหลาย ใช้เสียงได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือมีอะไรบางอย่างทำให้ความสามารถในการได้ยินของเราหายไปชั่วคราว
 
คำว่า close ใน closed caption นั้นบอกความหมายว่า ถ้าผู้ชมไม่ต้องการ ก็สามารถสั่งปิดได้ (softsub) แต่ถ้าเป็นกรณี open caption / open subtitle / hard sub แบบนี้จะสั่งปิดไม่ได้ คือตัวอักษรนั้นฝังมากับตัวภาพเลย เหมือนเวลาเราไปดูหนังในโรง หรือซื้อแผ่นวีซีดีรุ่นเก่าๆ ที่คำบรรยายกับภาพวิดีโอมันไม่ได้แยกกัน ใครที่โหลดหนังทางเน็ตบ่อยๆ คงพอนึกออก หนังบางเรื่องคำบรรยายจะฝังมา บางเรื่องต้องไปหาโหลดไฟล์คำบรรยายต่างหากแล้วค่อยเอามาเปิดรวมกัน
 
ข้อดีอันหนึ่งของแบบ open ก็คือ เนื่องจากมันฝังมาในภาพเลย ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์อะไรพิเศษ แต่ข้อเสียใหญ่โตก็คือ มันไม่ยืดหยุ่น ถ้าจะให้มีหลายๆ ภาษาอันนี้ก็ลำบากละไม่รู้ต้องทำกี่บรรทัด หรือถ้าอยากปรับให้ตัวอักษรใหญ่ขึ้นก็ไม่ได้
 
caption แบบ closed มันดีกว่า open ในเรื่องความยืดหยุ่นนี้ และเปิดโอกาสให้คนทำภาพกับทำคำบรรยาย ทำแยกกันได้ แต่ทั้งหมดนี้จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่รองรับด้วย ไม่งั้นก็แสดงผลไม่ได้ ดังนั้นเพื่อรับรองสิทธิของผู้รับสื่อใช้สื่อ กสทช.ก็เลยกำหนดให้ผู้แพร่ภาพ ผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณ ต้องรองรับ closed caption กำหนดอันนี้ลงเป็นเงื่อนไขในการพิจารณารับใบอนุญาต
 
เขียนๆ มาไม่ใช่อะไรน่ะครับ แค่อยากให้มองตัวเทคโนโลยีนี้ว่ามันมีประโยชน์กับทุกคน อย่าไปกรอบให้มันเป็นเทคโนโลยีสำหรับคนเฉพาะกลุ่ม อย่างที่ได้อธิบายไปข้างบนแล้ว
 
และประโยชน์อีกอย่างที่สำคัญของ closed caption ในยุคนี้คือ ถ้าสามารถบังคับให้ผู้แพร่ภาพ ทำคำบรรยายสำหรับ closed caption ได้จริงๆ นี่จะเป็นประโยชน์มากในการค้นหาเนื้อหาย้อนหลังครับ เพราะเนื้อหาที่เดิมเป็นเสียงจะถูกถอดออกมาเป็นข้อความทั้งหมด
 
เทคโนโลยีการค้นหาด้วยเสียงนั้นยังไม่แพร่หลายมาก แต่เทคโนโลยีการค้นหาด้วยข้อความนั้นมีใช้กันทั่วไปแล้ว ลองคิดดูว่าในอนาคต เมื่อเรามี closed caption สำหรับทุกรายการ นั่นก็แปลว่าเรามีฐานข้อมูลถอดคำพูดคำบรรยายของทุกรายการเช่นกัน แปลว่าเราสามารถค้นหาทำนองเดียวกะค้นเน็ตได้ว่า ในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 2556 ในรายการข่าวภาคคำของช่อง XXXX มีพูดคำว่า "เลือกตั้งกทม." กี่คำ
 
สิ่งนี้จะทำให้การเข้าถึงข้อมูลย้อนหลังเป็นไปได้มากขึ้น และการศึกษาวิจัยเรื่องสื่อจะมีเครื่องมือใหม่ๆ เข้ามาช่วยอีกเยอะ
 
"ภาษาเขียน" ที่ closed caption นำเสนอจึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะสำหรับคนพิการ แต่สำหรับทุกคน (man) ทุกคนในสังคมพหุภาษา จะไทยกลาง อิสาน คำเมือง อังกฤษ จีน อะไรก็แล้วแต่ และมันยังเป็นภาษาสำหรับเครื่อง (machine) อีกด้วย เป็นภาษาเขียนที่ทำให้คอมพิวเตอร์มันประมวลผลทำดัชนีค้นหาให้เราได้ ยุคนี้ถ้าข้อมูลอะไรอ่านด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ได้ ก็มีประโยชน์โดยเปรียบเทียบน้อยลงไปมาก
 
การกำหนดมาตรฐาน closed caption อย่างระมัดระวังและบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวตลอดทางตั้งแต่ต้นทางคือผู้แพร่ภาพไปจนถึงปลายทางคือตัวเครื่องรับสัญญาณและตัวโทรทัศน์ จึงเป็นการมองไปข้างหน้าจริงๆ ขอเชียร์กสทช.ในเรื่องนี้ครับ
 
----
 
เติม: หน้าเว็บนี้ที่ HowStuffWorks ดีนะ สั้นๆ แต่น่าจะพูดเรื่องที่ควรรู้ไว้หมด (มั๊ง)
 
EIA/CEA-708 เป็นมาตรฐาน closed caption สำหรับทีวีดิจิทัลในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
 
ส่วนวิดีโอออนไลน์ FCC ให้ใช้มาตรฐาน SMPTE Timed Text (ST 2052) เพื่อจัดทำ closed caption ให้ตรงตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย 21st Century Communications and Video Accessibility Act 
 
 
 
 

บล็อกของ bact

bact
คุณได้ยินคนร้องเพลงไหม?ร้องมาจากใจของคนที่โกรธ?นี่คือดนตรีของผู้คนที่จะไม่ยอมตกเป็นทาสอีกครั้งเมื่อเสียงเต้นของหัวใจคุณพ้องกับทำนองของกลองร้องก้องนั่นคือชีวิตที่จะเริ่มใหม่เมื่อวันพรุ่งรุ่งมา!
bact
โฆษณาโทรทัศน์ ช่วงพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาครั้งที่ 69 เสาร์ที่ 2 ก.พ. 2556ปตท.สผ.ไทยออยล์PTT Global Chemicalsน้ำดื่มรีเจนซีPTT 
bact
ผมตามสัมมนา ‘การละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์’ ของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ทางทวิตเตอร์ แท็ก #sonp วันนี้ คิดว่ามีจุดสับสนหลายจุด เลยขอโพสต์หน่อย1) ทวิตเตอร์ @SONPThai รายงานว่า @chavarong (ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) พูดว่า "pantip จะเพิกเฉยเมื่อมีคนมาโพสต์หัวข้อที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ เจ้าของเว็บไซต์ต้องรับผิดชอบ ถือว่าผิดพ.ร.บ.คอมฯชัดเจน"
bact
จากกรณีหน้าเว็บกระทรวงวัฒนธรรม "ถูกแฮ็ก" หลังช่องสามประกาศงดฉาย "เหนือเมฆ 2" ต่อ และล่าสุดพบลิงก์เว็บพนันบอลเว็บกระทรวงด้วย ผมพยายามจะตอบบางคำถามที่ถามกันบ่อย พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล