Skip to main content

นายยืนยง


ชื่อหนังสือ : เด็กบินได้

ผู้เขียน : ศรีดาวเรือง

ประเภท : นวนิยายขนาดสั้น พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2532

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์กำแพง


มาอีกแล้ว วรรณกรรมเพื่อชีวิต เขียนถึงบ่อยเหลือเกิน ชื่นชม ตำหนิติเตียนกันไม่เว้นวาย นี่ฉันจะจมอยู่กับปลักเพื่อชีวิตไปอีกกี่ทศวรรษ


อันที่จริง เพื่อชีวิต ไม่ใช่ “ปลัก” ในความหมายที่เราชอบกล่าวถึงในแง่ของการย่ำวนอยู่ที่เดิมแบบไร้วัฒนาการไม่ใช่หรือ เพื่อชีวิตเองก็เติบโตมาพร้อมพัฒนาการทางสังคม ปลิดขั้วมาจากวรรณกรรมศักดินาชน เรื่องรักฉันท์หนุ่มสาว เรื่องบันเทิงเริงรมย์ เราต้องขอบคุณวรรณกรรมเพื่อชีวิตด้วยซ้ำไปที่สอนให้สังคมตระหนักว่าประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพมหานคร และมหานครกรุงเทพก็ไม่ใช่วิมานลอยฟ้า ติดแอร์เย็นฉ่ำตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง


เมื่อผู้คน สังคม บริบทต่าง ๆ มีวิวัฒนาการ วรรณกรรมก็เช่นกัน แต่การวิวัฒน์ของวรรณกรรมก็ไม่ควรมองข้ามรากเหง้าของตัวเอง ไม่ใช่สักแต่จะรับออเดอร์มาจากวรรณกรรมแปลเพื่อยักย้ายถ่ายเทแนวคิดมาประกอบขึ้นเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยแบบไทย ๆ ถ้าไม่มีคำพูน บุญทวี, ลาว คำหอม, นิคม รายยวา, ศรีดาวเรือง, ชาติ กอบจิตติ จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง , กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ หัวขบวนเพื่อชีวิตจากสองทศวรรษที่แล้วและอีกหลายชื่อนามที่ขนานอยู่บนเส้นทางวรรณกรรมเพื่อชีวิต ไฉนเลยจะมีนักเขียนสามัญชนเฉกเช่นทุกวันนี้ ไม่แน่ว่าถ้าไร้ซึ่งเพื่อชีวิตในยุคก่อนหน้า เราอาจรู้จักนักเขียนเพียงในนามของ หม่อมหลวง หม่อมราชวงศ์ ท่านนั้นท่านนี้ก็เป็นได้


ในขอบข่ายของวรรณกรรมเพื่อชีวิตนั้น มุ่งเน้นสะท้อนภาพชีวิตคนด้อยโอกาส เสนอหรือฟ้องร้องปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ชี้นำ บอกกล่าว ตำหนิติเตียน และเสนอทางออกให้ ภายใต้เงื่อนไขของความเสมอภาคระหว่างชนชั้นในสังคม แต่ทุกวันนี้เจตนารมณ์แบบเพื่อชีวิตถูกแทนที่ด้วยรายการโทรทัศน์ซึ่งมีทั้งภาพเสียงและใบหน้าที่แท้จริงของชาวบ้านไปแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้วรรณกรรมเพื่อชีวิตจะมีชีวิตไปเพื่ออะไร แต่เชื่อเถอะว่า ทีวีไม่ใช่โลก และแม้วรรณกรรมก็ไม่ใช่โลกเหมือนกัน แต่โลกของวรรณกรรมมีมากกว่าภาพและเสียงแน่นอน


วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็มีจุดอ่อนตรงที่นักเขียนพยายามจะ “เทศนาโวหาร” เพื่อชี้ทางสว่างให้ ขณะที่ตัวนักเขียนใช้โวหารแบบสั่งสอนตักเตือนในงานเขียนแล้ว หากผู้เทศน์ไม่บำเพ็ญชีวิตตามตรรกะที่เทศน์ไฉนเลยผู้ฟังจะดำเนินตาม เหมือนครูเป็นแอลกอฮอลิสซึ่มสอนนักเรียนให้งดเว้นสุรายาเมา คล้ายกับที่บรรณาธิการสุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยท้วงติงนักเขียนเรื่องอย่าเทศนาในสิ่งที่ตนเองไม่เชื่อ อีกอย่างหนึ่ง หากนักเขียนวรรณกรรมเพื่อชีวิตเอาได้เอาดีแต่เขียนถึงปัญหา โดยไม่ลงแรงเข้าร่วมคลุกอยู่กับปัญหา หนำซ้ำยังสวมบทนายทุนหน้าเลือด งานเขียนย่อมมีอันต้องเสื่อมไป นักเขียนที่ตระหนักว่าไม่อาจทรยศกับหลักการของตัวเองได้จึงต้องหันหน้าเข้าสู่กระบวนการสร้างสรรค์ ต่อยอดให้งานเขียนแตกผลิ ต่อยอด โดยอาศัยเครื่องมือซึ่งนักเขียนพึงมีบรรเลงลงไปในระนาบของเพื่อชีวิตหรือก้าวออกไปสู่การทดลองหากลวิธีการเขียนอื่น ในแนวทางอื่น ดังผลงานของวินทร์ เลียววารินทร์ ซึ่งย่อมหลีกเลี่ยงทักษะที่ได้เค้าลางมาจากวรรณกรรมแปล


แน่นอนนี่ไม่ใช่ความผิดของนักเขียน ในอีกแง่หนึ่ง ยังมีนักเขียนที่พยายามคิดสร้างผลิตผลทางวรรณกรรมให้งอกงามขึ้นภายในขอบข่ายของเพื่อชีวิตอีกมากมาย และหากใครใคร่จะศึกษา ฉันขอเสนอผลงานของนักเขียนหญิงนาม ศรีดาวเรือง ที่ทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องร่วมห้าสิบปีแล้ว และศรีดาวเรืองคนนี้เองที่มีผลงานเรื่องสั้น คนดายหญ้า ซึ่งได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือการอ่านงานประพันธ์เฉพาะเรื่องของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พ.. 2526 และฉันในขณะเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้เลือกวิชาการอ่านงานประพันธ์เฉพาะเรื่องเป็นวิชาเลือกเสรี ทั้งที่ไม่เคยพิสมัยวิชาภาษาไทยซักกะติ้ด แต่เมื่อได้อ่านเรื่องสั้น คนดายหญ้า โดยเฉพาะประโยคที่สำแดงให้เห็นถึงความด้อยโอกาส ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นอย่างชัดถ้อยชัดคำ ตอนที่คนดายหญ้ากำลังถางป่าในฤดูหนาว ผู้คนเดินผ่านไปมาและสนทนาปราศรัยต่อกันในบรรยากาศของการทำงาน เขารู้สึกหนาวเยือกและแสบคันตามเนื้อตัว โดยเฉพาะเมื่อถูกเรียวหญ้าบาดเนื้อ มันยิ่งแสบ ไม่รู้ว่าคนอื่นจะเป็นอย่างเขาบ้างไหม

 

 ฉันจำได้ไม่ละเอียดนักว่าศรีดาวเรืองเขียนไว้อย่างไร แต่ความรู้สึกของตัวละครทำเอาฉันในวัยนั้นขนลุก และตระหนักได้ในตอนนั้นว่า ฉันจะเป็นนักเขียนอย่างศรีดาวเรืองให้ได้ แล้วก็ซักซ้อมตั้งนามปากกาให้ตัวเองเสียตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่แล้วความฝันในวัยเยาว์นั้นก็ค่อยเลือนรางไปเรื่อย ๆ โดยแนวคิดแบบเพื่อชีวิตยังคงเกาะกุมอยู่ในหัวใจไม่เสื่อมคลาย


คราวนี้ฉันเลือกนวนิยายขนาดสั้นชื่อ เด็กบินได้ มาอ่าน และจะเล่าให้ฟังว่าศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนหญิงแนวเพื่อชีวิตที่ไม่เคยหยุดบำรุงอุดมคติของตัวเองอย่างไร เธอทำให้เพื่อชีวิตเดินดิน เช่าบ้าน กินข้าวแกง ถูกเอารัดเอาเปรียบกลายเป็นเพื่อชีวิตบินได้อย่างไร จากนวนิยายเล่มเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงนักเล่มนี้


ขั้นแรก เด็กบินได้ เขียนขึ้นด้วยภาษาตามแบบฉบับของเรื่องสั้นที่ใช้คำกระชับ เป็นประโยคสั้น ๆ

ไม่เยิ่นเย้อเฟ้อเฝือแต่อย่างใดเลย ขณะเดียวกันสำนวนภาษาอย่างนี้อาจทำให้รู้สึกถึงความแห้งแล้งไปบ้าง บางทีก็ทำให้นึกถึงงานเขียนเชิงสารคดี แต่ภาพชีวิตที่ผุดขึ้นจากภาษาก่อให้เกิดภาพพจน์ที่ชัดเจน อันเป็นหัวใจของวรรณกรรมทีเดียว สิ่งหนึ่งที่โดดขึ้นมาจากระนาบของภาษา คือ น้ำเสียงของนักเขียน


กล่าวได้ว่าศรีดาวเรืองเป็นนักเขียนที่มีน้ำเสียงชัดถ้อยชัดคำที่สุดคนหนึ่ง นอกจากเสียงแบบจริงจัง จริงใจและซื่อสัตย์แล้ว เธอยังไม่ดัดจริต โดยเฉพาะกับเรื่องเด็กบินได้เล่มนี้ที่เขียนด้วยน้ำเสียงของคำฟ้องร้องจากผู้ถูกกระทำในชุมนุมริมคลองเปรมประชา ที่มีทั้งเด็ก ๆ กับผู้ปกครองหาเช้ากินค่ำ เพราะเหตุที่ผู้ถูกกระทำบรรดามีสังคมโลกล้วนเป็นเผ่าพันธุ์ที่บ่มเพาะนิสัยฝืนอดฝืนทนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เล็กน้อยก็กัดฟันทนกันไป ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็ก้มหน้าเก็บกินชะตากรรมขมขื่นกันไป ความใฝ่ฝันของพวกเขา ทุกข์ร้อนของพวกเขาจึงไม่เปราะบางเหมือนกับชนชั้นกลาง แต่เมื่อศรีดาวเรืองนำ “ความ” นี้มาเขียนในรูปแบบของนวนิยาย ตำแหน่งการจัดวางองค์ประกอบทางอารมณ์ของตัวละคร จึงสามารถสร้างความสะเทือนใจต่อผู้อ่าน และโน้มน้าวใจให้ตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมในภาคส่วนต่าง ๆ

ยกตัวอย่างในตอนที่บรรยายว่า


บางคนพอมีฐานะซื้อหาสิ่งของต่าง ๆ เพื่อการศึกษาให้ลูกหลานได้ แต่บางฐานะก็จนใจเพราะปัญหาตำราเรียนไม่เคยแน่นอน หนังสือพิมพ์เคยโวยวายตำหนิรัฐบาล รัฐบาลก็เลยโวยวายผู้พิมพ์ ผู้พิมพ์ก็ไปโวยวายตำหนินโยบายกระทรวง

ตาสียายสาคอยฟัง...


ย่อหน้าที่จงใจเขียนเพื่อแสดงออกถึงภาพสะท้อนกลับไปกลับมาของแต่ละฝ่ายโดยที่ปัญหาต่าง ๆ ไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจังเช่นนี้ปรากฏอยู่เป็นระยะตลอดทั้งเรื่อง ราวกับเป็นถ้อยแถลงของศรีดาวเรืองที่ต้องการสำแดงให้ผู้อ่านร่วมตระหนักในปัญหาที่แท้จริงว่า ปัญหาของไอ้เรื่องเจ้าปัญหาทั้งมวลนั้นมันอยู่ที่ไม่มีใครคิดหาทางแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังต่างหาก ฉะนั้นปัญหาจึงตกหนักอยู่ที่ “ตาสีตาสา” ซึ่งมีหน้าที่อย่างเดียวคือสดับตรับฟัง


ศรีดาวเรืองหยิบยกเอาเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นตอของปัญหาสังคมมากล่าวถึงในเรื่องนี้ โดยเน้นย้ำเรื่องของการศึกษา เธอเปิดประเด็นนี้ไว้เป็นหัวใจหลักของเรื่อง ปัญหาใหญ่คือ โรงเรียนใกล้เปิดเทอม


เด็ก ๆ ลูกชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ ซึ่งล้วนต้องเช่าที่ดินปลูกบ้าน และล้วนมีลูกเล็กเด็กแดงในวัยถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนประถมศึกษา


ตอน 2 เพื่อนบ้าน เริ่มต้นด้วย

พฤษภา..พฤษภาหน้าฝน..เด็ก ๆ ทุกคนต้องไปโรงเรียน


พฤษภา..เดือนแห่งการเตรียมประชากรให้มีคุณภาพ เหล่าดรุณีดรุณาล้วนเริงร่าราวดอกผลผลิสะพรั่งบนกิ่งก้านแห่งความสำเร็จและล้มเหลวที่จะบังเกิดขึ้นต่อไปเมื่อชีวิตของพวกเขาเติบใหญ่


...เรื่องอาหารกลางวันของเด็กยากจนนะคะ ครูประจำชั้นจะเป็นผู้สังเกตดูก่อน นักเรียนคนไหนหน้าตาซีดเซียว ค้นในตัวดูแล้วว่าไม่มีเงินจริง ทางเราจึงจะทำเรื่องไปให้กินมื้อกลางวันฟรี..” ครูพูดในที่ประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันกับผู้ปกครอง


ตอนท้าย “ใครไม่เข้าใจอะไร ถามได้นะคะ”

ผู้ปกครองคนหนึ่งใจกล้า “แล้วข่าวที่ว่าจะแจกหนังสือกับเครื่องแต่งตัวเด็กไม่มีเหรอครับ”

ครูใหญ่สาวใหญ่สีหน้าเปลี่ยน “คุณไปเอาข่าวนี้มาจากไหนคะ”

หนังสือพิมพ์เขาบอกครับ”

อ้าว..งั้นก็ไปเอากับหนังสือพิมพ์ซีคะ ที่นี่ไม่มีหรอกค่ะ คนยากจนตั้งมากมาย รัฐบาลจะคอยช่วยอยู่ได้ยังไงคะ ก่อนอื่นเราต้องพยายามช่วยตัวเราเองก่อนซีคะ”

ปิดการประชุม

นี่เป็นบางส่วนที่ปรากฏขึ้นในนวนิยายเรื่องนี้ ก่อนที่สะเก็ดของปัญหาจะเลือนหายไปกับวันเวลาแห่งการหาเช้ากินค่ำของตัวละคร ศรีดาวเรืองได้สร้างตัวละครอย่าง “สุจริต” สาววัยสามสิบต้น ๆ เติมเข้ามาเพื่อร่วมตั้งข้อสังเกตในปมปัญหานี้ พร้อมกันนั้นสุจริตยังได้ยื่นมือเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ทางการศึกษาของเด็ก ๆ ที่นี่โดยเปิดโรงเรียน “เถื่อน” สอนเด็ก ๆ ไปพร้อมโรงเรียนของรัฐบาล มีศิษย์เอกก้นกุฎิชื่อว่าเด็กชายแก้น ผู้ตอบคำถามยอดฮิตของพวกผู้ใหญ่ว่าโตขึ้นอยากเป็นลูกศิษย์วัด ด้วยเหตุผล “ได้กินขนมซำบายเลย” หรือเด็กผู้หญิงอย่างมด ที่ตอบว่า “ยังไม่รู้เลยน้า..บางทีคงไปเป็นกรรมกร” แต่เมื่ออาชญากรตัวจริงเสียงจริงประจำวรรณกรรมเพื่อชีวิตเดินทางมาถึงชุมนุมริมคลองเปรมประชาแห่งนี้ แก้นก็เฉลยความในใจกับสุจริตว่า “น้า..โตขึ้นหนูว่าหนูเป็นคนขับรถแทร็คเต้อร์ดีกว่า” ใช่แล้ว อาชญากรตัวจริงมีชื่อจริงว่า

ไอ้แทร็คเต้อร์นั่นเอง


เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีในวรรณกรรมเพื่อชีวิตว่าแทร็คเต้อร์รับบทเป็นอะไร และมันมาพร้อมกับหายนะเท่านั้น

มันทำให้บรรดาแม่ผู้หาเช้ากินค่ำย่ำตรอกทั้งหลายของเด็ก ๆ ต้องลางานเพื่อหาบ้านเช่าหลังใหม่


หน้า 86

รถแทร็คเต้อร์ที่เข้ามาก่อความสั่นสะเทือนนั้น สุจริตรุ้ว่ามันมิได้สั่นสะเทือนแต่เพียงแค่ตัวบ้าน หากมันยังเขย่าไปถึงความคุ้นชินและรากเหง้าของผู้คนที่หยั่งลงลึกให้หักโค่นลงมาด้วย


ศรีดาวเรืองไม่ได้สร้างเรื่องให้เป็นเพียงโศกนาฏกรรมที่เราต่างคุ้นเคยจนชินชาในแบบของวรรณกรรมเพื่อชีวิตเท่านั้น แต่เธอได้สร้างบรรยากาศให้เลือนลางเหมือนกับทุกปัญหาที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจทั้งหลายและพร้อมจะจางหายไปจากสังคมการรับรู้ โดยอาศัยเครื่องมือแสนสามัญเข้ามาปรุงแต่งนั่นคือ เพลงและการละเล่นเด็ก ๆ ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนไปกับตัวละครในเรื่อง


เด็กก็คือเด็ก.. พวกเขายังไม่รู้จักความเป็นไปในทางร้ายของชีวิต เอาละ..เติมสระให้ครบก่อนทุกตัวก็แล้วกัน แล้วต่อไปพวกเขาคงสะกดคำว่า “ชีวิต” กันได้เอง

น้าเล่นงูกินหางนะ” เด็ก ๆ เตือนเพราะเห็นสุจริตซึมเซา

ตกลง” เธอตอบเรื่อย ๆ


เกมก็คือเกม.. ถ้ารู้จักวิธี “เล่น” คนเราคงยึดกุมเกมชีวิตได้

แน่ละ.. ตอนนี้เด็ก ๆ ต่างรู้กติกาของ “งูกินหาง” ได้ดีโดยไม่ต้องบอก พวกเขาแบ่งจำนวนออกเป็นสองฝ่าย แต่ละฝ่ายเกาะเอวกันเป็นหาง มีหัวมีหาง มองดูแล้วเหมือนหัวและหางแห่งชะตากรรมที่ยังไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าใครจะตกเป็นเหยื่อ

แน่นอน.. จะต้องมีคนเป็นเหยื่อ


ขณะพวกผู้ใหญ่ต่างปริวิตกอยู่กับเรื่องการไล่ที่ ปัญหาใหญ่ที่รุกล้ำเสรีภาพแห่งชีวิต พวกเด็ก ๆ กลับเริงร่าสนุกสนานตามประสา หยอกล้อกันตามประสา ศรีดาวเรืองจบนวนิยายเรื่องนี้ไว้ที่บทกวีสั้น ๆ บทหนึ่ง


ไทยอะไร

ไทยเด็ก

เด็กอะไร

เด็กบิน

บินอะไร

บินได้

ได้อะไร

ได้..


และเป็นที่น่าสังเกตว่าศรีดาวเรืองเลือกใช้ประโยคสั้น ๆ หรือวลี เหมือนเป็นบทกวีเติมเข้ามาในเรื่องอยู่เนือง ๆ แทนบทบรรยายตามขนบของเรื่องแนวเพื่อชีวิต เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดและอาจเพื่อชุบสีสันใหม่ให้เนื้อหา เป็นสีของอิสรภาพที่ฉันขอเรียกว่า บินของเพื่อชีวิต ยกตัวอย่าง

หน้า 25

-ของกูรองเท้าใหม่โว้ย แม่กูซื้อให้

-ของกูก็มี สวยกว่ามึงด้วย

-ไม่มีทาง แม่มึงเป็นลูกจ้างเขา ไม่มีทางซื้อได้หรอก

-แล้วเป็นลูกจ้างหนักหัวมึงเหรอ...

 

หรือตอนที่ 2 หน้า 27

บนเส้นทางที่สีสันแห่งวัยถูกกำหนด...กฎเกณฑ์

กากี

ขาว

ดำ

แดง

น้ำเงิน

สีอื่น ๆ มีแทรกแซม..แล้วแต่สัญลักษณ์และกำลังเงิน

สีสันทั้งมวลเดินเป็นแถวยืดยาว เป็นกลุ่มเป็นก้อน..กระจัดกระจาย

ตามถนน

บนคันนา

ตามฝั่งคลอง

สีสันแห่งวัยกำลังเริ่มต้น


กระบวนการเขียนเช่นนี้ถือว่าเป็นวิวัฒนาการของวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เติบโตขึ้นพร้อมกับสังคม

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเชยในแบบเดิม ๆ นักเขียนย่อมต้องพลิกแพลงด้วยกลวิธีอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือเป็นความงอกงามขึ้นของวรรณกรรมไทย.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…