Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้
ประเภท : เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งคุ้นเคยกันดีในนามวรรณกรรมแนวสังคมเพื่อชีวิต
        
คลื่นทะเลใต้ เป็นหนังสือรวม ๑๒ เรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้ โดยทุกเรื่องที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มนี้ต่างก็มีดีกรีรางวัลรองรับทั้งสิ้น และมีถึง ๒ นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และไพฑูรย์ ธัญญา  ขณะที่คำจำกัดความของ “นักเขียนใต้” ดังกล่าว ได้บอกเราว่านักเขียนทุกคนที่มีผลงานอยู่ในเล่ม คลื่นทะเลใต้ นี้ เป็นคนใต้โดยถิ่นกำเนิด แต่หากเราจะพิจารณาโดยตัดเอา “ความเป็นใต้” ในความหมายนั้นออกไป และมองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น (แม้จะขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำหรือบทความของ พิเชฐ แสงทอง ที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้ เหล่านี้ออกไปเสีย )แล้วพิจารณาว่า คลื่นทะเลใต้ เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นชั้นเลิศของยอดฝีมือเพื่อเป็นเกียรติยศแก่นักเขียนและผู้อ่าน จัดพิมพ์เพื่อเป็นกรณีให้ศึกษาด้านวรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ สามารถอ้างอิงได้นั้น เป็นเรื่องน่ายกย่องยินดียิ่ง ทั้งนี้ นอกเหนือจากความเป็นภาคพื้นถิ่นจำเพาะทั้งจากนักเขียน บรรยากาศ ทัศนคติ เหล่านั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่เนื้อหาอันเป็นสากล ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวเพื่อชีวิตดังที่เราคุ้นเคยทั้งสิ้น หากจะวกวนอยู่กับข้อจำกัดของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้น ออกจะเป็นการน่าเบื่อสักหน่อย เนื่องจากเราต่างก็รู้กันว่าวรรณกรรมแนวนี้มีข้อด้อยข้อเด่นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงบางเรื่องที่น่าสนใจโดยพึ่งวิสัยอันเจ้ากี้เจ้าการของข้าพเจ้าสักนิด และหากบทความจะยาวเกินเวลาไปบ้าง จึงขออนุญาตแบ่งเป็น ๒ ตอน

๑. กรรมวิธีการปรุงสุนทรียภาพของนักเขียน
วรรณกรรมเป็นกิจกรรมสังคมอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุบังเอิญอยู่เช่น สมุดบันทึกประจำวันซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเอาไปพิมพ์เผยแพร่ แต่วรรณกรรมโดยทั่วไปนั้นตั้งใจเขียนให้คนอ่าน แม้แต่เสียงของกวีที่รำพึงกับตัวเอง ก็หมายให้คนอื่นได้ยินด้วย ดังนั้นวรรณกรรมทุกเรื่องจึงเขียนขึ้นสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่งใด ๆ

เราจะแสร้งละเลยเรื่องจำพวก วรรณกรรม “พูดเพื่อ” หรือ “พูดกับ” คนกลุ่มใด เพื่ออะไร เพราะแน่นอนว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้นมักจะพูดเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชนชั้นที่ถูกกล่าวถึง แต่เราจะมาตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ทำไมเรื่องสั้นวรรณกรรมแต่ละเรื่อง จึงต้องมี “บางอย่าง” เช่น สัญลักษณ์  บรรยากาศ ตัวละครบางตัว หรือบทสนทนาบางคำ ที่บางครั้งก็อาจจะ “ดูเหมือน” ไม่จำเป็นต่อเอกภาพของเรื่องเลย

ขอยกเอาเรื่องสั้น สะพานขาด ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๒ ของนักเขียนผู้ล่วงลับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มากล่าวถึงเป็นลำดับแรกในเล่ม คลื่นทะเลใต้

สะพานขาด พูดถึงสมรภูมิความขัดแย้งที่แทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบของสังคม เป็นเรื่องของชายสองพี่น้อง ที่คนพี่เติบโตเป็นทหารของรัฐ ส่วนคนน้องเป็นทหารของรัฐฝ่ายตรงข้าม เรื่องถูกเล่าผ่านกระแสสำนึกของพี่ชายขณะออกสู่สมรภูมิ โดยแต่ละเรื่องย่อยที่เกี่ยวร้อยเข้ากับแกนของเรื่องต่างถูกกระตุ้นจากกลิ่น เสียง บรรยากาศรอบข้างของจังหวัดชายแดนใต้

วิธีการของกนกพงศ์คือการเลือกหยิบเอาบรรยากาศและเงื่อนไขอื่นที่ลดหลั่นกันเข้ามาเชื่อมต่อ จัดเรียงเข้ากับวิธีการนำเสนอแบบจี้จุดไปที่ความขัดแย้งของ ๒ ขั้วตรงข้ามตลอดทั้งเรื่อง โดยเน้นสัญลักษณ์คือ สะพาน เพื่อเชื่อมโยง ๒ ขั้วต่างเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในเรื่องสะพานขาดนั้นกลับไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อ หากแต่ทำหน้าที่ตัดสายสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ขั้ว  ทั้งนี้ตลอดเรื่องกนกพงศ์พยายามใช้อุปมาโวหาร เปรียบเทียบอะไรก็ตามให้มองเห็นเป็น ๒ ขั้วจัดเจนมาก เพื่อสนองต่อนโยบายของความเป็นเอกภาพของเรื่อง ดังหน้า ๑๓๖

เราอยู่ในหมู่บ้านอันสงบ มีทุ่งนากว้างไกลจรดขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกสำหรับพระอาทิตย์ขึ้น และจรดเทือกเขายาวเหยียดด้านทิศตะวันตกสำหรับพระอาทิตย์ลง

นั่นก็ชัดเจน หรือการเปรียบเทียบกับเกมตำรวจจับผู้ร้าย นอกจากนี้ยังเลือกหยิบความทรงจำในวัยเด็กมาเล่าเพื่อเพิ่มแรงสะเทือนใจ เลือกการใช้กระแสสำนึกของคนเล่า (สรรพนามบุรุษที่ ๑ ) ทำให้เกิดสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันนิด ๆ อีกด้วย             

บรรยากาศของเรื่องมีรายละเอียดย่อยที่ลดหลั่นกันอีกมาก จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกับจุดขัดแย้งในเรื่องที่ล้นเหลือ แม้กระทั่งผู้เขียนเองยังสารภาพออกมาตรง ๆ ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความขัดแย้ง  (จากหน้า ๑๔๐ )

องค์ประกอบย่อยเหล่านี้ดูหลากหลายและขัดแย้งกันจนพรุนไปหมด แต่หากขาดการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว อาจดูเรื่องสั้นที่หละหลวมและล่มไม่เป็นท่า แต่กนกพงศ์สามารถคิดสร้างอย่างละเอียดลออและเข้มข้นยิ่ง

สำหรับเรื่องสะพานขาดนี้เมื่อกนกพงศ์ปรุงและย่อยองค์ประกอบต่าง ๆ จนเสร็จสรรพแล้วป้อนเข้าปากผู้อ่านนั้น ผู้อ่านจึงแทบไม่ต้องเคี้ยวอีกเลย ก็เหมือนกับผู้อ่านเป็นผู้รับเสพแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่กนกพงศ์ได้ให้ความคาดหวังว่ารสสัมผัสจะยังติดตรึงอยู่กับผู้อ่านไปอีกนาน เพราะเขาไม่ได้ทำการพิพากษาเหตุการณ์ในเรื่องมากนักเพียงแต่ยกเอาเฉพาะเหตุการณ์มาให้ผู้อ่านทำหน้าที่พิพากษาเอง

เทียบเคียงกับเรื่อง โลกใบเล็กของซัลมาน  เรื่องสั้นรางวัลช่อการะเกด ๒๕๓๓  เป็นเรื่องสั้นที่เล่าอย่างนุ่มนวลมากขึ้นกว่า สะพานขาด โดยต้องยอมรับว่ากนกพงศ์ไม่ใช่นักเขียนที่จะมองผ่านแบบปราดเดียวแล้วสามารถมองเห็นวิธีคิดของเขาได้ปรุโปร่ง เนื่องจากเขารู้จักสิ่งผิดปกติของเรื่องสั้น สามารถจับคู่ขั้วความขัดแย้งได้อยู่มือ ทั้งเขายังตระหนักได้ถึงคำว่า ฉลาด ล้ำ การจงใจ เหตุผล ยัดเยียด  รุงรัง โง่ เขลา หรือการเสแสร้ง แกล้งโง่ อารมณ์ขัน ฝัน จริง ฯลฯ ทั้งมวลนี้ล้วนเป็นวิทยาการของการเขียนเรื่องสั้นของกนกพงศ์ทั้งสิ้น  เขารู้จักตัวเองและผลงานของตัวเองดีกว่านักเขียนหลายคน นั่นจึงทำให้เขารู้ว่าควรทำอย่างไร เพื่ออะไร และนั่นคือกนกพงศ์ นักเขียนผู้ล่วงลับ ผู้เคยกล่าวว่าสำหรับเขาวรรณกรรมเป็นศาสนา  ด้วยความนับถือยิ่ง

กับนักเขียนรางวัลซีไรต์อีกคน ไพฑูรย์ ธัญญา จากเรื่อง ปลาตะเพียน วรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ปี ๒๕๓๔ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  

ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนอีกคนที่รู้จักข้อดี ข้อเด่นของผลงานตัวเองและคนอื่น  เขารู้ว่าเรื่องสั้นจะแข้งกร้าว กระด้างไปอย่างไร และควรลด-เพิ่มอะไร ตรงไหน

ปลาตะเพียน เป็นเรื่องสั้นที่แบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายขนบเก่าดั้งเดิมและฝ่ายโลกสมัยใหม่เน้นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธของเก่าอย่างไสยศาสตร์อย่างไร้เหตุผล ซึ่งโดยวิธีคิดแบบนี้ก็ขัดแย้งกับตัววิธีแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์เองด้วย  ทั้ง ๒ ขั้วขัดแย้งนี้ยังอิงกับสัญลักษณ์จากตัวละคร คือยายช้อยและน้องสาว ซึ่งก็คือ ๒ ขั้วตรงข้ามกัน    

เนื้อหาของเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิด ๒ ขั้วที่สุดท้ายกลับสมานกันได้ด้วยสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยความจำยอม และผ่อนปรนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเรื่องใช้ ปลาตะเพียน สัญลักษณ์แทนความทรงจำอันอบอุ่น ความรัก เข้ามาเป็นสื่อกลาง เป็นทั้งตัวแทนปัญหาและตัวคลายปัญหา

ลักษณะแบบมนุษยนิยมในเรื่องสั้นนี้ เน้นให้เห็นถึงพัฒนาการของทัศนะคติของตัวละครไปสู่จุดคลี่คลายในตอนจบของเรื่อง ซึ่งวิธีการของไพฑูรย์นี้เองที่ได้เปิดประตูวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตไปสู่โลกใหม่กับเนื้อหาเชิงศีลธรรมที่ว่า การยอมรับในความเป็นอื่น ไม่ใช่การหักล้างซึ่งกันและกัน จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยความต่างก็ยังคงดำรงอยู่  

ขณะที่เรื่อง แข่งหนังตะลุง ของ ภิญโญ ศรีจำลอง ที่แบ่งเป็น ๒ ขั้วขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างเหตุการณ์และบรรยากาศของเรื่อง โดยแข่งหนังตะลุงเป็นเรื่องของนายหนังสองคณะที่แสดงประชันกัน และนายหนังของสองคณะก็ต่างกันตรงที่คนแรกเป็นตัวแทนของนายหนังรุ่นเก่า ใจนักเลง มากเมีย และดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ตรงข้ามกันนายหนังหนุ่มรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ยอมรับในความเป็นอื่นของกัน เช่นเดียวกับเรื่องปลาตะเพียน

กับเรื่อง คือชีวิต...และเลือดเนื้อ ของไพฑูรย์ เรื่องสั้นชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นโครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖

ที่พูดถึงการยอมรับในความเป็นอื่น แต่เรื่องนี้เน้นการสร้างบรรยากาศให้เข้ามามีอิทธิพลเหนือแนวคิดแบบเพื่อชีวิต และไม่แบ่งขั้วขัดแย้งชัดเจน แต่สร้างให้คู่ปฏิปักษ์ต่างตกอยู่ในสภาวะดุจเดียวกัน

เรื่องเล่าถึงแม่ผู้ท้องแก่กับลูกสาวตัวน้อยที่ต้องเผชิญชะตาลำพังในหนทางที่อัตคัดแสนเข็ญ เนื่องจากพ่อ,สามีทิ้งนางไปตั้งแต่เริ่มตั้งท้องใหม่ ๆ  หากจะนับว่าเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมก็ถูกต้อง แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่มีความอิ่มเอมใจอันงดงาม เพราะจุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่ มีนางหมาแก่ขี้เรื้อนเข้ามาขโมยไข่ไก่ที่นางเลี้ยงไว้เก็บไข่ให้ลูกสาวตัวน้อยกิน เรื่องดำเนินไปถึงจุดคลี่คลายที่สองฝ่ายต่างเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครคือ แม่ผู้ท้องแก่นั้น เปลี่ยนจากความเกลียดชังคั่งแค้นหมายเอาชีวิตหมาแม่ลูกอ่อนมาเป็นการให้อภัยและนางก็พบสุขใจด้วย ดังในตอนจบของเรื่อง  หน้า ๘๔

นางหันไปสบตากับลูกน้อย ยิ้มอย่างมีความสุข รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.

แม้จะฟังดูห้วนและง่ายเกินไป แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็จะได้เห็นแววของความสุขและรอยยิ้มเป็นครั้งแรกของเรื่อง

ในรวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เล่มนี้ แม้นจะรู้สึกได้ในแวบแรกว่าเป็นเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ทุกเรื่องล้วนมีประตูบานหนึ่งที่จะผลักห้องของแนวเพื่อชีวิตออกไปสู่โลกภายนอก โลกเบื้องหน้าของประตูบานนี้จะแปลกตาเท่าที่เราคาดหวังหรือไม่ หากมีจังหวะเหมาะ ๆ ก็น่าจะหามาอ่าน

แต่อย่าลืมว่า- -ยังมีเรื่องสั้นของนักเขียนยอดฝีมืออีกหลายคนที่จะนำมาบอกเล่าให้เห็น... ในตอนที่ ๒

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…