Skip to main content

นายยืนยง

 

ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก

ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์

ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 ..2549

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน

 

หนังสือที่มีเนื้อหาว่าด้วยการค้นพบสิ่งใหม่ทั้งหลายล้วนอ้างถึงข้อมูล ลับบ้างไม่ลับบ้าง คละเคล้ากันไป ในฐานะของผู้อ่าน เราจะรู้ได้อย่างไรว่า บรรดาข้อมูลเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร ขณะที่เรายังคงว่ายเวียนอยู่ในทะเลแห่งข่าวสารข้อเท็จจริง ข้อมูลชนิดใดกันเล่าที่จะใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเราไว้ได้มั่นคง

 

ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง แม้จะเป็นคนละคำ แต่นัยความหมายที่ถูกนำมาใช้มักจะพ้องกันอยู่กลาย ๆ ด้วย และเราทั้งหลายในยุคที่ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องที่ง่ายสะดวกต่อการเข้าถึงกว่าในยุคก่อนนี้หลายเท่าตัว แต่เรากลับไม่ได้ให้ความเชื่อถือข้อมูลเหล่านั้นในเชิงข้อเท็จจริงอย่างจริงจังมากนัก นอกเสียจากข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำมาใช้ในการอ้างอิงหรือแอบอ้างเพื่อให้ทัศนคติของเราดูเป็นจริงเป็นจัง น่าเชื่อถือมากขึ้น

 

ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ถูกป้อนเข้าสู่คลังความจำของเราในยุคนี้ มักไม่ได้มาเพียงลำพัง หากแต่มันจะพ่วงเอาแนวคิด หนีบเอาทัศนคติมาพร้อมกันด้วย ถ้อยคำใหม่ ๆ วิธีคิดแบบใหม่ ๆ ก็ถูกลำเลียงมาตามสายพานข้อมูลเหล่านั้นพร้อม ๆ กัน ราวกับโลกแห่งการรับรู้ของเราเป็นดั่งสนามประลองทางทัศนคติ ในที่สุดความเรียบเฉยของข้อมูลก็พลิกโฉมหน้าเป็นสงครามแห่งมายาคติไปในที่สุด

 

เช่นเดียวกันหนังสือที่ได้รวบรวมเอาบทความเชิงวิชาการของท่านนักคิด นักเขียน ผู้ขึ้นชื่อในทางสำนักคิดทางจิตวิญญาณ บางท่านได้รับสมญาว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณในกลุ่มผู้ให้ความเคารพนับถือ เล่มนี้

จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก

 

ในบรรดาผู้อ่านหรือผู้รับสารทั้งหลาย รวมทั้งฉันด้วย คงมีไม่น้อยที่เกิดข้อกังขาเมื่อได้รับรู้ถึงการกล่าวอ้างข้อมูลอันน่าเชื่อถือขึ้นมาสักข้อหนึ่งหรือหลายข้อระหว่างการอ่าน “ความคิด” ของบทความใด ๆ ในฐานะผู้อ่านอย่างเรา ๆ นั้น ไม่ค่อยได้มีโอกาสโต้แย้งเท่าไรนัก ราวกับผู้อ่านอย่างเรา ๆ นั้น ไม่เคยมีลิขสิทธิ์คุ้มครองความสงสัยในความน่าเชื่อถือเหล่านั้น คงไม่มีสถาบันใดหรอกที่จะรณรงค์คุ้มครองลิขสิทธิ์ผู้อ่าน ให้ห่างไกลจากข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนเหล่านั้น

 

หรือในยุคของเรา ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง มีค่าเท่ากับข่าวลือ มีน้ำเสียงแบบกึ่งจริงกึ่งฝัน ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อไปเสียแล้ว

 

มาดูกันว่า จักรวาลผลัดใบเล่มนี้ ใช้ข้อมูลเพื่อนำเราไปสู่อะไร จะเป็นการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ หรือเพื่อ

ประสานโลกใหม่ด้วยความเข้าใจ ก้าวสู่โลกใหม่ด้วยความเข้าถึง” อย่างที่ได้โปรยไว้บนปกหนังสือหรือไม่

 

เล่มนี้ประกอบด้วยบทความจากนักคิดนักเขียนหลายท่าน ดูที่รายการชื่อบทความที่เปี่ยมไปด้วยแรงดึงดูดเหล่านี้ก็ได้

 

กลับมาสู่คุณค่าแท้แห่งชีวิต

หน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์

ดุลยภาพแห่งการเรียนรู้

พ้นวิกฤตด้วยจิตวิวัฒน์

จิตวิวัฒน์กับการดับไฟใต้

ฯลฯ

 

ฉันขออนุญาตยกบางส่วนของบทความมาให้อ่านกันตรงนี้

จากบทความชื่อ หนึ่งนาทีก่อนเที่ยงคืน ของ พระไพศาล วิสาโล

 

ความรุนแรงทั้งมวลของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในช่วง 8,000 ปีที่ผ่านมานี้เอง

มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกไม่น้อยกว่า 2 ล้านปีมาแล้ว แต่มีเพียง 10,000 ปีสุดท้ายเท่านั้นที่พบหลักฐานการทำสงครามหรือการสู้รบกันเป็นกลุ่มและอย่างเป็นระบบ และเมื่อศึกษาให้ละเอียดจะพบว่า การสู้รบอย่างนองเลือดจนล้มตายกันเป็นเบือนั้นกระจุกตัวอยู่ในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา

ข้อมูลเชิงสถิติที่ได้จากบางส่วนของบทความข้างต้น ได้กลายเป็นเส้นแบ่งเพื่อจำแนกความรุนแรงระหว่างมนุษย์ด้วยกันเป็นยุคสมัย ทั้งนี้ได้สัมพันธ์กับความเป็นเหตุเป็นผลระหว่าง พื้นที่กับปริมาณ คือ พื้นที่อันเป็นแหล่งทรัพยากร กับปริมาณมนุษย์ที่ต้องการทรัพยากร ทำให้คิดไปว่า บ่อเกิดของการฆ่ากันเองของมนุษย์ค่อย ๆ พัฒนาการจาก การฆ่าโดยสัญชาตญาณเพื่อป้องกันตัวจากภัยร้ายต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอด รักษาเผ่าพันธุ์ของตน เช่นเดียวกับสัตว์โลกสายพันธุ์อื่น พัฒนามาเป็นการฆ่าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเผ่าพันธุ์ตนเองในอนาคต เพื่อลูกหลาน หรือจะกล่าวว่า ฆ่าเพื่อปัจจุบัน พัฒนามาเป็น ฆ่าเพื่ออนาคต อันนี้กล่าวอย่างหยาบ ๆ เท่านั้นนะ อย่าจริงจัง

 

หรืออีกบทความหนึ่ง ที่แม้แต่ฉันเองก็เคยนำไปกล่าวอ้างเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้บทความของตัวเองมาแล้วในบทความ “มหากาพย์ข้ามกาลเวลาของคนสมัครใจว่างงาน” ทั้งนี้เป็นเพียงการตั้งสมมุติฐานเท่านั้น หาใช่เป็นการประกาศสัจจะแต่อย่างใด

 

มิชิโอะ กากุ นักวิทยาศาสตร์ควอนตัมฟิสิกส์ได้พิสูจน์ว่าจักรวาลมีมากมาย (multiverse) จักรวาลถัดไปอยู่ห่างเพียง 1 มิลลิเมตรจากผิว (brane) แต่รับรู้ไม่ได้ เพราะมันอยู่เหนือมิติ(โลกสี่มิติ) ของเรา เท่าที่พิสูจน์ได้มี 11 มิติ สภาวะนิพพาน (nirvana) ที่มีความถี่ละเอียดอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับโลกสี่มิติของเรา

 

แล้วผู้อ่านอย่างเราหรืออย่างฉันคนเดียวก็ได้ จะไปมีโอกาสรู้ได้อย่างไรว่า มิชิโอะ กากุ เป็นผู้พิสูจน์ได้ว่าจักรวาลมีหลายมิติ เราจะล่วงรู้ได้อย่างไรว่า ข้อพิสูจน์นั้นจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์

 

ที่ว่ามานี้ ไม่ใช่ฉันเป็นคนประเภทไม่ศรัทธาในชีวิต ไม่เชื่อมั่นในจิตวิญญาณของมนุษย์ หากแต่มันเป็นเพียงข้อสงสัยบางอย่างที่คอยรบกวนอยู่เรื่อยในเวลาที่อ่านบทความเชิงเทศนาทั้งหลาย ฉันอาจสงสัยในสิ่งที่ไม่ควรสงสัยก็เป็นได้ (แต่มันก็สงสัยอยู่ดี)

 

อย่างไรก็ตาม มีคนเคยบอกฉันด้วยท่าทีอย่างหวังดีว่า การจะอ่านหนังสืออะไรก็ตามแต่ ควรดูที่จุดมุ่งหมายของผู้เขียน หาใช่คอยจับผิดในเรื่องเล็กน้อย เพราะฉะนั้น เราควรมาดูกันจะดีกว่าไหมว่าจักรวาลผลัดใบ เล่มนี้ กลุ่มจิตวิวัฒน์ ได้พยายามสื่อถึงอะไร

 

ไม่ยากเลย ก็อย่างเขาได้โปรยไว้แล้ว “ประสานโลกใหม่ด้วยความเข้าใจ ก้าวสู่โลกใหม่ด้วยความเข้าถึง” นั่นแหละ

 

โดยได้กล่าวถึงวิถีทางอันจะนำพาเราไปสู่ชีวิตอย่างใหม่ พาเราวิวัฒน์ไปจากมนุษย์ที่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องจิตวิญญาณ พอมายุคหนึ่งก็ละทิ้งมัน แล้วหันไปบูชาศาสตร์ใหม่อย่างวิทยาศาสตร์ และมาถึงปัจจุบันก็หวนกลับมาสู่สภาพดั้งเดิมคือให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณ ต่างแต่ไม่ใช่อย่างลุ่มหลงงมงาย หากแต่มีหลักการ มีหลักฐานและพิสูจน์ได้เช่นเดียวกับสมมุติฐานทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นที่ในหนังสือได้สรุปไว้ว่า

 

น่าสนใจคือ จักรวาลวิทยาใหม่กลับมีความสอดคล้องกับจักรวาลวิทยาดึกดำบรรพ์กับตำนานปรัมปราที่อยู่คู่กันมากับความหมาย (Myth) ที่บรรพบุรุษเราเคยเชื่อมั่นและพยายามแสวงหามานับพันปีก่อนจะมีวิทยาศาสตร์

 

แล้ววิถีทางใดกันเล่าที่จะนำพาเราให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างเข้าใจและเข้าถึงได้ ฉันขอฝากให้ไปหามาอ่านกันดีกว่า งานนี้ บางคนถึงกับบอกว่า เรื่องนี้มันผูกพันกับความเชื่อส่วนบุคคล (คล้ายกับโปรยหน้าจอทีวีตอนมีรายการเชิงเหนือจริงเลยทีเดียว) ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความรับรู้เฉพาะตัว แต่เหนืออื่นใด จักรวาลผลัดใบ ก็ได้นำเสนอวิถีทางที่สงบร่มเย็น หาใช่วิถีแห่งการทำลายล้างกันเอง เนื่องจากได้ยึดเอาหลักพุทธธรรม ปัญญากับกรุณา เป็นที่ตั้ง และเป็นไปด้วยท่าทีอย่างเป็นมิตรมากกว่าเป็นปฏิปักษ์กับผู้อ่าน

 

และโปรดอย่าลืมไปล่ะว่า “ทุกความคิดเป็นเพียงสมมุติฐาน ไม่ใช่สัจจะ” (ประโยคนี้ได้มาจากหนังสือ)

และทุกวันนี้ ข้อเท็จจริง ข้อมูล บรรดามีทั้งหลาย ก็เป็นส่วนหนึ่งของความลึกลับไปเสียแล้ว สัจจะที่เราต่างแสวงหากันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ อาจมีหรือไม่มีอยู่ เราเองก็ไม่อาจรู้ได้ แต่มันก็มีเสน่ห์เสียยิ่งกว่าชีวิตจริงที่เราต่างย่ำวนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้เสียอีก หรือไม่ก็เราต่างโหยหาสัจจะเสียยิ่งกว่าจะเดินหน้าแสวงหาสัจจะเสียอีกก็เป็นได้ โอ้..สัจจะ ที่รัก.

 

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…