Skip to main content

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (3 ก.ย. 2556) ไปงาน แผนแม่บทไอซีที ระยะที่ 3 ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกำลังจัดทำสำหรับ พ.ศ. 2557-2561 มีสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาช่วยจัดทำด้วย (ดูเอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อยและการรับฟังความคิดเห็น)

มนู อรดีดลเชษฐ์ (เมื่อก่อนอยู่ศรีปทุม ไม่รู้ตอนนี้อยู่ไหน) กับ พรทิพย์ เย็นจะบก จากยูเนสโกพูดถึงประเด็นการหลอมรวมกันของนิเทศศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ

พรทิพย์บอกว่าทุกวันนี้นิเทศศาสตร์เข้ามาอยู่ในไอซีที media literacy กลายเป็น media and information literacy (ยูเนสโกใช้คำนี้ ย่อว่า MIL ส่วนที่อื่นอาจจะเรียก information and media literacy ย่อว่า IML)

หลายคนเทียบ "media literacy" เป็นคำไทยว่า "การรู้เท่าทันสื่อ" ซึ่งก็สะท้อนความคิดในช่วงหนึ่งของนักวิชาการและนักวิชาชีพสื่อไทย ที่รู้สึกว่าสื่อมันมีอิทธิพลมาก ความชั่วร้ายในสังคมนี่หลักๆ มาจากสื่อไม่ดี ดังนั้นคนเราต้องได้รับการศึกษา ให้รู้เท่าทันสื่อ ไม่ถูกสื่อ(และนักการเมืองที่ครอบงำสื่อ)หลอกเอา นักสื่อสารมวลชนคนหนึ่งที่ใช้คำว่า "รู้ทัน" จนเป็นเครื่องหมายการค้า ก็คือ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง กับชุดหนังสือและรายการ "รู้ทันทักษิณ"

ผมแสดงความหงุดหงิดกับการแปล "media literacy" เป็น "รู้เท่าทันสื่อ" ในหลายโอกาส ถ้าจำไม่ผิดในช่วงแรกก็น่าจะเป็นตอนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอบรมนักข่าวพลเมือง ซึ่งโดยตัวมันเองก็ชัดเจนว่า นี่เราจะเป็นพลเมืองที่สื่อสารข่าวเองแล้วนะ ไม่ใช่แค่พลเมืองที่รู้ทันเท่านั้น กระแสพวกนี้อยู่ร่วมสมัยกับเว็บล็อกและยูทูบ กับสิ่งที่เรียกว่า user-generated content และต่อมาก็โซเชียลมีเดีย สิ่งเหล่านี้มันเข้าใจให้รอบไม่ได้ในกรอบ "รู้เท่าทันสื่อ" แบบเดิม ที่เน้นการรับสาร (อย่างเท่าทัน)

คำแปล "literate" ในภาษาไทย มีใช้กันอยู่ว่า "อ่านออกเขียนได้" เทียบได้อย่างตรงไปตรงมากับภาษาอังกฤษที่นิยามว่า "literacy" คือ "ability to read and write"

คำว่า "รู้เท่าทัน" มันตก "การเขียน" ไป

แม้เราจะพอขยายความหมายของ "รู้เท่าทัน" ให้รวมไปถึงการเขียนอย่างเท่าทันได้บ้าง แต่มันก็ไม่ชัดเจนเท่า "อ่านออกเขียนได้"

ผมเลยพยายามจะแปล media literacy ว่า "การอ่านสื่อออกเขียนสื่อได้" หรือถ้าเอายาวๆ ก็อาจจะเป็น "ความสามารถในการอ่านสื่อออกเขียนสื่อได้" ... ซึ่งก็ยาวเกิน ยังนึกคำที่กระชับและครบไม่ออก ยิ่งพอมีคำว่า information พ่วงมาด้วย ยิ่งยาก

(ผมคิดว่าการแฮ็กนี่แหละ คือการรวบยอด literacy ทั้งหมดของยุคหน้า)

การอ่านสารเทศออกเขียนสารเทศได้ของพลเมืองทั่วไป เมื่อประกอบกับการมีอยู่และเข้าถึง open data/big data และเอกสารแบบ open access ที่มากขึ้น กฎระเบียบที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นผลจาก open access movement และ free culture movement (รวมไปถึงกฎหมาย freedom of information และการสนับสนุนการหลุดรั่วโดยบุคคลและสถาบันอย่างหนังสือพิมพ์และ WikiLeaks) จะทำให้ความเป็น "เจ้า-หน้าที่" (authority) ที่เกิดและดำรงอยู่เพราะความจำกัดของแวดวงวิชาชีพ ถูกท้าทายมากขึ้น

สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วกับวงการข่าว และกำลังเกิดขึ้นกับวงการวิทยาศาสตร์

เมื่อประมาณสิบปีก่อน สิ่งที่เรียกว่า grassroot/citizen journalism ได้เกิดขึ้น และได้พิสูจน์แล้วว่ามันทำให้วงการสื่อต้องปรับและปฏิวัติตัวเองอย่างไร

วันนี้ แนวคิดคล้ายๆ กันกำลังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า citizen science หรือ "วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง"

พลเมืองที่เดิมทำได้แค่เพียงตรวจสอบผลวิจัยที่ดูจะมีปัญหา ตอนนี้เราเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำวิจัยได้

ในขั้นแรกอาจจะเป็นเพียงการให้ข้อมูล เก็บข้อมูล หรือร่วมประมวลผล บนกรอบวิธีวิจัยที่ผู้เชี่ยวชาญกำหนด แต่มันมีแนวโน้มจะค่อยๆ ขยับ พลเมืองทั่วไปจะเข้าไปร่วมสังเกตการวิจัยและกำหนดวาระวิจัยได้มากขึ้น

ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลดี เพราะวาระการวิจัยเองก็กำหนดว่า อะไรที่จะถูกมองเห็น และในหลายครั้ง สิ่งที่จะถูกมองเห็นและวิเคราะห์สรุปออกมาเป็นผลวิจัยนี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อพลเมืองทั่วไป ผ่านการถูกนำไปใช้เป็นฐานในการออกแบบและสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบาย หรือใช้ในการรณรงค์สนับสนุนนโยบาย

ถ้าอำนาจในสังคมปัจจุบัน มาจาก ข้อมูล และ วิธีการให้เหตุผล

พลเมืองเจ้าของอำนาจ ก็ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้มากขึ้น ในการสร้างข้อมูลและวิธีการให้เหตุผลพวกนั้น

 

ปรับปรุงจากโพสต์ในเฟซบุ๊ก (4 ก.ย. 2556)

บล็อกของ bact

bact
คุณได้ยินคนร้องเพลงไหม?ร้องมาจากใจของคนที่โกรธ?นี่คือดนตรีของผู้คนที่จะไม่ยอมตกเป็นทาสอีกครั้งเมื่อเสียงเต้นของหัวใจคุณพ้องกับทำนองของกลองร้องก้องนั่นคือชีวิตที่จะเริ่มใหม่เมื่อวันพรุ่งรุ่งมา!
bact
โฆษณาโทรทัศน์ ช่วงพักครึ่งการแข่งขันฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาครั้งที่ 69 เสาร์ที่ 2 ก.พ. 2556ปตท.สผ.ไทยออยล์PTT Global Chemicalsน้ำดื่มรีเจนซีPTT 
bact
ผมตามสัมมนา ‘การละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์’ ของสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ทางทวิตเตอร์ แท็ก #sonp วันนี้ คิดว่ามีจุดสับสนหลายจุด เลยขอโพสต์หน่อย1) ทวิตเตอร์ @SONPThai รายงานว่า @chavarong (ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย) พูดว่า "pantip จะเพิกเฉยเมื่อมีคนมาโพสต์หัวข้อที่ละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้ เจ้าของเว็บไซต์ต้องรับผิดชอบ ถือว่าผิดพ.ร.บ.คอมฯชัดเจน"
bact
จากกรณีหน้าเว็บกระทรวงวัฒนธรรม "ถูกแฮ็ก" หลังช่องสามประกาศงดฉาย "เหนือเมฆ 2" ต่อ และล่าสุดพบลิงก์เว็บพนันบอลเว็บกระทรวงด้วย ผมพยายามจะตอบบางคำถามที่ถามกันบ่อย พร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และการเสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล