Skip to main content

นักข่าวยุคอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เพียงทำข่าวและส่งข่าวผ่านเน็ต แต่จำเป็นต้องรู้จักประเด็นปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมใหม่นี้ด้วย เพื่อปกป้องทั้งตัวเองและแหล่งข่าว

สัปดาห์ที่แล้วมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับนักข่าวในกลุ่มอาเซียนจำนวนหนึ่งในงาน Fellowship ของ Southeast Asian Press Alliance (SEAPA) เรื่องความเป็นส่วนตัวในส่วนที่เกี่ยวกับงานข่าว

ประเด็นที่สำคัญตอนนี้ น่าจะเป็นเรื่อง metadata และข้อมูลที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ซึ่งถ้าหลุดหรือจัดการไม่ดี ก็จะเป็นอันตรายต่อแหล่งข่าวหรือตัวนักข่าวเอง หรือพูดในบริบทที่กว้างขึ้น ก็รวมทั้งคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ ด้วยแหละ

เมทาเดตา (metadata) ก็คือ "ข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูล" หรือ ข้อมูลที่อธิบายข้อมูลอีกที ตัวมันไม่ใช่เนื้อหาหลัก แต่อธิบายว่าเนื้อหาหลักนั้นเกี่ยวกับอะไร เป็นของใคร สร้างเมื่อไหร่ อยู่หมวดหมู่ไหน ส่งไปหาใคร จากใคร ฯลฯ

ตัวอย่างเมทาเดตาที่เราใช้กันบ่อย (โดยอาจจะไม่รู้ตัว) ก็เช่น ID3 tag ของ MP3 ที่เก็บข้อมูลชื่อเพลง ชื่อศิลปิน ความยาวเพลง ภาพหน้าปก, Exif (Exchangeable image file format) ในไฟล์ภาพ JPEG ที่เก็บว่าถ่ายเมื่อไหร่ ที่ไหน ด้วยรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ แฟลช ฯลฯ แบบไหน, ข้อมูล "Properties" ของเอกสารจากโปรแกรมประมวลผลคำ สเปรดชีต พรีเซนเตชัน หรือ PDF, และข้อมูล From: To: Cc: Bcc: วันที่เวลา ของอีเมล

ภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิทัลหรือกล้องมือถือ บางทีเราเบลอหน้าคนในภาพแล้ว แต่ลืมเอาเมทาเดตาออก ซึ่งข้างในถ้ามีข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งจาก GPS ว่าถ่ายที่ไหน ก็จะทำให้พอระบุหรือตามตัวคนในภาพได้เมื่อนำไปประกอบกับข้อมูลอื่น หรือข้อมูล EXIF จากกล้องบางรุ่น จะบันทึกเลขอนุกรม (serial number) ของกล้องด้วย ซึ่งเลขนี้กล้องแต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน พอเอาไปประกอบกับข้อมูลการซื้อหรือการรับประกันสินค้า ก็ทำให้พอตามตัวคนถ่ายได้ (ดูรายชื่อรุ่นของกล้องที่เก็บ serial number ใน EXIF)

ข้อมูลเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคนแอบปล่อยมาให้นักข่าว ถ้านักข่าวไม่ระวังอัปโหลดต่อให้คนอื่นโหลดได้ทันที ก็เท่ากับไม่ปกป้องแหล่งข่าว เพราะบางทีเมทาเดตาก็ระบุว่า ใครสร้าง ใครเข้าถึงเอกสารล่าสุด ก๊อปมาจากโฟลเดอร์ไหน (ซึ่งอาจจะมีชื่อผู้ใช้อยู่ในโฟลเดอร์) รวมไปถึงประวัติการแก้ไขเอกสาร (track changes) ที่บอกได้ว่าใครแก้ไขอะไรตรงไหนเมื่อไหร่

ข้อมูลอย่าง log file หรือบันทึกการจราจรอินเทอร์เน็ต หรือข้อมูลจ่าหน้าจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ก็ถือเป็นเมทาเดตาอย่างนึง ซึ่งแม้จะไม่ได้บอกว่าเราอ่านหรือส่งเนื้อหาอะไร แต่มันก็บอกพฤติกรรมหรือแพทเทิร์นบางอย่างเกี่ยวกับเราได้

โครงการดักฟังโดยรัฐบาลบางประเทศ อ้างว่าการดักข้อมูลเมทาเดตา เช่นว่า เราโทรไปหาเบอร์อะไร เมื่อไหร่ คุยนานแค่ไหน นั้นไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ใช่ตัวเนื้อหาการสนทนา ดังนั้นจึงไม่ถูกคุ้มครองโดยกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ข้อมูลเมทาเดตาพวกนี้ ในทางหนึ่งก็ใช้ในการทำข่าวเจาะหรือใช้เพื่อหาตัวคนร้ายได้ แต่ก็เอาไว้หาตัวคนแจ้ง/เปิดโปงข่าว (whistleblower) หรือนักเคลื่อนไหวได้เช่นกัน ถ้าจะปล่อยให้โหลด ก็ต้องคิดเรื่องกำจัดข้อมูลพวกนี้ออกไปก่อน

เอกสาร Document Metadata and Computer Forensics นี้รวมกรณีศึกษาน่าสนใจเกี่ยวกับเมทาเดตาของเอกสารและการค้นหาข้อมูลที่ซ่อนอยู่ และบล็อกโพสต์ A Picture is Worth a Thousand Words, Including Your Location ที่ EFF ก็มีลิงก์ไปกรณีศึกษาและคำถามที่ท้าทายหลักการสิทธิพลเมือง เช่นเรื่องการค้นข้อมูลในกล้องดิจิทัลได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น

สำหรับการดูและลบข้อมูลเมทาเดตาและข้อมูลส่วนบุคคลในเอกสาร Microsoft Office สามารถใช้ฟังก์ชันที่เรียกว่า Document Inspector ได้

ถ้าเป็น PDF มีซอฟต์แวร์ชื่อ PDFtk ใช้แก้ไข-ล้างเมทาเดตาทิ้งได้ โหลดฟรี

ส่วนข้อมูล Exif ในรูปภาพ มีซอฟต์แวร์ชื่อ ExifTool และ JPEG & PNG Stripper โหลดฟรีเช่นกัน (ตัวแรกทำงานได้ซับซ้อนกว่า ตัวหลังใช้ง่ายกว่า)

โดยรวมก็คือ เอกสารดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นภาพ ภาพเคลื่อนไหว ตารางงาน จดหมาย ไฟล์เสียง ฯลฯ ต่างก็มีข้อมูลที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จะเผยแพร่ส่งต่อ ก็ต้องระวังข้อมูลในส่วนนั้นว่าเราตั้งใจจะเผยแพร่ด้วยไหม โดยเฉพาะกับงานที่อ่อนไหวเสี่ยงกับกับการถูกละเมิดสิทธิเป็นพิเศษ หลายเรื่องเป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝนทำความเข้าใจ แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถ้าละเลย ก็จะทำให้ตัวเองหรือคนอื่นตกอยู่ในอันตรายครับ

 

บล็อกของ bact

bact
คุณได้ยินคนร้องเพลงไหม?ร้องมาจากใจของคนที่โกรธ?นี่คือดนตรีของผู้คนที่จะไม่ยอมตกเป็นทาสอีกครั้งเมื่อเสียงเต้นของหัวใจคุณพ้องกับทำนองของกลองร้องก้องนั่นคือชีวิตที่จะเริ่มใหม่เมื่อวันพรุ่งรุ่งมา!
bact
โฆษณาโทรทัศน์ ช่วงพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาครั้งที่ 69 เสาร์ที่ 2 ก.พ. 2556ปตท.สผ.ไทยออยล์PTT Global Chemicalsน้ำดื่มรีเจนซีPTT 
bact
ผมตามสัมมนา ‘การละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์’ ของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ทางทวิตเตอร์ แท็ก #sonp วันนี้ คิดว่ามีจุดสับสนหลายจุด เลยขอโพสต์หน่อย1) ทวิตเตอร์ @SONPThai รายงานว่า @chavarong (ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) พูดว่า "pantip จะเพิกเฉยเมื่อมีคนมาโพสต์หัวข้อที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ เจ้าของเว็บไซต์ต้องรับผิดชอบ ถือว่าผิดพ.ร.บ.คอมฯชัดเจน"
bact
จากกรณีหน้าเว็บกระทรวงวัฒนธรรม "ถูกแฮ็ก" หลังช่องสามประกาศงดฉาย "เหนือเมฆ 2" ต่อ และล่าสุดพบลิงก์เว็บพนันบอลเว็บกระทรวงด้วย ผมพยายามจะตอบบางคำถามที่ถามกันบ่อย พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล