Skip to main content
นายยืนยง
 

ชื่อหนังสือ
: ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา
ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ..2528
 
เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
 
เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้ และการตรัสรู้อาจเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตติดอันดับหนึ่ง มาแรงแซงโค้งบรรดาทรัพย์สินเงินทองหรือแม้กระทั่งชื่อเสียง ถ้าเป็นอย่างนั้น ยุคพระศรีอาริย์คงใกล้ถึงอยู่รอมร่อ
 
หากใครปรารถนาจะตรัสรู้ถึงขั้นเข้ากระแสเลือด ฉันขอแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งที่บรรยายถึงแนวทางสู่
การตรัสรู้ เป็นหนังสือเก่าแก่ที่ขาดตลาดไปนานมากแล้ว สมควรที่สำนักพิมพ์จะรื้อฟื้นพิมพ์ซ้ำใหม่อย่างยิ่ง ไม่ใช่ด้วยเหตุผลของกระแสการตลาด แต่เป็นเหตุผลของคุณค่าที่แท้จริงของตัวมันเอง หนังสือเล่มดังกล่าวคือ ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา นั่นเอง ผู้อ่านบางท่านจะคุ้นชื่ออยู่บ้าง
 
ขอนำประวัติผู้เขียนมาเปิดพิธีเสียก่อน
 
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ได้ก่อตั้งชุมชนชาวพุทธผู้ภาวนาขึ้นหลายแห่งในอเมริกาเหนือ ชุมชนที่ใหญ่ที่สุดคือ กรรม ซอง ใน บุลเดอร์ โคโลราโด และการเม โนหลิง ในบาร์เนต เวอร์มอนต์ ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งสถาบันนโรปะ อันเป็นสถานศึกษา ซึ่งนักศึกษาอาจค้นคว้าภูมิปัญญาแบบพุทธควบคู่ไปกับภูมิปัญญาของตะวันตก ท่านยังเป็นกัลยาณมิตรและเป็นครูวิปัสสนาของนักศึกษาจำนวนมาก
 
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ในฐานะที่ท่านถูกนับเนื่องเป็นปางอวตารชาติที่สิบเอ็ดของตรุงปะ ตุลกุ จึงได้รับการอบรมบ่มเพาะอย่างเข้มงวดเพื่อให้สืบทอดเป็นเจ้าอาวาสเซอร์มังในธิเบตตะวันออก กระทั่งได้รับการอภิเษกให้สืบทอดเป็นธรรมทายาทของมิลาเรปะและปัทมสัมภาวะ
 
ตรุงปะต้องอพยพลี้ภัยออกจากแผ่นดินถิ่นเกิดเมื่อครั้งที่จีนคอมมิวนิสต์ได้เข้ายึดครองธิเบตเมื่อปี 1959 หลังจากได้ไปพำนักในอินเดีย 3 ปี ก็เดินทางไปอังกฤษเพื่อศึกษาศาสนาเปรียบเทียบที่อ๊อกซ์ฟอร์ด สี่ปีหลังจากนั้นจึงก่อตั้งศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาแบบธิเบตและภาวนาขึ้นในโลกตะวันตก ถือเป็นแห่งแรก นั่นคือ สัมเย หลิง ในสกอตแลนด์
 
ท่านเขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เป็นอัตชีวประวัติเล่มหนึ่งชื่อว่า Born in Tibet นอกจากนั้นมีงานทางด้านพุทธธรรมหลายเล่ม เช่น มุทรา , Cutting Through Spiritual Materialism ก็คือ ลิงหลอกเจ้าเล่มนี้ ,
Meditation in Action , The Myth of Freedom , Joumey Without Goals , และ Mandala : The Sacred Path of the Warrier.
 
ลิงหลอกเจ้า สภาพน่าสงสารแทบขาดใจของฉันเล่มนี้ ได้มาจากเพื่อนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ตอนที่เขาเก็บข้าวของเพื่อเดินทางไปเรียนต่อปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ หนังสือเล่มนี้ถือเป็นสมบัติ เขาว่าและมันน่าสนใจมาก ๆ ก็แน่ละสิ ในเมื่อเขาคลั่งไคล้มหายานปานนั้น แต่ฉัน ในฐานะผู้รับมรดกอันเก่าแก่และทรงภูมิกลับไม่ได้ปฏิบัติการใด ๆ ให้เกิดมรรคผลอันใดเลย อย่าว่าแต่เปิดประตูสู่แนวทางแห่งมรรคหรือการตรัสรู้เลย เอาแค่อ่านให้จบ ให้รู้เรื่องหมดจด ให้ซึมซ่านในอณูชีวิต ยังไม่อาจเอื้อม อย่างนี้เขาเรียกว่า “เสียของ” ใช่หรือเปล่า (ขอโทษนะ ’จารย์ หนังสือน่ะวิเศษสุด ฉันมันโง่เอง)
 
ลิงหลอกเจ้า เล่มนี้ เป็นหนังสือที่อ่านไม่จบ อะ ๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า มาอีกและ พวกอมปรัชญามาพูด โฮะ ๆ หาใช่ไม่ แต่หมายความตามนั้นจริงทุกประการ คือ อ่านจบไปบทหนึ่งแล้ว พอกลับมาอ่านซ้ำเพื่อหาประโยคเด็ด ๆ กลับรู้สึกฉงนฉงาย เอ๊ะ นี่เราอ่านจบบทนี้แล้วเหรอ? ทำไมเหมือนยังไม่ได้อ่านเลย
เป็นที่ งง มาก พอลองกลับไปอ่านอื่นที่อ่านจบไปแล้ว หรือแม้กระทั่งคำนำ ก็ปรากฏรูปการณ์เดิม ???
 
เมื่อเป็นเช่นนั้น ฉันไม่ควรจะบรรยายใด ๆ เลยแม้สักประโยคเดียวใช่ไหม แต่ก็หักห้ามใจไม่ได้ ในเมื่อปรารถนาให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้ลิ้มลองอ่าน ลิงหลอกเจ้า ดูสักที อย่างน้อยก็เพื่อเปรียบเทียบหนังสือธรรมะในตลาดทุกวันนี้กับเมื่อหลายปีก่อน แตกต่างกันอย่างไรบ้าง แล้ววัตถุนิยมทางศาสนาคืออะไร ทำไมจึงต้องลอกคราบกันด้วย ท่านผู้อ่านจะได้อ่านกันเปรมเลยทีเดียวเชียว รับประกันได้
 
ขึ้นชื่อว่านักบวชสายธิเบตแล้ว เราย่อมเข้าใจตรงกันว่าเป็นพุทธมหายาน
ท่านว่า มหายาน คือ ยานอันกว้างใหญ่ เป็นมโนคติที่เห็นว่า ชีวิตนั้นร่ำรวยมาแต่กำเนิด ยิ่งกว่าจะเห็นชีวิตเป็นการดิ้นรนสู่ความรุ่มรวย หากขาดความมั่นใจดังกล่าวนี้แล้ว การทำสมาธิภาวนาจะให้ผลในทางปฏิบัติไม่ได้เลย
 
มันช่างตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับทัศนคติของฉัน นี่หรือเปล่าหนอที่ทำให้ฉันอ่านลิงหลอกเจ้าแบบเสียของไปเปล่า อีกข้อหนึ่งที่ทำเอากล้า ๆ กลัว ๆ ไปด้วยคือคำบอกกล่าวที่มีลักษณะกล่าวเตือนของท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
 
มีคำกล่าวกันอยู่ว่า “ไม่เริ่มต้นเสียจะดีกว่า หากเริ่มต้นแล้วรีบทำให้เสร็จดีกว่า” ดังนั้นคุณไม่ควรก้าวเข้าสู่มรรควิถีทางศาสนธรรม นอกเสียจากว่าคุณจะต้องก้าว ครั้นเมื่อคุณก้าวหน้าสู่มรรคานั้นแล้ว เมื่อคุณได้กระทำเช่นนั้นจริง ๆ แล้ว คุณถอยกลับไม่ได้ หนทางหนีนั้นไม่มีดอก”
 
ฉะนั้น ฉันจึงตัดสินใจได้ทันทีว่า อย่าอาจหาญก้าวสู่มรรควิถีแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเผลอเดินนวยนาดไปปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมตามกระแสสังคม แต่นี่ย่อมไม่ใช่บทสรุป
 
ครั้นแล้วมาดูเนื้อหากันหน่อยเป็นไร
 
โดยเนื้อหาที่ฉันเกริ่นไว้ว่าเป็นตำราแห่งการตรัสรู้นั้น ประกอบไปด้วยบทบรรยายที่ชัดถ้อยชัดคำ ขณะเดียวกันก็อุดมด้วยความยอกย้อนอยู่ในความชัดเจนนั้น คล้ายกับคำสอนอย่างเซนในบางประการ ท้ายบทบรรยายจะมีคำถามของนักศึกษา และคำตอบของตรุงปะ เป็นการอธิบายเพิ่มและคลี่คลายความขัดข้องใจไปในตัว ใครเคยอ่านหนังสือของกฤษณะมูรติย่อมคุ้นเคยรูปแบบเช่นนี้อยู่บ้าง
 
บทบรรยายเหล่านั้นประกอบด้วย บทวัตถุนิยมทางศาสนา การยอมจำนน คุรุ อภิเษก การหลอกตัวเอง อารมณ์ขัน เรื่อยมาจนถึงบทที่ฉันตื้นตันเป็นพิเศษ แม้จะไม่ค่อยเข้าใจแต่ก็ตื้นตันได้ไม่ใช่หรือ นั่นคือ
บทพัฒนาการแห่งอัตตา
 
อัตตา ก็คือ ผู้เฝ้าดูตัวเรา
ฉันเพิ่งตระหนักได้ว่า แท้จริงแล้ว คนที่เรารักมากที่สุดหาใช่ใครที่ไหนไม่ แต่เป็นเจ้าอัตตาที่เฝ้าดูตัวเราอยู่ทุกเวลานานทีนั่นเอง
อย่างในหน้า 157 ที่บรรยายเกี่ยวกับ อัตตา ว่า
โดยทั่วไปลัทธิศาสนาทั้งหลายจะต้องเอ่ยถึงสาระข้อนี้ โดยเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป อาลัยวิญญาณบ้างบาปดั้งเดิมบ้าง ความวิบัติของมนุษย์บ้าง พื้นฐานอัตตาบ้าง ส่วนมากมักเอ่ยถึงไว้อย่างเสียหาย
แต่ข้าพเจ้าหาได้คิดว่า มันจะน่าตระหนกหรือน่าหวาดหวั่นถึงเพียงนั้นไม่ เราไม่ต้องละลายในสิ่งที่เราเป็น ในฐานะที่มีชีวิตจิตใจ เราล้วนมีพื้นเพที่วิเศษยิ่งอยู่แล้ว พื้นเพนี้ไม่จำเป็นต้องสะอาด สว่างหรือสงบทีเดียวนัก กระนั้นก็ดี เราล้วนมีผืนดินอันอุดมพอจะหว่านเพาะได้ จะปลูกอะไรก็ได้ในนั้น ฉะนั้นในประเด็นนี้ เราจึงไม่ได้ประณามหรือพยายามกำจัดอัตตาของเรา เราเพียงแต่รับรู้มัน โดยแลเห็นมันอย่างที่มันเป็น ฯลฯ
 
จากย่อหน้าเกี่ยวกับอัตตานี้ ท่านได้บรรยายให้ประจักษ์ชัดว่า อัตตามีพัฒนาการอย่างไร ซึ่งเป็นการประชุมกันของเหตุปัจจัยต่าง ๆ คติพุทธเรียกว่า ขันธ์ห้า และได้อุปมาอุปไมยพัฒนาการนี้ประหนึ่ง ลิงแสนลุกลนตัวหนึ่ง ที่ถูกขังอยู่ในเรือนร้าง มีหน้าต่างห้าบาน ซึ่งในแทนอายตนะทั้งห้า ไม่แน่ว่าชื่อหนังสืออาจจะมาจาก เจ้าลิงตัวนี้ก็ได้ อันนี้เดาเอาเองนะ แต่ที่แน่นอนที่สุด เจ้าลิงลุกลนตัวนั้นก็คือตัวเรานั่นเอง ลองอ่านดูเล็กน้อยนะ
 
เจ้าลิงที่แสนลุกลนตัวนี้ มักคอยโผล่หัวออกนอกหน้าต่างแต่ละบาน กระโดดขึ้น กระโดดลง อย่างไม่ยอมพัก ลิงตัวนี้ถูกกักไว้ในเรือนร้าง เป็นเรือนที่มีรูปทรง ยิ่งกว่าจะเป็นป่าดงดิบที่ลิงจะกระโดดโหนห้อยได้ หรือแทนที่จะเป็นต้นไม้ใหญ่ที่มันจะได้ยินเสียดสี สิ่งทั้งหลายเหล่านี้กลับมีรูปทรงขึ้นมา ป่าดงดิบกลายเป็นเรือนที่มีรูปทรงของเจ้าลิงตัวนี้กลับกลายเป็นที่คุมขังของมัน แทนที่มันจะโหนห้อยอยู่ตามต้นไม้ มันกลับถูกโลกที่มีรูปทรงสร้างกำแพงล้อมเอาไว้ ดั่งว่าน้ำตกที่เคยไหลหล่น แลดูงดงามตระการตา กลับแข็งตัวไปเสีย เรือนที่แข็งตัวนี้ประกอบด้วย สีสันและพลังงานที่แข็งตัว หยุดนิ่งอย่างสิ้นเชิง นี่ดูเหมือนจะเป็นจุดที่กาลเวลาเริ่มปรากฏเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน อาการไหลรี่ของสรรพสิ่ง กลายเป็นกาลเวลาที่มีรูปทรงจับต้องได้ เป็นการคิดค้นให้กาลเวลาเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา
 
ถึงแม้ฉันจะยังเป็นงงอยู่ และลิงหลอกเจ้าก็ยังเฝ้าหลอกหลอนความมืดทึบในสติปัญญาของฉันอยู่ร่ำไป แต่หลายสูตรหรือบทบรรยายที่พอจะจับความได้นั้น สามารถเชื่อมโยงกับหลักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะกฎฟิสิกส์สมัยใหม่อยู่มากทีเดียว มีหนังสือที่กล่าวถึงเรื่องของ “เวลา” อยู่หลายเล่ม อย่าง จักรวาลในเปลือกนัท ผลงานของสตีเฟ่น ฮอว์คิง ที่ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล แปลไว้ ท่านผู้อ่านที่ไม่ติดโรคงงอย่างฉัน น่าหามาอ่านควบคู่ไปกับลิงหลอกเจ้าเล่มนี้เป็นอย่างยิ่ง.
 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…