Skip to main content

นายยืนยง

20080310 ภาพปก ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป

ชื่อหนังสือ      :    ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป
ประเภท    :    เรื่องสั้น    
ผู้เขียน    :    จำลอง  ฝั่งชลจิตร
จัดพิมพ์โดย    :    แพรวสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งแรก    :    มีนาคม  ๒๕๔๘    

 

รวมเรื่องสั้น เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ๑๕ เรื่องสั้น ผลงานล่าสุดของ จำลอง  ฝั่งชลจิตร ที่กำลังวางแผง อ่านแล้วต้องยอมรับในกลวิธีการเล่าเรื่องของเขา ที่ก้าวนำนักเขียนแนวเพื่อชีวิตไปหลายขุม ขณะรวมเรื่องสั้น ลิกอร์  พวกเขาเปลี่ยนไป ผลงานเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ๒๕๔๘  ก็ยังมีข้อสังเกตควรกล่าวถึงต่อกลวิธีการเล่าเรื่องของจำลอง ถึงเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุดิบรอบตัวอันนำมาซึ่งการปรุงแต่งรสเรื่องสั้นให้ชวนอ่าน

เคยกล่าวถึงวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตมาพอสมควรแล้ว หากจะชื่นชมนักเขียนคนใดกว่าใคร หาใช่เพราะรู้จักใกล้ชิด สนิทพิศวาสแต่อย่างใดทั้งสิ้น เหตุผลเดียวคือต้องการบอกเล่าถึงวิธีการเขียนที่น่าสนใจเป็นสำคัญ

ขอยกตัวอย่างเรื่องสั้น ชื่อ ทำบุญบ้าน (หน้า ๓๓) ที่มุ่งสะท้อนวิถีชีวิตของสังคม (ไม่เฉพาะเมืองลิกอร์) ที่เปลี่ยนไป จากหน้ามือเป็นหลังมือ

เรื่องสั้นชุดนี้ จำลองทำหมันการวางโครงเรื่องเดี่ยวทิ้งไป โดยเลือกใช้วิธีการวางกับดัก เปิดจุดชนวนความขัดแย้งย่อย ๆ ที่ผูกร้อยกับความขัดแย้งใหญ่ที่ครอบอยู่อย่างคร่าว ๆ  นำตัวละครใหม่เข้ามาพร้อมดึงชนวนความขัดแย้งย่อยให้ระเบิดต่อเนื่องกันไปกระทั่งจบเรื่อง ทั้งนี้เขาก็ไม่หลงลืมที่จะให้ความสำคัญกับแก่นของเรื่อง

ทำบุญบ้าน – เริ่มเรื่องจากความฝัน ความเชื่อ ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญหนึ่งของวิถีชีวิตในชุมชน  เมื่อนางสะอาดฝันถึงพ่อแม่ที่ตายจากไปแล้ว นางคิดฝังใจต่อความฝัน (ตามแบบแผนความเชื่อ) ว่าพ่อแม่มาขอให้ทำบุญส่งอุทิศกุศลไปให้ในยมโลก การทำบุญตามคตินิยมต้องอาศัยเงินเป็นปัจจัยส่งให้ได้บุญ ต้องนิมนต์พระ เชิญเพื่อนบ้านญาติพี่น้องมาร่วมงาน ทำอาหารคาวหวานเลี้ยงแขกคน ขณะที่นางเองก็มีชีวิตยากลำบาก ต้องอาศัยญาติพี่น้องจุนเจือ

ดังหน้า ๓๖ --- วันไหนครัวโหรงเหรง  หลานสาวจะขี่จักรยานยนต์เก่าคร่ำคร่าไปหาน้องสาวพี่เลี้ยงเด็ก  ไม่ต้องบอกเล่าอะไร  เห็นหลานมาหาก็เป็นที่รู้กัน..ฯลฯ.. บางวันน้องสาวฝากมาให้ห้าร้อย  หลานชายอีกสามร้อย ทุกข์ยากบรรเทาลงไปสักเก้าวันสิบวัน  แล้ววนกลับมาเริ่มรอบใหม่  เป็นวงรอบเล็ก ๆ วนเวียนซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้น  ไม่รู้สักอีกกี่รอบถึงจะหลุดพ้นวงเวียนกรรมไปอีกคน ---

โชคดีน้องชายที่เป็นข้าราชการออกปากช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการทำบุญบ้านครั้งนี้เอง  จากนั้นก็เป็นฉากชุลมุนของการตระเตรียมงาน ซึ่งแสดงออกชัดเจนถึงวิถีชีวิตที่เกื้อกูล เอื้ออาศัยซึ่งกันและกัน  

จำลองบรรยายละเอียดลออถึงวิธีล้างผัก หั่นสะตอ พร้อมเติมทัศนคติของชุมชนเข้าไปอย่างแนบเนียน ดังบทพูดในหน้า ๓๙ -- เม็ดไหนหนอนฝังตัวข้างใจ  แกะทิ้งไปก่อน  บาปกรรมจะได้ไม่เปื้อนปากพระเณร

ขณะเดียวกันปมขัดแย้งย่อยก็เดินเข้ามาพร้อมบทสนทนาในวิถีชีวิตแบบที่จำลองนำเสนอ (แบบอวดนิด ๆ ) “ข้าวสารซื้อกินกูไม่เคยถูกปากเหมือนทำนาเอง”   (หน้า ๔๐)

เรื่องดำเนินต่อในบรรยากาศของงานบุญ และเพิ่มปมผูกเข้ามาใหม่ด้วยเรื่องของบทบาท หน้าที่ สถานภาพทางเพศระหว่างชาย – หญิง  ที่กำลังจะแปรสภาพจากหน้ามือเป็นหลังมือ  เช่น  งานหุงข้าวเลี้ยงแขกที่ต้องหุงในกระทะใบบัวขนาดใหญ่ ที่เมื่อก่อนเคยเป็นงานของพวกผู้ชาย  แต่เมื่อคนเป็นงานตายไปแล้วก็ไร้คนสานต่อ  นางศรีต้องรับมือเอง แม้ยากเย็นในช่วงแรกแต่ต่อมานางก็ทำได้ดี

เมื่อฝ่ายผู้ใหญ่ในบ้านต่างเร่งมือช่วยงานนั่นนี่จนไม่หยุดมืออย่างรู้หน้าที่ ฝ่ายคนรุ่นลูกหลานก็รู้ว่าไม่ใช่หน้าที่ของตัว จึงตั้งวงเหล้าแยกไปต่างหาก  จนนางสะอาดนึกตำหนิอยู่ในใจ  นี่เป็นปมขัดแย้งระหว่างคนสองรุ่น หัวเก่า – หัวใหม่ ที่เชื่อมรัดเข้ามาในเรื่องอีกข้อ

อีกปมหนึ่งคือ เรื่องบ่อนไก่ชน ที่เมื่อก่อนเคยผิดกฎหมาย แต่เดี๋ยวนี้กลับเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เล่นกันเปิดเผยทุกชนชั้น  พวกผู้ชายได้โอกาสเข้าบ่อนสะดวกขึ้น บางคนไม่เป็นอันทำมาหากิน

สุดท้าย บทบาทของผู้ที่ต้องรับหน้าที่ประเคนถาดอาหารถวายพระ ก็ตกมาเป็นของพวกผู้หญิง  บทสนทนาระหว่างพระกับโยมในหน้า ๔๔ ที่ว่า
“ เดี๋ยวนี้พวกผู้ชายบ้านเราเขาไม่ทำเรื่องพวกนี้กันแล้ว ”  
“ หมู่บ้านไหน ๆ ก็คล้ายกันแหละโยมช่วย  เด็กเดี๋ยวนี้มันไม่เอากันแล้ว  อย่าว่าแต่เด็กเลย  ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่เอา... หลายที่ผู้หญิงเป็นคนนำไหว้พระขออาราธนาศีล  อาราธนาพระปริตรเสียเอง ”
“ แล้วผิดไหม ”
“ ไม่ผิดนะโยม  ผู้หญิงก็อาราธนาพระปริตรได้  แต่โยมลองนึกให้ดี ๆ เมื่อก่อนเป็นหน้าที่ผู้ชาย  โดยเฉพาะคนที่เคยบวชเรียนมาแล้ว  เดี๋ยวนี้ผู้หญิงไม่ได้บวชเรียนต้องทำแทน ...ฯลฯ ...”


ลักษณะมุมมองของจำลองในเรื่องนี้ นอกจากการวางจุดขัดแย้งย่อย ๆ ให้สัมพันธ์เกี่ยวโยงกันแล้ว มุมมองดังกล่าวยังสำแดงให้เห็นว่า กลไกการเคลื่อนไหวของสังคมนั้นเกี่ยวโยงกันไปหมด ดังที่เราเคยชินกับคำว่า  “ พลวัต ”

ขณะเดียวกัน มุมมองของเรื่องไม่ได้มาจากมุมเดียวอย่างที่เราเคยชิน  แต่เป็นการมองจากหลายที่ หลายมุม และพยายามกวาดต้อนให้รอบด้านมากที่สุด  

จากมุมมองแบบตาสัปปะรดนี่เอง  ที่สามารถสะท้อนภาพซ้อน ที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ตามมุมต่าง ๆ ในสังคมออกมาอย่างมากมาย บางครั้งหากนักเขียนควบคุมจังหวะจะโคน และการเชื่อมโยงเข้า - ออก ของปมขัดแย้งย่อยไม่อยู่มือ อาจทำให้เรื่องล้นหละหลวม สุดท้ายจะล่มไม่เป็น  

มุมมองดังกล่าวนั้นเมื่อนำมาผสมผสานอยู่ในเรื่อง ทำให้เราได้ยินเสียง มองเห็นทัศนคติที่พุ่งเข้ามารอบด้าน รู้จักอารมณ์ของเรื่องได้จากตัวละครแทบทุกตัวที่เดินเข้ามาสู่เรื่องราว

วิธีการเช่นนี้ทำให้เรื่องมีชีวิตและไม่แล้งแห้งขอดดั่งเช่นวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตอื่น  ทำให้เราตีความได้ครอบคลุม รอบด้านมากขึ้น ไม่กระตุ้นให้เราด่วนสรุป ตัดสิน คาดโทษกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งจากคนในสังคม ทั้งจากนายทุน หรือรัฐ  เท่ากับเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้ผู้อ่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมพิจารณาถึงข้อปัญหาที่กำลังก่อตัวขึ้น หรือได้เกิดขึ้นแล้ว และไม่ใช่ปัญหาข้อเดียว เดี่ยว ๆ  

จำลองสามารถใช้ศิลปะของเรื่องสั้นแสดงศักยภาพของตัวเองได้มากกว่าหลายคน  นี่กระมังที่ทำให้เขายืนหยัดมาได้ถึง ๓๐ ปี  ในผลงานเล่มใหม่ของเขาจะเป็นอย่างไร  คำว่าประสบการณ์ ๓๐ ปี จะมีเรื่องให้ต้องเปรียบเทียบระหว่าง  ระยะเวลา  คุณภาพ  ปริมาณ ได้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่  แล้วเรื่องสั้น
“อย่างว่าจะคลี่คลาย”  ของจำลองจะมีจริงหรือไม่? ต้องหามาอ่านเพื่อพิสูจน์  .

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ถ้าเปรียบสวนหนังสือเหมือนผืนดินแห่งหนึ่งแล้วล่ะก็ ผู้เขียนเองก็ได้แสดงความคิดเห็นต่อหนังสือ จากการอ่านผลงานทางวรรณกรรมของบรรดานักประพันธ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะรูปแบบเรื่องสั้น นวนิยาย หรือกระทั่งกวีนิพนธ์บางเล่ม ข้อเขียนที่มีต่อหนังสือบางเล่มหรือเรื่องบางเรื่อง อาจแบ่งเป็นผลรับตามสูตรคณิตศาสตร์ได้ไม่ชัดเจน ใช้หลักต้องใจต้องอารมณ์และความนึกหวังเป็นหลักก็ว่าได้
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : จักรวาลผลัดใบ การเกิดใหม่ของจิตสำนึก ผู้เขียน : กลุ่มจิตวิวัฒน์ ประเภท : ความเรียง พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ.2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน  
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ           :           ชะบน ผู้เขียน               :           ธีระยุทธ  ดาวจันทึก ประเภท              :           นวนิยาย   พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2537 จัดพิมพ์โดย        :    …
สวนหนังสือ
นายยืนยง  ชื่อหนังสือ : มนุษย์หมาป่า ผู้แต่ง : เจน ไรซ์ ผู้แปล : แดนอรัญ แสงทอง จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์หนึ่ง พิมพ์ครั้งแรก : สิงหาคม 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : บันทึกนกไขลาน (The Wind-up Bird Chronicle) ผู้เขียน : ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผู้แปล : นพดล เวชสวัสดิ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์แม่ไก่ขยัน   “หนูอยาก...อยากจะได้มีดผ่าตัดสักเล่ม หนูจะกรีดผ่า ชะโงกหน้าเข้าไปมองข้างใน ไม่ใช่ผ่าศพคนนะ... แค่ก้อนเนื้อแห่งความตาย หนูแน่ใจว่าจะต้องมีอะไรสักอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ก้อนกลมเหนียวหยุ่นเหมือนลูกซอฟต์บอล แก่นกลางแข็งเป็นเส้นประสาทพันขดแน่น หนูอยากหยิบออกมาจากร่างคนตาย เอาก้อนนั้นมาผ่าดู อยากรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่... (ภาคหนึ่ง, หน้า 36)
สวนหนังสือ
นายยืนยง  เมื่อวานนี้เอง ฉันเพิ่งถามตัวเองอย่างจริงจัง แบบไม่อิงค่านิยมใด ๆ ถามออกมาจากตัวของความรู้สึกอันแท้จริง ณ เวลานี้ว่า ทำไมฉันชอบอ่านวรรณกรรมมากที่สุดในบรรดาหนังสือทั้งหลาย คุณเคยถามตัวเองด้วยคำถามเดียวกันนี้หรือเปล่า
สวนหนังสือ
นายยืนยง ฉันวาดหวังสวยหรูไว้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงบนผืนดินห้าไร่เศษ ที่ดินผืนสวยซึ่งพรั่งพร้อมไปด้วยปัจจัยแห่งกสิกรรม มีไม้ใหญ่ให้ร่มเงา มีบ่อน้ำขนาดใหญ่สองบ่อ และกระท่อมน้อยบนเนินเตี้ย ๆ รายล้อมไปด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี แต่ระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มายาแห่งหวังก็พังทลายลงต่อหน้าต่อตา ฉันจำเก็บข่มความขมขื่นไว้กับชีวิตใหม่ ในที่พำนักใหม่ ซึ่งไม่ใช่ผืนดินแห่งนี้
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ  : ความมั่งคั่งปฏิวัติ Revolutionary Wealth ผู้เขียน  : Alvin Toffler, Heidi Toffler ผู้แปล  : สฤณี  อาชวานันทกุล จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน   พิมพ์ครั้งที่ 2  มกราคม  2552
สวนหนังสือ
  และแล้วรางวัลซีไรต์ปี 2552 รอบของนวนิยายก็ประกาศผลแล้ว ปรากฏเป็นผลงานนวนิยายเรื่อง ลับแลแก่งคอย ของอุทิศ เหมะมูล โดยแพรวสำนักพิมพ์เป็นผู้จัดพิมพ์ (ประกาศผลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา)ใครเชียร์เล่มนี้ก็ได้ไชโยกัน ฉันเองก็มีเล่มนี้เป็นหนึ่งในหลายเล่มด้วย รู้สึกสะใจลึก ๆ ที่อุทิศได้ซีไรต์ เนื่องจากเคยเชื่อว่า งานดี ๆ อย่างที่ใจเราคิดมักพลาดซีไรต์เป็นเนืองนิตย์ ผิดกับคราวนี้ที่งานดี ๆ ของนักเขียน "อย่างอุทิศ" ได้รางวัล
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ           :           นัยน์ตาของโคเสี่ยงทาย ผู้แต่ง                 :           วิสุทธิ์ ขาวเนียม ประเภท              :           กวีนิพนธ์รางวัลนายอินทร์อะวอร์ดครั้งที่ 10 จัดพิมพ์โดย        : …
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ลับแล, แก่งคอยผู้แต่ง : อุทิศ เหมะมูลประเภท : นวนิยายจัดพิมพ์โดย : แพรวสำนักพิมพ์ พิมพ์ครั้งแรก 2552
สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประเทศใต้ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรืองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้ ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า…